ThaiPublica > คนในข่าว > “วิชา พรหมยงค์” มิสเตอร์คอฟฟี่ เล่าวิถีชนเผ่าบน “ดอยช้าง” และการต่อสู้เพื่อสร้างแบรนด์กาแฟโลก

“วิชา พรหมยงค์” มิสเตอร์คอฟฟี่ เล่าวิถีชนเผ่าบน “ดอยช้าง” และการต่อสู้เพื่อสร้างแบรนด์กาแฟโลก

25 มกราคม 2014


นายวิชา พรหมยงค์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดอยช้างเฟรชโรสเต็ดคอฟฟี่ จำกัด
นายวิชา พรหมยงค์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดอยช้างเฟรชโรสเต็ดคอฟฟี่ จำกัด

ชื่อ “ดอยช้าง” เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ด้วยคุณภาพกาแฟชนิดพิเศษระดับท็อป “World Class Speciality Coffee, Doi Chaang Estate” ที่ใครๆ ก็อยากได้ลิ้มลอง

กว่า 12 ปี ที่คนดอยช้างลุกขึ้นสู้เพื่อสร้างวิถีชีวิตใหม่ที่ยืนหยัดบนขาของตัวเอง ชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลาน ต่อสู้กับตัวเอง ต่อสู้กับความเชื่อมั่นของพี่น้องชนเผ่า กระบวนการสื่อและสร้างจิตสำนึก ทำความเข้าใจกับพี่น้องชนเผ่าให้เห็นถึงเป้าหมายที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า ที่จะต้องอยู่ร่วมกันด้วยความอดทน มุ่งมั่น เพื่ออนาคต เพื่อชีวิตที่กินดีอยู่ดีในระยะยาวของพี่น้องบนดอย

เป็นความพยายามในการสร้างคน สร้างชุมชน สร้างวิถีชีวิตที่กินดีอยู่ ด้วยแนวคิดภายใต้กรอบที่ว่าชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างเข้มแข็งและแบ่งปัน ทั้งระหว่างคนกับคน ระหว่างคนกับป่า ระหว่างคนกับธรรมชาติ และการยืนหยัดด้วยตัวเอง

แต่ละพื้นที่มีจุดแข็งจุดเด่น ศักยภาพ สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ชุมชนย่อมรู้วิถีของเขา การเข้าไปช่วยเขา แต่ไม่ใช่คิดแทนเขา ให้เขามีส่วนในวิถีของเขา ต้องมองให้เห็นในสิ่งที่เขา เป็น-อยู่-คือ (อะไร) เพราะนั่นคือคำตอบ

ดอยช้างเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกกาแฟ ในอดีตที่ผ่านมา หน่วยงานราชการได้เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า โดยหวังว่ากาแฟจะมาทดแทนการบุกรุกทำลายป่าและเลิกการปลูกฝิ่น ข้าราชการขึ้นมาบนดอยก็สั่งให้ทำนั่นทำนี่ตามที่ส่วนกลางต้องการแล้วก็จากไป เมื่อโครงการล้มเหลว ความผิดจึงตกอยู่ที่ผู้รับนโยบาย ว่าเป็นคนโง่ ดื้อ ขี้เกียจ พี่น้องชนเผ่าบนดอยจึงถูกทิ้ง ทั้งๆ ที่เขามีทรัพย์ในดินมากมาย แต่ไม่สามารถทำให้ชีวิตอยู่ดีกินดีได้ตามสภาพของเขา

เมล็ดกาแฟสด
เมล็ดกาแฟสด

“วิชา พรหมยงค์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดอยช้างเฟรชโรสเต็ดคอฟฟี่ จำกัด ดอยช้าง ผู้ที่คลุกคลีกับพี่น้องชนเผ่าต่างๆ บนดอยมากว่า 30 ปี บอกว่า “ผมรู้จักพี่น้องผมดีว่าเขาเป็นอย่างไร เราต้องเข้าใจเขาว่าเขายากจน เขาอด เขาจึงต้องเห็นแก่ตัว แต่จะสื่ออย่างไรให้เขามองเห็นอนาคตข้างหน้าด้วยกัน และสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง”

วันนี้กาแฟดอยช้างมีชื่อติดอันดับโลก “วิชา” มักจะถูกเรียกว่า “มิสเตอร์ดอยช้าง” “มิสเตอร์คอฟฟี่” ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกและพลิกฟื้น “กาแฟ” บนดอยช้าง จากที่ไม่มีอะไร วันนี้ดอยช้างก้าวไปข้างหน้า แม้จะยังไม่ถึงฝันที่วาดไว้ แต่โมเดลดอยช้างก็เป็นที่กล่าวขวัญและเป็นตัวอย่างที่ทั้งในและต่างประเทศ ต่างแวะเวียนมาดูงานตลอดเวลา

ไทยพับลิก้า : อยากให้คุณวิชาถอดวิธีคิดการสร้างความยั่งยืนของดอยช้าง

เรามุ่งสร้างคน ส่วนธุรกิจมาทีหลัง ธุรกิจเกิดขึ้นเองจากการสนับสนุนในสัดส่วนหนึ่ง โตขึ้นมาจากคนที่เราสร้าง และคนมาพัฒนาธุรกิจ

ตอนนี้ผมมีความผิดหวังอยู่ 2 เรื่อง คือ 1. กรณีกาแฟขี้ชะมด เราอยากกระตุ้นจิตสำนึกว่า หากมีการปลูกป่า ทุกอย่างมันจะกลับมาหมด นั่นคือสิ่งที่เราอยากเห็น พอคนเห็นเราขายเมล็ดกาแฟขี้ชะมดได้ราคาดีเป็นหลายๆ หมื่นบาท คนกลับไปจับชะมดมาขังใส่กรงเลี้ยง ผมก็ว่า เฮ้ย เกิดอะไรขึ้น

กับ 2. เราปั้นกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรบนดอยช้างขึ้นมา เรามั่นใจว่าวันหนึ่งเขาจะโต โดยมีโมเดลว่า 2-3 กลุ่มรวมกันเป็นหนึ่งบริษัท แล้วสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา โครงสร้างนี้ผมเรียนรู้จากฮาวาย เขาสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาได้ แต่วันนี้คนบนดอยช้างเริ่มเอาตัวรอด มีพ่อค้าจากที่ไหนไม่รู้ขึ้นมาซื้อกาแฟบนดอยช้าง เกษตรกรเริ่มมั่วนิ่ม เริ่มไม่สนใจสิ่งที่ตัวเองเคยทำได้ อะไรก็ได้ขอให้ได้เงิน เอาวอลุ่มอย่างเดียว น่าเสียดายตรงนี้ แต่ผมคิดว่าอีกไม่นานคนที่ไปทำอย่างนั้นจะกลับมา

“ปีที่แล้วเราเรียกประชุม คุยเรื่องคุณภาพ ทุกคนเดินออก กลายเป็นว่าเราไปขัดขวางเขา เขามีลูกค้าของเขาเอง เขาสามารถไปได้ด้วยตัวเอง ทำไมเราไปยื้อเขา พอทุกคนพูดอย่างนั้น ผม ก็โอเค จบ … เราห่วงก้าวต่อไป คุณชิงสุกก่อนห่าม คุณยังมีความรู้ไม่พอ คุณยังเรียนรู้การตลาดไม่พอ วันนี้คุณทำได้แค่รับจ้างผลิตกาแฟ เราไม่ต้องการผูกขาดตรงนี้ เราแค่สร้างต้นแบบให้ดู ไม่งั้นเราจะทำเองทุกอย่างเพื่ออะไร ทำไม แต่ก็มีเกษตรกร 2-3 รายกลับมา”

ไทยพับลิก้า : จะจัดการอย่างไรกับการเอากาแฟที่อื่นมาสวมชื่อดอยช้าง

วันนี้เราซื้อจากเกษตรกรเราเท่านั้น ผลผลิตกาแฟใช้เงินในการรับซื้อประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อวัน ดอยช้างเราทำ 30% ของผลผลิตบนดอยช้าง ที่เหลือมีแพลนท์ต่างๆ ที่รับซื้อ แต่เกษตรกรต้องมีความซื่อสัตย์ในคุณภาพสินค้า อย่างปีที่แล้วมีออร์เดอร์จากเยอรมัน 1,000 กว่าตัน ตอนนี้หายไปเลย หรือตัวอย่างล่าสุด สิงคโปร์มาสั่งซื้อเช่นกัน สินค้าทุกล็อตที่ส่งไปกลับไม่ใช่ มีการฟ้องร้องกัน แต่เดิมคนดอยไม่เคยขึ้นโรงขึ้นศาล แต่วันนี้มีการฟ้องร้องกันแล้ว

เมล็ดกาแฟ
เมล็ดกาแฟ
จะบอกว่าพี่น้องเรา (ชาวเขา) ไม่ซื่อสัตย์ ก็อาจจะใช่ เพราะก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟ จะมีเม็ดเงินสะพัดขึ้นมาบนนี้ 60-70 ล้านบาท เม็ดเงินเหล่านี้ขึ้นมาในช่วงตั้งแต่พฤษภาคม โดยจะเอาเงินขึ้นมาก่อนแล้ว วางให้คนนี้ 7 ล้าน คนนี้ 10 ล้าน จากที่เราเคยช่วยเหลือเขาทุกอย่าง พอเป็นแบบนั้นเกษตรกรเหล่านี้เขาจึงไม่สนเราเลย เพราะเขามีลูกค้าของเขาเองแล้ว

แต่วันนี้เขากลับมาหาเรา เราไม่เอา เราไม่ซื้อ เราจะซื้อจากเกษตรกรของเราที่ซื่อสัตย์ต่อกัน เพราะที่ผ่านมาคนขับรถซื้อของเก่าขนกาแฟขึ้นมาขายบนนี้ เขาซื้อจากข้างล่างราคา 11 บาทต่อกิโลกรัม มาขายบนนี้ 20 บาทต่อกิโลกรัม บนนี้ขายต่อ 25-28 บาท แค่เอาขึ้นมาขายบนนี้ตันเดียวก็กำไรเป็นหมื่นบาทแล้ว มันเกิดขึ้นแบบนั้นบนดอยช้างแล้ว

ทำไมผมหักดิบกลุ่มเหล่านี้ กลุ่มที่ไม่สนใจโพรเซสซิ่งแพล้นท์ต่างๆ เพราะผมเชื่อว่า เดี๋ยวคนกลุ่มนี้เขาก็ตายพร้อมผมนั่นแหละ เขาอาจจะดีขึ้นบ้างเวลาหิว พอดีขึ้นก็เอาอีก 33 ปีที่ผมอยู่กับพี่น้องชนเผ่ามาเนี่ย ผมรู้นิสัยลึกๆ แต่ละชนเผ่า ทัศนคติแต่ละชนเผ่าเป็นอย่างไร สาเหตุเพราะเขาต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เท่านั้นเอง เราโกรธเขาไม่ได้เลย เรื่องนี้เรื่องจริง

ไทยพับลิก้า : ทำอย่างไรให้เกษตรกรซื่อสัตย์กับเราอย่างต่อเนื่อง

เราดูแลชาวบ้าน เกษตรกร ผมมั่นใจว่าชาวบ้านที่ซื่อสัตย์ตอนนี้มีมากพอแล้ว มีส่วนน้อยเท่านั้นที่จะงก คนที่ไม่ซื่อสัตย์คือกลุ่มที่รวบรวมผลผลิตกาแฟ กลุ่มพ่อค้าในท้องถิ่น คนจากแพลนท์ต่างๆ ที่ไปขนกาแฟจากที่อื่นมา เมื่อก่อนขนเฉพาะกลางคืน แต่เดี๋ยวนี้ขนทั้งวันทั้งคืน

ไทยพับลิก้า : ที่นี่รับซื้อกาแฟได้กี่เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตในพื้นที่

เรารับได้ไม่เกิน 30% แต่ตอนนี้เรายังทำได้ไม่ถึง ผลผลิตปีนี้ทำได้ประมาณ 500 ตัน ปีหน้าคาดว่าจะทำได้แค่ 1,000 ตัน และอีก 3 ปีบนนี้ผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ตัน ตอนนี้เก็บเกี่ยวจากพื้นที่เพาะปลูก 6,000 -7,000 ไร่ แต่พื้นที่ที่ขยายการเพาะปลูกกว่า 20,000 ไร่ และกำลังขยับไปยังพื้นที่ใกล้เคียงหลายหมู่บ้าน ที่เราพร้อมจะสนับสนุนให้เป็นกาแฟออร์แกนิคและแฟร์เทรด

ดังนั้นสิ่งที่เราทำบนดอยช้าง เรามีหนึ่งสมอง สองมือ หนึ่งใจ ของหลายคนรวมกันเป็นดอยช้าง

ลานตากเมล็ดกาแฟ
ลานตากเมล็ดกาแฟ
เปลือกเมล็ดกาแฟ
เปลือกเมล็ดกาแฟ

ไทยพับลิก้า : กาแฟดอยช้างส่งไปตลาดไหนบ้าง

ทั่วโลก แต่วันนี้เราไม่มีของให้ ผมตอนไว้หมด อย่างเกาหลีเราส่งให้แค่ 8-12 ตันต่อปี ญี่ปุ่น 6 ตัน แต่ปีนี้เราให้ญี่ปุ่นได้แค่ 2 ตันเท่านั้น ยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย ตลาดโตอย่างต่อเนื่อง อย่างอเมริกาเหนือปีนี้ส่งได้ 12 ตู้ หรือประมาณ 17 ตัน เขาขอ 30 ตู้ เราทำได้แค่นั้น หมดดอยแล้ว

หากเราสร้างเครือข่ายขึ้นมาเราจะทำได้ (ส่งออกได้มากขึ้น) มีกลุ่มที่เข้มแข็งในลาว พม่า เขมร แต่ขออย่างเดียวคนที่จะมาเป็นเครือข่ายกับเราต้องให้ความสำคัญชุมชนมาอันดับหนึ่ง ให้ชุมชนสร้างตัวเอง เราเป็นพี่เลี้ยง ธุรกิจมันจะเกิด เป้าหมายของเรายืนอยู่ตรงนั้น คือให้ชุมชนรวมตัวกันให้ได้ ชุมชนอาจจะต่อยอดไม่ได้ แต่หากเราเขาไปส่งเสริมในจุดของการเพาะปลูก จบ เขาทำได้

ไทยพับลิก้า : พยายามทำให้ชุมชนเข้มแข็งให้ได้

ทุกพื้นที่ เราขอแค่นี้ ขอให้เกษตรกรเข้มแข็ง เขาจะอยู่กินดี เพียงแต่เราไปช่วยต่อยอดเท่านั้น แบงก์บอกว่าดอยช้างไม่มีไร่กาแฟของเราเอง หากวันหนึ่งเกษตรกรทิ้ง เราก็ตาย ผมว่าไม่ใช่ประเด็น เราไม่อยากให้เกษตรกรทำเอง เพราะมันจะหัวมงกุฎท้ายมังกรหมด ทุกคนอยากทำอย่างที่ตัวเองทำ คุณภาพไม่ได้ ถามว่ามีพืชตัวไหนบ้างที่ปลูกแล้วเกษตรกรมีรายได้ 4-5 หมื่นบาทต่อไร่ ต้องถามว่าในประเทศไทยมีพืชตัวไหนบ้างที่ทำได้เช่นนี้ ปลูกฝิ่นยังไม่ได้เลย เราต้องการช่วยตอบสนองเขาให้ได้ เพราะเรามองความมั่นคงของเกษตรกร และเชื่อว่าเกษตรกรเขาซื่อสัตย์

ไทยพับลิก้า : นี่คือกระบวนการสร้างชุมชนเข้มแข็ง

ใช่ ต่างประเทศมาดูงานที่ดอยช้าง เราเป็นต้นแบบ อย่าง ปาปัวนิวกินี สุมาตรา เขามาดูงานของเราแล้วก็บอกว่าจะขอออกจากสหกรณ์ เพราะสหกรณ์ร่วมทุนกับคอฟฟี่เทรดเดอร์ ทำให้เกษตรกรเข้าไม่ถึง

แต่ที่ดอยช้าง เกษตรกรมีที่ดิน เป็นเจ้าของไร่กาแฟ เกษตรกรที่นี่อยู่ดีกินดีหมดเลย บางคนจากเด็กเก็บกาแฟให้กับดอยช้าง ได้เงินกิโลละ 3-4 บาท เขารวบรวมเงินได้ไปซื้อที่ดินปลูกกาแฟ ถ้าใครมี 20 ไร่ ก็ทำเงินล้านได้แล้ว เราอยากเห็นตรงนี้ ที่ทุกคนเติบโต เรามองเห็นว่าทำได้ จับต้องได้ แค่คุณมีความรักที่จะเป็นเกษตรกร สร้างองค์กรเล็กๆ ขึ้นมา มีศูนย์ให้เขา ผมอยากเห็นทุกจังหวัด ทุกหมู่บ้าน มีโมเดลแบบนี้ (แต่สินค้าอาจจะแตกต่างกัน) โดยที่ลงทุนไม่เยอะ

เด็กๆ หลังเลิกเรียนเขามีรายได้จากการเก็บกาแฟจากการใช้เวลาว่างของเขา หรือว่างจากที่เรียนหนังสือก็มาเก็บกาแฟวันหนึ่งได้เป็นร้อยบาท เราให้ค่าเก็บกาแฟกิโลละ 4 บาท

อย่าสอนให้เด็กทำอะไรที่งี่เง่า เล่นอะไรไปเรื่อย ไม่เอา เราก็บอกเขาว่า ว่างเมื่อไหร่มาเก็บกาแฟ ทำการบ้านเสร็จมาคุยกัน เป็นการสื่อสารกันไป ผู้ใหญ่สอนเด็ก ทำให้มีการอยู่ร่วม ทำให้เขาขวนขวาย และเงินก้อนนี้หนูไม่ต้องกวนพ่อแม่ มีเงินของตัวเอง อยากได้เสื้อใหม่ อยากได้อะไรซื้อได้ตัวเอง แต่ควรมาปรึกษาไหม ควร อย่างไปซื้อรถมอเตอร์ไซด์ ไปซื้อที่ดินผืนไกลๆ ตอนนี้ยังหาซื้อได้ ไร่ละ 10,000-12,000 บาท แต่บนดอยช้างตอนนี้ไร่ละ 1.3 ล้านบาทแล้ว ถึงมีเงินก็ไม่มีที่ให้ซื้อแล้ว

ดังนั้น การสร้างชุมชนเข้มแข็งขึ้นมาได้เพราะทุกคนอยากจน อดอยาก ถ้าเริ่มสักหนึ่งหมู่บ้านก่อน อาจจะเป็นอะไรก็ได้ อาจจะไม่ใช่กาแฟ (แต่พื้นที่ตรงนี้เราเห็นกาแฟ เราเข้าไปสื่อให้เขาเพาะปลูกกาแฟให้ดีที่สุด) เสร็จแล้วส่งผลผลิตมาที่ส่วนกลางที่ได้งบสนับสนุนจาก อบต. หรือจังหวัด แค่นี้พอแล้ว ทุกคนส่งของเข้ามา จดบัญชีเอาไว้ว่าใครส่งมากี่กิโลกรัม แปรรูปจนเสร็จ พอรวมป็นองค์กรขนาดนั้นก็มีปริมาณ แล้วติดต่อบริษัทไหนก็ได้ มีอำนาจต่อรอง ยกไปขายทั้งหมด นั่นเป็นระบบหนึ่ง

หรือวันหนึ่งที่เข้มแข็งพอ ก้าวไปอีกระดับคือแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย แบบนั้นก็ไม่ยาก ผมว่าใครๆ ก็อยากช่วยชุมชนเล็กๆ ให้โต สมมติ เชนโรงแรมนี้ต้องใช้กาแฟจำนวนหนึ่ง เชนหนึ่งมีหลายโรงแรม หากหมู่บ้านหนึ่งสามารถผลิตป้อนโรงแรมได้สักเชนหนึ่ง โรงแรมนั้นนี้ก็มีหน้ามีตาว่าเขามาสนับสนุนชุมชน ซึ่งสามารถสื่อในแง่การตลาดได้ และชุมชนนั้นไม่ต้องไปวิ่งขายคนอื่นเลย ส่วนใหญ่เชนจากเมืองนอกเขาต้องการจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศนั้น โดยเฉพาะกาแฟ และประเทศไทยผลิตได้ดีด้วย

ผมเชื่อว่าทิศทางมันทำได้ ทีนี้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในแต่ละหน่วยงานราชการเข้าใจกันพอหรือยัง ไม่ใช่มาส่งเสริมให้แข่งกันคั่วขายอย่างเดียว คั่วแล้วจะไปขายใคร จะขายเฉพาะงานฤดูหนาวหรือ ขายได้เฉพาะงานหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือ แล้วอนาคตระยะยาวของเกษตรกรอยู่ตรงไหน

ถ้าจะส่งเสริม คนที่จะเข้ามาส่งเสริมต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกลพอ ไม่ใช่บอกว่าคนนั้นทำได้ตัวเองก็เลยจะทำด้วย มันคนละเรื่อง อีกอย่างพอธุรกิจโต คนโน้นไปติดต่ออย่าง คนนี้ไปติดต่ออย่าง จะเป็นเบี้ยหัวแตกหมด และสงครามราคาเกิดขึ้นทันทีในชุมชน แต่ถ้ารวมตัวกันได้ ชุมชนเข้มแข็ง ผู้นำเข้มแข็ง แค่เชนโรงแรมเดียวเขาก็มีความต้องการเยอะ 30-50 ตันต่อปี โรงแรมก็ปลอดภัยเพราะมีซัพพลายเพียงพอ และโรงแรมสามารถสื่อกับลูกค้าได้ว่า กาแฟทุกแก้วที่คุณดื่มมาจากชุมชนนี้นะ หมู่บ้านนี้นะ มาจากพี่น้องชาวเขาเผ่านั้น เผ่านี้ ที่นั่นที่นี่นะ เงินจะกลับเข้าสู่หมู่บ้านทั้งหมด

ไทยพับลิก้า : มองระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งอย่างไร

ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งกลายเป็นแฟชั่นของเทรดเดอร์รุ่นใหม่ เอาไปปักป้ายที่ไร่เกษตรกรให้ดูดี วันนี้คนที่มีเงินวิ่งเข้าหากาแฟเยอะมาก จริงๆ ระบบที่ดีของมันมีอยู่ แต่ผู้ประกอบการ เทรดเดอร์ มีความจริงใจกับเกษตรกรแค่ไหน

จริงๆ แล้วสิ่งที่ควรสร้างคือให้ชุมชนสร้างตัวเอง เรามีหน้าที่เป็นได้แค่พี่เลี้ยง อย่าเข้าไปยุ่งกับธุรกิจ เพราะเม็ดเงินสามารถแปรรูปสมองคุณได้ เกิดความงกขึ้นมาได้เมื่อไหร่ก็ได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปทำ แค่ชี้นำพอแล้ว อาจจะเป็นผู้ประสานงานติดต่อ่ให้เขาเจอกัน เรามีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ทำอย่างไรให้คุณภาพสินค้าออกมาดี ทำอย่างไรที่จะต่อยอดจากจุดนี้สู่จุดนี้ แต่ส่วนใหญ่เห็นเงินแล้วมันงก

จริงๆ นะ ผมคิดว่าการทำไดเร็คจากหมู่บ้านไปสู่องค์กรเอกชนต่างๆ ผลิตภัณฑ์ออกจากหมู่บ้านนี้ที่มีคุณภาพแล้วรับรองทุกคนปลอดภัย หากเราสามารถชี้นำได้ว่าสินค้าที่เกษตรกรผลิตได้ ชุมชนแปรรูป สามารถส่งให้คุณได้ตลอด แต่ก็มีบางธุรกิจที่พยายามสร้างวิธีการแบบนี้ แต่เขาไม่นิ่ง เขาเลยถูกฟ้อง ดังนั้นอย่าทำแค่โฆษณาชวนเชื่อว่าทำอะไรให้ชุมชน วันนี้คนตามเขาทัน ทุกคนรู้เรื่องจริงเร็วมาก

ไทยพับลิก้า : แต่ละเฟสจากนี้ไปดอยช้างจะมีอะไรอีก

วันนี้ทุกขั้นตอนของการผลิตกาแฟพี่น้องดอยช้างทำเองทั้งหมด เพราะไม่ต้องการให้รั่วไหล ทั้งหมดบนนี้เป็นของชุมชนบนนี้ทั้งหมด แต่เงิน 100% ที่ได้มาจากทั่วโลก 60% กลับมาดูแลลูกหลานและขยายฐานการลงทุน 30% ให้มูลนิธิดอยช้าง อีก 10% เป็นเงินสนับสนุนโครงการ เช่น คอมมูนิตี้แบงก์เพื่อให้เกษตรกรกู้ เราวางแผนที่จะกู้จากต่างประเทศ 40 ล้านเหรียญ ประมาณ 1,200 ล้านบาท ซึ่งสามารถดูแล 25 หมู่บ้านได้ เราคำนวณตัวเลขแล้วเงินนี้สามารถหมุนได้

จากที่เราอยู่ร่วมกับพี่น้องมา 30 กว่าปี เรารู้ว่าคนจนไม่โกง เราไม่จำเป็นต้องคิดดอกเบี้ยแพง 9-10 % เราได้แหล่งเงินมา 1.25-1.37 % อาจจะคิดกับคนจนจริงๆ ที่เขาไม่มีแค่ 1% แต่ไปคิดกับอีกกลุ่ม 3.5% เราเชื่อว่าแบงก์จะเลี้ยงตัวเองได้ กำลังศึกษาอยู่ เพราะคนที่ต้องการเงินจริงๆ คือเกษตรกร เขาต้องการเงินประมาณ 30,000-50,000 บาท ทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้ โตได้ด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ เขาไม่โกงหรอก เพราะในชุมชนเราเห็นว่าเขามีที่อยู่ 10 ไร่ แน่นอน 4-5 แสนบาท เขาหาได้และคืนได้อยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่เขาจะขาดสภาพคล่องจริงๆ การเดินเข้าแบงก์ก็มีเงื่อนไขเยอะ ถ้าทำแบบนี้เขาจะโตได้ด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ ส่วนเรื่องภัยพิบัติที่จะทำให้ผลผลิตเสียหาย หรือทรัพย์สินเสียหายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ขณะที่ในส่วนงานที่ต้องขยายของดอยช้างเอง ก็พึ่งแบงก์พาณิชย์ไป

ไทยพับลิก้า : ชาวบ้านมีที่ดิน 3-5 ไร่ เขาต้องการเงินทุนเหมือนกัน

ในช่วง 3 ปีแรกที่ผลกาแฟยังไม่มี คุณปลูกถั่วหรือปลูกอย่างอื่นเสริมได้ เก็บรายได้ตรงนั้นแทน และตัวเขาเองสามารถไปรับจ้างเพื่อนบ้านเก็บผลกาแฟได้ กาแฟต่อไร่ลงทุน 5,000 บาท ตัวเองทำเอง การลงทุนดูแลแค่ 3 ปี แต่หลังจากนั้นกาแฟสามารถเก็บกินได้ตลอดชีวิต

“ส่วนเด็กเก็บกาแฟได้วันหนึ่งเป็นร้อยแล้ว ตรงนี้เราอยากให้คุณเห็นว่าสิ่งรอบตัวเขามีประโยชน์ มีค่ากับคุณทั้งหมด ลูกหลานคนงานของเรา เด็กตัวเล็กตัวน้อย 10-12 ขวบ เราสอนให้รู้จักไขว่คว้า สอนให้รู้จักทำงาน สอนให้เขารู้จักว่าทุกนาทีมีค่า สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นเองในชุมชน”

ไทยพับลิก้า : สอนให้รู้จักรักป่า รักสิ่งแวดล้อม

อันนั้นค่อยๆสื่อ ที่เรากำลังจะสร้าง “โรงเรียนของหนู” จริงๆ ต้องการสร้างโรงเรียนที่สอนให้เด็กรู้จักการอยู่ร่วมกัน สอนให้รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง สอนให้รู้จักการแบ่งปันการเผื่อแผ่ ไม่ได้สอนวิชาการอะไรมากมาย ก็มีวิชาการให้บ้าง สอนบักเอ บักบี เขาได้รับรู้เรียนรู้เตรียมพร้อมรู้ก่อนเข้าสู่การศึกษาในระบบ

ประเทศไทยวันนี้เราถูกแบ่งแยกตั้งแต่ยังไม่เกิด เป็นอีก้อ เป็นเย้า เป็นแม้ว เป็นกะเหรี่ยง อะไรก็แล้วแต่ รวมทั้งมุสลิม พุทธ คริสต์ เราโกรธกันตั้งแต่ยังไม่เห็นหน้า บนดอยช้างมีอยู่ 10 กว่าชนเผ่า 25 หมู่บ้าน ศาสนาเยอะมาก เอามาอยู่ที่เดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน อยู่ร่วมกันตรงนั้น แต่จะทำในเรื่องการสร้างบุคลากร ชุมชนก็จะโตแบบเข้มแข็งๆ นี่คือคนรุ่นใหม่ที่เราจะต้องสร้างให้รู้จักการแบ่งปัน รู้จักการอยู่ร่วมกัน

หากถามว่าทำไมผมถึงพยายามมาก เพราะอยากเห็นรุ่นต่อไปที่จะมาสานต่อ เราทำจากจุดเล็กๆ และอาจจะเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ เรียนรู้ในทิศทางเดียวกันแล้วทำเหมือนกับเราได้ไหม เงินกำไรที่ได้แบ่งมา 20-30% ได้ไหม เงินส่วนที่เขาเหลือ มันยังเพียงพอเพราะมูลค่าเพิ่มมหาศาลเลย จากเดิมคนดอยช้างเคยมีรายได้ 5-6 พันบาทต่อปี แต่วันนี้เราประกันราคาชัดเจน ผลผลิตกาแฟขายได้ 5-6 หมื่นบาทต่อไร่ ถ้าคุณมี 20 ไร่ คุณก็จับเงินล้านต่อปี แล้วคุณแบ่งปันไม่ได้หรือ

หากวันหนึ่งที่เราต้องพูดคุยกันเรื่องนี้ ผมอาจจะขอบาทเดียวจากกาแฟทุกๆ กิโล ผมขอได้ไหม ให้เขามีส่วนร่วม มาร่วมกันสร้างขึ้นมา ใส่เข้ามาในมูลนิธิ ผมไม่ได้เป็นเจ้าของมูลนิธิ แต่เป็นผู้ก่อตั้ง อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วม เราเริ่มต้นคิด เริ่มต้นทำให้ทุกคนในชุมชนร่วมกันทำ

“เหมือนเงินที่ได้จากการขายกาแฟ เงินพรีเมียมเป็นล้านๆ เราคืนชุมชนหมด ผมนำสร้างศูนย์เด็กเล็กใหม่หมด มีเด็ก 60 คน เด็กไม่มีอะไรจะกิน เดิมเขาให้เด็กหัวละ 11 บาทต่อวัน และได้ปรับปรุงต่อเติมทั้งหมด ทาสีใหม่ สร้างห้องอาหาร ทำห้องนอนเด็กเล็กใหม่หมด ที่นอนเด็กที่เขรอะๆ ก็เปลี่ยนใหม่ ในขณะนี้เรารอศูนย์ใหม่ที่กำลังทำ รองรับได้ 400 คน”

ไทยพับลิก้า : ดอยช้างตอนนี้ประชากรกี่คน

หมื่นกว่าคน หมู่บ้านเดียว นี่คือเฉพาะคนที่ลงทะเบียน ยังมีประชากรแฝงจากต่างถิ่น ตอนนี้จะกลายเป็นสลัมดอยช้างอยู่แล้ว

“ทุกคนมองเห็นวัตถุเป็นปัจจัย แต่เราอยากจะเสริมสร้างภูมิปัญญาฐานคิดก่อน แล้ววัตถุจะตามมาเอง แต่หากเราไม่มีตรงนี้ อะไรที่ถูกสร้างขึ้นมามันไม่คงกระพัน มันสาบสูญไปได้เร็ว”

ไทยพับลิก้า : มีคนทำแต่เปลือกๆ หรือย่างไร

ตอนที่เราเริ่มทำก็ล้มเหลว ชาวบ้านในชุมชนก็คิดว่ามันไม่ใช่ ต่างไปสื่อแค่ว่าทำแบบนี้ได้เงิน เงินมันเป็นองค์ประกอบได้ แต่เราพยายามสื่อให้ลึกไปกว่านั้น สิ่งที่มันกลับมาในชุมชนทั้งหมดไม่ใช่เงินนะ แต่มันคือชุมชนที่เข้มแข็ง ส่วนเม็ดเงินจะตามมาเอง อย่างการปลูกป่า เราพยายามจะสื่อว่าถ้าทำแล้วทุกอย่างมันจะกลับมาเอง เม็ดเงินจะตามมาเอง

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนจากการที่เราปลูกป่าจนเป็นป่า กรณีกาแฟขี้ชะมด ทุกคนไปสร้างกรงให้มัน ทำไมต้องทำอย่างนั้น หากคุณสร้างป่ามัน(ชะมด)ก็มาเอง มันเป็นการเอื้อกันไปเอื้อกันมาของธรรมชาติที่มันกลับมา คุณจับมาขังทำไม 10-20 ตัว เรื่องนี้ผมเฮิร์ทมาก พอเราให้ข่าวว่ากาแฟขี้ชะมดมีราคา แต่เราได้เขามาจากป่า ไม่ได้จับเขามาขัง ดังนั้นรายได้ที่ขายกาแฟขี้ชะมดได้เท่าไหร่ เราเอาไปปลูกป่าหมด เป้าหมายเราได้เขามาจากในป่า เราได้เงินมาเราไปปลูกป่าเข้าไปเสริม

เมล็ดกาแฟขี้ชะมด
เมล็ดกาแฟขี้ชะมด

ไทยพับลิก้า : ปลูกป่าแบบไหน อย่างไร

แต่ก่อนเราขอกล้าไม้จากป่าไม้และเราเพาะเองด้วย ไม้หลายๆ ตัวที่ชาวบ้านเห็นว่าไม่มีประโยชน์ เขาฟันทิ้ง แต่จริงๆ เป็นไม้ที่สร้างไนโตรเจน อย่างต้นสาร มันเป็นไม้สร้างไนโตรเจน ชาวบ้านเขาฟันทิ้งเพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์ เขาคิดว่ามันใหญ่ซะเปล่า เราก็หาไม้ตระกูลเดียวกัน เช่น สะตอ ลูกเหรียง ลูกเนียง เราไปซื้อมาจากภาคใต้มาเพาะให้ชาวบ้านปลูก เพราะอนาคตอีก 7-8 ปี เก็บเกี่ยวมากินได้ แต่ก็เอาไม้พื้นเพเดิมมาปลูกผสมผสานด้วย

วันนี้เกษตรกรมาขอกล้าไม้ไปปลูกแล้ว แทนที่เราจะยัดเยียดเหมือนสมัยก่อน แต่วันนี้เขาเห็นแล้วว่าไร่สวนที่ปลูกใต้ร่มเงาแล้วต้นไม้ (กาแฟ) จะสวย สมบูรณ์ แข็งแรง วันนี้ทุกคนปลูก อย่างเมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้ปลูกมะเขือเทศ กะหล่ำ เขาถางต้นไม้ทิ้งหมด เมื่อเราซื้อมาแล้วเก็บไว้และทำให้เขาดู ทำให้เห็นว่าต้นไม้ใหญ่กับพืชเศรษฐกิจมันอยู่ร่วมกันได้ กาแฟกับต้นไม้ใหญ่อยู่ร่วมกันได้

“ต้นไม้ปลูกไปเถอะ แต่เราไม่เอาไม้ต่างถิ่นมารุก ป่ามันจะมีสัดส่วนของมันอยู่ ในพื้นที่เดิมเป็นอย่างไร ส่วนการส่งเสริมปลูกบ๊วย ปลูกท้อ แต่ไม่ใช่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวทั้งหมด เดิมมีต้นเสี้ยวอยู่ เราก็ไปขอป่าไม้มาปลูก นี่คือการอยู่ร่วมของป่า เราก็จะได้ธรรมชาติเดิมกลับมา อาจจะมีต้นไม้แปลกปลอมบ้างแต่เป็นการปลูกเสริม เช่น ต้นสารไม่มีก็เอาต้นลูกเหรียง ลูกเนียง มาปลูกแทน มันก็กลับมาเข้าวงจรเดิม และไม่ทำร้ายระบบนิเวศเดิม เพราะมีไม้พื้นเมืองเดิม 70% อยู่แล้ว ป่าก็กลับมา ชะมดก็กลับมา เริ่มเห็นธรรมชาติกลับมา”

ตรงไหนปลูกกาแฟไม่ได้ก็ปลูกชา ทำไมต้องแห่ตามคนอื่น ปลูกสิ่งใหม่ที่แตกต่าง ทำสิ่งใหม่ให้สังคม อย่าตามแห่กัน มันจะไม่รอด

ไทยพับลิก้า : เรามีทรัพยากรเยอะมากแต่ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์

ส่วนใหญ่มาจากการโยกย้ายข้าราชการ แทนที่จะเอาคนที่มีความรู้ มีความกระตือรือร้นในการสร้าง มาช่วยคนในชนบท เพราะต้องการคนอย่างนั้น แต่คนไร้สาระมักจะถูกส่งมาไว้ที่ห่างไกลอยู่เรื่อยๆ

มีข้าราชการบางคนอยากทำแต่ไม่ได้การตอบรับจากองค์กร หน่วยงานของตัวเองไม่เห็นค่าของเขา เราต้องไปขอให้มาช่วยเรา บางคนเป็น ทุกคนรู้แต่ไม่สามารถแสดงออกได้ เพราะเจ้านายบอกว่าไม่ใช่ก็ทำไม่ได้ เป็นเพราะมันไม่ได้เงินหรืออะไรไม่รู้

ไทยพับลิก้า : แต่ละพื้นที่แตกต่างกัน มันต้องจัดให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

คุณจบใหม่ๆ มาจากกรม มาจากกอง แต่บอกว่านี่เป็นนโยบาย มาโยนให้ชาวบ้านทำ มันไม่ใช่ คุณอยู่ดีๆ มาสั่งเขา คุณอ่านแต่รายงานเก่าๆ อย่างดอยช้างมีรายงานว่า ดินเลว คนโง่ คนดื้อ ขี้เกียจ ไม่สามารถสร้างอะไรได้ จึงไม่อยู่ในแผนการส่งเสริม แล้วตอนนี้ล่ะ นี่ไง ทำให้ดูแล้ว ทำไมเราสร้างได้ มันต้องใช้เวลาในการปรับปรุง มันต้องใช้เวลาในการสื่อเพื่อความเข้าใจกัน แต่นี่ (ราชการ) ไม่เคยสื่อ แต่มาบอกว่าทำนี่ๆ เอาพันธุ์ไป แล้วก็ทิ้งเขา มันไม่มีทางจบเลย ไม่มีทางทำได้เลย

ไทยพับลิก้า : เจ้าหน้าที่ไม่อดทน

ผมตอบอย่างนี้ เขามีเงินเดือน เขาทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เขามีเงินกิน แต่ชาวบ้านไม่ได้ พลาดมาอดตาย ข้าราชการเขามีเงินเดือน ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ อาศัยเวลางานไป โตไปวันๆ เดี๋ยวมันก็โตเอง

ผมเสียดายพื้นที่ ดูซิ มาส่งเสริมกันเป็นดอยๆ ให้ปลูกกะหล่ำ ปลูกมะเขือเทศ ตัดต้นไม้ทิ้งๆ ส่งเสริมให้ปลูกทำไม ทั้งๆ ที่ปลูกในพื้นที่ราบได้ และเป็นพืชที่ต้องการยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงสูง ปุ๋ยเคมีสูง อย่าลืมว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งต้นน้ำ ทุกอย่างที่ลงไปในดินตรงนี้ มันถูกนำไปสู่พื้นราบหมดเลยนะ

คุณคิดอะไรอยู่ คุณจบดอกเตอร์มาได้อย่างไร อยู่ในกระทรวงแล้วไม่คิดถึงคนพื้นราบแล้วมาโทษว่าชาวเขาทำ เพราะพวกคุณส่งเสริม เพราะพ่อค้ามาให้เงินไร่ละ 300 บาท ต่อปี ยิ่งส่งเสริมยิ่งได้เงินเยอะเท่านั้น

ทุกอย่างโทษชาวบ้าน มันมาจากไหน มาจากนโยบายไร้สาระ เช่น อยู่ดีๆ ไปส่งเสริมปลูกยาง อยู่ดีๆ ให้ปลูกสัก สร้างโครงการขึ้นมาแล้วมาเพาะกล้าขาย เราเห็นมาตลอด เขาไม่ได้คิดถึงประเทศชาติ มีเงินเดือนกินแต่ยังหาเงินไม่สุจริตอีก ถามว่าชาวบ้านจะมีปัญญาไหม เช่น การลักลอบตัดไม้ มีรถขนไม้บนนี้ไปขายเชียงใหม่ ถามว่าชาวบ้านชาวเขาทำได้อย่างไร ลงจากดอยเขายังลงไม่ได้เลยเพราะบัตรประชาชนไม่มี ใครจะมีปัญญาทำแบบนี้หากไม่ใช่เจ้าหน้าที่

ไทยพับลิก้า : ดอยช้างเริ่มแรกผลิตได้เท่าไหร่

ได้ 17 ตัน นับย้อนหลังไป 10 ปีที่แล้ว ผลผลิต 100 กก. ต่อไร่ แต่พอเกษตรกรเข้าไปดูแลอย่างดี ตรงไหนตายเสริม ผลผลิตจับต้องได้ 500-600 กก. ไม่ใช่ 100 กก. บวกลบตามประมาณการอย่างที่กรมวิชาการเกษตรบอก เพราะคุณมาแจกกล้าคุณก็ไป ชาวบ้านก็ไม่สนใจดูแลเพราะไม่รู้จะไปขายใคร ไร่หนึ่งเหลือ 17 ต้น ก็บอกว่าหนึ่งไร่ ไม่ได้มาดูว่าต้องมีกาแฟ 400 ต้นต่อไร่

นอกจากนี้กรมวิชาการบอกว่าให้ปลูก 400 ต้นต่อไร่ เขาไปเอาโมเดลบราซิลที่ใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว แต่ของเราตรงไหนว่างก็ปลูกเข้าไป เพราะเราใช้คนเด็ดทีละต้น ซึ่งเราอาจะผิดก็ได้

หรือกรมวิชาการเกษตรบอกว่า การเพาะกล้าต้องใช้ถุงยาว 10 นิ้ว กว้าง 4-5 นิ้ว ถ้าเป็นแปลงทดลองหลังออฟฟิศ ทำแค่ไร่เดียวก็โอเค ทำอย่างนั้นได้ แต่นี่มันต้องเดิน 6 กม. เพื่อเอาไปปลูก ชาวบ้านจะแบกดินหรือจะแบกกล้า สิ่งที่ชาวบ้านที่นี่ทำคือถอนกล้าแล้วเอาขึ้นไป เขามีวิถีชีวิตของเขา หากแบกถุงกิโลครึ่งขึ้นเขาไป ตาย ลองมาแบกอย่างนี้ตาย

ไทยพับลิก้า : กาแฟดอยช้างจะได้ single premium เมื่อไหร่

กระทรวงพาณิชย์พยายามยื่นขอให้ดอยช้างในนามประเทศไทย ขอไป 3 ปีแล้ว รายแรกคือโคลัมเบีย ถ้าได้เราจะเป็นรายที่ 2 ของโลก โดยเป็นชื่อดอยช้างแต่เป็นของประเทศไทย เราอยากเห็นมีโมเดลแบบดอยช้างในพื้นที่อื่นของไทย มันทำได้ ขอให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริม ไม่ว่ากรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการการเกษตร คุณต้องไม่มั่วนิ่ม ต้องกล้ารับความจริงกับสิ่งที่หมกเม็ดเอาไว้ 30 ปี เวลาเราพูดก็ว่าเราหยาบคายบ้าง แต่เราพิสูจน์แล้วว่าศักยภาพการเพาะปลูกในเมืองไทย แค่กาแฟ ใช่เลย มันทำได้จริงๆ

เหมือนกับอย่างที่เราไปส่งเสริมพี่น้องอีก้อที่ผาฮี้ เขาก็ทำได้ เป็นรายแรกที่พ้นจากดอยช้าง ลูกหลานมานอนมาเรียนบนดอยช้างแล้วเอาไปทำ เขาทำได้ เขาโตได้เลย เพียงแต่ยังขาดการต่อยอด ขาดการควบคุมวอลุ่ม และส่งไปต่างประเทศได้เท่านั้น

ฉะนั้น การส่งเสริมของหน่วยงาน เม็ดเงินที่เข้าไปสนับสนุน ใช้ให้ถูกทิศถูกทาง ทุกคน (เกษตรกร) โตได้หมดทุกที่ และที่เราเสียดายคือทุกคนข้ามขั้นตอนไปหมด อย่างที่ลำปาง น่าน เขาได้เงินมาก้อนหนึ่ง 5-6 ล้านบาท แทนที่จะมาสร้าง processing plant กับสร้างระบบการเพาะปลูกให้ชัดเจน แต่เอาเงินไปซื้อเครื่องคั่ว มาคั่วขาย คุณบ้าแล้ว คุณยังไม่สอนให้เกษตรกรผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพได้ คุณไม่สามารถสื่อให้เกษตรกรเข้าใจเรื่องเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพสูงได้ แต่คุณไปคั่วขายแล้ว แล้วคุณขายใคร เอาแม่บ้านมาคั่วขาย ของผมซื้อเครื่องคั่ว 3-4 แสนบาท แต่เขาซื้อ 3 ล้านบาท 2 ตัว เราก็งง ผมว่าซื้อกระทะใบบัวคั่วดีกว่านี้อีก มาดูงานที่นี่แต่กลับไปซื้อเครื่องคั่ว เขามองผิดขั้นตอนกัน

ที่จริงเกษตรกรมาดูงานที่นี่ฟรีหมด แต่ตอนหลังมาเราคิดค่าเข้า 80 บาทต่อคน เชื่อไหม บางแห่งโทรมาคุยกับเรา บอกว่าจะมา 60 คน ขอให้คิดราคาออกบิล 2,500 บาทต่อหัว แต่จ่าย 300 บาท แล้วบอกว่าเราว่าให้ช่วยเขาหน่อยเถอะ เขาจะเอาเงินก้อนนี้ทำนั่นทำนี่ พูดให้สวยหรู แต่พวกคุณกำลังคอรัปชั่นกันนะ ซึ่งเราเกลียดที่สุด ตอแหล ขอบิลเป็นพันบาทต่อหัว แต่มาต่อรองขอจ่าย 200 บาทต่อหัว เรางง

ไทยพับลิก้า : แนวคิดการรวมกลุ่มผู้ผลิตกาแฟในภูมิภาคนี้

เราเห็นระบบการรวมกลุ่มในแอฟริกาใต้ในหลายๆ พื้นที่แต่ถูกรวมกลุ่มโดยฝรั่งหมด แต่พื้นที่ของเรามีของ เราต่างคนต่างอยู่ ต่างแข่งขัน ดูถูกซึ่งกันและกัน เราไม่เคยสร้างเอกลักษณ์ของเรากันในภูมิภาคนี้ ไทยก็ชอบทะเเลาะกับเพื่อนบ้าน หากจะสร้างเครือข่ายเราต้องมาดูในพื้นฐานที่มีความบริสุทธิ์ใจ เท่าที่ได้กลุ่มในลาวและพม่า เรารู้ว่าเขาเข้ามาดูแลชุมชนจริงๆ เขาอยากจะทำอะไรให้ประเทศของเขา สร้างให้เกิดเม็ดเงินเข้ามาในชุมชน หากมีแนวคิดเช่นนี้ก็เริ่มง่ายแล้ว

วันหนึ่ง หากในภูมิภาคนี้สามารถทำกาแฟที่มีคุณภาพและมีวอลุ่ม โลกก็จะหันมามองภูมิภาคนี้ ยกเว้นจีนที่วันนี้ถูกเทคโอเวอร์ด้วยเม็ดเงินที่ใหญ่มาก ทุกคนดูถูกจีน ต่อต้านจีน เรื่องผลผลิตทางการเกษตรว่ามีสารเคมีโน่นนี่ แต่วันนี้กาแฟยักษ์ใหญ่ของโลกไปลงทุนที่ซือเหมา ไปร่วมกับนักลงทุนคนหนึ่ง เขาเดินหน้าเริ่มมีผลผลิตแล้ว แต่เกษตรกรทำคุณภาพแค่นี้นะ เขาตอนทันที ไม่ต้องการให้คุณภาพดีกว่านี้ ห้ามล้ำเส้น เขาไม่ต้องการให้คุณภาพดี เพราะถ้าทำดีตลาดมาหาคุณ เขาผูกขาดแม้กระทั่งคุณภาพ

เรื่องนี้เป็นเป้าหมายทางความคิด ถ้าทำได้จะดีมาก เราอยากเห็นชุมชนที่แข็งแรงขึ้นมาได้ มีหลายหมู่บ้านมีพื้นที่ที่ปลูกได้ทั้งของลาวและพม่า อย่างกลุ่มบริษัทกรีนฮิลล์ของลาว คุณอลัน แก้วประเสริฐ ไปอยู่ฝรั่งเศสตั้งแต่อายุ 2 ขวบ พูดได้ 8 ภาษา มีความต้องการอยากกลับมาพัฒนาชาติ เขาจะทำใน 5-6 หมู่บ้านแถวปากเซ เพื่อช่วยกันรักษาป่า อนุรักษ์ป่าไม้ ปลูกป่าเพิ่ม เขาได้แรงกระตุ้นจากที่มาดูดอยช้างเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เอาไปทำ เราได้คุยกัน บอกว่าเราจะเป็นพี่น้องกัน และสร้างตลาดในภูมิภาคนี้ไปด้วยกัน

ผมกำลังสร้างอีกลุ่มที่พม่า เป็นนักลงทุนเขามีธุรกิจเทเลคอมแต่สนใจทำกาแฟ เขาซื้อที่ไว้แล้ว ปีนี้ปีแรกที่เริ่มทำ เอาเมล็ดพันธุ์ไปปลูก หากเราสามารถรวมกลุ่มในภูมิภาคนี้ได้ ก็สามารถสร้างกลุ่มได้เหมือนแอฟริกา ตรงนี้เป็นพี่น้องชนเผ่า ที่เราจะร่วมกันทำไม่ใช่เรื่องเงิน กลุ่มที่เขามาคุยเพราะเขามีพร้อมหมดแล้ว แต่เขาอยากจะกลับมาพัฒนาประเทศ หากชี้ไปในทิศทางเดียวกันได้ เราก็พร้อมอยากจะทำไปด้วยกัน

ไทยพับลิก้า : หลักการ กรอบวิธีการทำงานกับพันธมิตรกลุ่มนี้จะทำอย่างไร

กลุ่มเกษตรกร กลุ่มชุมชนบนดอย ไม่ว่าที่ไหนก็ยากจนเหมือนกันหมด ปกติอยู่กระจัดกระจาย ต่างคนต่างหากิน ไม่ว่าในลาว พม่า ไทย หากสามารถรวบรวมเป็นกลุ่มก้อนได้ ทุกคนแค่ปลูกกาแฟ รวมกันมาขายที่โรงงาน และประกันราคากับเขาให้ชัดเจน หากปล่อยให้เกษตรกรแย่งกันซื้อแย่งกันขายก็หาจุดจบไม่ได้ คุณภาพก็ไม่สามารถทำให้นิ่งได้

สิ่งที่ต้องทำคือสื่อแค่การเพาะปลูก ว่าเขาต้องดูแลกาแฟให้ดี ทำคุณภาพเมล็ดกาแฟให้ดีตามที่เรากำหนด เรารับซื้อจากพวกคุณ แล้วผ่านขั้นตอนแปรรูปเข้าสู่ตลาด หรือถ้าเข้าโพรเซสเหล่านั้น ก็แบ่งอีกสัดส่วนหนึ่งส่งออกเมล็ดกาแฟไปเลยเพื่อทำตลาดในส่วนนั้นก็ได้

ไทยพับลิก้า : แต่ละพื้นที่ต่างกัน ผลผลิตต่างกัน

ต่างหมู่บ้านต่างกัน คาแรคเตอร์ของผลผลิตมันเปลี่ยน การตอบรับของตลาดมันมี ขึ้นอยู่กับการยอมรับของตลาดต่างหาก

ไทยพับลิก้า : วิธีคิดของคนรุ่นใหม่มาแนวนี้มากขึ้น

ผมว่าทุกคนมีดีเอ็นเอที่รักถิ่นฐานอยู่ที่ครอบครัว ผมดีใจมากเลย เด็กที่โตต่างประเทศตั้งแต่ 2 ขวบ กลับมาพัฒนาประเทศ ความคิดของเด็กรุ่นนี้ เขามองโลกสำคัญมากเลย คำถามเขาสุภาพ แต่รุก

ไทยพับลิก้า : ปัญหาที่หนักสุดคืออะไร

คือความไม่เข้าใจกับสถาบันการเงิน แบงก์บอกว่าทำไมไม่คืนให้หมดก่อนแล้วค่อยกู้ใหม่ มาเพื่อทำลานตาก กว่าจะกู้ลานตากของก็เน่าหมดทั้งสวนแล้ว ผมเตรียมงานไว้ปีหน้าปีต่อไปเพื่อจะทำให้คุณภาพคงที่ มันต้องขยาย เครื่องไม้เครื่องมือ มันใช้เงินหมดเลย เราโต เราต้องกิน ต้องรอให้พร้อมก่อน ไม่ใช่ หากเราไม่ทำชาวบ้านตาย คู่แข่งเยอะมาก ถ้าเราไม่ทำให้ลูกหลานเห็น เขาก็ฝ่อ คนอื่น (พ่อค้า) จ่ายล่วงหน้าหลายสิบล้านก่อนที่ผลผลิตออก คนที่เขาทำก็จะคุยทับกันไปทับกันมา แต่นั่นคุณไปรับจ้างผลิตเมล็ดกาแฟ แทนที่จะเป็นอะไรของเราเอง วันนี้คุณกลับไปที่เก่า หากวันหนึ่งตลาดเปลี่ยนแปลง เขาไม่ซื้อ คุณไม่ตายหรือ วันนี้ยังมองไม่เห็น

“การจะทำอะไรให้ถูกต้องมันช้า มันเหนื่อย และมันต้องแม่น ไม่ใช่แค่วันนี้หลอกขายใครก็ได้ ทำได้ ได้เงินเดี๋ยวนี้ วันนี้ แต่พรุ่งนี้ล่ะ เราจะไม่มีคู่ค้าที่เชื่อมั่นเรา ให้เกียรติเรา คุณต้องวิ่งหาลูกค้าใหม่ทุกปี คุณเอาไหมล่ะ ไม่มีใครรักคุณจริงเลย”

ไทยพับลิก้า : ส่วนใหญ่คนต้องการอะไรเร็วๆ

ใช่ มันยั่ว เมื่อก่อนซื้อขายกับเรา กว่าเราจะจ่ายเงินหลายเดือน แต่เดี๋ยวนี้พ่อค้าข้างล่างเอาเงินมาให้ล่วงหน้า 30 -40 ล้าน เรียกประชุมแต่ละกลุ่ม คุณดูแล 3 ล้าน คุณดูแล 10 ล้าน เขาวางไว้แต่ละแพลนท์แบบนั้น และปัญหาใหญ่คือทุกคนใช้เงินผิดประเภทหมด เอาไปซื้อบ้าน ซื้อรถ แข่งกัน พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็ไม่มีเงินซื้อกาแฟ แล้วยังไงต่อ ยิ่งเกมมันเปลี่ยน เขาคิดว่ายังไงเขาก็มีลูกสวน ลูกสวนเขาต้องมาขายคุณ แต่ตอนนี้มีคนจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาตั้งเต็นท์รับซื้อบนนี้เลย คุณไม่ได้ของเลย เอาเงินเขามาก่อนจะเอาของที่ไหนให้เขา ทุกอย่างเปลี่ยน บนนี้มี 11-12 แพลนท์ ที่ไม่มีการผลิต 4 แพลนท์ คุณกำลังฆ่าตัวตาย

แค่ผมเรียกประชุมเรื่องคุณภาพ มีหัวโจกเขาบอกว่าวันนี้อะไรก็ขายได้ ผมนิ่งเงียบ จบ ผมสร้างมากับมือ ผมตั้งสติกันใหม่ เงินลงทุนเครื่อง ทำเองทั้งหมด สติกลับมา เตือนพกเราในกลุ่มว่าทุกคนว่าเหนื่อยนะ ได้เท่าไหร่ไม่เป็นไร แต่ผมปล่อยให้ชื่อดอยช้างมันเสียหายไมได้ มันไม่เจ๊ง แต่เหนื่อยมากขึ้น แต่งานโตหมด แม้จะต้องหาเงินนอกระบบ เอาตัวรอดมาทีละเปาะ

ไทยพับลิก้า : การตลาดเรียนรู้เองหมด

ทำเองหมด บังเอิญว่าจังหวะที่คนเริ่มดื่มกาแฟดีขึ้น ตัวท้อปของผมราคา 3,000 บาทต่อ กก. ก็ขายได้ ที่น่าภูมิใจ เราขึ้นยืนบนห้างแฮร์รอดส์ได้ เป็นซองสีดำ เป็นการคั่วของแคนาดา เราติดแฟร์เทรด และบียอนด์แฟร์เทรด กว่าจะได้ 4 ปี เราจดทะเบียนที่แวนคูเวอร์

ไทยพับลิก้า : โพรดักส์ไลน์ที่แตกจากกาแฟมีอะไร

พวกคอสเมติกส์อย่าง สบู่กาแฟดอยช้าง บ้านเราขายก้อนละ 125 บาท แต่เมืองนอกราคาก้อนละ 9-12 เหรียญ ตอนนี้จะมีฮันนี่บลูทีเย็นเป็นโปรเจ็คที่จะทำ ตัวนี้ฮือฮาไปถึงที่ซานฟรานซิสโก ฮาวาย แวนคูเวอร์ ไปแล้ว คิดอยู่ว่าจะเริ่มอย่างไร หากใช้ระบบธรรมชาติโดยที่ไม่มีสารกันบูด จะทำอย่างไร ในร้านเราขายแก้ว 75-80 บาท ชาเราผลิตเอง น้ำผึ้งจากเกสรกาแฟเราผลิตเอง น้ำผลิตเอง ขอใบรับรองออร์แกนิค ซึ่งเป็นแบรนด์แรกในเมืองไทย

ฮันนี่ที..ทำจากชาดอยช้างกับน้ำผึ้งจากเกสรกาแฟ
ฮันนี่ที..ทำจากชาดอยช้างกับน้ำผึ้งจากเกสรกาแฟ

ทุกอย่างบนนี้จะไม่มีขยะเหลือเลย ทุกอย่างใช้ได้หมดจากผลผลิตกาแฟ ค่อยๆ ศึกษาออกมาทีละตัว ขยะที่เคยใช้เป็นปุ๋ยแปรรูปได้หมด แต่เครื่องมือในการแปรรูปแพงมาก ตัวอย่างงานวิจัยหนึ่งแสนกว่าบาทที่นิวยอร์ก แต่ของบ้านเราไม่เป็นที่ยอมรับ ถ้าวิจัยออกมาขายได้แต่ในประเทศเท่านั้น เราจึงต้องไปขอให้ทางยูเอสเอทำงานวิจัยให้ ออร์แกนิคฟาร์มมิ่ง จริงๆเราเคยไปขอความช่วยเหลือนักวิชาการในประเทศแต่เขาไม่สนใจ เห็นเราไม่มีค่า เราจึงไปเมืองนอก

ไทยพับลิก้า : ทำมาถึงตอนนี้เหนื่อยไหม

เห็นเด็กโตขึ้นๆ มีความรับผิดชอบ และฐานความคิดเขาโตเร็วมาก มีผู้ใหญ่หลายคนโกรธผม ว่าผมเอาลูกเขามาล้างสมอง แต่ผมให้เขาเรียนหนังสือ พ่อแม่ไม่เลี้ยง เอามานี่ ผมส่งเด็กมาเรียนหนังสือ ตอนนี้มาอยู่รวมกัน 30-40 คน หาที่พักให้อยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ ทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง หรือส่งมาเรียนบาริสต้า ตอนนี้ซอยนั้นเป็นอีก้อทั้งซอยแล้วมั้ง (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้โครงการโรงเรียนของหนูไปถึงไหนแล้ว

ต้องรวบรวมเงินไห้ได้ 60 ล้านบาท ถึงจะเริ่มสร้าง รอช่วงเวลาอยู่ ต้องหาเงินก่อน อย่างคู่ค้าเขาช่วยบริจาค เขาผลิตกาแฟหนึ่งถุงก็ให้มูลนิธิหนึ่งบาท ของเราก็แบ่งเข้ามูลนิธิด้วย

ผมอยากเห็นชุมชนมีส่วนร่วม บาทหนึ่งก็มีส่วนร่วม อยากเห็นตรงนั้น ตอนนี้อาจจะมีความเห็นแก่ตัวของพี่น้องบนนี้ แต่เพราะชีวิตที่ผ่านมาทำให้บังคับให้เขาต้องทำอย่างนั้น เด็กผู้หญิงลงไปเต้นระบำทั้งที่ไม่มีบัตรประชาชนเขาก็ทำ เด็กผู้ชายวิ่งยาเขาก็ทำ เขาต้องเอาตัวรอด ใครจะเชื่อว่าเด็กกล้าทำผิดกฎหมาย เพราะเขาอยากมีอยากได้เหมือนคนอื่น แต่วันนี้เราอยากสื่อให้มีความเข้าใจในระยะยาว

ไทยพับลิก้า : ทุกวันนี้ยาเสพติดมีไหม

มันไม่ใช่แหล่งพัก ไม่ใช่แหล่งผลิต แต่มันขึ้นมาบนดอยได้ 2 ปีแล้ว เรื่องนี้เด็ก 12 ขวบติดกันเยอะ เขาใช้เด็กวิ่งยา

ตอนนี้ดอยช้างที่น่าเกลียดมาก คือบนดอยมีบ่อน มียาเสพติด ขนจากข้างล่างขึ้นมาขาย ผมก็ปรึกษาผู้ใหญ่ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ผีตัวเก่าทั้งนั้นที่ทำ

การบุกรุกป่าเป็นอีกเรื่องที่เราพยายามต่อต้านมาตลอด วันนี้ป่าถูกบุกรุกเยอะมาก ยิ่งข้าราชการกลัวมวลชนยิ่งไปใหญ่เลย เวลานี้มีพี่น้องเราหัวหมอ ไปอ้างกับเอ็นจีโอว่าถูกรังแก โดนนิดโดนหน่อยเป็น”นักร้อง”กันทั้งดอย ไปอ้างว่าถูกรังแก ผมบอกว่าขึ้นมาดู ผมพร้อมจะยืนยันความจริง เหมือนกล่าวหาว่าผมฟอกเงิน ก็ขึ้นมาจับซิ ไปฟ้อง รมต. โน่น

ไทยพับลิก้า : ถือว่าคุณวิชาเป็นปราชญ์ชาวบ้าน

ไม่ได้

ไทยพับลิก้า : แล้วเรียกอะไร

ผมแค่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับชาวบ้าน

ไทยพับลิก้า : ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญกาแฟ

ผมมีโอกาสได้เรียนรู้ และไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร

คนต่างประเทศรู้จักดอยช้างมากกว่าคนไทย โดยเฉพาะในแวนคูเวอร์ เวลาเดินในต่างประเทศเวลาใส่เสื้อดอยช้าง เขาจะเรียกผมว่า มิสเตอร์ดอยช้าง มิสเตอร์คอฟฟี่ เขาถามว่าดอยช้างทำการตลาดอย่างไร เราพยายามสร้างแบบธรรมชาติ เราฝ่าฟันมาได้ 12 ปี ปัญหาตอนนี้ไม่มีของขาย

จากชุมชนที่ไม่มีกิน วันนี้เขามีกินแล้วและเด็กรุ่นต่อไปต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น เขาต้องมีความรู้ มีศีลธรรม มีจิตวิญญาณ มีจริยธรรม เขาไม่ได้เป็นภาระของสังคม แต่วันนี้คนบนดอยช้างกำลังถูกชี้นำในทางที่ผิด ถูกชักนำว่ามีเงินทำอะไรก็ได้ ต้องเรียนเก่งกว่าคนนั้น ต้องหาเงินให้ได้มากกว่าคนนี้

ไทยพับลิก้า : แต่คุณวิชาไม่ได้หนีทุนนิยม

ไม่ฮะ เราจำเป็นต้องอยู่ในสังคม เพราะแต่ละแนวคิดต่างกรรมต่างวาระ ต่างเวลา เราต้องแปรเปลี่ยนไปในสังคมที่เปลี่ยนไป ประยุกต์ใช้ให้ถูกที่ ทำให้ถูกจุด จังหวะเวลาของมัน แก้ปัญหาตรงประเด็นไหม ช่วงเวลาที่แก้ถูกต้องไหม

ไทยพับลิก้า : ไม่ได้หลงกระแสไปกับวัตถุนิยม

ผมนานๆ เจอลูกที ทุกครั้งที่เจอก็สอนเรื่องการแบ่งปัน การอยู่ร่วมกัน เด็กบนนี้เขาเกิดมายังไม่มีความเป็นคนเลย กฎกติกาของเขาไม่มี

ไทยพับลิก้า : อันนี้ถือว่าคุณวิชาทำเพื่อสังคมไหม

ผมเห็นแก่ตัวมาก ผมทำเพื่อตัวเอง ผมอยากมีความสุข ความสุขของผมที่ผมได้เห็นเด็กมีความสุข ความสุขของผมที่อยากเห็นคนมีทิศทางที่จะก้าวเดินต่อไป ผมเห็นแก่ตัวนะ หากบอกว่าทำเพื่อสังคม ก็จะถูกเข้าไปในบริบทที่ว่า คุณแค่เข้ามาอยู่ในสังคม แม้กระทั่งครอบครัวตัวเองยังลืม ก็เหมือนคนในสังคมทั่วไปที่คุณหญิงคุณนายถูกต่อว่าทำอะไรเพื่อสังคมแต่ครอบครัวตัวเองมีปัญหา จะกลายเป็นเรื่องนั้น

แต่เราไม่ใช่ เรามีโอกาสมาอยู่ในสังคมที่เป็นจริง ผมก็มีสังคมครอบครัว แต่เขาไม่ได้ต้องการผมขนาดนั้น เขาโต เขาเรียนรู้ อาจจะขาดเวลาไปบ้างที่จะหยอกเอินตามประสาพ่อลูก

ไทยพับลิก้า : ปัจจุบันสังคมนิยมเน้นจิตอาสา

นั่นเป็นรูปแบบของการดึงคนเข้ามาร่วม แต่ผมไม่มีรูปแบบ ไม่ต้องการใครมาอาสา ทุกคนบนนี้ทำตามหน้าที่ ให้แนวคิดระหว่างที่เราอยู่ร่วมกัน

ผมส่งเด็กเรียนหนังสือมีคนถามว่าไม่ทำสัญญาหรือ ผมไม่ต้องการ เพราะทุกคนคิดเองได้ คิดเป็น คุณอยู่ตรงไหน คุณทำประโยชน์ได้หมด อย่าไปบอกว่าต้องทำอะไร อย่าไปขีดเส้นให้ใครเดิน

ไทยพับลิก้า : จะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

ตรงนี้ยังมีเรื่องมูลนิธิอีก ยังไม่จบ ไม่รู้จบอย่างไร แต่ต้องไปให้ได้ ธุรกิจค่อยปล่อยวางให้เด็กมาสานต่อ มีงานอื่นที่ต้องทำ อยากเห็นเด็กโตได้ด้วยตัวเอง มีฐานความคิดของตัวเอง ไม่ต้องถูกชี้นำ อยู่อย่างมีความสุข ไม่ใช่แข่งขันกันหาเงิน

สิ่งที่เคยมีในประเทศไทยมันหายหมดแล้ว แค่ใส่เสื้อคนละสีก็ทะเลาะกันแล้ว แค่อยู่คนละจังหวัดก็ทะเลาะกันแล้ว ทั้งที่ไม่รู้จักกันเลย โกรธกันทั่วทั้งที่ไม่เห็นหน้า เพราะคุณเป็นพุทธ นี่เป็นมุสลิม เพราะคุณสีเหลือง คุณสีแดง ดูต้นไม้ในป่าเขาเอื้ออาทรต่อกัน มีต้นไม้ใหญ่หลากหลายมาก มีหญ้า ต้นไม้เล็กต้นไม้ใหญ่ ตอนนี้แค่มีหญ้าไม่ได้ ต้องฆ่า จะปลูกสักอย่างเดียว ต้นอื่นขึ้นไม่ได้ ฆ่าตายหมด เป็นอะไรไปหมดแล้ว

สวนผมต้นไม้ทุกต้นอยากขึ้นก็ขึ้นมา อย่างมากก็ตัดแต่งให้อยู่ด้วยกันได้ ให้รู้จักการอยู่ร่วม ธรรมชาติ หากสอนเด็กให้รู้จักธรรมชาติแล้วเขาจะรู้จักตัวเอง ผมถึงต้องให้มีป่ารอบโรงเรียน แล้วพาเขาไปดู เสนอให้เห็นการอยู่ร่วมกันของสัตว์ของป่า เขามาเอง เพราะเขามีพื้นที่อยู่ ผลไม้เล็กผลไม้น้อย เราเห็นว่าไม่มีประโยชน์แต่มันมีประโยชน์สำหรับสัตว์เขา

และจะขอครูที่เรียนหนังสือหมด เรากำลังศึกษาลึกลงไปถึงการสร้างเด็กของญี่ปุ่น สแกนดิเนเวีย เอาส่วนที่ดีของทุกคนมาประยุกต์ เหลือตรงนี้เป็นเรา

เด็กไม่ต้องทำตามที่เราคิด ต้องสอนให้เขาคิด กล้าคิด กล้าทำ อย่าไปรบกวนคนอื่น ต้องสื่อง่ายๆ

เด็กถูกตีกรอบให้คิด ถูกชี้นำให้คิด อย่าลืมว่าการแข่งขันสร้างศัตรู แต่ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ความคิดที่แตกต่างไม่ได้ผิด อย่าสอนให้แข่งขัน เพราะทุกคนจะพยายามทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองชนะ จึงไม่สอนให้เด็กให้แข่งขัน