ThaiPublica > คอลัมน์ > พรรคการเมืองรับจ้าง

พรรคการเมืองรับจ้าง

10 กุมภาพันธ์ 2014


หางกระดิกหมา

อาทิตย์หนึ่งภายหลังการเลือกตั้ง ควันหลงอะไรต่างๆ ก็ยังไม่จางหายไป ยังคงมีการถกเถียงกันไม่จบสิ้นถึงนัยยะตื้นลึกหนาบางของตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิ ซึ่งดูเหมือนจะตีออกไปได้ต่างๆ กันตามคติและสังกัดของผู้ตีความ ทั้งๆ ที่ตัวเลขก็ตัวเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าในการพิจารณาผลการเลือกตั้งครั้งนี้ คนมองกันแบบรวมๆ เหมาๆ ว่าคนออกมาเลือกตั้งกี่คน โหวตโนกี่คน มากกว่าจะดูว่าใครเลือกพรรคไหน ทั้งๆ ที่ครั้งนี้มีพรรคการเมืองลงเลือกตั้งถึงห้าสิบกว่าพรรค

พูดง่ายๆ ก็คือ พรรคการเมืองถูกกลืนไปในความขัดแย้งทางการเมือง หรืออีกนัยหนึ่ง เดี๋ยวนี้เราก็มองการเมืองเป็นสีมากกว่าเป็นรายพรรค

ในระยะยาว นี่นับเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง เพราะแท้จริงแล้วพรรคการเมืองแต่ละพรรคมีบทบาทสำคัญอย่างมากในประชาธิปไตย กล่าวคือ พรรคการเมืองทั้งทำหน้าที่ฝึกคนที่จะมารับตำแหน่งทางการเมือง ทั้งกระตุ้นให้คนออกมาเลือกตั้ง ทั้งศึกษาตระเตรียมนโยบาย ทั้งเอานโยบายที่เตรียมไปหักล้างขับเคี่ยวกันในการเลือกตั้ง จนในที่สุดก็คือทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบของรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้น หากไม่มีการให้ความสนใจกับพรรคการเมืองในระดับที่ละเอียดกว่าการมองคร่าวๆ เป็นสองสีอย่างทุกวันนี้ เรื่องอื่นๆ ในประชาธิปไตยนี้มันก็จะคร่าวตามไปด้วย จึงหวังว่าหมดมรสุมเมื่อไร จะมีการปฏิรูปสถาบันพรรคการเมืองนี่ด้วยอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะมีพรรคการเมืองลงเลือกตั้งมากกว่านี้อีกกี่พรรค หรือเลือกตั้งกันอีกกี่ครั้ง ก็ค่อนข้างจะมีประโยชน์ไม่เต็มที่

การจะปฏิรูปที่ต้องทำคงต้องทำจากหลายแง่ แต่แง่หนึ่งที่สำคัญมากก็คือเรื่องการเงินของพรรคการเมือง หรือ “Political Funding” เพราะพรรคการเมืองนั้น จะมีอุดมการณ์ต่างกันเพียงไหนก็มาเหมือนกันตรงที่ต้องใช้เงินรักษาอัตภาพ ไม่ว่าจะจ้างพนักงาน หรือหาเสียง อย่างที่มีนักการเมืองอเมริกันคนหนึ่งเคยพูดว่า “การเมืองนั้นมีเงินเป็นนมแม่ (Money is the mother’s milk of politics)” แต่ในทางตรงกันข้าม การปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องที่ตัดสินกันด้วยกำลังเงินอย่างเดียว ก็จะทำให้การเมืองกลายเป็นการประมูล ซึ่งใครเข้ามาได้ก็มีโอกาสจะเอาการเมืองไปทำคอร์รัปชันถอนทุนมากกว่าจะสร้างประโยชน์ หรือมิฉะนั้นก็ทำให้พรรคการเมืองต้องฟังนายเงินมากกว่าจะฟังผู้ที่เลือกตั้งตนเข้ามา ซึ่งล้วนทำให้ประชาธิปไตยกลายพันธุ์จนผิดรูปทั้งสิ้น

พรรคการเมือง

ในเมืองนอก แนวทางควบคุมการเงินของพรรคการเมืองนั้น มักแบ่งออกได้เป็น 3 แนวทางใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง การจำกัดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

การจำกัดนี้มีตั้งแต่เรื่องที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้วก็คือเรื่องการห้ามเอาเงินไปใช้ในการซื้อเสียง แต่แม้แต่การใช้เงินประเภทที่เขาไม่ห้าม (เช่น เงินที่ใช้ในการหาเสียง ทำป้าย ฯลฯ) ก็จำเป็นต้องมีการจำกัดวงเงิน เพื่อไม่ให้ผู้สมัครหรือพรรคได้เปรียบเสียเปรียบกันเพราะทุนทรัพย์อย่างผิดหน้าผิดหลัง จนการเลือกตั้งถูกตัดสินโดยเงินมากกว่านโยบาย ซึ่งมาตรการในเรื่องนี้เมืองไทยก็มีเหมือนกัน โดยให้ กกต. หารือกับพรรคการเมืองเพื่อกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเป็นครั้งๆ ไป เพียงแต่ในเมื่อการจำกัดค่าใช้จ่ายนี้จะมีผลก็ต่อเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งแล้วเท่านั้น นักการเมืองนกรู้ทั้งหลายก็เลยใช้จ่ายกันอย่างไม่จำกัดเสียตั้งแต่ก่อนประกาศ พรฎ. กฎหมายก็เลยทำอะไรไม่ได้ ยังไม่ต้องพูดถึงการเล่นแร่แปรธาตุทางบัญชีเพื่อให้ค่าใช้จ่ายอยู่ภายในเพดานโดยผิดจากความเป็นจริงอีกต่างหาก

สอง การควบคุมเงินบริจาคจากเอกชน

พรรคการเมืองนั้นตั้งอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของประชาชน ดังนั้น เงินบริจาคจึงถือเป็นรายได้สำคัญของพรรคการเมือง ซึ่งทางหนึ่งก็เป็นสิ่งดี เพราะพรรคการเมืองจะได้ทำตัวให้อยู่ในฐานะที่คนเขาจะอยากบริจาค เพียงแต่ในเมื่อการบริจาค อาจเป็นช่องทางให้ผู้บริจาครายใหญ่ครอบงำพรรคการเมือง จนทำให้พรรคการเมืองเห็นแก่ประโยชน์ของผู้บริจาคบางคนเหนือส่วนรวมได้ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดเพดานการบริจาค และมีมาตรการบังคับให้การบริจาคเป็นจำนวนมากๆ ต้องทำโดยเปิดเผยชื่อผู้บริจาคและผ่านวิธีการสั่งจ่ายที่ตรวจสอบได้ (เช่น เช็คขีดคร่อม) เพื่อให้คนจับตาดูได้ว่าพรรคการเมืองมีพฤติกรรมเป็นลูกจ้างให้กับใครหรือกลุ่มธุรกิจใดหรือไม่ ซึ่งความจริงมาตรการในเรื่องเหล่านี้ เมืองไทยก็มีอยู่แล้วอีกนั่นแหละ เพียงแต่ในบางกรณี ดูเหมือนการหลบเลี่ยงก็ยังจะล้ำหน้ากว่ามาตรการ เช่น การให้เงินผ่านองค์กรที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง (อย่างเช่นการให้สปอนเซอร์กับทีมฟุตบอลของนักการเมือง) หรือการให้ในรูปแบบที่ไม่ใช่ตัวเงิน (payment in kind) ซึ่งยากจะติดตามตรวจสอบได้ครบถ้วน

สาม การสร้างความโปร่งใสทางการเงินของพรรคการเมือง

มาตรการการในเรื่องนี้ของประเทศไทยมีอยู่ 2 ประการ ประการแรก คือการให้นักการเมืองต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินอย่างที่รู้กันอยู่แล้ว และประการที่สอง คือการให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองตั้งสมุหบัญชีเลือกตั้ง เพื่อจัดทำและรับรองบัญชีรายรับรายจ่ายของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นๆ ในเวลาเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าตั้งต้นมาดีอยู่แล้ว เพียงแต่หากจะให้การทำบัญชีนั้นมีผลในทางควบคุมความประพฤติของนักการเมืองและพรรคการเมืองได้มากขึ้นก็ควรยกระดับมาตรฐานการทำบัญชีให้ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ ครอบคลุมขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างเช่นในเมืองนอกนั้น แม้แต่องค์กรหรือมูลนิธิอะไรที่มีความเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองอย่างมาก เขาก็บังคับให้พรรคการเมืองต้องทำบัญชีให้ครอบคลุมไปถึงองค์กรหรือมูลนิธิเหล่านั้นเช่นกัน เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเทบัญชีเพื่อเลี่ยงกฎหมาย

ดูจากเรื่องการควบคุมการเงินของพรรคการเมืองนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า แม้เราจะมีมาตรการใกล้เคียงกับ Best Practice หลายอย่างอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเห็นผลสัมฤทธิ์ตามที่เราต้องการกันง่ายๆ เสมอไป ยังมีอะไรต้องค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ ปรับแก้กันไปอีกเรื่อยๆ

การปฏิรูป มันคงไม่มีคำว่าเสร็จไปได้

ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557