ThaiPublica > คนในข่าว > ชีค ฮาสินา นางสิงห์เหล็กแห่งบังกลาเทศ

ชีค ฮาสินา นางสิงห์เหล็กแห่งบังกลาเทศ

16 มกราคม 2014


รายงานโดย อิสรนันท์

ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำจากการเลือกตั้งคนแรกประเดิมศักราชใหม่ 2557 แม้จะเป็นการเลือกตั้งนองเลือดครั้งรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบังกลาเทศ มีการเผาคูหาเลือกตั้งกว่าร้อยคูหา ไม่นับรวมการผละงานประท้วงทั่วประเทศและการปะทะกันอย่างรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตมากเป็นประวัติการณ์กว่า 20 คน หรือถ้ารวมยอดจากปลายปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่าร้อยคน แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่สามารถขัดขวางนางชีค ฮาสินา วัย 64 ปี ไม่ให้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ได้ หลังจากพรรคสันนิบาตอะวามิ (เอแอล) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลและพรรคพันธมิตรชนะเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 5 ม.ค. กวาดที่นั่งในสภาผู้แทนฯ ได้ถึง 232 ที่นั่ง จาก 300 ที่นั่ง หรือเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์

ท่ามกลางการบอยคอตเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้านกว่า 20 พรรค ใต้การนำของพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (บีเอ็นพี) ภายใต้การนำของเบกุม คาเลดา เซีย อดีตนายกฯ หญิง 2 สมัยวัย 67 ปี ซึ่งได้เรียกร้องให้คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศให้การเลือกตั้งครั้งที่ 10 ของประเทศเป็นโมฆะ แล้วให้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการ อันประกอบด้วยตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองเข้ามาดูแลการเลือกตั้งครั้งใหม่ให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงๆ แทนพรรคเอแอลที่ทุจริตฉ้อฉล ลุแก่อำนาจ และเป็นเผด็จการ

ที่มาภาพ : http://news.bbcimg.co.uk/media/imag
ที่มาภาพ: http://news.bbcimg.co.uk/media/imag

ผู้สันทัดกรณีหลายคนเชื่อว่า แม้ชีค ฮาสินา จะสามารถสวมหัวโขนนี้ต่ออีก 5 ปี แต่มีทางเป็นไปได้มากว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ไม่นานหรืออยู่ไม่ครบวาระ เนื่องจากเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากพรรคฝ่ายค้านและจากต่างประเทศรวมไปถึงสหรัฐฯ และอังกฤษ ที่มองว่าการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้นไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม เมื่อดูจากจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่มีเพียงแค่ 22 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือไม่ถึง 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่าชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับการเลือกตั้งครั้งนี้

แต่ชีค ฮาสินา ก็ไม่สนใจคำทักท้วงเหล่านั้น ปากยังคงท่องแต่คัมภีร์การเมืองว่ารัฐบาลของเธอมีความชอบธรรม เนื่องจากชนะเลือกตั้งท่วมท้นแบบไร้คู่แข่ง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความผิดของพรรคเอแอล หากเป็นเพราะพรรคฝ่ายค้านต่างหากที่ดึงดันไม่ยอมส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้งเอง

การดันทุรังไม่ยอมฟังเสียงทักท้วงใดๆ นี้ ทำให้ผู้สังเกตการณ์หลายคนตราหน้าชีค ฮาสินา ว่าเป็นผู้นำมือเปื้อนเลือด และทำให้ประวัติทั้งของวงศ์ตระกูลของเธอ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อแยกเอกราชออกจากปากีสถานตะวันตกเมื่อปี 2514 รวมทั้งประวัติของเธอเองในฐานะ “บุตรีแห่งประชาธิปไตย” ต้องด่างพร้อยอย่างยากจะลบเลือนหายไปได้ อีกทั้งมีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการถูกยึดอำนาจหรือถูกลอบสังหารหรือถูกฆ่าล้างตระกูลเหมือนกับที่ครอบครัวของเธอเคยประสบมาก่อน หรือเฉกเดียวกับอดีตผู้นำหญิงหลายคนในเอเชียใต้ ซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกสถานการณ์กดดันให้ต้องกลายเป็นสตรีเหล็กผู้เชื่อมั่นในตัวเองและไม่ยอมให้ใครจูงจมูกง่ายๆ กระทั่งถูกลอบสังหารอย่างน่าอนาถ ไม่ว่าจะเป็นนางสิงห์เหล็กอินทิรา คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดียหรือนางเบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน เป็นต้น

จากสมญา “บุตรีแห่งประชาธิปไตย” บังกลาเทศ ดินแดนแห่งการปฏิวัติและความยากจนที่อยู่คู่กับประเทศนี้ตลอดมา สู่ “สตรีเหล็ก” คนใหม่ผู้ถูกฝ่ายค้านประณามว่าเป็นตัวการบ่อนทำลายระบบพหุพรรค เพื่อจะสถาปนาระบบผูกขาดอำนาจการเมืองในอุ้งมือของพรรคการเมืองเดียวขึ้นมา สะท้อนความจริงประการหนึ่งว่าชีค ฮาสินา นั้นโชกโชนทางการเมืองมากเพียงใด จนใจแข็งเป็นเหล็กเพชรไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ แม้กระทั่งความตายตรงหน้า นับตั้งแต่ชะตาชีวิตได้ลิขิตให้เธอเป็นบุตรสาวคนโตของชีค มูจิบู เราะห์มาน หรือราห์มาน บิดาของประเทศและประธานาธิบดีคนแรกของบังกลาเทศ

นางชีค ฮาสินา ที่มาภาพ : http://www.wtop.com/emedia/apimage
นางชีค ฮาสินา ที่มาภาพ: http://www.wtop.com/emedia/apimage

ชีค ฮาสินา ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกับครอบครัวนับตั้งแต่ชีค มูจิบู เราะห์มาน เริ่มนำชาวเบงกาลีที่ยากจนทำสงครามหมายจะแยกตัวเป็นเอกราชจากปากีสถานตะวันตก เป็นเหตุให้ทั้งครอบครัว ทั้งตัวของชีค มูจิบู เราะห์มาน ภรรยา รวมทั้งชีค ฮาสินา ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 24 ปี และนาย เอ็ม.เอ.วาเจด มิอาห์ สามี ซึ่งเป็นนักวิทยาศาตร์ที่แต่งงานกันเมื่อปี 2511 จนมีทายาทด้วยกัน 2 คน เป็นชายหนึ่งหญิงหนึ่ง ถูกจับขังคุกยกครัว ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง และผลจากการที่อินเดียยื่นมือเข้ามาแทรกแซง ทำให้ปากีสถานตะวันออกสามารถแยกตัวเป็นเอกราชตั้งเป็นประเทศบังกลาเทศ โดยชีค มูจิบู เราะห์มาน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี นายทหารกลุ่มหนึ่งก็ใช้กำลังยึดอำนาจเมื่อปี 2518 จับ ชีค มูจิบู เราะห์มาน พร้อมด้วยภรรยาและลูกชาย 3 คน ไปสังหารหมู่ ส่วนชีค ฮาสินา และน้องสาวรอดตายหวุดหวิดเพราะอยู่ระหว่างเดินทางไปเยอรมนี เธอจึงหนีไปที่อังกฤษก่อนจะเดินทางไปลี้ภัยการเมืองที่อินเดีย

ด้วยความที่สนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับสำนึกความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าพรรคสันนิบาตอะวามิสืบต่อจากพ่อผู้ล่วงลับ ชีค ฮาสินา ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านวรรณกรรมเบงกาลีที่มหาวิทยาลัยธากา จึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศเมื่อปี 2524 แต่โชคร้ายที่ช่วงจังหวะนั้น บ้านเมืองกำลังเกิดกลียุค กระทั่งประธานาธิบดีเซียอูล เราะห์มาน ถูกทหารยึดอำนาจและสังหารทิ้งอย่างเลือดเย็น เธอเองก็พลอยฟ้าพลอยฝนถูกจับกุมคุมขังเป็นครั้งแรกเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากได้รับการปล่อยตัว เธอตัดสินใจกระโจนสู่สนามเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2529 แม้ว่าพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ นำโดยเบกุม คาเลดา เซีย จะบอยคอตการเลือกตั้งก็ตาม ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น ปรากฏว่าพรรคเอแอลยังไม่สามารถยึดกุมอำนาจการเมืองกลับคืนมาได้

ภายใต้แรงกดดันทางการเมืองและเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ชีค ฮาสินา ตัดสินใจจับมือกับนางเซียร่วมกันกดดันประธานาธิบดีเผด็จการทหารฮุสเซน เออร์ชาด ให้จำใจยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองจากประธานาธิบดีเป็นระบอบรัฐสภา โดยถ่ายโอนอำนาจการบริหารจากประธานาธิบดีไปสู่นายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้น ประธานาธิบดีเออร์ชาดก็ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2533 ก่อนจะถูกจับกุมคุมขังในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่การจับมือเป็นพันธมิตรของสองนางสิงห์ก็จืดจางลง เมื่อบังกลาเทศได้จัดเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเป็นครั้งแรก ปรากฎว่าพรรคบีเอ็นพีชนะเลือกตั้ง นางเซียได้เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคเอแอลพ่ายเลือกตั้ง ชีค ฮาสินา จึงเป็นฝ่ายค้านและเป็นฝ่ายค้านติดต่อกันถึง 2 สมัย ก่อนที่จะจับมือกับพรรคฝ่ายค้านพรรคอื่นๆ กดดันให้นางเซียลาออก แล้วจัดเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้นเมื่อปี 2539 การเมืองในประเทศกลับเข้าสู่ยุคแห่งความวุ่นวายโกลาหลอีกครั้ง ปรากฏว่าพรรคเอแอลซึ่งชูนโยบายฟื้นฟูประชาธิปไตยชนะเลือกตั้ง ทำให้ชีค ฮาสินา ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกสมปรารถนา

ชีค ฮาสินา ได้ดึงพรรคเล็กๆ รวมทั้ง ส.ส. บางส่วนจากพรรคบีเอ็นพีให้เข้ามาร่วมในรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งยิ่งขยายความบาดหมางของสองนางสิงห์เหล็กจนไม่ยอมอยู่ร่วมถ้ำเดียวกันอีกต่อไป อย่างไรก็ดี คะแนนนิยมของรัฐบาลชีค ฮาสินา ซึ่งบริหารประเทศระหว่างปี 2539-2544 มีแต่ตกต่ำลงท่ามกลางข้อครหาว่าเธอได้แต่อาศัยบารมีเก่าของชีค มูจิบู เราะห์มาน ผู้เป็นพ่อ ท้ายสุดพรรคสันนิบาตอะวามิก็พ่ายการเลือกตั้งเมื่อปี 2545 อย่างยับเยิน จำใจต้องเปิดหมวกให้พรรคบีเอ็นพีเข้ามาบริหารประเทศแทน และนางคาเลดา เซีย คู่ปรับเก่าก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ระหว่างนั้น ทั้งสองก็เปิดศึกสองนางพญาเชือดเฉือนกันทางการเมืองตลอดเวลา

ด้วยความที่เป็นคนดวงแข็ง ชีค ฮาสินา จึงรอดตายหวุดหวิดจากการถูกกลุ่มหัวรุนแรงอิสลามิสต์ลอบสังหารด้วยการปาระเบิดใส่ระหว่างหาเสียงเมื่อเดือน ส.ค. 2547 ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคเอแอลถูกลูกหลงตายกว่า 20 คน และทำให้เธอหูหนวกนับแต่นั้นเป็นต้นมา ชีค ฮาสินา ได้กล่าวหาว่าเป็นฝีมือของลูกชายคนหนึ่งของนางเซีย “ศึกสองนางพญา” ทำท่าจะลุกลามออกไปถ้าหากไม่บังเอิญว่าทั้งสองคนต่างถูกรัฐบาลทหารที่ตบเท้ายึดอำนาจสั่งจับกุมพร้อมกันเมื่อปี 2550 อันเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน จากนั้น ชีค ฮาสินา ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน ฆาตกรรมและใช้อิทธิพลทางการเมืองแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบก็ถูกกดดันให้เดินทางออกนอกประเทศ กระทั่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษต้องยื่นมือเข้าแทรกแซง จนท้ายสุดข้อหาเหล่านั้นก็ตกไป

นางชีค ฮาสินา ที่มาภาพ : http://media2.intoday.in/indiatoday
นางชีค ฮาสินา ที่มาภาพ: http://media2.intoday.in/indiatoday

เมื่อบรรยากาศการเมืองเริ่มโปร่งใสอีกครั้ง พรรคสันนิบาตอะวามิก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อปี 2551 แม้จะสวมหัวโขนนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 แต่การเมืองมีแต่ทวีความตึงเครียดมากขึ้นทุกขณะ สาเหตุหนึ่งมาจากการที่เธอตัดสินใจจะฟื้นคดีสาวกของกลุ่มอิสลามิสต์จากอาชญากรรมที่ก่อไว้ในช่วงสงครามกู้เอกราช แต่ฝ่ายค้านมองว่าการฟื้นคดีอาชญากรสงครามเป็นการสร้างเรื่องโกหกเพื่อหวังจะปิดปากฝ่ายค้าน อีกสาเหตุหนึ่งมาจากศึกสองนางพญาได้มาถึงจุดระเบิดอีกครั้ง เมื่อนางเซียประณามชีค ฮาสินา ว่าตระบัดสัตย์ กรณีใช้เล่ห์เพทุบายให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้มระบบการตั้งรัฐบาลรักษาการที่เป็นกลางให้เข้ามาดูแลเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ตัวเองเคยกดดันให้รัฐบาลนางเซียจำใจยอมใช้ระบบรัฐบาลรักษาการ หลังจากถูกจับได้ว่าพรรคบีเอ็นพีโกงเลือกตั้งจนชนะเมื่อปี 2539 ทำให้นางเซียต้องยอมลาออกหลังจากนั้น 2 เดือน เพื่อให้รัฐบาลรักษาการเข้ามาดูแลการเลือกตั้งใหม่ ทำให้พรรคเอแอลชนะเลือกตั้ง

พอถึงการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 10 ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 5 ม.ค. นางเซียจึงทวงความแค้นครั้งนั้น ด้วยการกดดันให้ชีค ฮาสินา ลาออกเพื่อตั้งรัฐบาลรักษาการ แต่ชีค ฮาสินา ก็ดึงดันไม่ฟังเสียงคัดค้านของประชาชน เดินหน้าให้มีการหย่อนบัตรท่ามกลางกลียุคทางการเมือง จนได้สวมหัวโขนนายกฯ เป็นสมัยที่ 3 สมปรารถนา แต่หลายคนเชื่อว่าได้จุดประกายวิกฤติการเมืองครั้งใหม่ขึ้นมาอีก