ThaiPublica > เกาะกระแส > ออมสินแจง ปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. 5,000 ล้าน หวั่นกระแสต้าน “จำนำข้าว” ด้านสหภาพแรงงานทั้งสองแห่งแถลงการณ์คัดค้าน

ออมสินแจง ปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. 5,000 ล้าน หวั่นกระแสต้าน “จำนำข้าว” ด้านสหภาพแรงงานทั้งสองแห่งแถลงการณ์คัดค้าน

17 กุมภาพันธ์ 2014


หลังจากที่ธนาคารออมสินปล่อยเงินกู้ลอตแรก 5,000 ล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่านตลาดกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร หรือ “อินเตอร์แบงก์” เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ปรากฏว่ามีกระแสข่าวลือต่างๆ แพร่สะพัดในสังคมออนไลน์ อาทิ ออมสินปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. ไปแล้ว 20,000 ล้านบาท เป็นเวลา 9 เดือน

ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ผู้ฝากเงิน และป้องกันไม่ให้ผู้ฝากเงินเกิดการตื่นตระหนกแห่มาถอนเงิน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557 นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จึงเปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีที่ออมสินปล่อยเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์ว่า ถือเป็นการทำธุรกรรมตามปกติของธนาคาร (normal practice) ทั้งนี้เนื่องจากออมสินมียอดเงินฝากประมาณ 1.87 ล้านล้านบาท สินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 2.17 ล้านล้านบาท จึงมีสภาพคล่องส่วนเกินกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งธนาคารนำไปลงทุนในตลาดอินเตอร์แบงก์ เพื่อหาผลตอบแทน

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แถลงข่าวชี้แจงกรณีออมสินปล่อยกู้ ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แถลงข่าวชี้แจงกรณีออมสินปล่อยกู้ ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557

“ที่ผ่านมาออมสินลงทุนในตลาดอินเตอร์แบงก์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธนาคาร บางครั้งมีสถานะเป็นผู้กู้และบางครั้งก็เป็นผู้ให้กู้เงินกับสถาบันการเงิน 35 แห่ง ปัจจุบันมียอดคงค้างกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการให้กู้ยืมเงินในระยะสั้น มีทั้ง 5 วัน, 7 วัน, 14 วัน, 30 วัน, 45 วัน และ 60 วัน กรณีที่มีข่าวว่าออมสินปล่อยกู้ ธ.ก.ส. นานถึง 9 เดือนนั้น ผมขอปฏิเสธ”นายวรวิทย์กล่าว

นายวรวิทย์อธิบายว่า ก่อนหน้านี้ออมสินเคยปล่อยเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์มาอย่างต่อเนื่อง ต่อมากระทรวงการคลังจัดตั้ง “สภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ” ของรัฐขึ้นมาช่วงเดือนตุลาคม 2556 ที่ประชุมสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีมติให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ “แบงก์รัฐ” ที่มีสภาพคล่องเหลือ เช่น ธนาคารกรุงไทย และออมสิน นำสภาพคล่องส่วนเกินปล่อยกู้ให้กับแบงก์รัฐที่ขาดสภาพคล่อง

จากนั้น วันที่ 8 มกราคม 2557 ที่ประชุมกรรมการธนาคารออมสิน (บอร์ด) มีมติให้ธนาคารนำสภาพคล่องส่วนเกินปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องให้แบงก์รัฐแห่งละไม่เกิน 20,000 ล้านบาท แบงก์รัฐแต่ละแห่งจะได้รับการอนุมัติวงเงินกู้ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของสินทรัพย์ และเครดิตของแต่ละแบงก์

“วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ธ.ก.ส. ได้ยื่นความจำนงขอกู้เงินกับออมสิน 5,000 ล้านบาท ผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์ ซึ่งฝ่ายบริหารเงินของธนาคารได้อนุมัติและโอนเงินให้ ธ.ก.ส. ตั้งแต่วันนั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ออมสินคิดกับ ธ.ก.ส. เป็นความลับของลูกค้า ผมไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนการกู้เงินครั้งต่อไป ธ.ก.ส. ยังไม่ได้ยื่นเรื่องเข้ามา ขณะนี้มียอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น” นายวรวิทย์กล่าว

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ส่วนข้อเท็จจริงกรณีที่มีข่าวกระทรวงการคลังทำบันทึกข้อตกลงค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. หรือ letter of comfort นายวรวิทย์ชี้แจงว่า “ผมไม่ทราบและไม่เคยเห็น letter of comfort ที่กระทรวงการคลังทำไว้กับ ธ.ก.ส. ผมเห็นแต่ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ ธ.ก.ส. ออกให้กับออมสิน ระบุว่าออมสินมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วน ธ.ก.ส. เป็นลูกหนี้ ไม่มีใครค้ำประกันทั้งสิ้น และผมไม่เชื่อว่าเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ธ.ก.ส. จะไม่ชำระหนี้ออมสิน เรื่องนี้เป็นเครดิตของแต่ละธนาคาร การปล่อยกู้ในตลาดอินเตอร์แบงก์ที่ผ่านมาไม่เคยพบว่ามีแบงก์ไหนผิดนัดชำระหนี้”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า กรณีผู้ฝากเงินบางกลุ่ม อาจจะไม่เข้าใจมาขอถอนเงินฝาก ธนาคารเตรียมแผนรับมืออย่างไร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า “เบื้องต้นผมได้เปิดแถลงข่าวชี้แจงต่อสื่อมวลชน และได้สั่งการให้ผู้จัดการสาขาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทำความเข้าใจแก่ลูกค้า ซึ่งผมขอยืนยัน การปล่อยกู้ผ่านอินเตอร์แบงก์เป็นการทำธุรกรรมตามปกติทั่วไปของธนาคารที่มีสภาพคล่องเหลือ ไม่มีความเสี่ยงใด ขอให้ผู้ฝากเงินมั่นใจได้”

นอกจากนี้ นายวรวิทย์ยังยืนยันต่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสินว่า ออมสินจะไม่ปล่อยกู้ให้กับโครงการรับจำนำข้าวโดยตรง อย่างเช่น เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2557 กระทรวงการคลังเชิญสถาบันการเงิน 35 แห่งมายื่นซองประมูลการให้เงินกู้แก่ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท ธนาคารออมสินก็ไม่ยื่นซองประมูล

แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็อาจจะให้ความช่วยเหลือชาวนาที่ไปกู้เงินนอกระบบมาใช้จ่ายระหว่างรอรับเงินจำนำข้าว โดยในวันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ประชุมบอร์ดของธนาคารจะมีการพิจารณาเรื่องนี้

วันเดียวกันนั้น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ผู้บริหารของธนาคารหยุดการปล่อยกู้ให้แก่ ธ.ก.ส. ทันที และขอให้ธนาคารทวงเงินออมสินคืน เนื่องจาก ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องมากเพียงพอที่จะนำเงินไปใช้จ่ายในโครงการจำนำข้าวได้ และขอให้ธนาคารงดการปล่อยกู้ทุกรูปแบบแก่ ธ.ก.ส. เพราะเกรงว่าจะกระทบกับความเชื่อมั่นของลูกค้า และอาจจะเกิดความเสียหายต่อธนาคารออมสิน

ขณะที่อนุกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (สร.ธกส.) ภาคใต้ตอนบน ออกแถลงการณ์คัดค้านการกู้ยืมเงินจากธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท โดยเรียกร้องให้ผู้จัดการออกมาชี้แจง หากเป็นเรื่องจริงจะยกระดับการชุมนุมคัดค้าน โดยขอให้พนักงานแต่งชุดดำมาทำงานวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557