ThaiPublica > คอลัมน์ > ตระกูลการเมือง กับ การลดต้นทุนของนักการเมือง (ตอนจบ)

ตระกูลการเมือง กับ การลดต้นทุนของนักการเมือง (ตอนจบ)

14 กุมภาพันธ์ 2014


Hesse004

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ดูเหมือนเป็น “การแสดงสัญลักษณ์” แห่งความเท่าเทียมกันของแต่ละเสียงในสังคมนี้

แม้ว่าผลการเลือกตั้งยังไม่สามารถประกาศได้อย่างเป็นทางการ แต่ผู้ที่ติดตามการเมืองไทยก็คงทราบแล้วว่าบทสรุปของการเลือกตั้งครั้งนี้จะออกมาเป็นอย่างไร

พัฒนาการระบอบประชาธิปไตยบ้านเรา เดินมาถึงจุดที่ผู้คน 20 กว่าล้านคน “ตระหนัก” ถึงคุณค่าของสิทธิและเสียงของตัวเองที่มีอยู่ในสังคม ซึ่งหากมองในมิติเศรษฐศาสตร์แล้ว สิทธิเลือกตั้ง (voting right) เปรียบเสมือน อำนาจซื้อ (purchasing power) ของผู้คนในสังคม แต่เผอิญอำนาจซื้อดังกล่าวระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ให้ทุกคนในสังคมมีอำนาจซื้อนี้ “เท่าเทียมกัน” คือ 1 สิทธิ 1 เสียง

อย่างไรก็ดี หากมอง “การเมือง” เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง และมีพรรคการเมือง (political party) เป็นผู้ผลิตสินค้าทางการเมืองแล้ว สินค้าทางการเมืองที่ว่านี้หมายถึง “นโยบายการพัฒนาประเทศ” ดังนั้น พรรคการเมืองย่อมพยายามนำเสนอสินค้าทางการเมืองเพื่อแลกกับอำนาจซื้อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมีความต้องการที่จะบริโภคสินค้าดังกล่าว

สินค้าทางการเมืองจึงเป็นเพียง “นามธรรม” ที่จับต้องได้ยาก จนกว่าพรรคการเมืองจะเข้าไปเป็นผู้ผลักดันสินค้านามธรรมพวกนี้ให้เกิดขึ้นเป็น “รูปธรรม” ผ่านโครงการต่างๆ ที่จัดทำโดยรัฐ

ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองจึงเปรียบเสมือน firm ผู้ผลิตนโยบายการพัฒนาประเทศหรือในท้องถิ่น เพื่อแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียงที่แสดงออกโดยพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสังคม

ขณะที่นักการเมือง คือ ตัวแทนของผู้ผลิตสินค้าทางการเมืองซึ่งมีการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นระบบไม่แตกต่างจากบริษัท

อย่างไรก็ดี แทบทุกประเทศมักมีองค์กรและนักการเมืองที่เล่นการเมืองในแบบของการ “สืบทอด” จนกลายเป็นที่มาของคำว่า ตระกูลการเมือง (political family) หรือ ราชวงศ์ทางการเมือง (political dynasties)

สำหรับประเทศไทยแล้ว ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 สะท้อนภาพความเป็นตระกูลการเมืองได้เป็นอย่างดี อ้างอิงจากงานวิจัยของ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ 1 แห่งสถาบันพระปกเกล้า ที่พบว่า จำนวน ส.ส. ที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งเข้ามาในสภา 500 ที่นั่งนั้น มีผู้ได้รับการเลือกตั้งที่มีความสัมพันธ์ในทางเครือญาติแบบ พ่อ-แม่-ลูก-พี่-น้อง-สามี-ภรรยา จำนวน 42 ตระกูล รวมทั้งหมด 90 คน หรือคิดเป็น 18% ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด

…และใน 42 ตระกูลการเมือง ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย มีตระกูลการเมืองมากที่สุด 19 ตระกูล ใกล้เคียงกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มี 17 ตระกูล

จำนวนตระกูลการเมืองไทยในเวทีการเลือกตั้งระดับชาติยังสะท้อนภาพการสืบทอดอำนาจของตระกูลการเมืองเหล่านั้นในการเมืองท้องถิ่นอีกด้วย เช่น ตระกูลเทียนทอง ที่มีจำนวนผู้แทนสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คือ 5 คน ประกอบด้วย นายเสนาะ นายฐานิสร์ นางสาวตรีนุช นายสรวงศ์ และนายสุรชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แทนที่ปักหลักอยู่ในเขตเลือกตั้งพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ขณะที่การเมืองระดับท้องถิ่นมี นายก อบจ. มาจากคนในตระกูลเทียนทอง อีกเช่นกัน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์  ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก: Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

เช่นเดียวกับตระกูลเทือกสุบรรณ ของ “ลุงกำนัน” ที่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 54 คนในตระกูลเทือกสุบรรณได้รับเลือกจากชาวสุราษฎร์เป็นจำนวน 3 คน คือ นายสุเทพ นายธานี และนายเชน ส่วนนายเอกนัฏ พร้อมพันธ์ุ อดีต ส.ส. กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของนายสุเทพ ก็ถูกจัดอยู่ในสายสัมพันธ์ของตระกูลการเมืองนี้ด้วย

มิพักต้องเอ่ยถึง ตระกูลชินวัตร-วงศ์สวัสดิ์ ที่กลายเป็น “เป้าหมาย” โจมตีทางการเมืองภายใต้นิยามของ “ระบอบทักษิณ”

ตระกูลชินวัตร-วงศ์สวัสดิ์ ที่มาภาพ : http://www.naewna.com
ตระกูลชินวัตร-วงศ์สวัสดิ์ ที่มาภาพ: http://www.naewna.com

จะเห็นได้ว่า การเมืองในลักษณะวงศ์ตระกูลนั้นมีเหตุผลหลายประการ หากมองในแง่ดี การเล่นการเมืองแบบมรดกตกทอดนั้นอาจมาจากการซึมซับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่อเนื่องลงมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย สู่รุ่นพ่อแม่ จวบจนกระทั่งรุ่นลูกหลาน เช่น ตระกูล Nehru-Gandhi ของอินเดีย ตระกูล Cojuango-Aquino ในฟิลิปปินส์ตระกูล Bush ตระกูล Kennedy ในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม หลายตระกูลการเมืองของไทยล้วนเติบโตมาจาก “การเมืองท้องถิ่น” นักการเมืองหลายคนเคยเป็นนักธุรกิจประจำท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกอบอาชีพ “รับเหมาก่อสร้าง” ค้าขายกับส่วนราชการ เช่น ตระกูลศิลปอาชา ในสุพรรณบุรี ตระกูลเทียนทอง ในสระแก้ว บางตระกูลนั้น หัวหน้าตระกูลการเมืองมีพื้นฐานมาจากคนของรัฐ เคยเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันมาก่อน เช่น ตระกูลชิดชอบ ในบุรีรัมย์ ตระกูลคุณปลื้ม ในชลบุรี หรือแม้แต่ ตระกูลเทือกสุบรรณ ในสุราษฎร์ธานี

น่าสนใจว่าตระกูลการเมืองเหล่านี้เติบโตและลงหลักปักฐานบน “ความเชื่อ” และสร้างศรัทธาให้กับผู้คนในท้องถิ่นนั้นได้ โดยปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จในการผูกขาดทางการเมืองนั้น มาจากการตอบสนองความต้องการของผู้คนในท้องถิ่นนั้น เช่น สามารถดึงงบประมาณแผ่นดินมาพัฒนาท้องถิ่นตัวเองจนสามารถ “พะยี่ห้อ” หรือสร้างเครื่องหมายทางการค้าทางการเมืองให้กับคนในท้องถิ่นนั้น

ตระกูลการเมืองไทย จากพี่ถึงน้อง จากพ่อสู่ลูก ที่มาภาพ : http://www.bangkokpost.com
ตระกูลการเมืองไทย จากพี่ถึงน้อง จากพ่อสู่ลูก ที่มาภาพ: http://www.bangkokpost.com

ดังนั้น ผู้คนในท้องถิ่นจึงสามารถเลือกผู้แทนของเขาที่เป็นสมาชิกในตระกูลการเมืองเก่าแก่ได้อย่างไว้เนื้อเชื่อใจ

อย่างไรก็ดี กว่าที่ตระกูลการเมืองจะสร้าง brand royalty ให้เกิดขึ้นได้ในพื้นที่นั้น พวกเขาต้องใช้กลไกการจัดตั้งที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะอยู่ในรูป political machine (หรือที่บ้านเราเรียกว่าหัวคะแนน) รวมถึงการสร้างระบบอุปถัมภ์ภายในท้องถิ่นที่โยงใยสายสัมพันธ์ทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านธรรมดา จนเกิดเป็น “บารมี” ขึ้นมาในท้องถิ่นนั้น

นอกจากนี้ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” คือเหตุผลอีกประการที่ทำให้คนในท้องถิ่นหรือชุมชนนั้นนิยมชมชอบคนในตระกูลการเมืองได้ จนสามารถสร้าง “อำนาจผูกขาด” และก่อร่างสร้างเป็น “อาณาจักรทางการเมือง” ดังเช่น กรณีสุพรรณบุรีโมเดล ที่ผูกโยงกับเรื่อง “ลัทธิจังหวัดนิยม”2

ด้วยเหตุนี้เอง ปัจจัยหลักที่ยังทำให้ตระกูลการเมืองนั้นสามารถดำรงอยู่ได้ และมีการสืบทอดอำนาจเช่นเดียวกับการรับมรดกต่อนั้น คือการใช้ระบบอุปถัมภ์ที่ทำให้ผู้คนในท้องถิ่นมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจว่า พวกเขายินดีที่จะมอบหนึ่งเสียงของพวกเขาให้กับตระกูลการเมืองเหล่านี้ ไม่ว่าตระกูลการเมืองนั้นจะส่งสมาชิกคนใดลงก็ตาม

ขณะเดียวกัน ในแง่การคัดเลือกผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้ง หัวหน้าตระกูลการเมืองย่อมต้องเลือกสมาชิกในครอบครัวการเมืองก่อนเป็นตัวเลือกแรกๆ เนื่องจากพวกเขาเองต่างมีข้อมูลตัวผู้สมัครที่มาจากตระกูลเดียวกันมากที่สุด พูดง่ายๆ คือ พวกเขารู้จักและไว้ใจคนในตระกูลมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เครือญาติ

ดังนั้น การคัดเลือกผู้แทนจากสมาชิกในครอบครัวจึงเป็นการ “ลดต้นทุน” ของนักการเมืองเองด้วย อีกทั้งยังเป็นการส่งสมาชิกของตระกูลเข้าไปปกป้องผลประโยชน์ต่างๆ ที่มาพร้อมกับอำนาจทางการเมือง

ตระกูลการเมืองหลายตระกูลในไทยมีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากตระกูลการเมืองในฟิลิปปินส์ หลายตระกูลมีวงศาคณาญาติที่ทำธุรกิจกับรัฐทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เรามักจะได้ยินเสมอว่าผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายคนถูก ป.ป.ช. ชี้มูลเรื่องมีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำธุรกิจกับท้องถิ่นตัวเอง เช่น ก่อสร้างถนน ถมดินลูกรัง หรือขายวัสดุก่อสร้าง

ท้ายที่สุด หากเรามองนักการเมืองในบริบทที่มิใช่ “พระอรหันต์” แล้วไซร้ พฤติกรรมการเล่นการเมืองแบบสืบทอดโดยสมาชิกของแต่ละตระกูลการเมืองคงไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายหรือมีข้อห้ามในกติกาสังคมประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะเราทุกคนล้วนแล้วแต่มีสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง “เท่ากัน” ไม่ว่าจะลงสมัครเป็นผู้แทนหรือเลือกตั้งผู้แทน

แต่อย่างไรก็ดี ผู้แทนที่มาจากตระกูลการเมืองอาจจะต้อง “สำเหนียก” ไว้เสมอว่า พวกเขาคือตัวแทนของคนในพื้นที่ เป็นปากเสียงให้กับคนในท้องถิ่นจริงๆ มากกว่าที่จะทำอะไรเพื่อรับใช้ตระกูลการเมืองของพวกเขา

1 ผู้สนใจโปรดดูบทความของ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ เรื่อง “ตระกูลนักการเมืองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2554”

2 ผู้สนใจโปรดดูหนังสือเรื่อง Political Authority and Provincial Identity in Thailand: The Making of Banharn-buri (Cornell Southeast Asia Program Publications, 2011; สิทธิอำนาจทางการเมืองกับเอกลักษณ์จังหวัดในประเทศไทย: การสร้างบรรหารบุรี) ของ ดร.โยชิโนริ นิชิซากิ นักวิจัยชาวญี่ปุ่นจาก National University of Singapore อ่านบทแนะนำหนังสือได้จาก “อำนาจแห่งเอกลักษณ์: ลัทธิจังหวัดนิยมแบบบรรหารบุรี” โดย เกษียร เตชะพีระ