ThaiPublica > เกาะกระแส > “ผาสุก พงษ์ไพจิตร” แนะโมเดล”เคพีเค”ของอินโดนีเซีย แก้คอร์รัปชัน

“ผาสุก พงษ์ไพจิตร” แนะโมเดล”เคพีเค”ของอินโดนีเซีย แก้คอร์รัปชัน

9 มกราคม 2014


“ผาสุก พงษ์ไพจิตร” เสนอตั้งแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และทำให้ ป.ป.ช. เปลี่ยนจาก “เสือกระดาษ” เป็น “เสือกระโดด” โดยยกตัวอย่าง “เคพีเค” องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันของอินโดนีเซียที่ประสบความสำเร็จเป็นกรณีศึกษา

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการแก้ปัญหา “คอร์รัปชัน” ในงานเสวนา “วิกฤติประเทศไทย เราจะไปทางไหนดี?” จัดโดยชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันด้วยการปฏิรูปคอร์รัปชันอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้อง “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม”

เนื่องจากสังคมไทยมีปัญหาของกระบวนการยุติธรรม ทำให้แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันทำไม่ได้ สังเกตได้จากคดีคอร์รัปชันที่จะผ่านกระบวนการศาลมีน้อยมาก และถ้าย้อนกลับไปเรื่องของถุงขนม 2 ล้านบาท ผู้ที่ไปเสนอให้เอาถุงขนมไปวางไว้ ภายหลังทราบว่าเป็นกลุ่มทนายความที่ปกป้องคดีนักการเมืองท่านหนึ่ง ซึ่งกลุ่มทนายความเหล่านั้นถูกลงโทษไปตามกฎหมายที่ควบคุมพฤติกรรมของทนาย แต่สงสัยว่าทำไมกระบวนการยุติธรรมไม่มีการสืบสวนสอบสวนเบื้องลึกให้ประชาชนได้เห็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอยู่ภายในกระบวนการศาลที่โยงกับถุงขนม 2 ล้านบาท คือเราปล่อยให้เงียบไปกับสายลม

“ถ้าในต่างประเทศเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น เชื่อว่าไม่มีทางที่เรื่องจะเงียบหายไปกับสายลม ต้องมีกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ได้อะไรอีกเยอะ”

ดร.ผาสุกกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ได้ถูกดึงเข้ามาอยู่ในวงจรของการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไมได้ แล้วได้ลดทอนความเป็นอิสระในฐานะเป็นกระบวนการศาลสถิตยุติธรรมไป ดังนั้น “กระบวนการศาลต้องมีการปฏิรูป” เพื่อให้มีหลักนิติธรรมที่ชัดเจน และหน่วยงานที่เกี่ยวโยงกับการต่อต้านคอร์รัปชันทั้งหลายก็จะต้องปฏิรูปตัวเองด้วย โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ “ป.ป.ช.”

ขณะนี้เรามีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่มีเขี้ยวเล็บมาก คือ “ป.ป.ช.” แต่ก็ยังถูกวิจารณ์ว่าเป็น “เสือกระดาษ” อยากจะให้เป็น “เสือกระโดด” สักทีหนึ่ง

ในแง่ของผลงานที่ออกมาของ ป.ป.ช. ในการที่จะดำเนินคดีกับนักการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้พิพากษา ตำรวจ นักการเมือง และข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน เราก็ไม่ค่อยเห็น แต่ก็พอมีบ้างมากกว่าปี 2540 คือหลังจากมีการตั้ง ป.ป.ช. มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่หลังจากมีรัฐประหาร 2549 ก็คล้ายพลวัตในการดำเนินการช้าลง และ ป.ป.ช. มีลักษณะ “กล้าๆ กลัวๆ”

อย่างกรณี “ทุจริตจำนำข้าว” ค่อนข้างจะชัดเจนว่ามีการคอร์รัปชันเยอะแยะ และเกี่ยวโยงหลายหน่วยงาน แต่ ป.ป.ช. ระยะหลังแม้จะมีการดำเนินการออกมา 2-3 เรื่อง ก็ยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ความจริงเราต้องให้ความเห็นใจ ป.ป.ช. เหมือนกัน เพราะทำงานที่อาจจะมีปัญหากับผู้ยิ่งใหญ่ในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง ส.ส. รัฐมนตรี ตำรวจ หรือข้าราชการระดับสูง ทำให้การทำงานเปลืองตัวกันทั้งนั้นเลย

ดร.ผาสุกเสนอแนวทางปฎิรูป ป.ป.ช. ว่า อาจจะต้องมี “ยุทธศาสตร์” ที่ทำเรื่องเด่นๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจ เพื่อที่จะทำให้หน่วยงานมีชื่อเสียงขึ้นมา และเพื่อให้ได้แรงสนับสนุนจากประชาชนและสื่อมวลชน โดยอาจดูตัวอย่างของอินโดนีเซียที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันด้วยการตั้ง “ศาลพิเศษ” และตั้งหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันชื่อ “เคพีเค”

ที่อินโดนีเซียมีปัญหาคอร์รัปชันมากกว่าเมืองไทยหลายเท่าในสมัย “ซูฮาร์โต” เป็นประธานาธิบดี แต่หลังจากเกิดกระบวนการประชาชนลุกขึ้นมาขับไล่ซูฮาร์โตออกไปหลังเกิดวิกฤติ 2540 ประเด็นเรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องใหญ่ที่ได้รับการแก้ไขโดยได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศหลายประเทศให้จัดตั้งองค์การใหม่ๆ เพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน แล้วมีข้อสรุปข้อหนึ่งของผู้ที่ไปทำงานเกี่ยวกับองค์การต่อต้านคอร์รัปชันว่า

“ถ้าใช้กระบวนการศาลตามปกติจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในอินโดนีเซียได้ เพราะไม่สามารถจะไว้ใจอัยการได้เลย นี่เป็นข้อสรุปของรายงานในอินโดนีเซียว่าอัยการมีปัญหามาก”

ที่มาภาพ : http://cogitasia.com
ที่มาภาพ : http://cogitasia.com

จากข้อสรุปดังกล่าว จึงได้มีการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมา เรียกว่า “ศาลต่อต้านคอร์รัปชัน” แล้วตั้งหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชัน ชื่อ“เคพีเค” Corruption Eradication Commission (Indonesian: Komisi Pemberantasan Korupsi)

ดร.ผาสุกกล่าวว่า เคพีเคประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันเพราะ หนึ่ง มีสำนักงานอัยการของตัวเองอยู่ภายในองค์กร คือสามารถที่จะดำเนินคดีคอร์รัปชันโดยใช้อัยการของตัว แล้วไปขึ้นศาลพิเศษ และในกระบวนการสืบสวนสอบสวนก็จะคุยกันตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าสืบสวนก็สืบสวนไป เสร็จแล้วก็ส่งให้อัยการไปดำเนินคดี

สอง มีการกำหนดขนาดความร้ายแรงของคดีที่จะพิจารณา ด้วยการกำหนดวงเงิน คือ ตั้งไว้ 2.7 ล้านบาทขึ้นไป แต่กรณีเมืองไทยคิดว่าต้องมากกว่านั้นเยอะ เพราะวงเงิน 2.7 ล้านบาทสำหรับเมืองไทยน้อยมาก ในกรณีวงเงินไม่ถึงก็ให้แต่ละหน่วยงานไปจัดการกันเอง ไปดูแลกันเอง

ทั้งนี้ การที่ตั้งวงเงินเอาไว้ให้สูงกว่า 2.7 ล้านบาท ทำให้เคพีเคเลือกยุทธศาสตร์ดำเนินคดีที่จะพิจารณาต้องเป็นคดีที่ใหญ่ๆ และเกี่ยวโยงกับคนระดับสูง เช่น ส.ส, ส.ว., รัฐมนตรี, ลูกเขยของประธานาธิบดี และผู้พิพากษา

สาม เคพีเคประเมินผลการทำงานโดยดูจากเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการศาลแล้วชนะหรือไม่ คือจะดูว่าสามารถเอาผิดผู้กระทำผิดทุจริตได้หรือไม่ ทำให้เขาต้องเข้มงวดในกระบวนการสืบสวนสอบสวน เพราะเมื่อไปศาลต้องชนะ ซึ่ง ป.ป.ช. ของเราไม่มีการกำหนดแบบนี้

ดร.ผาสุกกล่าวว่า เคพีเคมีพนักงาน 850 คน ตั้งมาแค่ 11 ปี สามารถดำเนินคดีได้ 236 คดี และประสบความสำเร็จทุกคดี และมีคนถูกดำเนินคดี 400 คน ครึ่งหนึ่งเป็นนักการเมือง

“เพราะฉะนั้น หากพูดถึงการปฏิรูปกระบวนการเกี่ยวโยงกับการต่อต้านคอร์รัปชัน และเกี่ยวโยงกับกระบวนการยุติธรรม เราอาจจะไปดูตัวอย่างของอินโดนีเซียมาประกอบ แต่ไม่จำเป็นต้องตามอย่างเขาทั้งหมดก็ได้”

ดร.ผาสุกกล่าวว่า ที่ยกกรณีเคพีเคมามาเป็นตัวอย่างเพราะว่า เมื่อเคพีเคประสบความสำเร็จในการดำเนินคดีทำให้ ส.ส. ผู้พิพากษา ส.ว. ผู้พิพากษา และเอาตำรวจระดับระดับสูงเข้าคุกได้ ก็ได้ใจจากประชาชนและสื่อมวลชน และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันในอินโดนีเซียอย่างกว้างขวาง

เพราะฉะนั้น เวลามีปัญหาเกิดขึ้นกับเคพีเค ซึ่งต้องมีปัญหาแน่ๆ มีกรณีที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเคพีเคไปจับกุมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ร่ำรวยผิดปกติ และดำเนินคดีจนติดคุก ทำให้ตำรวจเข้ามาบุกสำนักงานเคพีเค แต่เคพีเคก็รีบส่งข้อความไปสู่ภาคีที่ร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันทั้งหมดโดยผ่านอีเมล์ และในเวลาไม่นานเท่าไร กลุ่มคนก็กรูมาที่ออฟฟิศนี้ และห้อมล้อมตำรวจ จนในที่สุดตำรวจต้องล่าถอยออกไป

และหนึ่งปีต่อมา คณะกรรมการของเคพีเค 2 คน ถูกอัยการกับตำรวจระดับสูงร่วมมือกันสร้างข้อมูลเท็จปรักปรำคณะกรรมการของเคพีเคว่าทุจริต แต่เคพีเคไม่ย่อท้อแจ้งความดำเนินการสืบสวนสอบสวนอัยการกับตำรวจ 2 คนนั้นจนพบว่ามีการทำเอกสารเป็นเท็จ และก็จับเข้าคุกไป

ทังหลายทั้งปวงนี้เกิดขึ้นได้เพราะประธานาธิบดี “ยูโดโยโน” ให้การสนับสนุนเคพีเค คือไม่ออกมาแทรกแซง แม้ว่าลูกเขยที่แต่งงานกับลูกสาว ทั้งยั้งเป็นลูกของนักการเมืองที่สำคัญ ถูกจับเข้าคุกด้วยข้อหาคอร์รัปชัน แต่ประธานาธิบดีก็ไม่ได้ดำเนินการช่วยใดๆ ทั้งนี้ ยูโดโยโนให้การสนับสนุนเคพีเคเพราะเห็นว่าประชาชนและสื่อมวลชนสนับสนุนเคพีเค

อีกกรณีหนึ่งคือ คณะกรรมการของเคพีเคคนหนึ่งเป็นอดีตตำรวจ ก็ถูกดำเนินคดีว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมผู้พิพากษา และในที่สุดตำรวจผู้นี้ถูกดำเนินคดีและถูกจับเข้าคุกไป

“ที่เล่าให้ฟังเพื่อที่จะบอกว่า คอร์รัปชันไม่ใช่เอกลักษณ์ของสังคมไทย และเอกลักษณ์แบบพรรคพวก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่อินโดนีเซียในสมัยซูฮาร์โตอย่างมโหฬารมากกว่าเรา”

ที่มาภาพ : http://gdb.voanews.com
ที่มาภาพ : http://gdb.voanews.com

ดร.ผาสุกกล่าวว่า การมีองค์การต่อตานคอร์รัปชันที่ออกแบบเพื่อให้จัดการกับปัญหากระบวนการยุติธรรมแบบของประเทศอินโดนีเซียได้ ก็สามารถทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน และดัชนีความโปร่งใสของอินโดนีเซียช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้คะแนนดีขึ้น และอยู่ในระดับดีขึ้นด้วย เนื่องจากว่า คนที่คอร์รัปชันถูกจับและถูกลงโทษจริง

เพราะฉะนั้น คิดว่า ถ้า ป.ป.ช. เลิกกล้าๆ กลัวๆ และมีอำนาจอยู่ในมือแล้วสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ขึ้นมาโดยโฟกัสไปที่เรื่องใหญ่ๆ เพื่อที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับองค์กรของตัวเอง และสร้างแรงสนับสนุนด้วยในกรณีเกิดปัญหา เช่น ตำรวจมาบุก หรือผู้มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซง ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน และสื่อมวลชน

“ที่เล่ามาทำให้เห็นว่า ถ้าอินโดนีเซียแก้ไขได้ เมืองไทยก็น่าจะแก้ไขได้ แต่เราจะต้องให้แน่ใจว่า กระบวนการยุติธรรมของเราต้องได้รับการปฏิรูปด้วย และอยากให้เรื่องนี้เป็นวาระหนึ่งในการปฏิรูปเมืองไทย” ดร.ผาสุกกล่าว