ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คดีอาญา “กำแพงใจ” เหมืองทองคำ ระหว่างชาวบ้านวังสะพุงกับบริษัททุ่งคำ – บุกรุกหรือสิทธิอันชอบธรรม

คดีอาญา “กำแพงใจ” เหมืองทองคำ ระหว่างชาวบ้านวังสะพุงกับบริษัททุ่งคำ – บุกรุกหรือสิทธิอันชอบธรรม

17 กุมภาพันธ์ 2014


เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลจังหวัดเลยนัดไต่สวนมูลฟ้องพยานปากสำคัญของ คดีอาญา เลขที่ อ 4542/2556 ที่ บริษัททุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องร้องชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดรวม 7 คน กรณีบุกรุกที่ดินของบริษัทฯ โดยก่อสร้างกำแพงโครงหลังคาเหล็กครอบถนนสายบ้านนาหนองบง เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2556 ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา บริษัททุ่งคำในฐานะผู้ฟ้องจะต้องให้การและนำข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ให้ได้ว่าตนเองเป็นผู้ได้รับความเสียหายจริง

โดยในวันนี้(17 กุมภาพันธ์)ชาววังสะพุง 6 หมู่บ้านได้นัดรวมตัวกันที่ศาลจังหวัดเลย เพื่อมาฟังการไต่สวนคดีว่าศาลจะรับหรือไม่รับคำฟ้อง ซึ่งในวันนี้มีนายบัณฑิต แสงเสรีธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัททุ่งคำ จำกัด พยานปากสำคัญมาให้การต่อศาล

ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า นายบัณฑิตจะต้องตอบคำถามเพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่า 1) กำแพงใจได้ก่อสร้างขึ้นในที่ดินของทุ่งคำจริง หรือสร้างอยู่ในที่สาธารณะ 2) การปกป้องสิทธิชุมชนจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ชุมชนได้รับจากการทำเหมืองมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี คือความผิด

ปรากฏว่า วันที่ 17 ก.พ. 2557 ชาวบ้านมาร่วมฟังการไต่สวนคดีประมาณ 300 คน และได้ยื่นคำร้องขอฟังคดีด้วย แต่ศาลไม่สามารถจัดเตรียมห้องประชุมได้ทันในช่วงเช้า โดยสามารถจัดการให้ได้ในช่วงบ่าย แต่นายบัณฑิตไม่สามารถที่จะอยู่ให้การไต่สวนมูลฟ้องได้เพราะติดภารกิจ ศาลจึงนัดไต่สวนคดีนี้อีกครั้งในวันที่ 28 เมษายน 2557

ภาพถ่ายทางอากาศภูทับฟ้าที่เคยสูงเด่นใน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ปัจจุบันกลายเป็นหลุมเหมืองทองคำ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย
ภาพถ่ายทางอากาศภูทับฟ้าที่เคยสูงเด่นใน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ปัจจุบันกลายเป็นหลุมเหมืองทองคำ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย

นายวสันต์ พานิช กล่าวว่า “การต่อสู้เราจะพิสูจน์แนวเขตว่าที่ดินที่เราสร้างกำแพงอยู่ในเขตที่ดินสาธารณะ เราไม่ได้บุกรุกที่ดินของเขา เราจะซักค้านเพื่อให้ศาลเห็นประเด็นเหล่านี้ การซักค้านพยานของทุ่งคำที่ผ่านมา ทุกคนไม่รู้ว่าบริษัททุ่งคำมีข้อตกลงจะไม่ใช้ถนนร่วมกับชุมชน ซึ่งทางคุณบัณฑิต แสงเสรีธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัททุ่งคำ ต้องตอบคำถามเหล่านี้ ต้องมายืนยันให้ได้ว่าที่ดินที่สร้างกำแพงใจนี้อยู่ในที่ดินของบริษัทฯ หรือเป็นที่ของสาธารณะกันแน่”

นอกจากนี้ “เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ผลเลือดของชาวบ้านที่ปนเปื้อนไซยาไนด์และโลหะหนัก เขื่อนซึ่งมีสารไซยาไนด์แตก ความไม่รับผิดชอบและการสร้างความเดือดร้อนต่างๆ ที่ชาวบ้านได้รับมาตลอดจากกิจการทำเหมือง ดังนั้น การที่เรากั้นถนนเป็นเรื่องชอบธรรม โดยเรามีระเบียบของชุมชนยืนยันว่าเราไม่ได้มีเจตนาจะบุกรุกที่ดินของบริษัท แต่เป็นการปกป้องสิทธิของชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้”

ที่ผ่านมาคดีการฟ้องร้องระหว่างบริษัททุ่งคำ จำกัด กับชาวบ้าน ได้แก่

คดีที่ 1 คดีแพ่งเลขที่ พ 974/2556 จำเลย 14 ราย ข้อหาละเมิดและเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท+10 ล้านบาท ทุกวัน จนกว่าจะทำลายกำแพง

คดีที่ 2 คดีแพ่งเลขที่ พ 859/2556 จำเลย 6 ราย ข้อหาละเมิดและเรียกค่าเสียหาย 70 ล้านบาท

คดีที่ 3 คดีอาญา เลขที่ อ 4217/2556 จำเลย 7 ราย ข้อหาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ฯ และทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358, 362, 365, 83

คดีที่ 4 คดีอาญา เลขที่ อ 4542/2556 จำเลย 7 ราย ข้อหาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 362, 365, 83

คดีจาก ‘หมายเรียกผู้ต้องหา’ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ออกโดยตำรวจภูธรวังสะพุง จังหวัดเลย ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 บริษัททุ่งคำ จำกัด และ อบต.เขาหลวง ได้กล่าวหาชาวบ้าน 22 คนว่าร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายฯ กระทำการปิดกั้นทางหลวงหรือนำสิ่งใดมาขวางฯ ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ฯ โดยชาวบ้านได้รับหมายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556

อย่างไรก็ตาม ทีมทนายและนักกฎหมายของชาวบ้าน พร้อมทั้งชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ระบุว่าจะเดินหน้าเพื่อใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน และการต่อสู้ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและชาวบ้านวังสะพุงที่จะยกระดับการต่อสู้ไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรแร่ในระดับนโยบาย ทั้งนี้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้เตรียมยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีที่มีการยินยอมให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ทั้งหมดในพื้นที่เพื่อทำเหมือง เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการให้อนุญาตหรือการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น และดำเนินการนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป

"ภูซำป่าบอน" เป็นป่าต้นน้ำที่ไหลไปยังลำน้ำฮวย แม่น้ำสายสำคัญของคน จ.เลย หลังจากเหมืองทองคำเปิดทำการอย่างเป็นทางการในปี 2549 ภูซำป่าบอนก็ถูกทำให้กลายเป็นแบบนี้ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย
“ภูซำป่าบอน” เป็นป่าต้นน้ำที่ไหลไปยังลำน้ำฮวย แม่น้ำสายสำคัญของคน จ.เลย หลังจากเหมืองทองคำเปิดทำการอย่างเป็นทางการในปี 2549 ภูซำป่าบอนก็ถูกทำให้กลายเป็นแบบนี้ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย

ที่มาที่ไปของการลุกขึ้นต่อสู้ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด

ข้อมูลจากเว็บไซต์เหมืองเมืองเลยระบุว่าหลังจากที่ บริษัททุ่งคำ จำกัด ยื่นขอเจรจาต่อศาลเพื่อขอให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทำลายกำแพงใจแลกกับการถอนฟ้องคดีทั้งหมด แต่การเจรจาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2556 ล่มไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากชาวบ้านไม่ยอมรับไม่ตกลงใดๆ กับบริษัทฯ ในทุกกรณี

กระบวนการในชั้นศาลทั้ง 4 คดีความยังคงเดินหน้าอยู่ รวมถึงการกล่าวหาของบริษัททุ่งคำและ อบต.เขาหลวง ต่อชาวบ้าน 22 รายดังกล่าวไปแล้ว ทำให้ในแต่ละเดือนชาวบ้านและทนายความจะต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาลหลายครั้ง

การไต่สวนมูลฟ้อง คำให้การ ซักค้าน ถามติง โต้แย้ง ในชั้นศาลและการให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ย้อนกลับไปที่ต้นตอของสาเหตุจากการตัดสินใจปกป้องชุมชนโดยการที่ประชาคม 6 หมู่บ้านรอบเหมืองมีมติจัดทำระเบียบชุมชนห้ามไม่ให้รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 15 ตัน ขนสารพิษผ่านชุมชนก่อนได้รับอนุญาตจากกรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านได้ช่วยกันก่อกำแพงบนถนนสาธารณะ โดยต่อมาได้ร่วมกันจัดงาน “ทำบุญภูทับฟ้า ต่อชะตาภูซำป่าบอน หาบคอนภูเหล็ก” เมื่อวันที่ 4-7 ก.ย. 2556 นับเป็นจุดเริ่มต้นในการถูกบริษัททุ่งคำฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งและอาญากับชาวบ้านรวมทั้งหมด 33 รายในความผิดฐานบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ฯ และทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358, 362, 365, 83 แห่งประมวลกฏหมายอาญาและความผิดฐานละเมิด และเรียกค่าเสียหายตามประมวลกฏหมายแพ่งมาตรา 420

ความคืบหน้าที่ผ่านมาในการไต่สวนมูลฟ้องซึ่งเป็นกระบวนการในคดีอาญาที่ผู้เสียหายหรือโจทก์ฟ้องเอง กฎหมายกำหนดให้ศาลต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของความผิด เพราะความผิดนั้นยังไม่ได้มีการสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานมาก่อนว่าคดีมีมูลความผิดจริงตามฟ้องหรือไม่ ส่วนข้อเท็จจริงที่ได้จะเป็นความจริงหรือไม่ตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นข้อที่จะต้องมีการพิสูจน์กันอีกชั้นหนึ่งในชั้นพิจารณา และหากข้อเท็จจริงที่ได้นั้นเป็นความจริง มีความผิดศาลสั่งว่าคดีมีมูล บุคคลที่ถูกกล่าวฟ้องจึงจะตกเป็นจำเลย

ในคดีอาญา เลขที่ อ 4542/2556 ที่มีการไต่สวนมูลฟ้อง จากการที่บริษัททุ่งคำได้ฟ้องร้องชาวบ้านรวม 7 คน บุกรุกที่ดินของบริษัทฯ โดยก่อสร้างกำแพงโครงหลังคาเหล็กครอบถนนสายบ้านนาหนองบง เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2556

ตามประมวลกฎหมายอาญา บริษัททุ่งคำซึ่งเป็นผู้ฟ้องจะต้องให้การและนำข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ให้ได้ว่าตนเองเป็นผู้ได้รับความเสียหายจริง

วันที่ 20 ม.ค. 2557 ศาลจังหวัดเลยได้ไต่สวนมูลฟ้องพยานของบริษัททุ่งคำไปทั้งหมด 1 ปาก เมื่อถึงช่วงซักค้าน นายวสันต์ พานิช ทนายความของชาวบ้านได้ซักค้านพยานของทุ่งคำ และพบว่าพยานทั้งหมดไม่สามารถตอบคำถามหรือยืนยันความชัดเจนได้แทบจะทุกกรณี เช่น ไม่สามารถชี้แนวเขตที่ดินระหว่างที่ดินของบริษัทฯ กับที่สาธารณะได้ พยานไม่ได้เห็นชาวบ้านผู้ถูกฟ้องทั้ง 7 คนก่อสร้างกำแพงด้วยตาตนเอง แต่อ้างว่าเห็นจากรายการข่าวสามมิติ ช่อง 3 โดยจำวันและเวลาออกอากาศของรายการไม่ได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในวันนั้น นายบัณฑิต แสงเสรีธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นพยานปากสำคัญไม่ได้มาให้การ ศาลจึงนัดไต่สวนพยานปากนี้ในวันที่ 17 ก.พ. 2557

และคำถามที่นายบัณฑิต แสงเสรีธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัททุ่งคำ จำกัด จะต้องตอบมีหลายประเด็นที่สำคัญ คือ ข้อพิสูจน์ว่ากำแพงใจได้ก่อสร้างขึ้นในที่ดินของทุ่งคำจริง หรือสร้างอยู่ในที่สาธารณะกันแน่

รวมทั้ง ข้อตกลงอย่างชัดเจนว่า ทุ่งคำจะไม่ใช้ถนนร่วมกับชุมชนแต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การขนส่งโดยรถบรรทุกของบริษัททุ่งคำได้ใช้ถนนร่วมกับหมู่บ้าน และทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อคนในหมู่บ้านหลายครั้ง

ส่วนคำถามใหญ่กว่านั้นคือ ชาวบ้านที่ถูกฟ้อง 7 คน มีความจงใจที่จะละเมิดต่อบริษัททุ่งคำ หรือเป็นการกระทำด้วยเจตนาที่จะป้องกันภยันตราย เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ชุมชนได้รับจากการทำเหมืองมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี และได้รับการรองรับสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66, และ 67

และหากจะย้อนกลับไปที่ต้นตอของสาเหตุของคดีที่แท้จริง การเท้าความคงต้องกลับไปเริ่มตั้งแต่ปี 2538 เมื่อบริษัททุ่งคำได้ประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ทำให้มีการระเบิดภูเขาเพื่อขุดแร่ในแปลงประทานบัตรไปแล้ว 6 แปลง คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 1,300 ไร่ รวมถึงโรงแต่งแร่และโรงประกอบโลหกรรมซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 และยังมีพื้นที่อีก 106 แปลง รวมจำนวนนับหมื่นไร่ในบริเวณจังหวัดเลย ที่บริษัทได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจและผลิตแร่ทองคำแล้ว และมีการทยอยยื่นขอประทานบัตรอย่างต่อเนื่อง

น้ำสีแดงสนิมในป่าเก็บกินของชาวบ้านบริเวณห้วยเหล็ก ซึ่งอยู่ติดกันบ่อกักเก็บการแร่ จากเดิมที่เคยใสสะอาดเป็นแหล่งอาหารของชุมชน
น้ำสีแดงสนิมในป่าเก็บกินของชาวบ้านบริเวณห้วยเหล็ก ซึ่งอยู่ติดกันบ่อกักเก็บการแร่ จากเดิมที่เคยใสสะอาดเป็นแหล่งอาหารของชุมชน

และนับแต่ที่บริษัททุ่งคำเริ่มดำเนินกิจการในพื้นที่ตำบลวังสะพุง มีรายงานถึงการที่สารเคมีที่เป็นพิษ ไซยาไนด์ และโลหะหนักหลายชนิด ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างน้อย 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทอง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชนรอบเหมืองมาโดยตลอด

สองปีก่อน ในเดือนตุลาคมปี 2555 คันเขื่อนบ่อเก็บกักหางแร่ที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนจำนวนมากและเป็นส่วนหนึ่งของโรงประกอบโลหกรรมได้พังทลายลง ยิ่งย้ำให้เห็นถึงมาตรฐานและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ซึ่งหากมีการขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่ตามที่บริษัททุ่งคำได้ยื่นขอประทานบัตรเพื่อขยายพื้นที่ในการทำเหมืองเพิ่มเติมในแปลงที่ 104/2538 บนภูเหล็ก และแปลงที่ 76/2539 ในพื้นที่ ต.นาโป่ง หมายความว่าจะมีการนำแร่จำนวนมากขึ้นเข้าไปยังโรงประกอบโลหกรรมและมีน้ำเสียปนเปื้อนจำนวนมากขึ้นในบ่อที่มีปัญหาดังกล่าว

ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอดแต่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า “ให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของบริษัททุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่นๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพ หรือ HIA” แต่มติดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติแต่อย่างใด

แต่ในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 และวันที่ 8 กันยายน 2556 บริษัททุ่งคำได้จัดเวที Public Scopingจัดเวที Public Scoping ประกอบคำขอประทานบัตรการทำเหมืองทองคำแปลง 104/2538 และแปลง 76/2539 โดยใช้กองกำลังทหารและตำรวจปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านรอบๆ เหมืองทองและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้เข้าร่วมเวทีดังกล่าวทั้งสองเวทีฯ นับเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีสิทธิจะร่วมคิดร่วมตัดสินใจแก้ปัญหาของตนเอง ร่วมใช้ความคิดสร้างสรรค์ความรู้และความชำนาญ สนับสนุนและติดตามการปฏิบัติงานขององค์กรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และมีสิทธิจะแสดงความคิดเห็นสนับสนุนหรือคัดค้านโครงการหรือกิจการที่จะเกิดขึ้น

จากเหตุการณ์ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาที่ผ่านมาทั้งหมดนี้ ได้วนกลับมาที่จุดเริ่มต้นในการประกาศระเบียบชุมชนควบคุมน้ำหนักบรรทุกที่ใช้ถนนของชุมชนไม่ให้เกิน 15 ตัน และห้ามการนำเข้าสารเคมีอันตรายเข้าเขตชุมชน เพื่อเป็นมาตรการป้องกันตนเองจากผลกระทบจากกิจกรรมของเหมือง และนำไปสู่การก่อสร้าง “กำแพงใจ” ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิชุมชนในการอนุรักษ์ จัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และสิทธิของบุคคลในการมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ตนเองมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี

“กำแพงใจ” ที่ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองมีมติและได้ร่วมกันก่อสร้างมาแล้วถึง 3 ครั้ง คือการก้าวข้ามอุปสรรคจากการถูกละเมิด ถูกจำกัด หรือถูกกีดกัน จากการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่รัฐได้ให้สัมปทานเอกชนเข้าไปหาประโยชน์โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชน ด้วยการใช้สิทธิอันชอบธรรมที่ชุมชนยืนหยัดอย่างกล้าหาญ

การต่อสู้เรื่อง ‘สิทธิ’ ระหว่าง เอกชน รัฐโดย อ.บ.ต.เขาหลวง และสิทธิชุมชน โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ณ เวลานี้เพิ่งจะเริ่มต้น