ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเก่า”จำนำข้าว”….รัฐจะแถไปถึงไหนกัน

เรื่องเก่า”จำนำข้าว”….รัฐจะแถไปถึงไหนกัน

11 กุมภาพันธ์ 2014


บรรยง พงษ์พานิช

ตื่นเช้าวันนี้ (10 ก.พ. 2557) อ่านหนังสือพิมพ์ “โพสต์ทูเดย์” สัมภาษณ์คุณอานันท์ ปันยารชุน มีเนื้อหาดีๆ เยอะครับ ท่านวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ วิเคราะห์ปมขัดแย้ง โดยเฉพาะการเอาแต่ยึดกับการตีความกฎหมาย เสนอแนะทางออก (เป็นบทความที่น่าหามาอ่านมากครับ) และเรื่องหนึ่งในนั้น ก็เป็นเรื่อง “จำนำข้าว” ที่ท่านเล่าให้ฟังว่าเคยท้วงติงโดยตรงกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และรองนายกฯ กิตติรัตน์ เมื่อกว่าหนึ่งปีที่แล้ว

ส่วน “ไทยรัฐ” ก็สละพื้นที่เต็มหน้า 8 ให้ “ยรรยง พวงราช” รมช.พาณิชย์ ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ว่าเทิดทูนระบบบิดเบือนกลไกตลาด (เพื่อกรูจะได้มีอำนาจบทบาท เก็บเกี่ยวได้บ้างไง) ออกมาอธิบายยกย่องเชิดชูนโยบายสุดอัจฉริยะ “จำนำข้าว” ของพรรค ซึ่งอ่านดูก็เป็นการแถแบบเดิมๆ คือเพื่อช่วยเหลือชาวนา แต่ก็ยอมรับว่า “รัฐใช้เงินปีละ 300,000 ล้านบาท โดยที่ประมาณ 150,000-160,000 ล้านบาท เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนา” ทำให้ผมอยากถามตรงๆ ว่า แล้วที่เหลืออีก 140,000-150,000 ล้าน หายไปไหนวะ เป็นรายได้ที่เพิ่มของพลพรรคพวกท่านเท่าไหร่ (ผมลอกมาตรงๆ นะครับ จากไทยรัฐหน้า 8 ถ้าคลาดเคลื่อนก็ไปเฉ่งกันเอาเอง)

นอกจากนั้นคุณยรรยงท่านยังแถว่า การรับจำนำนี้ ยังทำให้กลไกตลาดข้าวเข้มแข็งขึ้น (เพราะฝีมือกรูย่อมเหนือกว่ากลไกตลาด…ทฤษฎีไหนวะ) “แต่ยอมรับว่า โครงการขนาดใหญ่ ย่อมมีช่องว่างทำให้เกิดการทุจริต ไม่สามารถควบคุมได้หมด คนที่เกี่ยวข้องย่อมต้องหาช่องโหว่ทุจริตให้ได้” ซึ่งแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็ต้องเลิกโครงการแล้วครับ แถมท่านยังยืนยันว่าข้อมูลทั้งมวลต้องเป็นความลับ บัญชีไม่ควรปิด (แต่ไม่ยอมเปิดเผย) ไว้สองสามปีค่อยมาบอกว่าเจ๊งเท่าไหร่ เงินที่ระดมกู้มาจะคืนได้เท่าไหร่ เหลือเป็นภาระแผ่นดินเท่าไหร่ สต็อกมีอยู่เท่าไหร่ คุณภาพเป็นไงก็ไม่บอก จะขายใครถูกบ้างแพงบ้างเป็นเรื่องเทคนิคของกรู ทุกอย่างล้วนเป็นความลับทางการค้า รู้ได้เฉพาะคนเก่งๆ ดีๆ อย่างพวกกรู คนอื่นล้วนชั่วร้าย จะเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทำลายประเทศไทย แถมตบท้ายว่า ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ไปลงเลือกตั้งแล้วชูนโยบายเลิกจำนำมาแข่งกัน (ไม่กล้าคร้าบบบ…ก็ไม่มีกระสุนที่ตุนเอาไว้เป็นแสนล้านอย่างพวกท่านนี่ครับ)

ตัวแทนชาวนาเจรจากับรัฐบาลเรื่องการจ่ายเงินค่าจำนำข้าว เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 ที่มาภาพ :http://www.dailynews.co.th
ตัวแทนชาวนาเจรจากับรัฐบาลเรื่องการจ่ายเงินค่าจำนำข้าว เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ที่มาภาพ: http://www.dailynews.co.th

นี่แหละครับ คำชี้แจงจากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบฝั่งรัฐบาล ในนโยบายที่ทุกฝ่ายมั่นใจว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง มีแต่ฝั่งรัฐบาลที่แถไปวันๆ ผมขอเรียกร้องให้จัดเวทีสาธารณะเรื่องนี้ เอา “ยิ่งลักษณ์-กิตติรัตน์-นิวัฒน์ธำรง-ยรรยง” มาประชันกับฝ่ายวิชาการ เช่น “ปรีดิยาธร-วีรพงษ์-อัมมาร-นิพนธ์” ถกกันยาวๆ เปิดๆ ให้สาธารณชนได้รับรู้กันเสียที ฝ่ายค้านไม่ต้องเอาเพราะจะหาว่าอคติ (แถมให้นายใหญ่ท่านสไกป์อินมาจากดูไบด้วยอีกคนก็ได้ครับ)

ผมแปลกใจจริงๆ ที่สื่อไทยยักษ์ใหญ่ทั้งหลายยังชอบยินยอมให้มีบทสัมภาษณ์ที่แถๆ ไร้เหตุผล ไร้การกลั่นกรอง ซึ่งทำให้ประชาชนสับสนกับสิ่งที่ชัดแจ้งแล้วว่าเป็นเรื่องห่วยสุดๆ อย่างเรื่องนี้ได้

ขอกลับมาบทสัมภาษณ์ของท่านอานันท์บ้างครับ ท่านได้ยกตัวอย่างฝีมือการทำลายอุตสาหกรรมข้าวของประเทศพม่า เมื่อนายพลเนวินยึดอำนาจจากอูนุในปี 2505 (ท่านเนวินแห่งฝั่งตะวันตกนะครับ ท่านเนวินฝั่งตะวันออกยึดอำนาจอภิสิทธิ์เมื่อ 2551) แล้วสถาปนาระบอบ “Burmese Road to Socialist” (หรือเรียกอีกอย่างว่า “สังคมชาตินิยมแบบพม่า” คือ 1. เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ 2. ใช้ระบบชาตินิยมสุดๆ ทุกอย่างเป็นของชาติ เพื่อชาติ 3. ต่างชาติแย่ต่างชาติเลว ปิดประเทศ จะพัฒนาตาม “ภูมิปัญญาพม่า” เท่านั้น ซึ่งก็ทำให้ประเทศพม่าที่เคยมี per capita GDP คิดเป็น 180% ของไทยในปี 2505 เจริญลงๆ มาเหลือแค่ 1/7 ของประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่พี่ไทยเราก็ไม่ได้พัฒนาดีเด่อะไร ยังเป็นประเทศที่ “ติดกับดักการพัฒนา” อยู่เลย) ข้อความในวงเล็บท่านอานันท์ไม่ได้พูดนะครับ ผมค้นคว้าเพิ่มเติมเอง

ตัวอย่างเห็นได้ชัดครับ ว่าพอพม่าเปลี่ยนโครงสร้างตลาดข้าวให้เป็นของรัฐแล้ว ก็แปรสภาพจากผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก (ปี 2506 พม่าส่งออก 1.6 ล้านตัน ไทยรองแชมป์ได้ 1.3 ล้านตัน) ค่อยๆ ลดลงจนไม่ถึง 1.0 ล้านตันในปี 2511 และไม่เคยถึงอีกเลยตลอด 45 ปี จนถึงปัจจุบัน แถมคุณภาพห่วยจนทัวร์ไทยเที่ยวพม่าต้องเอาข้าวไทยไปหุงเอง ขณะที่ไทยเราส่งออกข้าวประมาณ 9 ล้านตันในปี 2553 (หลังจากนั้นไม่รู้แล้วครับ ก็ท่านบอกว่า “ลับสุดยอด” นี่ครับ) เห็นไหมครับ ตัวอย่างที่พยายามบอกว่า “รัฐเก่ง รัฐดี” กลไกตลาดห่วย มันทำร้ายประเทศได้แค่ไหน (แต่ท่านเนวินและคณะพรรคก็ร่ำรวยจนทุกวันนี้ สามารถมีทีมฟุต…เอ๊ย ทรัพย์สินมหาศาลครึ่งประเทศได้)

การบริหารประเทศแบบระบอบคอมมิวนิสต์นั้น เรียกอีกอย่างว่าเป็น “ระบบรวมศูนย์” (Centrally Planned Economy) นั่นคือ ไม่เชื่อในกลไกตลาด ไม่เชื่อในระบบเอกชน รัฐจะเข้าครอบงำเป็นเจ้าของ เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเองทั้งหมด ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่รู้กัน ถึงจะเจตนาดี มุ่งเน้นเรื่องความเป็นธรรม แต่ระบบที่ไม่มีการแข่งขันนั้นเลยทำให้ไม่มีประสิทธิภาพตามไปด้วย ประเทศผู้นำของระบอบทั้งหลาย เช่น รัสเซีย จีน ต่างก็ยอมรับ ยกเลิกหันมาใช้ระบบตลาดเข้าแทนที่มากว่ายี่สิบปีแล้ว จนปัจจุบันค่อยลืมตาอ้าปากมาแข่งกับชาวโลกได้บ้าง

การบริหารประเทศแบบ CEO เหมือนที่ท่านทักษิณชอบพูดชอบโอ้อวดนั้น ถ้ามองให้ดีจะมีส่วนคล้าย Centrally Planned ไม่น้อย จริงอยู่ Corporate CEO นั้นต้องมุ่งปรับปรุงประสิทธิภาพ ปรับปรุงศักยภาพเพื่อไปแข่งขัน แต่ Country CEO ต่างกันมาก เพราะการถืออำนาจรัฐสามารถที่จะขจัดการแข่งขัน กีดกันการแข่งขันได้ (ซึ่งเป็นเรื่องง่ายกว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพมากนัก) และตัวอย่างเราก็เห็นแล้วว่า คุณทักษิณพยายามกำจัดการแข่งขัน จำกัดการตรวจสอบควบคุมอย่างไรบ้าง (เป็นธรรมดาที่CEO ต้องพยายามลดความไม่แน่นอน โดยการเข้าจัดการทุกอย่างเอง)

เห็นไหมครับ วิธีการที่ใช้ได้ผลกับกิจการที่อยู่ในระบอบทุนนิยมเสรี ซึ่งก็คือผลผลิตของประชาธิปไตยนี่แหละ แต่เมื่อนำมาใช้ในกลไกที่ใหญ่ขึ้น มีความแตกต่างในองค์ประกอบ กลับจะนำความเสียหายมาให้ ผมมั่นใจและเตือนมาตลอดว่า การนำเทคนิคการบริหารแบบ Corporate CEO มาใช้ในการบริหารประเทศ ถึงแม้ว่าอาจทำให้เกิดผลดีในระยะสั้น แต่ระยะยาวจะต้องมีปัญหามากมายแน่นอน ลองนึกถึง CEO ที่กุมอำนาจรัฐสิครับ ในที่สุดจะกลายเป็น “ผู้นำเผด็จการ” ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไปเอง อย่างเช่น ท่าน Hitler ท่าน Mussolini ท่าน Marcos ที่ล้วนชนะเลือกตั้งท่วมท้นสิครับ

ประเทศพม่า เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาประเทศแบบรวมศูนย์ รัฐเข้าแทรกแซงเข้าทำทุกอย่าง การชาตินิยมแบบไม่ลืมหูลืมตา การต้านโลกาภิวัตน์ ปฏิเสธการร่วมพัฒนาไปด้วยกันของโลก ทำให้ชาติที่อุดมสมบูรณ์มีทรัพยากรเพียบพร้อมที่สุดชาติหนึ่งต้องกลายเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่ยากจนเกือบที่สุดในเอเชีย (มีเพียง อัฟกานิสถานที่จนกว่า) นี่แหละครับ ผลงานของท่าน CEO นายพลเนวิน และคณะพรรค

หันมาดูของเราบ้าง ขณะที่ทั่วโลกมุ่งเน้นที่จะกระจาย จะลด บทบาท ขนาด และอำนาจรัฐ เรากลับทำตรงกันข้ามมาตลอด ไม่ต้องพูดถึงผู้นำรัฐบาล ที่ชอบทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี” เข้าเสือก เข้าครอบงำไปทุกๆ กิจกรรม แม้การที่มีองค์กรอิสระเพิ่มขึ้นเยอะแยะ ทางหนึ่งถึงจะเป็นคานอำนาจ แต่ก็เป็นการใช้อำนาจรัฐมาคานอำนาจรัฐ เลยเกิดอำนาจซ้อนวุ่นวายเป็นลิงแก้แหอยู่ทุกวันนี้ หรืออย่างที่พอมีประท้วงก็ต้องมีการแถม “ยึด ปตท. คืน” ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าใช้อะไรคิด ถึงอยากทวงคืนกิจการที่อย่างน้อยก็มีตลาดคอยช่วยควบคุมตรวจสอบ ให้กลับมาอยู่ภายใต้อุ้งตีนรัฐมนตรี ใต้อุ้งตีนนักการเมืองเต็มตัว เหมือนอย่างรัฐวิสาหกิจอื่นๆ (ที่ถูก ต้องปรับโครงสร้างแล้วขายต่อให้หมด ไว้ว่างๆ จะมาเสวนาเรื่องนี้ยาวๆ สักครั้งครับ เพื่อเรียกแขกให้ครบทุกกลุ่ม)

ดูตัวข้างรัฐบาลปัจจุบันแล้วช่างห่อเหี่ยว ทั้งท่านนายใหญ่ ท่านรองกิตติรัตน์ ท่านยรรยง ล้วนแล้วแต่มีประวัติชอบการ “จัดการ” ตลาด ไม่เชื่อกลไก ชอบครอบงำ มั่นใจในฝีมือตนทั้งนั้น ก็หวังว่าจะไม่ทำประเทศยับเยินไปได้จนถึงขนาดพม่านะครับ

ถึงท่านนายใหญ่จะลงท้ายชื่อว่า -IN เหมือนกัน แต่ผมหวังว่า ในกาลข้างหน้าจะไม่ถูกประวัติศาสตร์ประณามว่าเป็นสุดยอดทรราชที่ทำให้ประชาชนทั้งชาติต้องทุกข์ระทมกันเป็นหลายช่วงชีวิตเหมือน General Ne Win นะครับ

ที่เขียนมาทั้งหมดนี่ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ กปปส. นะครับ ถึงผมจะเป็นห่วง ไม่เห็นด้วย คัดค้านนโยบายและการกระทำของรัฐบาลนี้และพรรคเพื่อไทยแค่ไหน แต่ผมก็ยังยืนยันว่า เราจะต้องต่อสู้ เราจะต้องผลักดันการปฏิรูปให้เกิดขึ้นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้งแบบ “หนึ่งคน หนึ่งเสียง” เท่านั้นครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กBanyong Pongpanich