ThaiPublica > คอลัมน์ > กำเนิดซอมบี้ Birth of the Living Dead

กำเนิดซอมบี้ Birth of the Living Dead

28 กุมภาพันธ์ 2014


เหว่ยเฉียง

1 Birth-Final-banner_242

ศพเดินได้ ไร้จิตใจไม่มีสมอง และกระซวกเนื้อคนสดๆ เป็นอาหาร คือลักษณะเด่นของ ‘ซอมบี้’ ที่ทั่วทั้งโลกรู้จักกันมานานกว่า 40 ปี กลายเป็นกระแสฮิตแตกดอกออกผลเป็นอะไรอีกหลากหลายในวัฒนธรรมป็อป เอาแค่ในช่วงปีที่ผ่านมาก็มีมากมายเช่น ซีรีส์ทีวีเรตติ้งแรง Walking Dead, หนังซอมบี้ปิ๊งรักคนเป็น Warm Bodies, หนังมวลมหาซอมบี้วิ่งถล่มเมือง World War Z, การ์ตูนญี่ปุ่นลุ้นระทึก I Am Hero หรือแม้แต่หนังสั้นไทยฝีมือนักศึกษาลาดกระบัง ผีห่ารัตนโกสินทร์

2 BirthLivingDead_iTunes

รายชื่อที่เอ่ยมาทั้งหมดและที่ไม่ได้เอ่ยถึงอีกนับพันๆ เรื่อง ล้วนต่อยอดมาจากหนังว่าด้วยเหตุการณ์ประหลาดในเมืองชนบทที่จู่ๆ ศพจำนวนมากก็ลุกฮือขึ้นมาไล่ฉีกเนื้อคนเป็นอาหารโดยไม่มีสาเหตุ ใน Night of the Living Dead (1968) ของ จอร์จ เอ โรเมโร หนังทุนแสนต่ำเตี้ยที่เรี่ยไรเงินลงขันจากทีมงาน 10 คนมาเป็นเงินตั้งต้นแค่ 6,000 เหรียญสหรัฐ กระทั่งเมื่อลงโรงแล้วต้องผ่านขั้นตอนในสตูดิโอและทำสำเนาสำหรับฉายโรงก็จบงบสร้างไปทั้งสิ้น 114,000 เหรียญ แต่กลับทำรายได้โดดเด้งไปถึง 12 ล้านเหรียญในอเมริกา และอีก 18 ล้านเหรียญทั่วโลก ทั้งที่เป็นหนังอินดี้ทำกันเองแบบไม่ง้อค่ายหนัง ซึ่งผู้กำกับโรเมโรขณะนั้นก็มีอายุเพียง 27 ปี และนักแสดงก็เป็นชาวบ้านละแวกกองถ่าย ที่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นหนังคัลท์ขึ้นหิ้ง พลิกโฉมหน้าผีสยองในสื่อบันเทิงไปตลอดกาล อันเป็นที่มาของสารคดีที่เรากำลังเอ่ยถึงอยู่นี้ Birth of the Living Dead (2013)ของ ร็อบ คูห์นส์

จอร์จ เอ โรเมโร ผู้กำกับ Night of the Living Dead
จอร์จ เอ โรเมโร ผู้กำกับ Night of the Living Dead

ตัวสารคดีนี้สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องและผู้คนในแวดวงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังต้นกำเนิดซอมบี้เรื่องนั้น รวมถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากมาย อาทิ หนังของโรเมโรเป็นการซุ่มถ่ายทำแบบกองโจรโดยใช้ฟาร์มร้างแห่งหนึ่งในเมืองพิตต์สเบิร์ก (ละแวกบ้านผู้กำกับ) หนึ่งในคนลงขันให้หนังเป็นพ่อค้าเนื้อสัตว์ มีนักข่าวในท้องถิ่นมาร่วมแสดง และนักแสดงทั้งหมดล้วนมีหน้าที่อื่นหรือแสดงเป็นสองตัวละคร รวมถึงปัญหาอื่นๆ ยิบย่อย เช่น เมื่อต้องเข้าฉายโรงจริงๆ ก็ถูกขอร้องจากผู้จัดจำหน่ายให้เปลี่ยนแก้ตอนจบให้เลือดสาดน้อยลง หรือแม้จะถูกกล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมาก แต่การฉายในบางเมืองก็กลับโดนต่อต้านหนัก ฯลฯ

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ไอเดียต้นแบบของซอมบี้มาจากแฟรงเกนสไตน์ และมัมมี่ โดยโครงเรื่องดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของริชาร์ด แมทเธสัน เรื่อง I Am Legend (ภายหลังเรื่องนี้ถูกดัดแปลงเป็นหนังปี 2007) รวมถึงแนวคิดสำคัญมาจากการเสียดสีเหตุการณ์จริงของการประท้วงในปี 1968 และสงครามเวียดนาม แถมหนังยังสอดแทรกแนวคิดเรื่องการเหยียดผิวด้วยการให้ตัวเอกเป็นแอฟริกัน-อเมริกันอีกด้วย

กลุ่มผู้ชุมนุมชาวอเมริกันขับไล่คนผิวสีออกนอกประเทศ
กลุ่มผู้ชุมนุมชาวอเมริกันขับไล่คนผิวสีออกนอกประเทศ

โรเมโรให้ความเห็นว่า “ผมว่า I Am Legend เป็นหนังเกี่ยวกับการปฏิวัติ แต่ถ้าคุณจะทำประเด็นนี้ คุณควรเริ่มที่จุดเริ่มต้นของมัน คือในนิยายของริชาร์ดมันเริ่มเมื่อทั้งโลกเหลือมนุษย์รอดอยู่เพียงคนเดียว นอกนั้นผู้คนทั้งโลกกลายเป็นผีดูดเลือดไปหมดแล้ว ดังนั้นผมจึงเปลี่ยนไปเริ่มที่เหตุการณ์อันนำไปสู่หายนะนั้น แต่ทีนี้คงใช้ผีดูดเลือดไม่ได้เพราะไม่อยากจะซ้ำกับในนิยายของริชาร์ด ดังนั้นผมเลยอยากได้อะไรที่มันเปรี้ยงๆ เขย่าวงการ และหวังว่าจะเป็นประเด็นฮิตไปอีกนานแสนนาน ผมจึงนึกไปว่าอะไรที่จะเป็นหัวใจของการปฎิวัติจริงๆ มันต้องเป็นตัวอะไรสักอย่างที่มีหน้าตาเหมือนคนแต่ไม่ใช่คน เรื่องมันจึงพัวพันกับผู้คนที่มีปฏิกิริยาต่อเหตุวินาศสันตะโรเหล่านี้”

กลุ่มคนผิวสีออกมาเรียกร้องว่าตนเองก็เป็นมนุษย์เหมือนพวกคนขาว
กลุ่มคนผิวสีออกมาเรียกร้องว่าตนเองก็เป็นมนุษย์เหมือนพวกคนขาว

ตัวหนังของโรเมโรจึงสื่อไปถึงความเคียดแค้นชิงชังที่อเมริกันชนต่างถูกล้างสมองให้เชื่อต่อๆ กันมาตั้งแต่ยุค 50 โดยหัวหอกผู้ปลุกระดมคือวุฒิสมาชิก โจเซฟ แมคคาร์ธีย์ ผู้มักเปรียบเทียบพวกโลกสังคมนิยมว่า “แม้คนพวกนี้จะเป็นคนเหมือนเรา แต่พวกเขาไม่นับถือพระเจ้า ไร้จิตวิญญาณและต้องการทำลายชาวอเมริกัน” ก็ไม่ต่างอะไรกับศพสยองลืมหลุมที่ลุกขึ้นมาแพร่เชื้อซอมบี้ ว่าไม่ต่างกับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่สามารถล้างสมองคนให้แปรพักตร์ได้ หนังซอมบี้จึงมักอุดมไปด้วยภาพสยองของมนุษย์ที่ฆ่าฟันกับ(ผีร้ายที่มีหน้าตาเหมือน)มนุษย์ด้วยกันเองอย่างไร้ปราณี เพราะมองฝ่ายตรงข้ามว่าไร้ความเป็นคนไปแล้ว

ตำรวจใช้สุนัข K9 ไล่กัดผู้ชุมนุมประท้วงผิวสี (ซ้าย) ภาพจากหนังของโรเมโรดัดแปลงให้มาไล่งับซอมบี้ (ขวา)
ตำรวจใช้สุนัข K9 ไล่กัดผู้ชุมนุมประท้วงผิวสี (ซ้าย) ภาพจากหนังของโรเมโรดัดแปลงให้มาไล่งับซอมบี้ (ขวา)

รวมถึงกรณีประท้วงในปี 1968 ที่มวลชนลุกฮือขึ้นต่อต้านทหาร ทุนนิยม และความเหลื่อมล้ำทางสังคม อันเนื่องมาจากการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิคนผิวสี เพราะก่อนหน้านั้นในอเมริกาเคยมีการกีดกันคนกลุ่มนี้ในสังคม อาทิ มีการแบ่งแยกใช้ห้องน้ำ ห้ามใช้สระว่ายน้ำหรือห้องสมุดของคนขาว และมวลมหาคนขาวที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลส่งคืนผู้ลี้ภัยผิวสีออกไปให้พ้นประเทศ ฯลฯ จนทำให้คนผิวสีออกมาเรียกร้องว่าพวกเขาก็เป็นคนเช่นเดียวกับพวกคนขาว บานปลายลามเลยไปถึงการเรียกร้องสันติภาพ ต่อต้านความรุนแรงที่สหรัฐฯ เคยทิ้งบอมบ์ถล่มเวียดนามเมื่อปี 1966 อันภายหลังก่อให้เกิดแนวร่วมประท้วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ที่ขยายวงกว้างไปสู่แถบยุโรป อาทิ ลอนดอน ปารีส เบอร์ลิน และโรม

ทหารอเมริกันกวาดล้างคอมมิวนิสต์เวียดนาม (ซ้าย) ภาพจากหนังของโรเมโร (ขวา)
ทหารอเมริกันกวาดล้างคอมมิวนิสต์เวียดนาม (ซ้าย) ภาพจากหนังของโรเมโร (ขวา)

ประเด็นเสียดสีที่ชัดเจนในหนังของโรเมโรก็คือ เมื่อชาวบ้านที่อยากรู้ว่าอะไรกันแน่คือสาเหตุให้เกิดวิกฤติซอมบี้ถล่มเมือง พวกเขาคอยเกาะติดข่าวสารจากกองทัพ แต่กลับได้เพียงข้อมูลด้านเดียวและอำพรางความจริง อีกทั้งยังส่งผลให้ชาวบ้านต่างคลั่งแค้นและออกไล่ล่าซอมบี้อย่างโหดเหี้ยม

ขณะที่ตัวสารคดีกลับชี้ว่า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน คนเริ่มรู้ทันกลเกมยั่วยุปลุกปั่นเพื่อชิงอำนาจแล้ว แนวทางของหนังซอมบี้จึงเปลี่ยนไปด้วย เช่น หนังเรื่อง Shaun of the Dead (2004) ที่มองซอมบี้อย่างเห็นใจ และเชื่อว่าเราสามารถอยู่ร่วมสังคมกันได้ หรือแม้แต่ Warm Bodies (2013) ที่เล่าเรื่องผ่านสายตาของซอมบี้ที่มองกลับมายังพวกมนุษย์ว่าโหดเหี้ยม และการไล่ล่าเกิดขึ้นก็เพราะต่างฝ่ายต่างหวาดกลัวกันและกัน เลยไปถึงว่าความรักระหว่างคนกับซอมบี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ในหมู่คนที่ชิงชังและต่างกันสุดขั้ว