ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ลำดับเหตุการณ์อาการดิ้นสุดซอยของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” หาเงินจ่ายหนี้ชาวนา

ลำดับเหตุการณ์อาการดิ้นสุดซอยของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” หาเงินจ่ายหนี้ชาวนา

4 กุมภาพันธ์ 2014


นับเป็นประวัติศาสตร์ของโครงการรับจำนำข้าว ที่ชาวนาขายข้าวแล้วไม่ได้เงิน กลายเป็นว่ารัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นหนี้ชาวนาเป็นแสนล้าน จนเกิดปรากฏการณ์ “ม็อบซ้อนม็อบ” ทั้งม็อบคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) และม็อบชาวนาทุกภาค ที่ต่างออกมาปิดถนน และยกระดับการชุมนุม

นับเป็นโครงการประชานิยมที่เจ๊งคามือรัฐบาลภายในเวลาแค่ 2 ปี

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงต้องดิ้นสุดซอยอีกครั้ง เพื่อหาเงินมาจ่ายให้ชาวนา

ถ้าเป็นรัฐบาลปกติ การกู้เงินหรือการจะปรับปรุงแผนการก่อหนี้สาธารณะสามารถทำได้

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra

แต่ในห้วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการณ์ จึงกลายเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นเมื่อโครงการจำนำข้าวอยู่ในสภาพขาดสภาพคล่อง กรอบวงเงินที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และใช้หมุนเวียนอยู่ 5 แสนล้านบาท ก็ชนเพดาน เพราะกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้รับผิดชอบการระบายข้าวโดยตรงกลับขายในสต็อกได้น้อยหรือแทบจะขายข้าวไม่ได้ โครงการจำนำข้าวจึงช็อตเงินอย่างรุนแรง

ปรากฏการณ์ที่สถาบันการเงิน 34 แห่ง ไม่ยอมยื่นซองประกวดราคาปล่อยเงินกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก้อนแรก 20,000 ล้านบาท เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2557 รวมทั้งแบงก์รัฐยังปฏิเสธ ย่อมสะท้อนชัดเจนว่าทุกรายหวั่นเกรงว่าจะผิดข้อกฎหมาย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า “การที่สถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ยอมปล่อยกู้ในครั้งนี้ ทำให้นายใหญ่ที่ดูไบโกรธมาก เช่นเดียวกับแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่รายหนึ่งที่เดิมทีจะให้กู้ แต่สุดท้ายเมื่อบอร์ดลงมติคัดค้านก็ปล่อยกู้ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะจดหมายของสำนักบริหารหนี้ที่ระบุว่าการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาทในครั้งนี้เข้าข่ายที่จะผิดกฎหมาย จึงทำให้นายแบงก์ต้องหยุด เพราะขนาดข้าราชการระดับสูงซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ยังท้วงติง นั่นหมายถึงความเสี่ยงที่อาจจะผิดข้อกฎหมายได้”

ดังนั้น การท้วงติงของข้าราชการทั้งในที่ประชุมการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ และการทำจดหมายอย่างเป็นทางการของผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ถึงนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรี ย่อมเป็นการยืนยันความเสี่ยงในข้อกฎหมายและการป้องกันตัวเองของข้าราชการ หากมีการฟ้องร้องในภายหลัง

ชาวนาชุมนุมประท้วงให้รัฐบาลจ่ายจำนำข้าว ที่สีแยกวังมะนาว ที่มาภาพ :http://mpics.manager.co.th
ชาวนาชุมนุมประท้วงให้รัฐบาลจ่ายจำนำข้าว ที่ส่แยกวังมะนาว ที่มาภาพ: http://mpics.manager.co.th

แต่การท้วงติงไม่เป็นผล “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ลงนามสั่งการให้ สบน. ดำเนินการกู้เงินทันที

นั่นเป็นเพราะแรงกดดันของชาวนา ที่ปิดถนนอยู่ในขณะนี้เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินค่าข้าวโดยเร็ว

และนั่นเป็นประเด็นความเสี่ยงว่าการกู้เงินในครั้งนี้ หากมีความเสี่ยงข้อกฎหมายว่าอาจจะทำไม่ได้ แล้วคนที่กู้คือใคร หาก “กิตติรัตน์” เป็นคนสั่งการ นั่นหมายความ “กิตติรัตน์” เป็นคนกู้และต้องรับผิดชอบการจ่ายเงินคืน 20,000 ล้านบาทใช่หรือไม่ เพราะตามข้อกฎหมายรัฐบาลทำไม่ได้

ถ้าย้อนกลับไปดูการดิ้นสุดซอยของรัฐบาลรักษาการในการหาเงินในครั้งนี้ จะเป็นดังนี้

สืบเนื่องมาจากมติ ครม. วันที่ 10 มิถุนายน 2556 กำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินจำนำข้าว ปี 2554/55 และ 2555/56 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 ต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วยเงินกู้ที่กระทรวงการคลังจัดหาไม่เกิน 410,000 ล้านบาท และเงินทุนของ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 90,000 ล้านบาท โดยนายกิตติรัตน์ได้รายงานผลการบริหารจัดการเงินกู้จำนำข้าวให้เป็นไปตามมติ ครม. ดังกล่าว ปรากฏว่ากรอบวงเงินกู้ในส่วนที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ณ 31 ธันวาคม 2556 ใช้ไปแล้ว 396,756 ล้านบาท มีวงเงินเหลือแค่ 13,244 ล้านบาท ครม.รักษาการจะสั่งการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. อีก 130,000 ล้านบาท ได้อย่างไร

กรอบวงเงินจำนำข้าว 5 แสนล้านบาท

ต้องย้อนกลับไปดูมติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 นายศิริ เลิศธรรมเทวี รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ นร 0506/23858 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วันที่ 5 กันยายน 2556 แจ้งว่านอกจากมติ ครม. จะอนุมัติกรอบการใช้จ่ายเงินจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/57 ไม่เกิน 270,000 ล้านบาทแล้ว ยังได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่า “กรณีที่ ครม. อนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ไม่เกิน 270,000 ล้านบาท ต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 410,000 ล้านบาท และเงินทุนของ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 90,000 ล้านบาท ตามมติ ครม. วันที่ 2 ตุลาคม 2555 และมติ ครม. วันที่ 10 มิถุนายน 2556”

ขณะที่สำนักงบประมาณให้ความเห็นว่า “แหล่งเงินที่นำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียน 270,000 ล้านบาท ควรประกอบไปด้วย 1. แหล่งเงินกู้ที่ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหา 2. เงินทุนของ ธ.ก.ส. และ 3. รายได้จากการระบายข้าว ระหว่างที่รอกระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ หรือกระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าว ควรให้กระทรวงพาณิชย์สำรองจ่ายเงินให้กับชาวนาไปก่อน”

ส่วนสภาพัฒน์ฯ ให้ความเห็นว่า “ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวให้เร็วในปริมาณที่มากขึ้น และในระยะต่อไปให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง สนับสนุนให้เกษตรกรลดต้นทุน และจัดทำโซนนิ่งในการปลูกข้าวให้สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด”

จากนั้น รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 (2) รัฐบาลต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มาทำหน้าที่แทน แต่ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ระบุว่า “คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในมาตราดังกล่าว”

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

วันที่ 3 มกราคม 2557 นายกิตติรัตน์ เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับหนี้สาธารณะ เพื่อปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2557 ครั้งที่ 1 โดยที่ประชุมได้มีการปรับลดลงเงินกู้และวงเงินค้ำประกันของรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เพื่อนำมาตั้งเป็นวงเงินค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. 130,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่ถูก สบน. ปรับลดวงเงินกู้ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถูกปรับลดวงเงินค้ำประกันเงินกู้ลง 120,000 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 10,000 ล้านบาท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 8,000 ล้านบาท ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ สบน. ได้มีการท้วงติงว่าอาจจะขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3)

วันที่ 6 มกราคม 2557 ก่อนการประชุม ครม. กระทรวงการคลังทำหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ กค 0905/174 สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้เกษตรกรที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/57 ตามมติ ครม. ก่อนยุบสภา เข้าข่ายข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3)

ในวันเดียวกันนี้ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือด่วนที่สุดเลขที่ นร 0506/387 ไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า “การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2557 ภายใต้กรอบวงเงินเดิมซึ่งผ่านการอนุมัติจาก ครม. ก่อนยุบสภาเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) หรือไม่” นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการกฤษฎีกา ส่งจดหมายตอบข้อหารือมาที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีในวันเดียวกันว่า “การดำเนินการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะฯ ไม่มีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการใหม่ หรือมีการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไป”

วันที่ 7 มกราคม 2557 นายกิตติรัตน์นำมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับหนี้สาธารณะ เห็นชอบให้มีการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา โดย ครม. มีมติรับทราบ มติของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับหนี้สาธารณะ แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำเรื่องไปสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และให้นำผลการพิจารณาเสนอต่อที่ประชุม ครม. ต่อไป

การปรับลดวงเงินกู้และค้ำประกันหนี้รัฐวิสาหกิจข้างต้นลง และนำวงเงินมาเพิ่มให้กับ ธ.ก.ส. เป็นวงเงิน 130,000 ล้านบาท หากดำเนินการก่อนประกาศยุบสภาคงไม่มีปัญหา แต่มาทำกันในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการ อาจเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) ห้ามรัฐบาลรักษาการกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือโครงการ หรือมีผลผูกพันไปถึงคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

ขณะที่ข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวถูกปกปิดเป็นความลับ กระทรวงการคลังและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะไม่ออกมาชี้แจง ยิ่งทำให้ทุกอย่างดูคลุมเครือ ไม่โปร่งใส ยกตัวอย่าง มติ ครม. วันที่ 7 มกราคม 2557 มีเฉพาะ “หัวข้อ” หรือ “วาระการประชุม” แต่ไม่สามารถเปิด “ดูรายละเอียด”ได้ส่วนมติ ครม. วันที่ 21 มกราคม 2557 ข้อเท็จจริงคือ ครม. มีมติอนุมัติการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปี 2557 แต่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไม่ได้นำขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ ทั้งหัวข้อวาระการประชุม และรายละเอียดของมติ ครม.

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจาก “กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์”สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. วันที่ 7 มกราคม 2557 รับทราบกรอบเงินทุนหมุนเวียนที่จะใช้ในโครงการรับจำนำข้าวนาปี ปี 2556/57 วงเงินไม่เกิน 270,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วยเงินกู้ 130,000 ล้านบาท และเงินจากการระบายข้าว 140,000 ล้านบาท และเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย นายกิตติรัตน์มอบหมายให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือสอบถามคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)

วันที่ 8 มกราคม 2557 เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ นร 0506/631 สอบถาม กกต. กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ทำการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2557 สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 181 หรือไม่

รัฐดิ้นสุดซอยกู้เงิน 1.3 แสนล้าน

วันที่ 21 มกราคม 2557 เวลา 10.00 น.นายกิตติรัตน์ เดินทางไปชี้แจง กกต. ก่อนที่จะกลับมาประชุม ครม. หลังจากที่ฟังคำชี้แจงของนายกิตติรัตน์เสร็จ เวลา 17.00 น. กกต. เปิดแถลงข่าว ที่ประชุม กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า “การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของ กกต. ที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ”(คลิ๊กภาพเพื่อขยาย)

หนังสือตอบข้อหารือของ กกต. ยังระบุอีกว่า “การปรับลดวงเงินกู้และค้ำประกันหนี้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งลง และนำวงเงินกู้มาเพิ่มให้ ธ.ก.ส. จึงอยู่ในความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี หากมีองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ตัดสินว่าเป็นการฝ่าฝืนและละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อาจมีผลทำให้เกิดความรับผิดชอบทางกฎหมายและในทางการเมืองได้”

ในวันเดียวกันนั้น ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติแผนการจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ใช้ในโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/57 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1. รับทราบการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2557 ครั้งที่ 1 โดยมีการปรับลดวงเงิน 5,168 ล้านบาท จากเดิม 1,321,499 ล้านบาท ลดลงเหลือ 1,316,330 ล้านบาท 2. อนุมัติการค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจภายใต้กรอบวงเงินของแผนบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ซึ่งผ่านการอนุมัติจาก ครม. ก่อนยุบสภา 3. อนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ โดยเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้แต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสม

วันที่ 23 มกราคม 2557 เลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งผลการวินิจฉัยของ กกต. อย่างเป็นทางการมาที่กระทรวงการคลัง โดยที่ประชุม กกต. ไม่รับพิจารณาประเด็นนี้ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งหนังสือตอบข้อหารือมาที่กระทรวงการคลัง โดยให้ความเห็นว่า โครงการจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57 ก่อให้เกิดหนี้ที่รัฐบาลต้องชำระตามกฎหมาย ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ได้รับการอนุมัติจา ครม. ก่อนยุบสภา มติ ครม. วันที่ 21 มกราคม 2557 อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจและจัดหาเงินกู้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ 2548 มาตรา 7 เพื่อให้รัฐบาลนำเงินไปชำระหนี้ในโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. ก่อนยุบสภา จึงไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3)

อย่างไรก็ตาม กกต. แสดงความคิดเห็นว่า “กรณีการปรับลดวงเงินกู้และค้ำประกันหนี้ให้รัฐวิสาหกิจบางแห่งลง และนำวงเงินมาเพิ่มให้กับ ธ.ก.ส. อยู่ในความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี กรณีมีองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่มาทำการวินิจฉัยแล้วชี้ขาด การดำเนินการดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน หรือละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) คณะรัฐมนตรีที่ลงนามอนุมัติอาจจะได้รับโทษในทางกฎหมายและทางการเมือง”

นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

ความเห็นของ กกต. ทำให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. รู้สึกวิตกกังวล เกรงว่าจะต้องร่วมรับผิดชอบกับ ครม. กรณีที่มีองค์กรวินิจฉัยชี้ว่าฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) วันที่ 27 มกราคม 2557 น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ทำบันทึกข้อความเลขที่ กค 0900/192 พร้อมกับแนบคำวินิจฉัยของ กกต. และเลขาธิการกฤษฎีกา ผ่านนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน เพื่อขอทราบนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า จะพิจารณาทบทวน หรือยืนยันดำเนินการจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ต่อไป นายกิตติรัตน์ลงนามในบันทึกข้อความของผู้อำนวยการ สบน. ยืนยันให้ดำเนินการต่อไป นายพงษ์ภาณุจึงลงนามสั่งการให้ สบน. ออกจดหมายเชิญสถาบันการเงิน 34 แห่ง มายื่นซองประมูล เสนอเงื่อนไขการให้กู้เงิน ธ.ก.ส. ก้อนแรก 20,000 ล้านบาท ภายในวันที่ 30 มกราคม 2557 ปรากฏว่า ไม่มีสถาบันการเงินมายื่นซองประกวดราคา

วันที่ 31 มกราคม 2557 น.ส.ประพีร์ อังกินันทน์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาการแทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณี ครม. มีมติวันที่ 21 มกราคม 2557 เพื่อจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. นำไปชำระหนี้ให้ชาวนา โดย สตง. ระบุว่า “การจัดหาเงินทุนไปให้ ธ.ก.ส. ใช้ในโครงการจำนำข้าวเปลือก ต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ หากการดำเนินการดังกล่าวเข้าสู่การวินิจฉัยชี้ขาด โดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แล้วปรากฏว่าไม่ถูกต้อง ผู้อนุมัติและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีด้วย

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 13.30 น. กระทรวงการคลังเชิญผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ 34 แห่ง มารับฟังข้อเท็จจริงในประเด็นข้อกฎหมาย และปรับปรุงเงื่อนไขการจัดหาเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. รูปแบบใหม่ เวลา 11.30 น. มีผู้บริหารของกระทรวงการคลังโทรศัพท์สั่งการยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว

นี่คือบันทึกประวัติศาสตร์การดิ้นสุดซอยของรัฐบาลกับความล้มเหลวของนโยบายประชานิยมในโครงการรับจำนำข้าวที่เจ๊งคามือรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”