ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผู้นำโกง: ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี (8) – ครอบครัวหมายเลขหนึ่งแห่งลิเบีย

ผู้นำโกง: ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี (8) – ครอบครัวหมายเลขหนึ่งแห่งลิเบีย

8 กุมภาพันธ์ 2014


รายงานโดย…อิสรนันท์

ว่าไปแล้ว บุรุษเหล็กโมอัมมาร์ กัดดาฟี ก็เหมือนกับผู้นำเผด็จการโลกอีกไม่ใช่น้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้จะใช้กำปั้นเหล็กสยบประชาชนในประเทศไม่ให้กล้าลุกฮือมาต่อต้าน แต่กับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นภรรยาหรือลูกๆ กัดดาฟีกลับใจอ่อนเป็นขี้ผึ้ง เลี้ยงลูกราวเทวดา ปล่อยให้ใช้อิทธิพลของพ่อเที่ยวระรานชาวบ้านไปทั่ว หรือมุ่งกอบโกยสมบัติใส่ตัวโดยไม่สนใจไยดีกับความทุกข์ยากของประชาชนแม้แต่น้อย

นางซาฟิเยาะ หรือซาฟิยะ หรือซาเฟีย ฟาร์กาช ภรรยาสุดที่รักของกัดดาฟี ซึ่งสมัยที่ครอบครัวนี้ยังเฟื่องฟูสุดๆ บรรดาสื่อสอพลอต่างยกย่องว่าเป็น “มารดาของประเทศ” เธอเป็นคนเลี้ยงลูกๆ ทั้ง 8 คน โดยลูกชายคนโตนั้นเกิดจากนางฟาติฮา ภรรยาคนแรกที่แต่งงานกันตามประเพณีคลุมถุงชนแต่เลิกรากันหลังแต่งงานได้เพียงครึ่งปี ในขณะที่อีก 7 คนล้วนเป็นลูกในไส้ที่เกิดจากนางซาฟีเยาะ ประกอบด้วยลูกชาย 6 คน และลูกสาว 1 คน นอกจากนี้ ยังมีลูกเลี้ยงหญิงและชายอีก 2 คน

ทั้ง 8 คน ประกอบด้วยนายโมฮัมเหม็ด กัดดาฟี ลูกชายคนโตที่เกิดจากนางฟาติฮา ภรรยาคนแรก, นายซาอีฟ อัล อิสลาม กัดดาฟี ลูกชายคนที่ 2 แต่เป็นคนแรกที่เกิดจากนางซาฟีเยาะ, นายอัล ซาดี กัดดาฟี ลูกคนที่ 3, นายฮันนิบาล กัดดาฟี ลูกชายคนที่ 4, นางไอชา กัดดาฟี ลูกคนที่ 5 แต่เป็นลูกสาวคนเดียวของกัดดาฟี, นายมูตาสซิม กัดดาฟี ลูกชายคนที่ 6, นายซาอีฟ อัล อาหรับ กัดดาฟี ลูกคนที่ 7, นายคามิส กัดดาฟี ลูกชายคนสุดท้อง ในขณะที่นางฮานา กัดดาฟี ลูกสาวบุญธรรมที่เคยมีข่าวว่าเสียชีวิตตั้งแต่ยังแบเบาะสมัยที่สหรัฐฯ ถล่มบ้านพักของกัดดาฟี บ้างก็ว่ายังมีชีวิตอยู่ และนายมิลาด กัดดาฟี ลูกบุญธรรม

กัดดาฟีกับครอบครัว ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk
กัดดาฟีกับครอบครัว ที่มาภาพ: http://i.dailymail.co.uk

เพราะความที่เลี้ยงลูกราวลูกเทวดา ลูกๆ ทุกคนจึงมีชื่อเสียงเละเทะเหลวแหลกมากน้อยต่างกันไป ส่วนใหญ่แข่งกันกอบโกยสมบัติของแผ่นดินไปเป็นสมบัติส่วนตัว แถมยังเปิดศึกสายเลือด แก่งแย่งอำนาจกันเองอย่างเอาเป็นเอาตาย เนื่องจากพ่อไม่ได้ตั้งใครเป็นทายาทการเมืองอย่างเป็นทางการ

กัดดาฟีเองพยายามไกล่เกลี่ยตามประสาพ่อที่รักลูกปานดวงใจ ลูกบางคนที่สมัครใจรับราชการก็จะแต่งตั้งให้กินตำแหน่งสูงๆ บางคนที่รักการทำธุรกิจก็จะไฟเขียวให้เข้าไปมีอิทธิพลในหน่วยงานและธุรกิจระดับประเทศ อาทิ ให้นายโมฮัมหมัด กัดดาฟี ผูกขาดการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม ให้นายซาดี กัดดาฟี ดูแลการจัดตั้งเขตการค้าส่งออกเสรีในลิเบียตะวันตก ให้นายมูตาสซิม กัดดาฟี เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ให้นายฮันนิบาล กัดดาฟี คุมธุรกิจการนำเข้าและส่งออกทางทะเล และให้นายคามิส กัดดาฟี เป็นผู้บัญชาการทหารหน่วยที่ทันสมัยที่สุด เป็นต้น

นอกจากนี้ ลูกๆ ทุกคนยังมีรายได้พิเศษจำนวนมหาศาลที่ได้จากบริษัทน้ำมันในลิเบียด้วย

ไทเลอร์ ฮิคส์ ช่างภาพของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ เปิดเผยว่า ขณะที่กบฏลิเบียได้บุกยึดค่ายทหารบับ อัล-อาซิสซิยา อันเป็นค่ายพักของกัดดาฟีในช่วงปลายชีวิต ทหารกบฏได้รื้อค้นค่ายนั้นเพื่อหาสมบัติที่อาจซุกซ่อนไว้ แต่สิ่งหนึ่งที่เหลือเชื่อก็คือ ในค่ายพักของอดีตผู้นำหมายเลขหนึ่งของโลกอาหรับกลับมีแต่อัลบั้มภาพถ่ายส่วนตัวของครอบครัวหมายเลขหนึ่ง แต่ละภาพล้วนแต่สะท้อนถึงความรักความอบอุ่นภายในครอบครัวเหมือนกับครอบครัวทั่วไป

นอกจากภาพครอบครัวแล้ว ยังพบอัลบั้มภาพของกัดดาฟีกับผู้นำต่างประเทศ วิดีโอเทป ประกาศนียบัตร รางวัล และภาพวาด ซึ่งในสายตาช่างภาพมืออาชีพอย่างนายฮิคส์แล้วถือเป็นภาพที่ทรงคุณค่า และหาดูได้ยากมาก เพราะเป็นภาพของบุรุษเหล็กยามอยู่ในอิริยาบถผ่อนคลาย บางภาพสะท้อนถึงตัวตนของกัดดาฟีที่ก็ชอบวัฒนธรรมตะวันตก อาทิ ภาพของกัดดาฟีในชุดแจ็กเก็ตอาดิดาส ส่วนลูกชายก็สวมแจ็กเก็ตหนังและกางเกงยีนส์ หลายภาพเป็นภาพส่วนตัวจริงๆ ที่โลกภายนอกแทบไม่มีโอกาสเห็นมาก่อน ภาพของกัดดาฟีกำลังอุ้มลูกวัยแบเบาะขณะเดินเล่นกับภรรยาและลูกในชนบทใกล้กรุงตริโปลี ภาพของ นางซาฟิเยาะกับลูกสามคนในกระโจมของเผ่าเบดูอิน ภาพในวัยเด็กของของนายซาอีฟ อัล อิสลาม ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน เป็นต้น

ค่าที่เป็นภาพส่วนตัวที่ไม่เคยเผยแพร่สู่สายตาคนภายนอกมาก่อน แกนนำกบฏบางคนยอมรับว่าไม่รู้ว่าคนในภาพบางคนเป็นใครเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน

กัดดาฟีกับครอบครัว ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk
กัดดาฟีกับครอบครัว ที่มาภาพ: http://i.dailymail.co.uk

อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นคนรักครอบครัว กัดดาฟีจึงเตะถ่วงเรื่อยมา ไม่ยอมตั้งลูกชายคนใดคนหนึ่งให้เป็นทายาทการเมือง ปล่อยให้ลูกๆ แย่งชิงกันเองว่าใครจะได้เป็นทายาทของพ่อ ลูกบางคนใจร้อน ถึงกับลุกขึ้นมาจะยึดอำนาจของพ่อจนถูกเนรเทศ แต่ท้ายสุดกัดดาฟีก็ใจอ่อนยอมให้อภัยและให้ลูกกลับมาอยู่ที่บ้านดังเดิม

แต่ในสายตาของต่างชาติแล้ว ลูกคนโปรดผู้ได้ชื่อว่าเป็นทายาทการเมืองอย่างไม่เป็นทางการก็คือนายซาอีฟ อัล อิสลาม เว็บไซต์จอมแฉวิกิลีกส์ได้เผยแพร่โทรเลขลับของสถานทูตสหรัฐฯ​ในกรุงตริโปลีเมื่อปี 2552 ก่อนเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในประเทศนั้น โดยโทรเลขดังกล่าวระบุชัดเจนว่า ความเป็นปฏิปักษ์ในหมู่พี่น้อง เป็นลางร้ายต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในลิเบีย นางไอชา ลูกสาวเพียงคนเดียวซึ่งยึดอาชีพทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ต้องการเข้าไปมีบทบาทโดดเด่นทางการเมืองเช่นกัน จึงมักมีเรื่องระหองระแหงกับนายซาอิฟ อัล อิสลาม พี่ชายแท้ๆ เช่นเดียวกับพี่น้องอีกหลายคนที่ชิงดีชิงเด่นกับพี่ชายคนโตร่วมแม่เดียวกัน เพราะไม่ต้องการให้เข้ามาครอบงำพ่อและเป็นจุดสนใจของนานาประเทศแต่เพียงคนเดียว

สุดท้าย เมื่อระบอบกัดดาฟีถูกโค่นล้ม ครอบครัวหมายเลขหนึ่งทั้งลูกเมียต่างแตกสานซ่านเซ็น บ้างก็เสียชีวิตขณะสู้รบกับประชาชน บ้างก็ถูกจับ บ้างก็หอบสมบัติหลบหนีไปยังประเทศที่สาม ที่ไม่สามารถหอบไปได้ก็ต้องจำใจปล่อยให้ฝ่ายกบฎยึดครองหรือเผาทำลายทิ้งด้วยความโกรธแค้น หรือเพื่อค้นหาทรัพย์สินที่อาจซุกซ่อนอยู่ในบ้านหลังนั้นๆ

อาทิ บ้านพักตากอากาศสุดหรูขนาด 40 ห้องในเมืองอัล เบย์ดา เมืองชายทะเลทางตะวันออกของประเทศ ที่ถูกกลุ่มกบฏบุกรื้อค้นเพื่อค้นหาทรัพย์สิน แล้วก็พบเงินสดและทองคำแท่งมูลค่ารวมเกือบ 70 ล้านบาท รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อีกมากมาย ด้วยความแค้น ฝ่ายกบฏจึงจุดไฟเผาบ้านพักตากอากาศหลังนั้นจนเหลือแต่ซากและปล่อยทิ้งร้างไว้เช่นนั้น

หรือผลการบุกค้นคฤหาสน์หรูส่วนตัวของนางไอชาในกรุงตริโปลี ปรากฏว่าพบโซฟาทองคำตัวหนึ่ง รูปทรงเป็นรูปนางเงือกมีใบหน้าเหมือนกับนางไอชา โซฟาทองคำตัวนี้เป็นผลงานของช่างฝีมือดีชาวอิยิปต์คนหนึ่ง นอกจากนั้น ยังพบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชั้นดีอีกจำนวนมาก ทั้งๆ ที่กัดดาฟีได้สั่งห้ามชาวลิเบียทุกคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ในความครอบครองก็ตาม

บ้านแตกสาแหรกขาด

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2554 ก่อนที่ระบอบกัดดาฟีจะถูกโค่นล้ม สำนักข่าวเมนาของอียิปต์รายงานว่า มีรถซีดานเมอร์เซเดส เบนซ์ หุ้มเกราะ 6 คัน ข้ามพรมแดนจากเมืองดาเมส เมืองชายแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของลิเบียไปยังแอลจีเรีย คาดว่าคนในรถเป็นครอบครัวของกัดดาฟี แต่ทางการแอลจีเรียปฏิเสธข่าวนั้นทันควันก่อนจะแถลงยอมรับในอีก 2 วันต่อมาว่านางซาฟีเยาะ ฟาร์กาช พร้อมด้วยนางไอชา ลูกสาว, นายฮันนิบาล ลูกชาย และนายโมฮัมหมัด ลูกเลี้ยง และเด็กๆ อีกหลายคนได้หนีข้ามพรมแดนมาที่แอลจีเรีย ซึ่งยินยอมให้ที่พักพิงเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม เนื่องจากนางไอชาท้องแก่ใกล้คลอด ประกอบกับเห็นว่าทั้ง 4 คนนี้ไม่มีชื่อในหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศในฐานะอาชญากรสงครามแต่อย่างใด

ครอบครัวหมายเลขหนึ่งลิเบียทุกคนถูกกักบริเวณภายในเรือนรับรองของรัฐในเมืองดีจาเนต ใกล้กรุงแอลเจียร์ และต้องปฏิบัติตามคำสั่งห้ามต่างๆ อาทิ ห้ามเผยแพร่หรือแสดงความเห็นทางการเมือง ห้ามยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในของลิเบีย และห้ามติดต่อกับโลกภายนอกเด็ดขาด หลังจากนั้นเพียงวันเดียว นางไอชาก็คลอดลูกสาว ต่อมาเมื่อเดือน ต.ค. 2555 ทั้งครอบครัวนี้ก็อพยพออกจากแอลจีเรีย หลังจากมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงถึงขนาดนางไอชาจะเผาเรือนรับรองหลังนั้น ทั้งครอบครัวนี้จึงเดินทางไปลี้ภัยการเมืองที่โอมานแทน