ThaiPublica > คนในข่าว > คัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค: จากซีอีโอแมนฯ ซิตี้สู่เจ้าของสัมปทานแหล่งน้ำมัน “นงเยาว์”

คัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค: จากซีอีโอแมนฯ ซิตี้สู่เจ้าของสัมปทานแหล่งน้ำมัน “นงเยาว์”

5 กุมภาพันธ์ 2014


รายงานโดย…อิสรนันท์

นายคัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ซีอีโอของแมนฯ ซิตี้ ที่มาภาพ : http://i.telegraph.co.uk
นายคัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ซีอีโอของแมนฯ ซิตี้ ที่มาภาพ: http://i.telegraph.co.uk

บรรดานักเคลื่อนไหวและนักธุรกิจด้านพลังงานต่างส่งเสียงดังอื้ออึง ทั้งยังแสดงความประหลาดใจหรือไม่พอใจ ทันทีที่มีข่าวเมื่อกลางเดือนมกราคม 2557 ว่า บริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งได้สิทธิการทำสัญญาสัมปทานแหล่งน้ำมัน “นงเยาว์” กลางอ่าวไทยตอนใต้ ห่างจากชายฝั่ง 165 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6,791 ตารางกิโลเมตร ประกาศว่าจ้างบริษัท นิปปอนสตีล แอนด์ สุมิคิน เอ็นจิเนียริง (เอ็นเอสเอสอี)สร้างแท่นผลิตและคาดว่าสามารถผลิตน้ำมันจากแหล่งน้ำมันเชิงพาณิชย์ได้วันละ 15,000 บาร์เรล ตั้งแต่กลางปี 2558 เป็นต้นไป โดยบริษัทนี้จะได้รับผลประโยชน์สูงสุดถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 25 เปอร์เซนต์ ตกเป็นของบริษัทร่วมทุนคริสเอนเนอร์จีจากประเทศสิงคโปร์

ปรกติข่าวทำนองนี้มักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนทั่วไปมากนัก ยกเว้นนักธุรกิจในแวดวงพลังงานที่ต้องติดตามข่าวทุกข่าวอย่างใกล้ชิด แต่ข่าวนี้กลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” ในชั่วพริบตา สื่อยักษ์ใหญ่ยักษ์เล็กต่างต่างพาดหัวไปในแนวทางเดียวกัน ต่างกันตรงภาษาที่อาจจะดุเดือดเผ็ดมันหรือใช้ภาษาง่ายๆ แต่อ่านแล้วทำให้ทุกคนเข้าใจได้ทันทีว่าการสัมปทานครั้งนี้ไม่โปร่งใส มีเบื้องหน้าเบื้องหลังเบื้องลึกและเรื่องของการสมประโยชน์หรือการสมคบกันฮุบทรัพยากรของประเทศแอบแฝงอยู่ อาทิ “เสร็จโจร แม้วอุ้มเพื่อน ฮุบน้ำมันอ่าวไทย เปิดหลักฐานขายชาติเป็นจริง” หรือ “CEO แมนฯ ซิตี้ คว้าสิทธิ์พัฒนาแหล่งน้ำมันนงเยาว์ในอ่าวไทย”

โดยแทบไม่มีใครมองว่าการที่บริษัทนี้ได้รับสัมปทานแหล่งน้ำมัน “นงเยาว์” อาจเป็นเพราะมี “ทุนล้นฟ้า” และได้ทุ่มเงินก้อนมหาศาลเข้าไปลงทุนด้านพลังงานในประเทศต่างๆ อย่างน้อย 12 ประเทศทั่วโลก โดยเน้นหนักเป็นพิเศษที่ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หรือไม่มีใครมองว่าบริษัทนี้ได้เข้ามาลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2547 ผ่านบริษัทเพิร์ล ออยล์ ในเครือของบริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม โดยได้รับสัมปทาน 8 ฉบับ รวมถึงแหล่งจัสมิน แปลงบี 5/27 ที่ประสบความสำเร็จดีมาก และแหล่งมโนราห์ ที่ได้รับสัมปทานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 กระทั่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้รับสัมปทานรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย

จากเว็บไซต์ภาษาไทยของบริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม ระบุว่าตัวเลขการลงทุนด้านปิโตรเลียมในไทยว่ามีมากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 54,000 ล้านบาท และบริษัทได้ชำระภาษีและค่าภาคหลวงแก่ไทยแล้วมากกว่า 900 ล้านดอลลาร์ หรือราว 27,000 ล้านบาท

นายคัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ซีอีโอของแมนฯ ซิตี้ (ขวา)และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ซ้าย)  ที่มาภาพ:http://newsimg.bbc.co.uk
นายคัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ซีอีโอของแมนฯ ซิตี้ (ขวา) และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ซ้าย)
ที่มาภาพ: http://newsimg.bbc.co.uk

จากพาดหัวข่าวข้างต้นสามารถถอดรหัสลับได้ว่า มีตัวละครเอกอยู่ 2 คน และตัวละครที่มีความสำคัญรองลงมาอีก 1 คน อยู่เบื้องหลังการให้สัมปทานแหล่งน้ำมัน “นงเยาว์” กลางอ่าวไทยแก่บริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม คนแรกก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหนีคดีไปอยู่ที่ดูไบ รัฐเล็กที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจากปากคำของ พล.อ.เตีย บัณห์ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ที่เคยให้สัมภาษณ์มานานหลายปีแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณสนใจจะลงทุนในธุรกิจพลังงาน โดยตอนแรกทุกคนต่างมุ่งความสนใจไปที่การร่วมลงทุนโดยตรงกับกัมพูชา มองข้ามความเป็นไปได้ประการหนึ่งว่า พ.ต.ท.ทักษิณนั้นถนัดในการลงทุนประเภทที่เสี่ยงน้อยที่สุด ใช้เงินน้อยมากที่สุดแต่ได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากที่สุด ตอนแรกจึงมุ่งขอสัมปทานผูกขาดธุรกิจมือถือในไทย ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นนายหน้าข้ามชาติจับนักธุรกิจใหญ่ด้านพลังงานมาพบกันโดยมีแหล่งน้ำมันในอ่าวไทยเป็นหมากตัวใหญ่อยู่บนโต๊ะเจรจา

ตัวละครสำคัญอีกคนหนึ่งก็คือนายคัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ซีอีโอของแมนฯ ซิตี้ ผู้มีความสัมพันธ์ที่แสนซับซ้อนในเชิงผลประโยชน์ต่างตอบแทนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และความสัมพันธ์นี้เองจึงทำให้บริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม ได้สัมปทานแหล่งน้ำมัน “นงเยาว์” เพราะหมวกอีกใบหนึ่งในจำนวนหมวกนับร้อยใบที่นายอัล มูบารัค สวมอยู่ก็คือซีอีโอของบริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม นั่นเอง ไม่นับรวมการสวมหมวกผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอาบู ดาบี ยูไนเต็ด อินเวสต์เมนต์ กรุ๊ป (เอดียูจี) ที่ตัดสินใจซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือทีมเรือใบสีฟ้า ต่อจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อเดือน ก.ย. 2551 ในราคาแพงลิบลิ่วถึงหมื่นล้านบาท ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณฟันกำไรเหนาะๆ ถึง 5,000 ล้านบาท

จากนั้น นายอัล มูบารัค ก็สวมหมวกซีอีโอสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่บรรดาคนไทยซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้บอลอังกฤษต่างรู้จักกันดี จากการเป็นเจ้าบุญทุ่มกล้าอัดฉีดเงินกว่าหมื่นล้านบาทซื้อตัวนักเตะชื่อดังจากหลายสโมสรมาร่วมทีม แต่ก็ไม่สามารถสานฝันที่จะผลักดันทีมเรือใบสีฟ้าให้ติดอันดับท็อปไฟว์ได้

ผลการโยงใยนี้ทำให้เชื่อกันว่า ความสัมพันธ์ทั้งเชิงส่วนตัวและเชิงธุรกิจระหว่างนายอัล มูบารัค กับ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นค่อนข้างแน่นแฟ้นเป็นพิเศษ หลักฐานที่เห็นได้ชัดชิ้นหนึ่งก็คือกรณีที่บริษัท “เพิร์ล ออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด” บริษัทลูกของบริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม มีสำนักงานอยู่ที่ “ตึกชินวัตร 3”

ตัวละครตัวที่ 3 ที่มีบทบาทสำคัญรองลงมาแต่ก็ตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดาก็คือ บริษัทคริสเอนเนอร์จีที่ถือหุ้น 25 เปอร์เซนต์นั้น แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะไม่เคยรู้จักบริษัทนี้แต่คงร้องอ๋อไปตามๆ กันหากรับรู้ว่าแท้ที่จริงเป็นร่างทรงของกลุ่มบริษัท “เทมาเส็ก โฮลดิงส์” แขนขาด้านการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ที่เคยซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยบริษัทเทมาเส็กเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 ของบริษัทคริสเอนเนอร์จี

นายคัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ซีอีโอของแมนฯ ซิตี้ (ขวา)และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ซ้าย)  ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk
นายคัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ซีอีโอของแมนฯ ซิตี้ (ขวา) และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ซ้าย)
ที่มาภาพ: http://i.dailymail.co.uk

แม้จะเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่มีทุนล้นฟ้าและมีชื่อติดอยู่ในกลุ่มนักธุรกิจอาหรับผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก แต่ประวัติของนายอัล มูบารัค กลับค่อนข้างปกปิดให้ดูลึกลับมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะประวัติส่วนตัว ไม่ว่าจะค้นหาประวัติจากนิตยสารชื่อดังของตะวันตกและนิตยสารของอาหรับฉบับภาษาอังกฤษนับสิบๆ ฉบับที่เคยสัมภาษณ์นายอัล มูบารัค มาก่อนหน้า รวมไปถึงนิตยสารฟอร์บส์, ไทมส์ และบิสซิเนสวีค ปรากฏว่าเกือบทุกฉบับต่างเขียนประวัติเหมือนกันหมดเหมือนกับเป็นเอกสารข่าวสำเร็จรูปไว้แจกนักข่าวทุกคนโดยห้ามถามเพิ่มเติมเป็นอันขาด โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าเหตุใดหน้าที่การงานจึงก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด จนขณะนี้มีชื่อเป็นซีอีโอ เป็นกรรมการผู้จัดการ เป็นประธานบริษัท เป็นรองประธาน เป็นกรรมการบริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในประเทศและบริษัทข้ามชาตินับร้อยๆ บริษัทอย่างไม่น่าเชื่อว่าหนุ่มใหญ่วัยย่าง 40 ปี ทั่วๆ ไปจะทำได้เช่นนี้

ดังที่นิตยสารบิสสิเนสวีคสรุปประวัติสั้นๆ ว่า เป็นกรรมการบอร์ด 7 บอร์ดใน 7 องค์กรที่แตกต่างกันไปใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลาย หรือที่เว็บไซต์ www.theofficialboard.com สรุปประวัติสั้นๆ ว่าเฉพาะในวงการกีฬา นายอัล มูบารัค มีสหายร่วมวงการ 4,158 คนใน 224 บริษัทใน 23 ประเทศ และตลอดช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เดินทางไปประชุมระดับผู้บริหาร 3,989 ครั้ง

ตามแฟ้มประวัติส่วนตัวระบุว่า นายอัล มูบารัค เป็นนักธุรกิจใหญ่ชาวเอมิเรตส์ เกิดที่กรุงอาบูดาบี เมืองหลวงและเมืองที่ร่ำรวยที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อปี 2518 สำเร็จการศึกษาที่สหรัฐอเมริกา โดยได้รับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์การเงินจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์์ เริ่มงานแรกในตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายการตลาดของบริษัทอาบูดาบี เนชันแนล ออยล์ จากนั้นก็กระโจนเข้าสู่วงการธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ก่อนจะย้ายไปทำงานกับบริษัทยูเออี ออฟเซตส์ กรุ๊ป สามารถไต่เต้าสู่ตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่งอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงตำแหน่งรองประธานบริหารของบริษัทดอลฟิน เอ็นเนอร์จี แล้วได้เป็นซีอีโอบริษัทมูบาดาลา เดเวล็อปเมนต์ บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งมีอภิมหาโครงการยักษ์ใหญ่มากมาย รวมไปถึงโรงงานอลูมิเนียมมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ ที่คิงอับดุลเลาะห์ อิโคโนมิก ซิตี้ อีกทั้งยังถือหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ อีกนับร้อยบริษัท รวมไปถึงถือหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทเฟอร์รารี ถือหุ้น 8.1 เปอร์เซนต์ของบริษัทเอเอ็มดี ถือหุ้น 7.5 เปอร์เซนต์ที่คาร์ลิล กรุ๊ป และถือหุ้นของบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริก หรือจีอี บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ นายอัล มูบารัค ยังได้รั้งตำแหน่งสำคัญทั้งในภาครัฐและเอกชนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นที่ปรึกษาสำคัญทั้งในการลงทุน การวางแผนยุทธศาสตร์ และผู้กำหนดนโยบายต่างๆ จนได้ชื่อว่าเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันหรือหัวหอกในการทำสัญญาเพื่อขยับขยายกิจการบริษัทต่างๆ กระทั่งได้เป็นประธานการกิจการบริหารอาบูดาบี บริษัทเพื่อการลงทุนของอาบูดาบี ที่ดูแลการลงทุนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทั่วโลก และมีหน้าที่ให้คำแนะนำด้านนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ต่อประธานสภาการบริหารแห่งอาบูดาบี ซึ่งตัวเองเป็นกรรมการด้วยคนหนึ่ง ไม่นับรวมการเป็นซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่อีกนับร้อยบริษัท อาทิ ธนาคารเฟิร์สต์ กัลฟ์ แบงก์ และบริษัท อัลดาร์ พรอพเพอร์ตีส์ เป็นต้น ตลอดจนเป็นกรรมการมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งอาจจะมีโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยในอาบูดาบีภายใต้การประสานของนายอัล มูบารัค

นายคัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ซีอีโอ.ของแมนฯซิตี้ ที่มาภาพ : http://content.mcfc.co.uk
นายคัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ซีอีโอ.ของแมนฯซิตี้ ที่มาภาพ : http://content.mcfc.co.uk

ในฐานะที่เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทอาบูดาบี มอเตอร์ สปอร์ต แมนเนจเมนต์ และด้วยความชอบขับรถสปอร์ตหรูเป็นการส่วนตัว นายอัล มูบารัค จึงได้เปิดเจรจากับกรังปรีซ์ ให้ไปจัดแข่งรถฟอร์มูลา วัน กรังปรีซ์ ที่อาบูดาบี รวมทั้งวิ่งเต้นให้อาบูดาบีได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟีฟ่าเวิลด์คัพด้วย

ในส่วนของการกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับต่างประเทศ อัล มูบารัก ได้เป็นกรรมการบริหารผู้ก่อตั้งสภาธุรกิจสหรัฐฯ-ยูเออี รวมทั้งขยายการลงทุนในอิตาลีจนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงเมื่อปี 2550 นอกเหนือจากรางวัลเกรียรติยศอีกมากมายชนิดที่ต้องมีห้องใหญ่สำหรับจัดโชว์เป็นพิเศษ

แม้ในแฟ้มประวัติทางการของนายอัล มูบารัค จะระบุสั้นๆ แค่ประโยคเดียวว่าเป็นมือขวาคนสนิทและที่ปรึกษาที่ทรงไว้วางใจของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซายเอ็ด อัล นาห์ยัน มกุฎราชกุมารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ประโยคสั้นๆ นี้ประโยคเดียวก็บอกถึงเบื้องหลังความสำเร็จแบบก้าวกระโดด กระทั่งทำให้นายอัล มูบารัค ได้รับยกย่องว่าเป็นซาร์เศรษฐกิจแห่งอาบูดาบี อีกทั้งยังมีชื่อติดอยู่ในหนึ่งในร้อยชาวอาหรับผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก แต่คนทั่วโลกกลับรู้จักหนุ่มใหญ่ผิวคล้ำหน้าตาดีผู้นี้ในฐานะซีอีโอของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มากกว่า