ThaiPublica > คอลัมน์ > สวดมนต์ V.S ก่นด่า ข้ามปี

สวดมนต์ V.S ก่นด่า ข้ามปี

2 มกราคม 2014


ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

สวดมนต์ข้ามปีที่สวนโมกข์กรุงเทพ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Banyoung Pongpanich
สวดมนต์ข้ามปีที่สวนโมกข์กรุงเทพ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Banyoung Pongpanich

ความขัดแย้งในบ้านเราในปัจจุบันโดยแท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องของความต้องการให้มีเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 หรือไม่ให้มี หากแต่ลึกลงไปเป็นเรื่องของความต้องการปฏิรูปในหลายมิติที่เป็นปัญหาของบ้านเมืองเราในปัจจุบัน

สิ่งที่ทำให้ผู้คนออกมาชุมนุมกันนับล้านคน (ศอ. รส. ก็ยอมรับแล้วว่ามีจำนวนมากกว่า ล้านคน ซึ่งตรงข้ามกับที่ ศอ. รส. เคยแถลงก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมงว่ามีจำนวน 11,800 คน สถานการณ์มันช่างน่าขบขันและเป็นความพยายามในการกู้ความน่าเชื่อถือของ ศอ. รส. ซึ่งแทบจะไม่มีอยู่แล้วกลับคืนมา) ก็คือความเบื่อหน่ายต่อระบอบการเมืองปัจจุบันที่เห็นชัดเจนว่าถูกครอบงำมากขึ้นทุกทีด้วย “ระบอบทักษิณ” อันอุดมด้วยคอรัปชัน การไร้ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล ลุแก่อำนาจ (ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบ “ยกเข่ง”) การตั้งใจแทรกแซงองค์กรอิสระผ่านวุฒิสภา ฯลฯ

ในความรู้สึกส่วนตัวสิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้พร้อมใจกันออกมาก็คือ “การไม่เอาทักษิณ-ไม่เอาระบอบทักษิณ-ไม่ “เอาครอบครัวชินวัตร”) ผู้เขียนไม่ได้นั่งเทียนเขียนไปตามอารมณ์หากมาจากการสังเกตการแสดงออกทางคำพูด ภาษากายและความรู้สึกของผู้คนที่มาร่วมชุมนุมด้วยการรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นรอบข้างอย่างพยายามไม่ใช้อารมณ์ส่วนตัวตัดสิน

ความรู้สึกที่ต้องการให้มีการปฏิรูปดังกล่าวนั้นตามมาภายหลังเนื่องจากมันผูกโยงกับ ‘การไม่เอาทักษิณ’ อย่างใกล้ชิด กล่าวคือถ้าปฏิรูปแล้วก็สามารถเริ่มกระบวนการขีดวงจำกัด-ลดอำนาจ-กำจัด ‘ระบอบทักษิณ’ ด้วย ‘กติกาใหม่’ ได้

ตัวละครที่โดนหนักที่สุด 3 ตัวก็คือนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ คุณทักษิณ และครอบครัว‘ชินวัตร’ ผมคิดว่าถ้าตัวละครทั้ง 3 ตัว ได้มาอยู่ในที่ชุมนุมและได้ยินได้ฟังได้อ่าน สิ่งที่ผู้มาชุมนุมคุยกันและเขียนป้ายที่ถือกันมาอย่างละเอียดแล้ว จะช้ำใจเป็นอันมาก โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์

ผมยังไม่เคยเห็นผู้หญิงคนใดในการเมืองไทยที่ถูกกล่าวถึงในการพูดคุยกันของผู้ชุมนุมอย่างสาดเสียเทเสียเท่านายกยิ่งลักษณ์ สรรพนามและคำพูดนั้นเรียกได้ว่าหนักแบบจัดเต็ม

ผมมั่นใจว่าไม่มีลูกน้องคนใดรายงานท่านหรอกว่ามันหนักหนาสาหัสแค่ไหนเพราะ นายย่อมได้รับฟังแต่สิ่งที่รื่นหูเสมอ (ขงจื๊อบอกว่าคนอายุ 60 ต้องสามารถรับฟังสารพัดเรื่องได้อย่างรื่นหู แต่นายบางคนอายุเกิน 60 ปีแล้วก็ยังทนฟังสิ่งไม่รื่นหูไม่ได้) นายกยิ่งลักษณ์ยังไม่ถึง 60 ลูกน้องจึงไม่กล้ารายงานสิ่งนี้กระมัง

สำหรับตัวคุณทักษิณนั้นไม่ต้องพูดถึงเคยได้ยินมากว่าสิบปีแล้ว แต่สำหรับสมาชิกของ ‘ครอบครัวชินวัตร’ นี่สิหนักเอาการ เพราะเป็นการก่นด่าทั้งครอบครัว ทั้งบรรพบุรุษแบบ ‘เหมาเข่ง’ อย่างมีอารมณ์ (ผมเห็นว่าไม่เป็นธรรมแก่คนที่ไม่รู้ไม่เห็น เช่น น้องไปป์) แต่การมีนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ‘ครอบครัวชินวัตร’ ถึง 3 คน (ทักษิณ สมชาย ยิ่งลักษณ์) และแถมสองชื่อต้นของปาร์ตี้ลิสต์ในการสมัครเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ก็มาจาก ‘ครอบครัวชินวัตร’ อีก จะทำให้คนเห็นเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร

นึกไม่ออกว่ามีครอบครัวใดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ที่ถูกตำหนิ วิจารณ์ ก่นด่า ในทางเสียหายเท่าครอบครัวนี้

เมื่อผู้ชุมนุมอยากเห็นการปฏิรูป ก็ยอมไม่ได้ที่จะให้รีบมีเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ เพราะไม่ต้องการเห็นวังวนเดิมกลับมา

ฝ่ายรัฐบาลต้องการรักษาอำนาจไว้ เพราะไม่แน่ใจว่าถ้าตนเองหลุดจากการรักษาการและมีการปฏิรูปแล้วตนเองจะโดนอะไรบ้าง จึงกอดเก้าอี้แน่นพร้อมกับท่องคาถา ‘เลือกตั้งก่อนปฎิรูป’ หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมออกจากการรักษาการ

การรับปากว่าเลือกไปก่อนและจะปฏิรูปภายหลังนั้น วิญญูชนผู้ไม่เขลาเกินไปย่อมไม่รับ เพราะรู้ทันนักการเมืองว่าเขาจะปฏิรูปเพื่อให้ตนเองมีอำนาจน้อยลงได้อย่างไร

การดึงดันเลือกตั้งให้ได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นั้น เห็นชัดเจนว่าจะนำไปสู่ปัญหามากมายที่ตามมา สมมุติว่าคุณยิ่งลักษณ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเดิม ไม่มีฝ่ายค้านที่มีตัวตน คิดหรือว่าจะหวานหมูสามารถผ่านกฎหมายอะไรก็ได้ เหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ในเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมก็เห็นกันอยู่แล้ว และเมื่อคำนึงถึงว่าคนกลุ่มนี้ก็ขาดความชอบธรรมในสายตาของประชาชนชั้นกลางในกรุงเทพที่มีเสียงดังที่สุดไปแล้ว การจะกลับมาอีกเหมือนเดิมและทำงานได้อย่างราบรื่นนั้นเป็นไปไม่ได้เลย คนเหล่านี้พร้อมที่จะออกมาเสมอและอาจมากขึ้นด้วย (ยิ่งชุมนุมใกล้รถไฟฟ้ายิ่งออกมากันมาก)

สุภาษิตจีนนั้นบอกว่ารัฐบาลเปรียบเสมือนเรือที่ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรแห่งประชาชน ถ้าคลื่นลมประชาชนแรงจัดแล้วเรือนั้นก็ลอยอยู่ไม่ได้

การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์จะทำให้เสียเงินไปฟรี ๆ 3,800 ล้านบาท (ในยามที่ยังไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวให้ชาวนาก็นับว่าเป็นยอดเงินที่สูงมาก) เพราะจะต้องเลือกตั้งกันใหม่ในเวลาอันไม่นาน ยิ่งถ้าหลังเลือกตั้งประชาชนมีคำตัดสินว่า ส.ส. และ ส.ว. 368 คน กระทำผิดในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินแล้วว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นก็จะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมอีกนับสิบหรือร้อยเขตเพราะผู้ชนะซึ่งอาจประกอบด้วยส่วนหนึ่งจาก 368 คนนี้จะหลุดจากตำแหน่งทำให้สูญเงินเลือกตั้งซ่อมอีกมหาศาล

สวดมนต์ข้ามปีให้ผู้ใดถือว่าร่วมกันสร้างพลังใจให้เกิดพรอันศักดิ์สิทธิ์ส่งผลให้ผู้นั้นในด้านดี แต่ถ้าผู้ใดหรือครอบครัวใดได้รับเสียงก่นด่าสาปแช่งจากคนนับล้านแทน พลังใจด้านลบมหาศาลย่อมไม่เป็นเรื่องประเสริฐเลยแม้แต่น้อย

ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2556