ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ทางออกของประเทศไทยในมิติเศรษฐศาสตร์การเมืองกระแสหลัก ตอนที่ 2 (จบ)

ทางออกของประเทศไทยในมิติเศรษฐศาสตร์การเมืองกระแสหลัก ตอนที่ 2 (จบ)

4 มกราคม 2014


สถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้อาจกล่าวได้ว่ากำลังเข้าสู่ “วิกฤติ” ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรง และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น สภาวะเช่นนี้กระทบคนไทยในทุกมิติอย่างกว้างขวาง จำเป็นที่ทุกฝ่ายของสังคมต้องหาทางออกร่วมกันอย่างเร่งด่วน ชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “วิกฤติประเทศไทย เราจะไปทางไหนดี?” เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ดร.ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นในงานเสวนาเกี่ยวกับที่มาของความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยว่ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร รวมทั้งเสนอแนะทางออกของปัญหา โดยวิเคราะห์ภายใต้กรอบคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองกระแสหลัก (Mainstream Political Economics)

จากตอนที่หนึ่งที่ได้ใช้กรอบของเศรษฐศาสตร์การเมืองกระแสหลักมาวิเคราะห์สถานการณ์ของการเมืองไทยในปัจจุบันนั้น จุดแข็งของการวิเคราะห์ในกรอบนี้ก็คือการมองยาวๆ ทั้งมองไปข้างหลังยาวๆ เพื่อทำความเข้าใจรากฐานของปัญหา และมองไปข้างหน้ายาวๆ เพื่อหาทางออก โดยนิยามของประชาธิปไตยในมิติของเศรษฐศาสตร์การเมืองกระแสหลักก็คือต้องมีทั้งองค์ประกอบของการเลือกตั้งและการตรวจสอบถ่วงดุล

สำหรับทางออกของประเทศ ลองมองไปยาวๆ ไปไกลๆ ว่าเป้าหมายของสังคมที่เราอยากจะเห็นคืออะไร ก่อนหน้านี้เราเห็นการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง แต่ตอนนี้เราเห็นว่า กปปส. ก็มีการชุมนุมเช่นเดียวกัน

ลองมองดูรอบๆ ตัวเราจะเห็นว่า เสื้อผ้าที่คนในเมืองใส่ก็ตัดเย็บมาจากแรงงานของคนในชนบท เสื้อผ้าที่คนในชนบทใส่ก็ถูกออกแบบมาจากคนในเมือง เพราะฉะนั้น คนในเมืองและคนชนบทจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ดังนั้น ไม่ว่าเราทะเลาะกันรุนแรงและยาวนานขนาดไหน สุดท้ายเราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ซึ่งนี่คือเป้าหมายในระยะยาวของสังคม

ชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “วิกฤติประเทศไทย เราจะไปทางไหนดี?” เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา
ชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “วิกฤติประเทศไทย เราจะไปทางไหนดี?” เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมกว่านั้นก็ลองนึกกันเล่นๆ ว่า วันหนึ่ง อดีตนายกฯ​ยิ่งลักษณ์ก็อาจจะต้องมากินข้าวที่สยามพารากอน หรือกำนันสุเทพก็อาจจะต้องไปงานแต่งงานของญาติที่เชียงใหม่หรืออุดร แล้วเขาจะไปกันอย่างไร ในอีกด้านของการต่อสู้เพื่อสังคมมันจึงมีความเป็นปัจเจกบุคคลอยู่ในนั้น ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ถึงที่สุดแล้ว แต่ละฝ่ายในสังคมก็คงต้องเจรจากัน ต้องคุยกันโดยที่ไม่มีใครได้หรือเสียไปทั้งหมดที่ตนเองต้องการ แต่จะถึงจุดนั้นได้มันมีเส้นทางการเปลี่ยนแปลง และต้องรอเวลา

ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงและต้องรอเวลา เพื่อให้เกิดดุลยภาพใหม่ของระบบที่แก้ไขปัญหาหมักหมมก่อนหน้า ทั้งเรื่องปัญหาการไม่รักษาคำพูด (Commitment Problem) และเรื่องน้ำหนักของคะแนนเสียงที่พอๆ กันของกลุ่มประชาชนที่มีความต้องการประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน ช่วงเวลานี้ของประเทศไทยจึงเสมือนเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) และในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองแล้ว เราเชื่อว่าวิกฤติจะเป็นตัวนำพาให้เกิดประชาธิปไตย (Crisis Trigger Democracy) ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนแต่ต้องผ่านจุดๆ หนึ่งที่เป็นวิกฤติที่หนักมากๆ มาก่อน ดังนั้น ถ้ามองในแง่ดีของสถานการณ์วิกฤติตอนนี้ก็อาจเป็นตัวขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่ดีกว่าในอนาคต แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้ช่วงเวลาของวิกฤตมันสั้นที่สุด ซึ่งก็คือความเก่งของแต่ละประเทศที่มีไม่เท่ากัน

คำถามก็คือ ทำไมวิกฤติการเมืองของไทยจึงถูกลากยาว ซึ่งอาจเกิดได้จากวัฒนธรรมที่ผ่านมาของสังคมไทยเองที่ไม่มีวัฒนธรรมของการต่อรอง เช่น ในสมัยเด็กๆ เวลาเราทะเลาะกัน เราก็มักจะไปฟ้องครูให้ครูตัดสิน พอโตมาเพื่อนบ้านทะเลาะกัน ก็ไปฟ้องตำรวจให้ตำรวจตัดสิน เป็นเพื่อนกันพอทำธุรกิจร่วมกันแล้วมีปัญหาเราก็ไปให้ศาลตัดสิน กล่าวคือ เราไม่มีวัฒนธรรมของการเจรจากันเองเลย ขณะที่ประเทศตะวันตก ถ้าเด็กทะเลาะกัน ครูจะไม่สนใจเพราะไม่ใช่เรื่องของครู เด็กที่มีปัญหากันต้องตกลงกันให้ได้ เพราะต้องอยู่ห้องเดียวกัน เพื่อนๆ ก็จะมาช่วยทำให้เขาคุยกัน ซึ่งอันนี้คือวัฒนธรรมการเจรจาต่อรองที่คนไทยไม่มี เราเรียกหาคนที่สามเข้ามาทำตลอด ผลก็คือ ทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้ง สังคมไทยจึงเรียกร้องหาคนกลาง ทั้งที่คนกลางไม่มีในโลกความจริง คำถามก็คือ ถ้าคนกลางไม่มีแล้วแนวทางที่ควรจะทำของสังคมไทยคืออะไร

ข้อเสนอที่ผ่านมาของทั้งรัฐบาลและ กปปส. นั้น เมื่อพิจารณาจากปาร์ตี้ลิสต์ของรัฐบาล ซึ่งก็สะท้อนการยืนหยัดของพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน ไม่สนับสนุนการประนีประนอมเลย ขณะที่ข้อเสนอของ กปปส. ก็สะท้อนการยืนหยัดของมวลมหาประชาชนที่ต้องการจะตั้งคณะปฏิรูปด้วยตนเอง ไม่สะท้อนการประนีประนอมเช่นกัน คำถามคือ จะปฏิรูประยะยาวให้ได้ผลได้อย่างไรถ้าคุณกีดกันไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้ามามีส่วนร่วม

นอกจากนี้ ลองนึกดูว่า ช่วงเวลาการปฏิรูป ทำไมรัฐบาลถึงอยากได้หลังเลือกตั้ง ก็เพราะหลังเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลมีอำนาจมากกว่า แล้วทำไม กปปส. ถึงอยากได้ก่อนเลือกตั้ง เพราะว่าก่อนเลือกตั้ง กปปส. ก็มีอำนาจมากกว่ารัฐบาลจากที่มีอยู่แล้ว เมื่อทั้งสองกลุ่มต่างก็ต้องการเลือกช่วงเวลาที่ตนเองมีอำนาจมากกว่า อีกคำถามหนึ่งที่ตามมาก็คือ แล้วเราจะไว้ใจคนของเราได้หรือไม่ ยังไม่ต้องถามถึงฝั่งตรงข้ามด้วยซ้ำ นั่นคือ เราจะไว้ใจรัฐบาลหรือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ได้ไหมในการปฏิรูป หรือเราจะไว้ใจกำนันสุเทพได้แค่ไหนในการปฏิรูปที่เราไม่เห็นแม้แต่ข้อเสนอ เราอาจต้องคิดถึงประเด็นนี้เหมือนกัน

ดังนั้น ถ้าเราดูภาพรวมของสถานการณ์และเป้าหมายสุดท้ายที่สังคมควรจะเป็นแล้ว ทำให้สามารถสรุปองค์ประกอบที่ต้องนึกถึงในการเสนอทางออกให้กับประเทศไทยในการสรรหาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้ด้วยโจทย์สามข้อ

โจทย์ที่หนึ่ง คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อนักการเมืองหรืออดีตนักการเมืองเป็นสิ่งที่พึงระวัง เพราะว่าหลังจากนักการเมืองหรือกลุ่มต่อต้านได้อำนาจไปแล้ว เขาไม่ทำตามที่เขารับปาก เราก็อาจไม่สามารถลงโทษพวกเขาได้เลย เพราะต้นทุนการลงโทษสูงเกินไป ดังนั้น การให้อำนาจกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจึงควรหลีกเลี่ยง

โจทย์ที่สอง คือ สถานการณ์อย่างสองนคราประชาธิปไตยก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและยังมีอยู่เช่นกัน ซึ่งโดยหลักการแล้วมันคือสถานการณ์ของสังคมที่น้ำหนักของการเลือกและไล่มีพลังพอๆ กัน คะแนนของการเลือกเข้านับตามรายหัวกับคะแนนของการเลือกออกนับตามความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยพลังทางการเมืองของสองกลุ่มนี้ที่พอๆ กันนั้นมีอยู่จริง

โจทย์ที่สาม ปัญหาการไม่รักษาคำพูดและการคอร์รัปชันแบบพวกพ้องคือสิ่งที่มีอยู่จริงในสังคมไทย มันเป็นสองด้านของคนสองกลุ่ม ทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องการการเลือกตั้ง เพราะพวกเขาเคยถูกรับปากจากนักเลือกตั้งแล้วไม่เคยได้ จึงต้องการรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ทักษิณ เพราะเป็นรัฐบาลที่รักษาคำพูด ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งต้องการระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี เพราะเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากปัญหาคอร์รัปชัน กล่าวคือ ความชอบของคนทั้งสองกลุ่มไม่เหมือนกัน ให้ลำดับความสำคัญที่ไม่เท่ากัน แต่สังคมก็ต้องอยู่กับความชอบทั้งสองแบบนี้ให้ได้ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง

ทางออกประเทศไทย 2

การออกแบบระบบการลงคะแนนเสียง (Design of Voting System) จึงต้องตอบทั้งสามโจทย์ให้ครบ โดยในโจทย์ข้อแรกนั้น ความไว้เนื้อเชื่อใจนักการเมืองหรืออดีตนักการเมืองเป็นสิ่งที่พึงระวัง เราไม่สามารถให้อำนาจพวกเขาทั้งหมดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพียงแต่คณะกรรมการปฏิรูปต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะหากปฏิรูปหลังเลือกตั้งแล้วรัฐบาลไม่ทำสิ่งที่ควรจะทำ การตามไปลงโทษรัฐบาลทำได้ยากมาก แต่หากจะให้อำนาจกับคณะกรรมการปฏิรูปของ กปปส. ไปทำการปฏิรูป แล้วถ้าพวกเขาไม่ทำก็ลงโทษได้ยากเช่นกัน รวมทั้งต่อให้กลุ่ม กปปส. สามารถจัดตั้งสภาปฏิรูปได้ อีกฝ่ายก็อาจไม่ยอมรับอำนาจนี้อยู่ดี เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่คณะกรรมการปฏิรูปต้องได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อแก้ปัญหาความไว้เนื้อเชื่อใจที่จะไปให้อำนาจกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และต้องให้ประชาชนจากทุกกลุ่มมีส่วนร่วม แนวทางนี้คือการตอบโจทย์ที่หนึ่ง

เมื่อปัญหาที่คล้ายกับสองนคราประชาธิปไตยที่มีอยู่จริง การแก้ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลที่ถูกเลือกเข้าและไล่ออกอยู่บ่อยครั้ง เพราะฉะนั้น คณะกรรมการปฏิรูปต้องมาจากคนของ กปปส. ในจำนวนเท่าๆ กับคนที่มาจากกลุ่มเสื้อแดง จริงอยู่ที่กลุ่มเสื้อแดงมีคะแนนเสียงแบบนับหัวมากกว่า จำนวนประชาชนมากกว่า และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะนับแบบนั้น แต่หากปฏิรูปตามแนวดังกล่าว สองนคราประชาธิปไตยก็จะทำให้พรรคการเมืองที่คุณตั้งมาต้องออกไป

ขณะที่การแก้ไขปัญหาระยะยาว คณะกรรมการปฏิรูปอาจไม่ต้องให้น้ำหนักเหมือนระบบเลือกตั้งเสียทีเดียว อย่างเช่น ในระบบผู้ถือหุ้น การเลือกตั้งก็เป็นการให้น้ำหนักตามจำนวนหุ้นหรือโอกาสเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ในที่นี้ ไม่ได้บอกว่าการลงคะแนนตามจำนวนหุ้นดีกว่าแบบรายหัว แต่อาจจะต้องผสมทั้งสองส่วนในการสรรหาคณะกรรมการปฏิรูป เพราะทั้งสองกลุ่มมีพลังกับความเป็นรัฐบาลเท่าๆ กัน เพียงแต่เป็นช่วงเวลาก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง และเพื่อแก้ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลไปในตัวด้วย ดังนั้น การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่คณะกรรมการปฏิรูปต้องได้มาจากการเลือกตั้งนั้น ต้องมีองค์ประกอบทั้ง กปปส. กับ กลุ่มเสื้อแดงด้วยจำนวนที่เท่ากัน

การอยู่ร่วมกันของคนสองกลุ่มที่มีความชอบต่างกันอย่างปัญหาการไม่รักษาคำพูดและการคอร์รัปชันแบบพวกพ้องนั้นต้องทำให้ได้ ขอยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม ในบางประเทศที่มีปัญหาระหว่างคนสองกลุ่มคือคนผิวขาวกับคนผิวดำ แนวทางการปฏิรูปของบางประเทศได้กำหนดให้คนผิวขาวเสนอชื่อไป 30 คน (ตัวเลขสมมติ) คนผิวดำเสนอชื่อไป 30 คน ใน 30 คนที่คนผิวขาวเสนอ คนผิวดำเป็นคนเลือกว่าจะเอาใครไปปฏิรูป และใน 30 คนที่คนผิวดำเสนอ ก็ให้คนผิวขาวเป็นคนเลือกคนที่จะเข้าไปทำการปฏิรูป ในจำนวนคนที่เข้าไปปฏิรูปเท่าๆ กันโดยไม่เกี่ยวว่าจำนวนคนของทั้งสองกลุ่มจะเท่ากัน วิธีการเลือกที่ว่านั้น แต่ละฝ่ายจะเลือกคนที่มีโอกาสประนีประนอมด้วยมากที่สุด แล้วเอาคนเหล่านั้นไปคุยกัน นั่นคือคนที่พร้อมจะประนีประนอมมากที่สุดในแต่ละกลุ่มจะเป็นผู้ทำการปฏิรูป

ในกรณีของไทยนั้น ลองสมมติตัวเลขขึ้นมาว่า ถ้าให้ กปปส. เสนอมา 10 คน พรรคเพื่อไทยเสนอมา 10 คน แต่ในกรณีการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย มันยังมีคนกลุ่มที่ 3 ด้วย เราจึงควรรวมกลุ่มของภาคประชาชนที่เป็นอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปด้วย (กลุ่มนี้เท่ากับรวมเอาไทยเฉยเข้าไปด้วย) เพราะประเทศไทยไม่ได้มีแค่คนสองกลุ่มที่มีปัญหากันอยู่เท่านั้น

สมมติว่าจาก 10 ที่เสนอมาให้ถูกเลือกได้ 3 คน เมื่อมีการเลือกตั้ง คนคนหนึ่งจะทำหน้าที่เลือกคน 9 คนจาก 3 กลุ่มมาเป็นคณะกรรมการปฏิรูป และสุดท้ายคณะกรรมการปฏิรูปก็จะมาจาก 3 กลุ่ม กลุ่มละ 3 คน

เมื่อมองในกรอบของ Arrow’s Impossibility Theorem จะพบว่า คนที่ชนะการเลือกตั้งในกลุ่ม กปปส. จะต้องเป็นคนที่ชนะใจทั้งกลุ่มเพื่อไทยและภาคประชาชน ที่สำคัญ คนในสองกลุ่มนั้นมีคะแนนเสียงมากกว่า ขณะที่คนที่มาจากกลุ่มอื่นๆ ก็เช่นกัน การจะได้รับการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปนั้นต้องชนะใจอีกสองกลุ่มที่เหลือที่ไม่ใช่กลุ่มของตัวเอง

หลังจากนั้นเราจะได้คณะกรรมการปฏิรูปที่มาจาก กปปส. 3 คน พรรคเพื่อไทย 3 คน และภาคประชาชน 3 คน 9 คนนี้จึงนับได้ว่าได้รับการประนีประนอมจากคนกลุ่มอื่นเรียบร้อย แล้วจึงทำข้อเสนอปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เน้นความเท่าเทียม ที่ต้องเพิ่มเติมเศรษฐกิจที่เน้นความเท่าเทียมเข้าไปด้วยก็เพราะป้องกันไม่ให้สถานการณ์อย่างสองนคราประชาธิปไตยเกิดขึ้นอีกในอนาคต

หลังจากนั้น ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปต้องยืนยันความเห็นด้วยจากคนส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องทำประชามติ ซึ่งอาจทำพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไปไปเลย เพื่อไม่ให้ต้นทุนการจัดการเลือกตั้งเป็นสองเท่าของปกติ โดยในการลงประชามติและการเลือกตั้งทั่วไปนั้น พรรคการเมืองจะต้องเสนอแผนปฏิรูปไปพร้อมๆ กับนโยบายของตนเอง

ทางออกประเทศไทย 3

กล่าวโดยสรุป ขั้นตอนการหาทางออกของประเทศไทยในมิติเศรษฐศาสตร์การเมืองกระแสหลักเพื่อให้คนแต่ละกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้และก้าวข้ามพ้นปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลก็คือ ควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ส.ส. แต่คณะกรรมการปฏิรูปต้องได้มาจากการเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งประกอบด้วย 3 ฝ่าย กปปส., พรรคเพื่อไทย และภาคประชาชน โดยเลือกตัวแทนฝ่ายละจำนวนเท่าๆ กัน คณะกรรมการปฏิรูปจากการเลือกตั้งทำการร่างข้อเสนอการปฏิรูป จากนั้นทำประชามติ พร้อมกับจัดการเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีหน้าที่หลักในการดำเนินการตามข้อเสนอของการปฏิรูป หากผ่านประชามติ และประเทศไทยก็จะสามารถเดินหน้าต่อไป ด้วย “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”