ThaiPublica > คอลัมน์ > การเดินทางในเมืองหลวง (3): เรือด่วนเจ้าพระยา

การเดินทางในเมืองหลวง (3): เรือด่วนเจ้าพระยา

29 มกราคม 2014


ณัฐเมธี สัยเวช

ผมเป็นคนหนึ่งที่ใช้บริการเรือด่วนของบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด อยู่บ้างครับ โดยหากเป็นวันธรรมดา ก็มักใช้บริการในช่วงเวลาที่ยังไม่ใช่ชั่วโมงที่เร่งด่วนนัก (แต่ก็เริ่มจะเร่งด่วนแล้ว) คือ ประมาณ 16.30 น. เป็นต้นไป ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ถ้ามีเหตุให้ต้องใช้บริการบ้าง ก็มักเป็นเวลาช่วงบ่ายๆ ถึงเย็นย่ำค่ำมืด

การเดินทางด้วยเรือด่วนเจ้าพระยาส่วนใหญ่ของผมนั้น ใช้เพื่อ “เข้าเมือง” ครับ เอาให้เฉพาะเจาะจงนั้นก็คือไปสยาม โดยเพื่อหลีกเลี่ยงรถติดแล้ว ผมจะนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาจากท่าศิริราช (วังหลัง) ไปลงยังท่าสาทร (สะพานตากสิน) เพื่อนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสไปยังสยาม โดยเวลาที่ใช้ในการนั่งรถไปยังท่าเรือ รอเรือ ขึ้นเรือ รอรถไฟฟ้า ขึ้นรถไฟฟ้าไปถึงจุดหมายปลายทาง รวมแล้วก็ประมาณหนึ่งชั่วโมงนิดๆ ถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ซึ่งนี่ก็พอๆ กับการรอและขึ้นรถเมล์ไปยังจุดหมายเดียวกันนะครับ แต่แม้จะเวลาเท่ากัน และเสียค่าเดินทางมากกว่ากันเยอะ (เพราะรถเมล์นี่ต่อเดียวถึง) แต่การเดินทางด้วยเรือด่วนเจ้าพระยานั้นเป็นผลดีแก่สุขภาพจิตของผมมากกว่า เพราะมีการเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ เป็นสัดส่วนที่มากกว่าการหยุดนิ่งอยู่กับที่อยู่เยอะมากๆ ไหนจะวิวทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ลมเย็นๆ อากาศดีๆ อะไรๆ ก็เป็นผลดีต่อสุขภาพจิตทั้งนั้น (แม้ว่าโดยรวมแล้ว ผมต้องเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยใช้เวลาพอๆ กับไปเพชรบุรีก็ตามที)

แต่ก็นั่นแหละครับ…ถ้าอะไรๆ ก็ดี ก็คงยากจะเรียกว่าชีวิต

ในบรรดาการเดินทางในเมืองหลวงทั้งหลายรูปแบบนั้น เรือด่วนเจ้าพระยานี่น่าจะเป็นสิ่งที่ผมมีปัญหากับผู้ให้บริการน้อยเรื่องที่สุด และปัญหาขัดข้องใจนี้ก็มักเป็นผลจากผู้ใช้บริการด้วยกันมากกว่า แต่ก็แน่นอนครับว่า ส่วนที่เป็นปัญหานั้นก็มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการของฟากผู้ให้บริการอยู่ด้วยเช่นกัน

ความคับข้องใจลำดับที่หนึ่งนั้น ก็เริ่มตั้งแต่การรอลงเรือเลยครับ

 ที่มาภาพ : ณัฐเมธี สัยเวช
ที่มาภาพ : ณัฐเมธี สัยเวช

โดยลักษณะของท่าเรือแล้วนั้น ส่วนที่เป็นท่า ซึ่งเป็นที่จำหน่ายตั๋วและรอเรือจะอยู่บนบก เชื่อมกับโป๊ะเรือที่อยู่ในน้ำด้วยสะพานเหล็ก ซึ่งจะมีป้ายประกาศเตือนไว้นะครับ ว่าให้รออยู่ที่ท่า อย่าลงมายืนรอบนสะพานหรือโป๊ะ

แต่ก็อย่างที่เห็นในภาพครับ คือ เมื่อมองเห็นแล้วว่าเรือกำลังแล่นมา กำลังจะเข้าเทียบท่า ผู้โดยสารที่รออยู่ก็จะกรูกันลงไปรอลงเรือ และยืนออกกันอยู่เต็มสะพาน บางท่าที่ผู้โดยสารเยอะมากๆ นั้นก็ลงไปออกันอยู่เต็มโป๊ะ ซึ่งสำหรับคนแบบผมที่โตมากับเหตุการณ์โป๊ะท่าเรือพรานนกล่ม เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จนมีผู้เสียชีวิตถึงประมาณ 30 คน (ตรงนี้ขออภัยด้วยจริงๆ ครับ ผมไม่สามารถหาตัวเลขอ้างอิงที่แน่นอนได้) เห็นแล้วก็ให้รู้สึกกังวลใจเป็นอันมาก เกรงว่าพลาดพลั้งจะเกิดโศกนาฏกรรมแบบนั้นขึ้นมาอีก

กระนั้น ภาพอย่างที่เห็นนี่ก็ใช่จะเกิดขึ้นในทุกท่าไปนะครับ เท่าที่สังเกต บางท่าที่คนเยอะมากๆ ตราบใดที่เรือไม่เข้าเทียบท่า ก็จะมีการกั้นคนกันแบบจริงจังเลย จะไม่ปล่อยให้ผู้โดยสารเข้าสู่สะพานหรือไหลลงไปที่โป๊ะเด็ดขาด แต่จากปากคำของมิตรสหายที่ใช้บริการในชั่วโมงเร่งด่วนเป็นประจำ พบว่าก็ยังมีการปล่อยให้คนไปออรอกันบนสะพานเชื่อมอยู่ครับ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อเรือกำลังจะเข้าเทียบท่า

“กลัวตายมากกู”

…นั่นคือปากคำที่มิตรสหายท่านนั้นทิ้งทายไว้ในการให้ข้อมูลสำหรับการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนในวันทำงาน

สิ่งที่ผมเรียกร้องต้องการในกรณีก็คือ ไม่ว่าคนจะมากหรือน้อย กฎระเบียบก็ควรจะได้รับการบังคับใช้อย่างเข้มแข็ง ครับ เรือควรจะเทียบท่าสนิทพอให้เกิดการเลื่อนไหลของผู้คนขึ้นลงเรือก่อนจึงจะปล่อยให้คนลงไป นึกออกใช่ไหมครับ เพราะเวลาที่คนเคลื่อนที่นั้นน้ำหนักจะไม่กดรวมกันลงไปในจุดเดียวอย่างในการยืนออกกันนิ่งๆ

ที่ต้องเรียกร้องแบบนี้ ก็ทั้งเพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยทั้งต่อชีวิตผู้โดยสาร และในขณะเดียวกัน ก็เป็นการประกันประสิทธิภาพและมาตรฐานการดำเนินงานของผู้ให้บริการด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ถือว่าทำได้ดีแล้วนะครับ เพราะบางลำถ้าคนลงเรือเยอะมาก เจ้าหน้าที่ที่โป๊ะก็จะกั้นไม่ให้คนบนฝั่งลงไปอีกทันที แม้ว่าจะยังตกค้างอยู่อีกเยอะก็ตาม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางฝั่งผู้ใช้บริการนั้นก็ต้องมีสำนึกในเรื่องการสร้างความปลอดภัยแก่ตัวเอง ซึ่งในกรณีนี้ก็รวมไปถึงความปลอดภัยของผู้อื่นที่ใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาร่วมกันด้วย

ก็เป็นที่เข้าใจได้ในความรีบร้อนไปให้ถึงจุดหมายนะครับ เพราะเวลาที่คนเยอะนั้นก็เยอะจริงๆ แต่อย่างไรเสีย ปลอดภัยกันไว้ก่อนก็ย่อมน่าจะดีกว่า ไม่ใช่อยากไปท่านั้นท่านี้ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นได้ไปบ้านเก่ากันหมด

ความคับข้องใจประการที่สองนั้น ก็เชื่อมโยงอยู่กับประการแรกครับ

 ที่มาภาพ : ณัฐเมธี สัยเวช
ที่มาภาพ : ณัฐเมธี สัยเวช

“walk inside please…walk inside please เดินในไปเลยค่าาาา อย่าหยุดยืนท้ายเรือนะค้าาาา”

นี่เป็นเสียงตะโกนบอกกล่าวที่ได้ยินเป็นประจำในยามที่ใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา และจะได้ยินไปตลอดทางในทุกๆ ท่าที่เรือเข้าจอดและมีผู้โดยสารขึ้นเรือ (และแม้ขณะที่เรือแล่นอยู่นั้นก็ยังต้องมีการบอกกันเป็นระยะๆ) และเป็นความคับข้องใจหลักๆ ของผมในการเดินทางด้วยเรือด่วนเจ้าพระยาเลย และก็ดังที่บอกไปแล้วว่า เป็นความคับข้องใจที่เชื่อมโยงอยู่กับความคับข้องใจประการแรก เพราะการหยุดยืนท้ายเรือทั้งที่ภายในเรือว่างโล่งนั้นบ่อยครั้งก็กระทำโดยคนที่เพิ่งจะลงเรือพร้อมๆ กับผม ทำให้ผมรู้สึกขัดใจว่าจะรีบขึ้นมาทำไมถ้าคิดจะเดินเข้าในไปลึกๆ

การไม่เดินเข้าด้านใน หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นๆ เคยๆ ว่า “ชิดใน” ดูจะเป็นปัญหาหลักสำหรับบริการขนส่งมวลชนสาธารณะทุกประเภท สำหรับผมแล้วการชิดในนี่คือสำนึกในการใช้พื้นที่บริการสาธารณะร่วมกันนะครับ การยืนออกันอยู่แถวทางเข้า-ทางขึ้น-ทางลง เหล่านี้ล้วนกีดขวางทั้งคนในที่อยากออกและคนนอกที่อยากเข้า และทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความชักช้า ไม่ราบรื่น

จากที่มีประสบการณ์มา อาการไม่ยอมชิดในแบบนี้มักเป็นผลจากความกังวลว่าจะไม่ได้ออกจากพาหนะในที่ที่อยากออก หรือเรียกง่ายๆ ว่ากลัวไม่ได้ลง ซึ่งในกรณีของเรือก็อาจเรียกว่ากลัวไม่ได้ขึ้น (นี่กล่าวโดยตั้งอยู่บนฐานสำนวนที่ว่า “ขึ้นรถลงเรือ”)

และในกรณีของเรือด่วนนั้น น่าจะมีปัจจัยเรื่อง “รับลมชมวิว” ปะปนอยู่ด้วย

กรณีกลัวไม่ได้ขึ้นนั้น ย่อมเกิดขึ้นในสภาวะไม่รู้เหนือใต้ ไม่อาจแน่ใจว่าท่าไหนเป็นท่าไหน ท่านี้ท่าอะไร ใกล้จะถึงท่าที่เราจะขึ้นหรือยัง การได้ยืนอยู่ ณ บริเวณท้ายเรืออย่างในภาพจึงเป็นทำเลที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด เพราะจะทำให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่าเรือนั้นแล่นไปถึงท่าไหนแล้ว

ที่มาภาพ : ณัฐเมธี สัยเวช
ที่มาภาพ : ณัฐเมธี สัยเวช

จากภาพ อยากบอกว่าป้ายดังกล่าวนั้นจะอยู่บนโป๊ะเรือ และมองเห็นได้ชัดเจนจากในเรือนะครับ แต่ไม่ได้เห็นชัดและสะดวกจากทุกจุด เพราะถ้า “ชิดใน” เวลาจะมองเห็นก็ต้องก้มหัวมองผ่านช่องหน้าต่างเรือเอา และถ้าคนเยอะและยืนอยู่ด้านที่ไม่ติดกับโป๊ะ ก็จะยิ่งมองเห็นได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวป้ายไม่ได้ระบุโดยละเอียด ว่าท่าต่อไปคือท่าอะไร และท่าที่เพิ่งผ่านมาคืออะไร วิธีระบุที่ใช้คืออักษรย่อประกอบตัวเลข ซึ่งในภาพคือ N 3 หรือ น 3 แน่นอนว่าอย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่าอยู่ระว่าง N 2 และ N 4 หรือ น 2 และ น 4 แต่นี่คือลักษณะที่เป็นประโยชน์แก่ผู้โดยสารชาวต่างชาติมากกว่าคนไทยครับ คนไทยจะถนัดในการจำเป็นชื่อท่ามากกว่า เช่น กรมเจ้าท่า สี่พระยา โอเรียนเติล อะไรก็ว่าไป

ณ จุดนี้ เพื่อลดความกังวลว่าจะไม่ได้ขึ้นจากเรือ ณ ที่หมายที่ต้องการ หรือคือไม่ “เลยป้าย” ทางออกที่ผมพอจะเห็นอยู่ก็คือ ใช้ระบบเสียงประกาศแบบในรถไฟฟ้าบีทีเอสหรือรถใต้ดินเอ็มอาร์ทีน่ะครับ next station…สถานีต่อไป… ซึ่งในกรณีของเรือก็คงจะต้อง next pier…ท่าต่อไป… ซึ่งถ้าทำได้ ความชอบธรรมในการบอกให้ชิดในก็น่าจะยิ่งมากขึ้น ข้ออ้างว่ากลัวไม่ได้ขึ้นจากเรือก็จะมีน้ำหนักน้อยลง

แต่กับกรณีที่ไม่ชิดในเพราะอยากรับลมชมวิว กรณีนี้ ถ้าเป็นชาวต่างชาติ ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้มากในเรื่องของเรือท่องเที่ยวครับ ซึ่งเป็นเรือธงฟ้า แต่ไม่ใช่ธงฟ้าราคาประหยัด เป็นธงฟ้าราคาพิเศษ (extra นะครับ ไม่ใช่ sales) ค่าโดยสารราคา 40 บาท ซึ่งเรือธงฟ้านี่จะแล่นช้า เพื่อให้ผู้โดยสารได้ชื่นชมทัศนียภาพสองข้างฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเต็มที่

ทว่า เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ว่าจะคนต่างชาติหรือคนไทย ผมก็ไม่แน่ใจนักครับ ว่าจะยอมเพิ่มเงินค่าโดยสารเพื่อรับลมชมวิวหรือไม่ เพราะการโดยสารด้วยเรือด่วนเจ้าพระยานั้น การชมวิวนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก หากแต่คือเป็นผลพลอยได้ในการเดินทางมากกว่า

วิธีที่น่าจะได้ผลที่สุดอาจจะเป็น ถ้าไม่เดินเข้าข้างในก็จะไม่ออกเรือครับ

การเดินทางด้วยเรือนั้นเป็นที่ยอมรับกันในเรื่องของความรวดเร็วครับ (ซึ่งจริงๆ บางกรณีก็ไม่ได้เร็วกว่ารถ แต่การเดินทางที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ นั้นมีผลต่อสภาพจิตใจไปในทางที่ดีกว่าการติดแหง็กอยู่กับที่) แต่ขณะเดียวกัน อุบัติภัยทางน้ำนั้นก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่คงไม่มีใครอยากให้เกิด อยากให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการได้ร่วมกันสร้างการเดินทางแสนสะดวกที่เพียบพร้อมด้วยความปลอดภายไปด้วยกันครับ

หมายเหตุ: รายละเอียดต่างๆ ของเรือด่วนเจ้าพระยาและช่องทางในการติดต่อสอบถามนั้น สามารถเข้าชมได้ที่เว็บไซต์ของบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ครับ