ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ต้นทุนการปลูกข้าวของ “ผู้จัดการนา” ยุคดิจิตอล กำไรที่แท้จริงของชาวนา

ต้นทุนการปลูกข้าวของ “ผู้จัดการนา” ยุคดิจิตอล กำไรที่แท้จริงของชาวนา

8 กุมภาพันธ์ 2014


เหตุการณ์จ่ายเงินให้ชาวนาล่าช้าของรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 (นาปี) ได้ล่วงเลยเข้ามาสู่เดือนที่ 5 แล้ว คือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 จนบัดนี้จะเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีใบประทวนที่ยังไม่ได้รับเงินจากรัฐบาลอยู่อีก 1.4 ล้านราย สร้างวิกฤติสภาพคล่องให้กับชาวนาเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

จากการสัมภาษณ์ชาวนาในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวอันดับต้นๆ ในประเทศไทย พบปัญหาความเดือดร้อนมากมายหลักจากรัฐบาลผิดนัดชำระค่าข้าว เนื่องจากชาวนายังไม่ได้เงินจากการรับจำนำข้าวทั้งๆ ที่ควรจะได้แล้ว เงินเก็บที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ก็หมดแทบจะไม่มีเหลือ ทำให้ไม่มีเงินใช้ในชีวิตประจำวัน จนต้องไปกู้เงินนอกระบบที่มีดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน

ส่วนนายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบก็เริ่มมีปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องเสียเองจนถึงกับไม่ปล่อยเงินกู้เพิ่ม เพราะลูกหนี้ต่างหยุดผ่อนหนี้ คือมีแต่เงินออกไม่มีเงินเข้า ซึ่งเริ่มมีให้เห็นแล้วในเขตจังหวัดพิจิตร

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงต้นตอของปัญหาที่มาว่า เพียงได้เงินล่าช้าไปไม่กี่เดือน ชาวนาหลายๆ คนถึงกับต้องสิ้นเนื้อประดาตัวเลยหรือ และคนเหล่านี้ไม่มีเงินเก็บหรืออย่างไร

คำตอบที่ได้รับมามีมากมายหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาการบริหารการเงิน ปัญหาการกู้ยืมเงินที่ไม่จบสิ้น และความเสี่ยงจากธรรมชาติที่ไม่รู้ว่าผลผลิตที่ได้จะเป็นอย่างไร

แต่ปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ “ต้นทุนการทำนา” ของชาวนาในปัจจุบันที่สูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนแรงงาน หรือแม้แต่กระบวนการผลิตที่เปลี่ยนไปทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้นก็ตาม ซึ่งสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนเหล่านี้จากชาวนาหลายคนมาแสดงพร้อมการคำนวณประกอบดังต่อไปนี้

นาข้าว

ต้นทุนการปลูกข้าวของ “ผู้จัดการนา”

เป็นระยะเวลาหลายปีแล้วที่วิถีการปลูกข้าวของชาวนาไทยเปลี่ยนไป จากที่เมื่อก่อนชาวนาหนึ่งคนต้องทำทุกอย่างตั้งแต่ไถนาย่ำเทือกไปถึงเกี่ยวข้าว กลายมาเป็นทำเองบางส่วนและจ้างคนอื่นอีกบางส่วน กระทั่งปัจจุบันแทบจะเป็นการจ้างคนอื่นทำทุกขั้นตอน ซึ่งการจ้างคนอื่นให้ทำนาทุกขั้นตอนด้วยการโทรศัพท์สั่งนั้น หลายคนเรียกอาชีพนี้ว่า “ผู้จัดการนา”

ในระยะหลายปีมานี้ วิถีการปลูกข้าวเริ่มเปลี่ยนไปเป็นการจ้างมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่มีโครงการประกันราคาข้าวและโครงการรับจำนำข้าวจากรัฐบาลที่ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่ต้องกลายมาเป็น “ผู้จัดการนา” เนื่องจากต้องทำผลผลิตให้เร็วขึ้นและมากขึ้น เพื่อที่จะได้ไปขายข้าวในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งชาวนาคนหนึ่งใน อ.โพทะเล จ.พิจิตร อ้างว่าชาวนาในละแวกที่อยู่ประมาณ 90% แทบจะทำนาด้วยการจ้างทั้งหมด

การเป็น “ผู้จัดการนา” มีข้อดีที่สามารถประหยัดเวลาและประหยัดแรงไปได้มากเมื่อเทียบกับการทำนาเองทุกขั้นตอน แต่มันก็แลกมาด้วยต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น

ต้นทุนในการปลูกข้าวของผู้จัดการนามีอะไรบ้าง (โทรศัพท์สั่งอย่างเดียวไม่ต้องลงแรงอะไรเลย)

1. ไถนา หรือการย่ำเทือก เป็นขั้นตอนการเตรียมดินสำหรับการหว่านข้าว ราคาค่าจ้างอยู่ที่ไร่ละ 250-300 บาท แต่หากใช้รถแทร็กเตอร์ขนาดใหญ่ทำซึ่งใช้เวลารวดเร็วกว่า ราคาต่อไร่ก็จะอยู่ที่ 400 บาท

2. การลูบ คือการลูบหน้าดินให้เรียบเสมอกันหรือการลูบเทือกก่อนการหว่าน ราคาค่าจ้างอยู่ที่ไร่ละ 250-300 บาท

3. เมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์ข้าวมีราคาแตกต่างกันตามสายพันธุ์ต่างๆ ในที่นี้จะขอใช้พันธุ์ปทุมธานี 1 ซึ่งมีราคาประมาณ 26 บาทต่อกิโลกรัม โดยพื้นที่ขนาด 1 ไร่จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 25-30 กิโลกรัม คิดเป็นราคา 650-780 บาทต่อไร่

4. ค่าจ้างหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว คือการจ้างคนมาหว่านเมล็ดพันธุ์ โดยราคาจะมีตั้งแต่ 50-100 บาทต่อไร่

5. ปุ๋ยเคมี การปลูกข้าวต่อ 1 ฤดูกาลจะให้ปุ๋ยเคมี 2-3 รอบ ให้อย่างต่ำครั้งละประมาณ 25 กิโลกรัม (ครึ่งกระสอบ) ต่อไร่ โดยราคาปุ๋ยยูเรียปัจจุบันอยู่ที่ 650-700 บาทต่อกระสอบ เมื่อคิดเป็นต้นทุนต่อฤดูกาลจะอยู่ประมาณ 700-1,000 บาทต่อไร่

6. ค่าจ้างหว่านปุ๋ยเคมี ราคาค่าจ้างหว่านปุ๋ยในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ระดับราคาจะอยู่ที่ 50-100 บาทต่อไร่ ซึ่งในหนึ่งฤดูกาลจะหว่าน 2-3 รอบ คิดเป็นต้นทุนประมาณ 100-300 บาท

7. สารเคมี สารเคมีในที่นี้จะรวมทั้งยาคุมหญ้า ยาฆ่าหญ้า ยาป้องกันแมลง ยาฆ่าแมลง รวมถึงฮอร์โมนบำรุงพืชด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วจะนำยาเหล่านี้ 1 ขวดมาผสมน้ำในถังขนาด 200 ลิตร 1 ถัง ฉีดได้ 15 ไร่ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้มีราคาแตกต่างกันมากตั้งแต่ 150 บาท ไปจนถึงหลายร้อยบาทหรือเป็นพันบาทก็มี โดยในการปลูกข้าว 1 ฤดูกาลจะต้องฉีดสารเคมีเหล่านี้อย่างน้อย 2-3 ครั้ง และจะมากขึ้นไปอีกหากมีโรคพืชแมลงเข้ามารบกวน ในที่นี้จะขอให้ราคากลางสารเคมีทุกชนิดถัวเฉลี่ยต่อขวดอยู่ที่ 400 บาท ตามคำบอกเล่าของชาวนาในจังหวัดพิจิตร และใช้สารเคมีอย่างต่ำ 3 ชนิด คือ ยาคุมหญ้าฉีด 1 รอบ ยาป้องกันแมลง 2-3 รอบ ฮอร์โมนบำรุงต้นข้าวอีก 2-3 รอบ เมื่อคำนวณเป็นต้นทุนต่อไร่จะได้ 180-200 บาท

8. ค่าจ้างฉีดสารเคมี ราคาค่าจ้างฉีดสารเคมีจะอยู่ที่ประมาณ 50 บาทต่อไร่ต่อรอบ ซึ่งปกติจะฉีดประมาณ 4 ครั้งต่อฤดูกาล จึงคิดเป็นราคา 200 บาทต่อไร่

9. เก็บเกี่ยวข้าว เมื่อข้าวโตพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวก็ต้องจ้างรถมาเกี่ยว โดยราคาอยู่ที่ไร่ละ 500 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าขนข้าวราคาเกวียนละ 100 บาท หากผลผลิตต่อไร่คือ 80 ถัง หรือ 0.8 เกวียน ราคาค่าขนข้าวจะอยู่ที่ 80 บาทต่อไร่ เมื่อรวมต้นทุนในกระบวนการเก็บเกี่ยวจะมีราคาอยู่ที่ 580 บาท (ถ้าผลผลิตต่อไร่สูงราคาก็จะมากขึ้น)

10. น้ำมันเชื้อเพลิง การทำนามีความจำเป็นที่จะต้องสูบน้ำเข้านา ซึ่งมีค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ไม่น้อย โดยปกติแล้วจะสูบน้ำกันโดยเฉลี่ย 1 ครั้งต่อ 10 วัน เป็นอย่างน้อย ให้การปลูกข้าวต่อ 1 ฤดูกาลอยู่ที่ 120 วัน ฉะนั้น ในหนึ่งฤดูกาลจึงสูบน้ำเฉลี่ย 10 ครั้ง (ตัดช่วงใกล้เก็บเกี่ยวที่ต้องปล่อยให้น้ำแห้ง) โดยเครื่องสูบน้ำจะกินน้ำมันในอัตรา 2.5 ลิตรต่อ 1 ไร่ ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 30 บาท จะได้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนที่ประมาณ 750 บาทต่อไร่

อย่างไรก็ดี หากเป็นการทำข้าวนาปี ปริมาณการสูบน้ำก็จะลดน้อยลงตามลำดับเนื่องจากมีฝนคอยให้น้ำ

11. ค่าเช่านา ในกรณีที่ไม่มีที่นาทำกินเป็นของตัวเอง ชาวนาหลายคนก็ต้องเช่านามาทำซึ่งวิธีคิดราคามีหลายรูปแบบ เช่น ขอเป็นส่วนแบ่งจากผลผลิตที่ได้ หรือเก็บเป็นรายปี หรือเก็บเป็นรายครั้ง ครั้งละ 1,000-1,200 บาทต่อไร่ต่อการปลูก 1 ครั้ง ซึ่งจากการลงพื้นที่พบเห็นวิธีเก็บค่าเช่าเป็นรายครั้งเสียส่วนมาก

ต้นทุนทำนา

ทั้งนี้ ต้นทุนการทำนาที่เขียนไว้ข้างต้นไม่ได้หมายถึงต้นทุนทำนาของชาวนาทุกคนในประเทศ เป็นเพียงการสัมภาษณ์และเอาข้อมูลจากชาวนา 10 คนในจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์เท่านั้น โดยทุกคนที่ถูกสัมภาษณ์ล้วนเป็น “ผู้จัดการนา” ที่จ้างปลูกข้าวทั้งหมดเกือบทุกกระบวนการ แม้ข้อมูลที่ได้มาจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่ก็มีระดับราคาที่ใกล้เคียงกันซึ่งแสดงไว้ในรายละเอียดข้างต้นแล้ว

เมื่อนำต้นทุนทั้ง 11 รายการมารวมกันจะได้ต้นทุนต่อไร่อยู่ที่ประมาณ 4,710 บาท ถึง 5,710 บาท โดยถ้าตัดค่าเช่านาออกไป (ในกรณีมีที่นาเป็นของตัวเอง) ก็จะมีต้นทุนอยู่ในช่วง 3,710-4,510 บาทต่อไร่ต่อรอบการปลูก

อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์พบว่าชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้ทำบัญชีบันทึกต้นทุนที่ละเอียดครบทุกรายการ บางรายการมีการจด แต่บางรายการก็ไม่จด และมักจะพบว่าส่วนใหญ่มีต้นทุนบานปลายกว่าที่ได้จากการคำนวณข้างต้น คือมากกว่าระดับ 3,710-4,510 บาท (กรณีไม่เช่าที่ทำนา) ขึ้นไปอีก โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5,000 บาทต่อไร่ ซึ่งชาวนากล่าวว่ามีสาเหตุมาจากการเสียดอกเบี้ยเงินกู้ที่นำมาลงทุนและซื้ออุปกรณ์ในการทำนาหรือเสียเล็กเสียน้อยรายทางแต่ไม่ได้จดบันทึกไว้

กำไรจากการปลูกข้าว

หลังจากแสดงต้นทุนให้ดูแล้ว ทีนี้ก็มาถึงกำไร ส่วนที่สำคัญที่สุดในการทำมาหากิน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจว่าต้นทุนในการปลูกข้าวนั้นจะมากหรือน้อย หากกำไรที่ได้ยังมากอยู่ โดยเฉพาะเมื่อมีโครงการรับจำนำข้าวจากรัฐบาล

“โครงการจำนำข้าวมันมีผลเรื่องเศรษฐกิจด้วยนะ เพราะชาวนาบางคนนี่เขารู้ตัวล่วงหน้าเลยนะว่าปลูกข้าวแล้วจะได้เงินเท่าไหร่ อย่าง 10 ไร่ก็จะได้แสนกว่า เมื่อเขารู้มันก็ทำให้ความคิดพฤติกรรมเขาเปลี่ยนไป อย่างเช่น กล้าซื้อรถ กล้าซื้อของ กล้าใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือย มีข้าวของเครื่องใช้สารพัด กล้าใช้กล้ากิน ตอนราคาข้าวหมื่นกว่าบาทนี่ตลาดนัดไปดูเหอะ ใช้จ่ายดี” แกนนำผู้ชุมนุมคนหนึ่งจากกลุ่มฅนทำนาจังหวัดพิจิตรได้กล่าวไว้

เมื่อมีโครงการรับจำนำข้าว หากราคาขายข้าวต่อตันเมื่อเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวอยู่ที่ 15,000 บาท ซึ่งในความเป็นจริงชาวนาจะได้ไม่เต็มจำนวน เพราะถูกหักค่าความชื้นและความไม่ได้มาตรฐานต่างๆ ออก เหลือเพียงตันละประมาณ 11,000-13,000 บาทแล้วแต่กรณีไป

ในการคิดกำไร นำราคาขายข้าวต่อตัน 13,000 บาทมาหาราคาค่าข้าวต่อไร่ วิธีคิดคือสมมติให้ 1 ไร่มีผลผลิต 80 ถัง ซึ่งเป็นผลผลิตเฉลี่ย (ค่อนข้างสูง) โดยปกติอยู่แล้วของชาวนาในแถบจังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์ จะได้ 13,000 x 0.8 = 10,400 บาทต่อไร่ นำมาหักต้นทุนที่ 4,500 บาทต่อไร่ (กรณีไม่เช่าที่ทำนา) ได้เป็นกำไรต่อไร่ 5,900 บาท

จากคำบอกเล่าของชาวนาในอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร และเอกสารแสดงเนื้อที่การทำนาของแต่ละครัวเรือนพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วชาวนาในจังหวัดพิจิตรจะทำนา 30 ไร่ต่อหนึ่งครัวเรือน มากกว่านี้ก็มีน้อยกว่านี้ก็มีเช่นกัน โดยมีทั้งนาที่เช่าทำกินและเป็นเจ้าของเอง

หากครอบครัวหนึ่งทำนา 30 ไร่ โดยได้กำไรต่อไร่ประมาณ 5,900 บาท รายได้ของครอบครัวชาวนานี้จะอยู่ที่ 177,000 บาทต่อการปลูกข้าวหนึ่งรอบ หากทำนา 2 รอบ และเข้าโครงการรับจำนำ รายได้ก็จะอยู่ที่ 354,000 บาทต่อปี
โดย 1 ปี จะมีการผลิต 2-3 รอบ แบ่งเป็นนาปี 1 รอบ และนาปรังอีก 1-2 รอบ แต่โครงการรับจำนำข้าวสามารถทำได้เพียง 2 รอบต่อปีเท่านั้น

เมื่อคิดเป็นรายได้ต่อเดือนจะอยู่ที่ 29,500 บาท หรือประมาณ 30,000 บาทต่อเดือนต่อครอบครัว

กำไรจากการปลูกข้าว กรณีมีโครงการรับจำนำ

กรณีไม่มีโครงการรับจำนำข้าว เมื่อขายข้าวตามราคาตลาด ราคาจะไม่แน่นอน ขึ้นบ้างลงบ้างตามกลไกตลาด ซึ่งราคาข้าวเปลือก (ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2557) ที่ความชื้น 15% อยู่ที่ตันละ 8,300 บาท

การคิดกำไรกรณีไม่มีโครงการรับจำนำข้าว สมมติให้ผลผลิตข้าวเปลือกต่อไร่อยู่ที่ 80 ถัง จะขายข้าวได้ราคา 8,300 x 0.8 = 6,640 บาทต่อไร่ หักต้นทุนไร่ละ 4,500 บาท (กรณีไม่เช่าที่นาทำ) ได้กำไรต่อไร่ที่ 2,140 บาท

ถ้าครอบครัวชาวนาปลูกข้าวในเนื้อที่ 30 ไร่ จะมีรายได้เข้าครอบครัวประมาณ 64,200 บาทต่อการปลูกข้าวหนึ่งรอบ ในปีหนึ่งสามารถปลูกได้ 2-3 รอบ ก็จะมีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 128,400-192,600 บาท หรือคิดเป็นรายได้ต่อเดือนที่ 10,700-16,050 บาทต่อครอบครัว

กำไรจากการปลูกข้าว ไม่มีการรับจำนำ

จากการคำนวณข้างต้นจะเห็นว่า ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวจะมีรายได้ที่สูงกว่าคนที่ไม่เข้าร่วมโครงการค่อนข้างมาก กำไรต่อไร่ต่างกันเกือบ 3 เท่า ในกรณีมีที่นา 30 ไร่เป็นของตัวเอง ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้อยู่เกือบ 30,000 บาทต่อเดือนในขณะที่ปลูกข้าวเพียง 2 รอบต่อปี ส่วนชาวนาที่ขายข้าวตามราคาตลาดจะมีรายได้อยู่ที่ 10,700 บาทต่อเดือนถ้าปลูกข้าว 2 รอบต่อปี หากปลูก 3 รอบต่อปีรายได้ต่อเดือนจะอยู่ที่ 16,050 บาท

ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเกิดชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวปลูกข้าวเป็นรอบที่ 3 แล้วขายข้าวเปลือกตามราคาตลาดแล้วล่ะก็ รายได้ต่อเดือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 34,850 บาท

จากทั้งหมดจะเห็นได้ว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลทำให้ชาวนามีรายได้มากขึ้น และเมื่อเทียบกับราคาตลาดแล้วยิ่งเห็นความแตกต่าง

แต่ถ้าหากโครงการรับจำนำมีอันต้องจากไป กำไรที่เคยได้อาจน้อยลงจนทำให้เกิดปัญหาตามมา เมื่อพิจารณาดูจะเห็นว่าราคาขายเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับกลไกตลาดซึ่งเราไม่สามารถกำหนดได้ แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่เราสามารถกำหนดได้นั่นก็คือ “ต้นทุน”

จากตัวอย่างที่แสดงข้างต้นนั้นเป็นการคำนวณรายได้ของชาวนาที่ไม่ต้องลงมือทำอะไรเลย เป็นการจ้างทำนาล้วนๆ หรือที่เรียกว่า “ผู้จัดการนา” ถ้าสมมติให้ “ผู้จัดการนา” เหล่านี้ลงมือทำนาเองบ้างลดการจ้างลงบ้าง ต้นทุนจะถูกลงไม่น้อย

ต้นทุนที่น้อยลงนำไปสู่กำไรที่มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไปอีก แน่นอนว่าเมื่อถึงตอนนั้นการพึ่งพาโครงการของรัฐบาลที่ให้ราคาข้าวสูงอาจจะไม่จำเป็นก็ได้