ThaiPublica > คอลัมน์ > อัสดงแห่งอำนาจรัฐ

อัสดงแห่งอำนาจรัฐ

27 มกราคม 2014


หางกระดิกหมา

ในระหว่างที่คนกำลังจดจ่ออยู่กับการล้มหรือไม่ล้มรัฐบาลนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาพอกัน แต่กลับไม่ค่อยมีคนพูดถึงก็คือ “อำนาจรัฐ”

ได้เคยบอกไปแล้วว่าอำนาจรัฐนั้น มองในแง่หนึ่งก็คือ “สินค้า” ของการคอร์รัปชัน ดังนั้น ตราบเท่าที่เราปล่อยให้มีอำนาจรัฐอยู่มาก ตลาดของคอร์รัปชันก็จะยังคึกคักด้วยสินค้านานาพรรณ เช่น โปรเจกต์บ้างล่ะ สัมปทานบ้างล่ะ ใบอนุญาตบ้างล่ะ สุดแต่ว่าใครอยากได้สินค้าตัวไหนก็มาซื้อหาเอา ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราจำกัดอำนาจรัฐให้มีอยู่น้อยเรื่อง เรื่องที่ผู้ถืออำนาจรัฐจะเอามาขายได้ก็คงหายไปเยอะ

อย่างไรก็ตาม ในประเทศเรานี้ ที่ผ่านมาอำนาจรัฐกลับโตเอาๆ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะดูจากปริมาณเงินที่ใช้เอาไปเลี้ยงองค์กรต่างๆ ของรัฐ หรือดูจากบทบาทหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอาณาเขตขยายกว้างมากขึ้นทุกที จนทุกวันนี้ จะซื้อข้าวสารหรือรถยนต์ ก็มีมือของรัฐยื่นมาเอี่ยวไปเสียทั้งหมด องค์กร กรรมาธิการ คณะทำงานอะไรต่างๆ ของรัฐก็มีอยู่ก่ายกอง มองดูแล้วก็ไม่รู้ว่าไปหางานจากไหนมาแบ่งกันทำได้พอ เพราะทุกๆ องค์กรก็ดูเหมือนจะดูอยู่เรื่องเดียวกันทั้งนั้น

สาเหตุหนึ่งที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า รัฐบาลและสภาของเรานั้นนิยมตั้งองค์คณะหรือองค์กรขึ้นมาช่วยกำกับดูแลเรื่องต่างๆ ซึ่งถึงจะไม่ใช่เรื่องผิด เพราะถ้าไม่มีองค์กรเหล่านี้แล้ว การบริหารปกครองประเทศก็จะไม่มีเจ้าภาพเฉพาะเรื่องไปได้ แต่ปัญหาก็คือ องค์กรเหล่านี้ เมื่อเกิดมีขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่เรื่อยไปเหมือนตะวันค้างฟ้า สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนและองค์กรดังกล่าวจะยังจำเป็นไม่จำเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครค่อยหยุดใคร่ครวญสักเท่าไหร่

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐจะต้องสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมากมาหล่อเลี้ยงองค์กรที่อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป และเปิดโอกาสให้คนในองค์กรเหล่านั้นใช้อำนาจในการกำกับดูแลของตนเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนกับสินบนในการคอร์รัปชันได้อย่างไม่สิ้นสุด ยิ่งกว่านั้น กฎระเบียบและองค์กรกำกับควบคุมที่มันเยอะแยะหยุมหยิม ยังถือเป็นภาระของภาคธุรกิจและประชาสังคม ซึ่งอยากจะหยิบอยากจะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด หันไปทางไหนก็เจอแต่กฎระเบียบ หรือไม่เช่นนั้น ถ้าอยากจะทำจริงๆ ก็ต้องเสียเงินจ้างนักกฎหมายมาชี้ช่อง เป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นมาเปล่าๆ

เดี๋ยวนี้ ในหลายประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว และไม่ต้องการให้รัฐเข้ามาขวางความเจริญอย่างนี้ เขาจึงได้มีสิ่งที่เรียกกันว่า “Sunset Legislation” หรือกฎหมายอาทิตย์อัสดง

หลักการของกฎหมายอาทิตย์อัสดงก็มีอยู่ง่ายๆ ว่า เวลาสภาออกกฎหมายใหม่หรือคำสั่งตั้งองค์คณะอะไรขึ้นมา นอกจากจะบอกว่ามีผลบังคับใช้เมื่อไหร่แล้ว ก็จะต้องมีอีกข้อหนึ่งที่ระบุว่ากฎหมายหรือองค์คณะนั้นจะหมดอายุ หรือ “อัสดง” ลงเมื่อไหร่ด้วย โดยเมื่อถึงกำหนดดังกล่าวแล้ว หากสภาไม่ได้มีมติให้กฎหมายหรือองค์คณะนั้นคงอยู่ต่อไป กฎหมายหรือองค์คณะนั้นก็จะต้องสิ้นสุดลงไปด้วย ไม่ใช่เหมือนปกติที่เมื่อกฎหมายหรือองค์คณะใดกำเนิดขึ้นมาแล้วก็จะอยู่ไปเป็นอมตะ เว้นแต่จะมีการลงมติเพื่อล้มเลิกเพิกถอนกฎหมายนั้น ซึ่งแทบจะไม่เกิดขึ้น

ประเทศที่ทำอย่างนี้ก็เช่นอังกฤษ ซึ่งกำหนดเลยว่ากฎหมายที่ออกใหม่ทั้งหมด หากว่าเป็นกฎหมายที่มีผลเป็นภาระต่อเอกชนและประชาสังคมแล้ว จะต้องมีบทบัญญัติที่ว่าด้วยกฎหมายอัสดงนี่อยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอย่างหนักเลยคือมีกำหนดวันหมดอายุไว้ หรืออย่างเบาลงมาคือ ไม่มีการกำหนดวันหมดอายุ แต่กำหนดกรอบเวลา ที่จะต้องมีการประเมินกฎหมายนั้นในแง่ต่างๆ เพื่อทำให้กฎหมายนั้น “เพรียว” ขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เกินห้าปีหลังจากกฎหมายมีผล

ทั้งนี้ เขาก็จะประเมินกันตั้งแต่ว่า มูลเหตุที่ทำให้จำเป็นต้องมีกฎหมายนั้นยังมีอยู่หรือไม่ ถ้ายังมี กฎหมายนั้นยังเป็นมาตรการดีที่สุดสำหรับรับมือกับมูลเหตุเช่นนั้นอยู่หรือไม่ และถ้ายังเป็น จะมีวิธีใดที่จะปรับปรุงกฎหมายให้มันลดภาระต่อเอกชนและประชาสังคมได้อีก ว่าแล้วก็แก้ไปตามนั้น โดยนัยนี้ กฎหมายที่ไม่จำเป็นก็จะถูกโละออก แต่แม้กฎหมายที่ไม่ถูกโละ ก็จะได้ตกแต่งตัวเสียใหม่ ไม่เร่อร่าล้าสมัยอีกต่อไป

ที่มาภาพ : http://www.sunset.state.tx.us/81stReports/Website%20Cover/Web09A.jpg
ที่มาภาพ: http://www.sunset.state.tx.us/81stReports/Website%20Cover/Web09A.jpg

อีกประเทศที่มีกฎหมายอาทิตย์อัสดงก็คือสหรัฐฯ อย่างในรัฐเท็กซัสนั้น เขาทำกันถึงขนาดออกกฎหมายให้องค์กรของรัฐทั้งหมด ยกเว้นมหาวิทยาลัย ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ล้มเลิกไปภายใน 12 ปี นับจากการก่อตั้ง เว้นแต่สภาจะต่ออายุให้ แล้วก็ตั้งคณะกรรมการ Sunset Advisory Commission ขึ้นมาเพื่อคอยประเมินองค์กรนั้นๆ โดยวิธีก็คือ ให้องค์กรประเมินตัวเองก่อน โดยใช้คำถามทำนองเดียวกับของอังกฤษ เสร็จแล้วก็ให้มีผู้ประเมินอิสระประเมินอีกที แล้วก็ทำประชาพิจารณ์ เสร็จสรรพแล้วคณะกรรมการจึงสรุปเป็นมติแนะนำไปยังสภา ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจชี้ขาดชะตาขององค์กรเป็นชั้นสุดท้าย เป็นเช่นนี้เรื่อยไปทุกๆ 12 ปี โดยปรากฏว่าเพียงภายในสองปีแรกที่ทำเท่านั้น รัฐเท็กซัสโละองค์กรทิ้งไปได้ถึง 23 องค์กร ประหยัดเงินให้รัฐกว่า 630 ล้านเหรียญฯ

จะเห็นได้ว่า กฎหมายอาทิตย์อัสดงนี้ถือเป็นเครื่องมืออย่างดีสำหรับแต่งรัฐที่ชักจะเทอะทะให้อยู่ในขนาดที่พอเหมาะผ่านการเฉือนกฎหมายหรือองค์กรที่ไม่เข้าท่าทิ้ง แต่ที่ดีกว่านั้นก็คือ กฎหมายอาทิตย์อัสดงยังจะช่วยเล็มระบบการกำกับดูแลต่างๆ ของรัฐให้เข้ารูปเข้ารอยขึ้นอีกมาก ทั้งนี้ เนื่องจากเวลามีการต่ออายุให้กฎหมายหรือองค์คณะใด สภามักจะไม่ต่อเฉยๆ แต่จะร่างกฎหมายปรับปรุงภารกิจและวิธีการทำงานขององค์กรนั้นเสียใหม่ อย่าว่าแต่องค์กรเองก็มักจะว่าง่ายและแข็งขันในการปรับตัวกว่าเก่า เพราะสำนึกว่าถ้าไม่ทำ ก็จะได้อัสดงลับเหลี่ยมเขาไปพร้อมกับของล้าสมัยอื่นๆ

ทำเป็นเล่นไป อย่างนี้ก็เรียกได้ว่า “ปฏิรูป” นะเออ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์หางกระดิกหมา น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2557