ThaiPublica > คนในข่าว > ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์ “เดือนตุลา” เจ้าตำรา “เจ้าพ่อ กระสุนปืนและหีบการเลือกตั้ง”

ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์ “เดือนตุลา” เจ้าตำรา “เจ้าพ่อ กระสุนปืนและหีบการเลือกตั้ง”

18 มกราคม 2014


“ประจักษ์ ก้องกีรติ” บอกว่า เขา “แจ้งเกิด” ในวงการวิชาการผ่านการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ “ก่อนจะถึง 14 ตุลา: ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร” (พ.ศ.2506-2516)

ชื่อ “ประจักษ์” เป็นที่ประจักษ์ทั้งในฐานะนักวิชาการที่ลงพื้นที่ คลุกคลีค้นคว้าข้อมูลเชิงประจักษ์ สนทนากับคนการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. ผู้ลงคะแนน และหัวคะแนนทั่วทุกสารทิศ เพื่อประกอบการเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัย Australian National University ประเทศออสเตรเลีย ที่เจ้าตัวตั้งชื่อภาษาไทยว่า “เจ้าพ่อ กระสุนปืนและหีบการเลือกตั้ง”

“ประจักษ์” ตัดสินใจเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และการอ่านหนังสือที่เขียนโดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นแรงบันดาลใจ และมีจุดหักเหทิ้งความอยากเป็นวิศวกรสู่ความอยากเป็นนักรัฐศาสตร์ เพราะหันมาสนใจการเมืองจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

เคยปรากฏตัวในกลุ่ม “สันติประชาธรรม” ในวันที่เกิดเหตุม็อบการเมือง ตั้งแต่ยุคการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในแคมเปญ “3 หยุด” เมื่อปี พ.ศ. 2548

หลังรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภา 1 วัน (10 ธันวาคม 2556) ชื่อ ดร.ประจักษ์ปรากฏร่วมกับคณาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ในกลุ่ม “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย” มีแคมเปญ “เคารพกติกาประชาธิปไตย เข้าสู่การเลือกตั้ง ไม่มอบอำนาจให้คนกลาง”

1 เดือนถัดมา หลังเปิดศักราช 2557 ความเคลื่อนไหวในระบอบสุเทพยกระดับสูงขึ้นถึงขั้น Shut Down Bangkok หรือปิดกรุงเทพฯ ชื่อ ดร.ประจักษ์ปรากฏเป็นลำดับที่ 27 ในกลุ่มเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” เอาการเลือกตั้ง เอาปฏิรูป และไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาความรุนแรง

ในยุคที่การเมือง 2 ขั้ว 2 ข้าง เผชิญหน้าอย่างแหลมคม บรรดาชนชั้นนำ อำมาตย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ต่างเปิดหน้าหนุน-ต้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองเต็มกระดาน

ดร.ประจักษ์ยืน-เดินอยู่ตรงไหน ส่องปรากฏการณ์ของกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ต่างฝ่ายต่างยื่นข้อเสนออย่างสุดขั้วอย่างไร โปรดติดตาม

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์(ถือไมค์) นายประจักษ์ ก้องกีรติ (ซ้ายสุด)และคณาจารย์ร่วมบรรยาย "ธรรมศาสตร์บรรยายสาธารณะ: ห้องเรียนประชาธิปไตย" ที่มาภาพ : วัศพล ศิริวัฒน์
รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (ถือไมค์) ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ (ซ้ายสุด) และคณาจารย์ร่วมบรรยาย “ธรรมศาสตร์บรรยายสาธารณะ: ห้องเรียนประชาธิปไตย” ที่มาภาพ: วัศพล ศิริวัฒน์

ไทยพับลิก้า : ชื่อ ดร.ประจักษ์ เป็นที่ประจักษ์ต่อคนทั่วไปในเหตุการณ์อะไร

น่าจะรู้จักจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ “ก่อนจะถึง 14 ตุลา: ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ.2506-2516) ต่อมาถูกเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา”

ทำให้พอเป็นที่รู้จักในวงวิชาการเพราะได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น และรางวัลโตโยต้า อวอร์ด (TIF AWARD สาขาสังคมศาสตร์) และอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ได้นำเอาส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ไปเขียนลงในบทความในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ชื่อเราจึงไปอยู่ในสปอตไลท์ สำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์ก็ตีพิมพ์วิทยานพนธ์ ได้เป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ในเวลานั้นก็ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ เพราะมีคนวิพากษ์วิจารณ์ ไม่เห็นด้วยกับข้อค้นพบในวิทยานิพนธ์ด้วย

เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงชีวิต จะเรียกว่าวิทยานิพนธ์เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตก็ได้ เหมือนศิลปิน ได้ออกเทป อัลบั้มแรก ได้รับการตอบรับ ทุกอย่างเข้ามาในชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

ไทยพับลิก้า : เล่าที่มาของผลงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ชื่อภาษาไทย “เจ้าพ่อ กระสุนปืนและหีบการเลือกตั้ง”

การคิดหัวข้อมาจาก ความรุนแรง บริบทคือ ปีที่ไปเรียนปริญญาเอก พ.ศ. 2548 พอปลายปี 2549 ก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน ตอนรู้ข่าวรู้สึกช็อกไปเลย พอวันรุ่งขึ้น พวกกลุ่มนักศึกษาไทย กลุ่มอาจารย์ที่สนใจการเมืองไทย ก็งดคลาสเรียน มาจับกลุ่มคุยกันเรื่องรัฐประหารในเมืองไทย จากเหตุการณ์นั้นทำให้ได้คิดว่า ความขัดแย้งในช่วงนั้น สังคมไทยต้องเข้าสู่ความรุนแรงแน่แล้ว เมื่อเริ่มเห็นแนวโน้มความรุนแรง จึงคิดว่าเราต้องศึกษาเรื่องความรุนแรง เป็นหัวข้อสำคัญในการเมืองไทย และรู้สึกว่าไม่ค่อยมีคนทำวิจัยหัวข้อนี้ ส่วนใหญ่ก็ศึกษาจากมุมสันติวิธี ศึกษาจากกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เราอยากศึกษาว่า “ความรุนแรง” ทำงานอย่างไรในการเมืองไทย

ไทยพับลิก้า : งานวิทยานิพนธ์ “เจ้าพ่อ กระสุนปืนและหีบการเลือกตั้ง” ได้ข้อค้นพบอะไรที่น่าใจสำหรับการเมืองไทย

ความรุนแรงที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งในเมืองไทยเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะมีมานาน ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบัน ทำไมความรุนแรงทางการเมืองยังมีอยู่ ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งเป็นกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่สันติที่สุด เป็นปริศนาว่าการเลือกตั้งควรจะทำให้เกิดความสันติและสงบ แต่ทำไมยังมีการใช้ความรุนแรงกันอยู่ในหลายสังคม

งานวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้เลือกศึกษาพื้นที่ 6 จังหวัด เปรียบเทียบจังหวัดที่มีความรุนแรงกับไม่รุนแรง เพื่อหาสาเหตุ หาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากรวบรวบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ตั้งแต่การเลือกตั้ง พ.ศ. 2518-2554 ก็พบอะไรน่าสนใจหลายอย่าง

ประการแรกเลย ระดับความรุนแรงในการเลือกตั้งของไทยถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศทั่วโลก เช่น เคนยา ที่มีคนตายเป็นหลักพัน คนอพยพอีกเป็นแสนในการเลือกตั้งปี 2550 หรือการเลือกตั้งในซิมบับเว ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ ที่มีคนตายเป็นหลักร้อย ของไทยตัวเลขอยู่ประมาณ 7-30 คน

ประการที่สอง คือ ความรุนแรงในการเลือกตั้งของไทยมีลักษณะเจาะจงเป้าหมาย ไม่เหวี่ยงแห คือ ทั้งผู้ลงมือและเหยื่อจำกัดวงอยู่ในกลุ่มนักการเมืองและหัวคะแนน ไม่ใช่สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้ง หรือประชาชนทั่วไป ซึ่งถือว่าดีกว่าประเทศอื่น เพราะถ้าคุณไม่ใช่ผู้สมัครหรือผู้ช่วยผู้สมัคร คุณจะปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยง

ประการที่สาม ความรุนแรงพบมากในช่วงที่การเมืองเป็นการแข่งขันกันในเชิงตัวบุคคล ซึ่งผู้สมัครที่มีอิทธิพลใช้ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของการเอาชนะคู่แข่งขัน เพราะไม่มีนโยบาย อุดมการณ์ หรือแบรนด์ของพรรคการเมืองไปขาย

ทีนี้ พอการเมืองในช่วงหลังเป็นการเมืองเชิงนโยบายและอุดมการณ์มากขึ้น ความรุนแรงในการเลือกตั้งกลับลดลง เพราะการเมืองแบบตัวบุคคลเริ่มถดถอย ระบบผู้มีอิทธิพลเสื่อมอำนาจลง แน่นอนว่าไม่หายไปทั้งหมด แต่ความรุนแรงเริ่มใช้ไม่ได้ผล คนไม่ชอบ ใครเป็นฝ่ายใช้ก็เสียความชอบธรรม ทำให้แพ้เลือกตั้งด้วยซ้ำ คนหันมาเลือกเพราะนโยบาย ผลงาน สังกัดพรรค หรืออุดมการณ์ทางการเมืองมากขึ้น คุณฆ่าคู่แข่งคุณไป คุณอาจไม่ชนะอยู่ดี ถ้าไม่มีอย่างอื่นไปนำเสนอชาวบ้าน

ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์ ที่มาภาพ : นิตยสาร Writer
ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์ ที่มาภาพ: นิตยสาร Writer

ที่สำคัญคือ ในขณะที่ความรุนแรงในการเลือกตั้งเริ่มลดลง ความรุนแรงบนท้องถนนกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2549 เพราะกระบวนการประชาธิปไตยถูกทำลายลงไป ความขัดแย้งมันไม่ถูกแก้ไขในระบบ จึงทะลักออกไปบนท้องถนน เกิดการนองเลือด บาดเจ็บล้มตายมากมาย คนเสียชีวิตจากความขัดแย้งบนท้องถนนมากกว่าความขัดแย้งในการเลือกตั้งเสียอีก สรุปได้ว่าในช่วง 7-8 ปีมานี้ ถ้ามีเลือกตั้ง สังคมไทยรุนแรงน้อย แต่ถ้าไม่มีเลือกตั้ง หรือกระบวนการเลือกตั้งถูกทำให้สะดุดหยุดลง กลับรุนแรงมาก

ไทยพับลิก้า : นอกจากการทำผลงานวิชาการเป็นที่รู้จัก บทบาทในฐานะนักรัฐศาสตร์ กับสังคมไทยช่วงเปลี่ยนแปลงการเมืองที่สำคัญ ทำอะไรบ้าง

ได้ทำงานร่วมกับกลุ่ม “สันติประชาธรรม” มีการเคลื่อนไหวในช่วงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดทำเนียบรัฐบาล นักวิชาการรัฐศาสตร์ในเวลานั้นเห็นว่าการเคลื่อนไหวแบบนั้นทำให้สังคมไทยเดินไปสู่ทางตัน เพราะเป็นการเคลื่อนไหวที่ต้องการเว้นวรรคประชาธิปไตย ทำให้เกิดความรุนแรง เรียกร้องให้เกิดการรัฐประหาร ทำให้เกิดการใช้อำนาจนอกระบบ จึงต้องออกมาร่วมกันเตือนสติสังคมไทย ว่าแม้พวกเขาจะเกลียดรัฐบาล แต่อย่าทำลายประชาธิปไตย อย่าเรียกร้องความรุนแรงและการรัฐประหาร

ไทยพับลิก้า : ประเด็นปัญหาของการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ กับกลุ่ม กปปส. มีบริบทเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

กลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก็อปปี้การเคลื่อนไหวจากกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ต่างกันเลย มีเรื่องการบุกการยึดสถานที่ราชการ ทำให้รัฐเป็นอัมพาต สมัยนั้นเรียกว่าเป็นการเคลื่อนไหวแบบดาวกระจาย ระดมคนให้ออกมาให้มากที่สุด เน้นการปิดล้อมและปะทะ ไม่ใช่ม็อบแบบสมัชชาคนจน กลุ่มพันธมิตรฯ มีการนำระบบการ์ดติดอาวุธมาใช้ มีการยั่วยุ ทำให้เกิดการปะทะ มีการชุมนุมยืดเยื้อ มุ่งสร้างสถานการณ์เพื่อทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ เพื่อให้ทหาร ตุลาการภิวัฒน์ แทรกแซงการเมือง แบบเดียวกันไม่เปลี่ยน

แต่ กปปส. ไปไกลกว่ากลุ่มพันธมิตรฯ คือ ข้อเสนอของพันธมิตรฯ สัดส่วนผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศมาจากการแต่งตั้ง 70 เปอร์เซ็นต์ เลือกตั้ง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ข้อเสนอ กปปส. มาจากการแต่งตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เลือกตั้ง 0 เปอร์เซ็นต์ ไม่ยอมรับกระบวนการเลือกตั้งในฐานะหนทางขึ้นสู่อำนาจอีกต่อไป น่าจะเป็นขบวนการการเมืองขบวนแรกในประวัติศาสตร์ไทยเลยที่มวลชนมีข้อเรียกร้องชัดเจนว่าไม่ต้องการการเลือกตั้งและระบอบเสรีประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่วางอยู่บนหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียง ซึ่งเท่ากับหมุนนาฬิกากลับไปก่อนสมัย 2475 เลย เพราะในสมัย พ.ศ. 2475 ตอนนั้นคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ที่พลเมืองมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเสมอภาค

ไทยพับลิก้า : ใน พ.ศ. 2547-2548 กลุ่มพันธมิตรฯ มีข้อเรียกร้อง 70/30 แต่ก็ไม่สำเร็จ แต่ พ.ศ. 2557 กลุ่ม กปปส. ไปไกลกว่าแต่เกิดภาพการถูกยอมรับ มีความเชื่อว่าจะสำเร็จ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

เป็นความท้าทายมากที่จะหาคำตอบ ภาพของมวลชน กปปส. ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มพันธมิตรฯ และมีส่วนที่เป็นมวลชนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาร่วม ตามทฤษฎีรัฐศาสตร์เชื่อว่าชนชั้นกลางควรจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เป็นกลุ่มที่มีค่านิยมเสรีนิยม สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ตามที่ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เคยศึกษาไว้ ทั้งเรื่องม็อบมือถือ เรื่องชนชั้นกลาง และบางส่วนจากเรื่อง 2 นคราประชาธิปไตย

แต่ทฤษฎีเดิมๆ อธิบายปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่ได้ ม็อบคราวนี้เป็นชนชั้นกลางระดับสูง บวกกับคนภาคใต้ เป็นกำลังหลัก…จะอธิบายอย่างไร เมื่อคนชั้นกลางสนับสนุนข้อเสนอที่ต่อต้านประชาธิปไตย

ในทางวิชาการ จึงจะต้องมีการศึกษากันอีกมาก จึงจะได้คำตอบที่น่าพอใจ ถ้าค้นคว้าไม่มากพอ ค้นคว้าไม่เจอ ก็ยากที่จะได้คำอธิบาย ได้คำตอบ เพราะถ้ามีคนราวสองถึงสามแสนคน เป็นชนชั้นกลางที่มีเงิน มีสื่อและทรัพยากรมากมายในมือ เสียงดัง แต่ไม่เอาประชาธิปไตย จะปกครองคนเหล่านี้กันอย่างไร…จะอยู่ร่วมกันต่อไปอย่างไร ไม่ง่ายนะ

ไทยพับลิก้า : ถ้าจะตั้งสมติฐานว่าคนที่ออกมาชุมนุมกับ กปปส. เป็นกลุ่มคนที่คับแค้นกับระบอบทักษิณ กับอีกกลุ่มคือคนที่เชื่อและรักสถาบัน รวมกับกลุ่มที่มีความเชื่อว่ารัฐบาลมีปัญหาคอร์รัปชัน อาจารย์ให้น้ำหนักอย่างไร

ทั้งสามเรื่องมีน้ำหนักหมด บอกยากว่าอันไหนมากกว่ากัน

ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์ ที่มาภาพ : นิตยสาร Writer
ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์ ที่มาภาพ: นิตยสาร Writer

ไทยพับลิก้า : มองว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเครื่องมือชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง ได้หรือไม่

เชื่อว่าเบื้องหลังคุณสุเทพมีเครือข่ายชนชั้นนำสนับสนุนมหึมาพอสมควร ไม่งั้นคงไม่สามารถกระทำการท้าทายกฎหมายได้ขนาดนี้ กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรไม่ได้เลย แล้วทรัพยากรที่ใช้ในการบริหารม็อบ คุณสุเทพหามาได้คนเดียวหรือ…เป็นไปไม่ได้

สำหรับชนชั้นกลาง ถ้าจะทำความเข้าใจการเข้าร่วมของพวกเขาคงต้องเข้าใจเรื่อง “การเมืองเชิงศีลธรรม” เพราะสิ่งที่ร้อยรัดผู้ชุมนุมไว้ด้วยกันคือประเด็นทางศีลธรรม กลุ่มชนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่มีความอึดอัดกับการเมืองปัจจุบัน มองว่าบ้านเมืองควรถูกปกครองด้วยคนดี พวกเขาใช้ “เลนส์การเมืองเชิงศีลธรรม” มามองการเมืองไทยว่า รับไม่ได้กับกระบวนการใช้อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรับไม่ได้กับการใช้นโยบายประชานิยม ปัญหาคือ การมองการเมืองแบบศีลธรรมของพวกเขาถูกนิยามอย่างคับแคบ ภายใต้กรอบความเป็นไทยกระแสหลักว่าด้วยอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งผลักคนที่เห็นไม่ตรงกันเป็นศัตรู หาว่าคนคิดเป็นอื่นไม่ใช่คนไทย ไม่รักชาติ

อุดมการณ์แบบชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นกระแสหลักในการเมืองไทย เพราะในอดีตชนชั้นนำประเพณีใช้ความเชื่ออุดมการณ์แบบชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ครอบงำราษฎรไว้ มันเป็นเครื่องมือในการกีดกันคนบางกลุ่มออกไป ความคิดแบบนี้ถูกนำไปใช้กำจัดนักศึกษา ปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ ฝ่ายซ้าย และผู้นำกรรมการ ชาวนา ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหยื่อรายล่าสุดคือกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี

ไทยพับลิก้า : ถ้าใช้เลนส์การเมืองเชิงศีลธรรม ทำให้มองเห็นม็อบสุเทพกับระบอบทักษิณชัดขึ้น

คือ ในการชุมนุมครั้งนี้ มีการเคลมว่าฝ่ายตนเองมีการศึกษาสูงกว่า ดีกว่า มีคุณธรรมมากกว่าคนกลุ่มอื่นที่เหลือในประเทศ จึงควรมีอำนาจในการปกครองมากกว่า อำนาจควรจะอยู่ในมือของคนดีมีศีลธรรม ปัญหาใจกลางของสังคมไทยคือตรงนี้แหละ คือมองว่าขอให้คนที่เชื่อกันว่าเป็น “คนดี” ได้ปกครองบ้านเมือง ประเทศก็จะดีเอง วิธีการได้มาซึ่งอำนาจไม่สำคัญ จึงมองว่าไม่ต้องเลือกตั้งก็ได้ เว้นวรรคประชาธิปไตยก็ได้ อารมณ์ของชนชั้นกลางคือ พวกเขาเป็นคนดีเสียงข้างน้อย เลือกตั้งกี่ครั้งก็แพ้ คนดีแพ้ตลอด เลยอึดอัดคับข้องใจว่าทำไมอำนาจตกอยู่ในมือของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณตลอด ส่วนพรรคที่พวกเขาเลือกไม่เคยชนะ

โจทย์ที่ท้าทายของสังคมไทยจึงอยู่ตรงที่ว่า จะตรวจสอบการควบคุมใช้อำนาจที่มีปัญหาของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยไม่ทำลายกติกาประชาธิปไตยลงไปด้วยได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ฝ่ายตรงกันข้าม พ.ต.ท.ทักษิณต้องขบคิด การโค่นล้ม พ.ต.ท.ทักษิณด้วยวิธีการอะไรก็ได้ มันมีแต่ฉุดประเทศเสียหายไปด้วย มันแย่ตรงที่ฝ่ายที่จ้องโค่นล้มไม่สนใจกระบวนการขึ้นสู่อำนาจ ไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย การไม่เอาการเลือกตั้งเพื่อป้องกัน พ.ต.ท.ทักษิณขึ้นสู่อำนาจเป็นการตีกรอบ จำกัดสิทธิ์คนส่วนอื่นที่เหลือในประเทศ เป็นความเสียหายร้ายแรง ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการมีส่วนร่วมและการแข่งขัน มันจึงไม่ได้เป็นแค่การทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นการริบอำนาจอธิปไตยของคนทั้งประเทศไปด้วย

ขนาดฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณขึ้นสู่อำนาจด้วยกติกาประชาธิปไตย ยังมีปัญหาเรื่องการใช้อำนาจ แล้วมีหลักประกันอะไรว่าสภาประชาชน 400 คนที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ จะไม่คอร์รัปชันและใช้อำนาจอย่างบิดเบือน

ไทยพับลิก้า : ในระบบการเมืองเชิงศีลธรรม ทำให้กลุ่มอำมาตย์ผูกขาดอำนาจ

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เริ่มตั้งคำถามที่ท้าทายอุดมการณ์แบบเดิม เพราะปัจจุบันระบบสังคม เศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงไปมาก การยัดเยียดอุดมการณ์แบบเดิม เช่น “คนไม่เท่าเทียมกัน สังคมไทยเป็นสังคมมียศถาบรรดาศักดิ์ มีลำดับขั้น คนถูกกำหนดโดยชาติกำเนิด” ความคิดแบบนี้ถูกท้าทายตลอดในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ชนชั้นนำเก่าก็ประสบความสำเร็จในการขายอุดมการณ์นี้ ทำให้ชนชั้นกลางรับมาเป็นความคิดชี้นำตัวเอง

ที่น่าอัศจรรย์คือ ชนชั้นกลางกลายเป็นปราการด่านสุดท้ายของการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชนชั้นนำเก่า กลายเป็นพันธมิตรชั่วคราวกับกลุ่มอำมาตย์ อาจจะเป็นเพราะทั้งสองกลุ่มหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง จึงต้องการหมุนสังคมไทยกลับไปสู่อดีต ซึ่งเป็นไปไม่ได้แล้ว

ลึกๆ ชนชั้นกลางอยากขยับฐานะเป็นชนชั้นสูง และไม่ต้องการให้ชนชั้นล่างขยับฐานะขึ้นมาเท่ากับตัวเอง ความคิดของ ดร.เสรี วงศ์มนฑา ที่พูดว่าหนึ่งเสียงไม่เท่ากัน หรือ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ที่บอกว่าหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงใช้กับสังคมไทยไม่ได้ จึงฟังได้และเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ชุมนุมในม็อบ

ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์ ที่มาภาพ : นิตยสาร Writer
ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์ ที่มาภาพ: นิตยสาร Writer

ไทยพับลิก้า : เครื่องมือของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณคืออะไร

พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมไทยในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ที่ประสบความสำเร็จได้เพราะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด เก่งกว่าชนชั้นนำเก่าและชนชั้นนำใหม่กลุ่มอื่นๆ สร้างพรรคการเมืองขนาดใหญ่แล้วขายนโยบายเป็นแพคเกจ เล่นเกมในระบอบประชาธิปไตย กับคนที่เป็นเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณจับประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ไว แต่ไม่ได้นำประโยชน์ไปให้คนจน 100 เปอร์เซ็นต์ และกระบวนการใช้อำนาจของเขาก็มีปัญหา แต่ขาของเขาหนึ่งข้างยืนอยู่บนหลักประชาธิปไตย ผ่านการแข่งขันในระบบการเลือกตั้ง เขาชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจตามกติกาสากล แต่กระบวนการใช้อำนาจมีปัญหา ไม่เหลือพื้นที่ให้คนอื่น จึงมาถึงจุดจบ

สังคมไทยที่ผ่านมา มีชนชั้นนำหลายกลุ่ม แชร์อำนาจและผลประโยชน์กัน ไม่อนุญาติให้ใครกินรวบคนเดียว ความพยายามรวบอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณจึงเป็นภัยคุกคาม ชนชั้นนำจึงจับมือกันเพื่อเอา พ.ต.ท.ทักษิณลงจากอำนาจ แล้วล้มกระดานการเมือง

ไทยพับลิก้า : พรรคประชาธิปัตย์จับมือกับชนชั้นนำด้วยหรือไม่ ในการล้ม พ.ต.ท.ทักษิณรอบนี้

ค่อนข้างชัด หากต่อจิกซอว์เหตุการณ์การเมือง การไม่ลงรับสมัครเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ก็เพื่อทำให้เกิดเดดล็อกการเมือง ประชาธิปัตย์เลือกเล่นเกมนอกระบบ แทนที่จะช่วยหาทางออกให้กับประเทศด้วยการร่วมแข่งขันในระบบเหมือนพรรคการเมืองอื่นๆ ทำแบบนี้ ในระยะยาวไม่มีทางทำให้ประชาธิปัตย์มีความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจได้ เหมือนยุคหลังรัฐประหาร 2549 ที่รัฐบาลไทยไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาด้วยวิธีการนอกกติกาประชาธิปไตยแบบนั้นอยู่ไม่ได้แล้ว

น่าเสียดายที่ประชาธิปัตย์ถอดใจ เป็นพรรคอันดับสองที่มีผู้สนับสนุนตั้ง 11 ล้านคน แม้ว่าแพ้การเลือกตั้งมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะแพ้ตลอดไป ถ้าเขาปฏิรูปพรรคก็ชนะได้ เกมการเลือกตั้งไม่มีพรรคไหนชนะถาวรหรอก พรรคที่ชนะก็เสื่อมได้ถ้าเถลิงอำนาจมากเกินไป

ไทยพับลิก้า : วิเคราะห์ว่า ทั้ง 2 ขั้ว จะยื้อเกมอำนาจกันได้อีกนานแค่ไหน

อีกหลายปี…คาดว่าไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี บางคนในกลุ่มการเมืองนี้ยังเล่นการเมืองได้อีกเป็น 10 ปี ตัวละครการเมืองมีหลายตัว แต่ควรเลิกคิดว่า หากมีตัวละครหนึ่งตัวหายไปแล้วบ้านเมืองจะสงบ

พ.ต.ท.ทักษิณเป็นแค่ส่วนหนึ่งของพลังการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ยกตัวอย่าง ถ้าเอากลุ่มตระกูลชินวัตรออกไปจากการเล่นการเมือง ให้เขาเลิกเล่นการเมืองทั้งหมด วางมือ ถามว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าประชาธิปัตย์จะชนะหรือไม่…คนอีก 15 ล้านคนที่เคยเลือกฝ่ายเพื่อไทยจะเปลี่ยนใจมาเลือกประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลหรือไม่…

พรรคประชาธิปัตย์ และเครือข่ายชนชั้นนำ ไม่ได้สู้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่สู้กับคนอีก 15 ล้านคนที่ไม่เลือกเขา ประชาธิปัตย์ต้องถามตัวเองว่าการทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้เครื่องมือสารพัด ทั้งกฏหมาย การปราบปรามทุกอย่าง แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจคนสิบกว่าล้านคนให้มาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ได้ ถึงที่สุด สังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว จะเอาชนะใจประชาชน ต้องเอานโยบายมาตอบสนองเขา

ไทยพับลิก้า : ถ้าต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5-6 ปี ที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง อะไรจะเป็นจุดชี้ขาดว่าความขัดแย้งจะจบลง

เมื่อได้กติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ ตอนนี้สู้กันแบบไม่มีกติกา เป็นแบบมวยวัด เริ่มจากฝ่ายหนึ่งชกใต้เข็มขัดแล้วชนะ อีกฝ่ายก็เลยชกใต้เข็มขัดบ้าง กรรมการก็ทำเป็นมองไม่เห็น เข้าข้างฝ่ายหนึ่งชัดเจน หรืออีกฝ่ายเอาเก้าอี้ฟาดหัวอีกฝ่าย แต่กรรมการก็ยังยกมือให้ชนะได้

ตอนนี้ยังอยู่ในจุดที่อีกฝ่ายเชื่อว่าสามารถเอาชนะอีกฝ่ายได้ จึงคิดว่าไม่ต้องมีการเจรจา

ไทยพับลิก้า : วิเคราะห์แบบนี้สวนกระแสเหตุการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในม็อบเวลานี้หรือไม่

ถ้ามองจากปัจจัยเฉพาะหน้า อาจมีใครแพ้-ชนะในรอบนี้ แต่นี่ไม่ใช่ยกแรกของการต่อสู้ เพราะมีความต่อเนื่องมา ในการรัฐประหารกันยายน ปี 2549 อาจเป็นยกที่ 1 ตอนนี้มาถึงยกที่ 6 ยกที่ 7 แต่การต่อสู้ก็ไม่จบ ต้องสู้กันไปอีกหลายยก เพราะยังมีกำลังและทรัพยากรเหลือเฟือทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายคุณสุเทพอาจจะชนะในยกนี้ แล้วอย่างไร จะทำอะไรต่อไป ยึดอำนาจไปได้ ถึงจุดหนึ่งก็ไปแก้กติกา ปฏิรูป แก้รัฐธรรมนูญ ทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็ไม่มีทางที่คุณสุเทพและคณะจะได้ปกครองตลอดไปโดยกลุ่มคนสภาประชาชน 400 คน เพราะจะติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตกับใคร ถึงที่สุดก็จะกลับไปสู่เกมการเลือกตั้ง มันเป็นไปไม่ได้ ที่จะอยู่ในระบบเผด็จการ ไม่มีเลือกตั้ง ถึงอย่างไรก็ต้องเข้าสู่เกมการเลือกตั้ง ฝ่ายคุณสุเทพจะยื้ออย่างไรก็ไม่เกิน 2 ปี เราอยู่ไม่ได้โดยการปิดประเทศหรอก

และเมื่อขึ้นสู่การชกยกใหม่ หากประชาธิปัตย์ไม่ปรับปรุงพรรค ไม่มีนโยบายที่ประชาชนพอใจ เลือกตั้งกี่ครั้งก็ไม่สามารถเอาชนะคนทั้งประเทศได้ จะปราบเสื้อแดง ไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับเมืองไทย จะปราบกลุ่มปัญญาชน เหมือนยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ก็คงไม่สามารถฆ่าคนทั้ง 15 ล้านคนได้ จะเอาพวกเขาไปไว้ที่ไหน

ถ้าชนชั้นนำไม่เข้าใจ ว่ากำลังสู้กับอะไร สังคมไทยก็ไม่มีวันสงบ และในระยะยาว หากไม่มีการปรับตัวเข้าสู่การเล่นเกมประชาธิปไตย ก็จะพ่ายแพ้อีก

ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์ ที่มาภาพ : นิตยสาร Writer
ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์ ที่มาภาพ: นิตยสาร Writer

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ทุกฝ่ายต่างพากันชิงธงปฏิรูป รัฐบาลก็อยากเป็นรัฐบาลแห่งการปฏิรูป ประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคแห่งการปฏิรูป เพราะอะไร

ทั่วโลกไม่มีใครปฏิเสธการปฏิรูป แต่ต้องปฏิรูปภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และไม่ทำลายประชาธิปไตย ทำไมต้องเว้นวรรคประชาธิปไตย 2 ปี เพื่อยกอำนาจไปให้กับสภาประชาชนแต่งตั้ง มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรับได้ สังคมไทยต้องหันกลับมาเชื่อมั่นในพลังของตัวเองว่าเราร่วมกันปฏิรูปและควบคุมตรวจสอบนักการเมืองได้ภายใต้ครรลองประชาธิปไตย อย่าหวังพึ่งทหาร พึ่งสภาแต่งตั้ง

ไทยพับลิก้า : ความจริงประชาธิปัตย์ชนะไปแล้วในการต่อต้านกฏหมายนิรโทษกรรม และเคลื่อนไหวจนรัฐบาลต้องยุบสภา

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำอย่างยิ่ง มีคน 2-3 แสนคน ออกมาตื่นตัวเคลื่อนไหวทางการเมือง และฝ่ายประชาธิปัตย์ก็ชนะเกมในสภาผู้แทนราษฎรแม้เป็นเสียงข้างน้อย ไม่จำเป็นต้องลงไปต่อสู้ในท้องถนนอีก เห็นภาพอย่างนี้รัฐบาลไหนก็ต้องกลัว สู้ไปกดดันให้มีการปฏิรูปภายใต้ระบอบรัฐสภาปกติไม่ดีกว่าหรือ

แล้วหากว่าฝ่ายเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. นี้ ก็จะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอที่สุดรัฐบาลหนึ่งในประวัติศาสตร์ จะใช้อำนาจได้น้อยมาก จะโดนจับจ้องจากสังคมและสื่อ เมื่อรัฐบาลอ่อนแอ โอกาสในการปฏิรูปยิ่งเปิดกว้าง เหมือนเมื่อครั้งการปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 เกิดกระบวนการธงเขียวเพื่อการปฏิรูปได้ เพราะรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อ่อนแอ ไม่ชอบธรรม

ไทยพับลิก้า : แต่ตอนนี้ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ก็อยู่ในภาวะอ่อนแอทั้งคู่

ซึ่งน่าเสียดาย เพราะการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เป็นการต่อสู้ในระบบการเมืองใหญ่ 2 พรรค ซึ่งในระยะยาวทำให้ความรุนแรงลดลง เพราะเป็นการแข่งขันกัน 2 พรรค ทำให้มีการแข่งขันกันด้านนโยบายมากขึ้น ทำให้พรรคเจ้าพ่อ โมเดลเก่า ล้มหายตายจาก ไม่มีอนาคต พรรคชาติไทยเคยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนถึง 100 กว่าที่นั่ง แต่หลังปี 2540 ได้ที่นั่งลดลง กลายเป็นพรรคระดับ 20-30 เสียง พรรคชาติพัฒนากลายเป็นพรรคต่ำกว่า 10 เสียง พรรคภูมิใจไทยเก่งที่สุดก็ได้ 30 กว่าเสียง ขณะที่ในการเลือกตั้ง 2554 พรรคเพื่อไทยได้ถึง 265 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 160 เสียง สะท้อนว่าพรรคการเมืองแบบเดิมๆ ที่อาศัยความรุนแรง ข่มขู่ชาวบ้านแบบเจ้าพ่อ มันหมดสมัยไปแล้ว

แต่การเมืองแบบระบบ 2 พรรค จะเป็นระบบที่ดีในระยะยาวก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคมีคุณภาพสูงด้วย ต้องเป็นพรรคมวลชน รับผิดชอบต่อประชาชน ต้องตอบสนองประชาชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ยังไปไม่ถึงจุดนั้น และนี่คือเหตุปัจจัยหนึ่งของวิกฤติการเมืองไทยในปัจจุบัน