ThaiPublica > เกาะกระแส > ประสบการณ์จากค่ายอาสาพาน้องทำหนัง “เหมืองแร่เมืองเลย”

ประสบการณ์จากค่ายอาสาพาน้องทำหนัง “เหมืองแร่เมืองเลย”

29 มกราคม 2014


ตั้งแต่เหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2549 ที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ก็พบว่า 6 หมู่บ้านรอบเหมืองได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและตรวจพบสารพิษในเลือดของคนทั้ง 6 หมู่บ้าน เช่น ไซยาไนด์ ปรอท ฯลฯ ต่อมาวันที่ 26-27 ตุลาคม 2555 สันเขื่อนของบ่อเก็บกักแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทรุดตัวและพังทลายลง ทำให้ไซยาไนด์และกากแร่ไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและที่นาของชาวบ้าน รวมถึงกรณีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) เพื่อขยายการทำเหมืองทองไปยังภูเหล็ก ที่กีดกันไม่ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วม จนทำให้ชาวบ้านรวม 322 คน ยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนใบประทานบัตรของบริษัททุ่งคำ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556

ป้ายบอกทางไปเหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัดถูกพ่นด้วยสีดำ โดยสังเกตพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556
ป้ายบอกทางไปเหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ถูกพ่นด้วยสีดำ โดยสังเกตพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556
ป้ายบอกทางไปเหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัดถูกพ่นด้วยสีดำ โดยสังเกตพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556
ป้ายบอกทางไปเหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัดถูกพ่นด้วยสีดำ โดยสังเกตพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังสร้างกำแพงถึง 3 ครั้ง เพื่อกั้นไม่ให้เหมืองทองคำขนส่งแร่ได้ โดยกำแพงแรกถูกทำลายเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2556 และกำแพงที่ 2 ถูกทำลายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2556 และปัจจุบันยังมีฝ่ายที่พยายามทำลายกำแพงของชาวบ้านนี้อยู่

จากปัญหาของชาวบ้านวังสะพุงทั้ง 6 หมู่บ้านรอบเหมือง ได้แก่ หมู่บ้านนาหนองบง, บ้านกกสะท้อน, บ้านภูทับฟ้า, บ้านห้วยผุก, บ้านโนนผาพุงพัฒนา และบ้านแก่งหิน ได้รับ ทำให้เกิดการรวมตัวกันของอาสาสมัครจากหลายกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือด้านการให้ข้อมูลและเผยแพร่ข่าวสารของชาวบ้านสู่สาธารณะ โดยทำเพจเฟซบุ๊ก “เหมืองแร่เมืองเลย” และเว็บไซต์ “เหมืองแร่เมืองเลย” ขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา และเมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมาทางกลุ่มได้จัดกิจกรรม “ค่ายอาสาพาน้องทำหนัง: เหมืองแร่เมืองเลย” ระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคม 2556 เพื่อชักชวนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมเข้าค่ายผลิตสื่อภาพยนตร์ ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้การสื่อสารต่อสาธารณะกว้างมากขึ้น

กิจกรรมการเข้าค่ายทั้ง 4 วัน เริ่มต้นครึ่งวันแรกด้วยการทำความรู้จักกันและการบรรยายเพื่อให้รู้พื้นฐานของเหมืองทองคำกับปัญหาและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ ส่วนอีกครึ่งวันหลังและวันที่ 6 เป็นการลงพื้นที่จริง และวันที่ 7 จึงตัดต่อเรียงภาพสร้างเป็นภาพยนตร์เพื่อฉายตอนค่ำวันนั้นโดยมีชื่องานว่า “หนังกลางแปลงบนกำแพงแห่งชีวิต” ณ กำแพงที่ชาวบ้านสร้างขึ้น ส่วนวันสุดท้ายเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันของทุกคนในค่าย

กำแพงที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ด้วยการระดมทุนกันภายในชุมชนประมาณ 4-5 หมื่นบาท เพื่อขวางถนนทางไปเหมืองทองคำ
กำแพงที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ด้วยการระดมทุนกันภายในชุมชนประมาณ 4-5 หมื่นบาท เพื่อขวางถนนทางไปเหมืองทองคำ

อะไรคือ แรงบันดาลใจ สิ่งที่ได้รับ และก้าวต่อไปในการเผยแพร่เรื่องราวของ 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำที่วังสะพุงของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งมาเข้าร่วม “ค่ายอาสาพาน้องทำหนัง: เหมืองแร่เมืองเลย” ในครั้งนี้

นายปริญญ์ วงษ์วิไลวาริทธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการจัดการ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตัวแทนกลุ่ม Try Film บอกว่า มาเข้าค่ายนี้เพราะเห็นความลำบากของชาวบ้านแล้วอยากมาช่วยเหลือ โดยทราบเรื่องมาจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็ไปถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนหลายๆ คนที่เป็นคนจังหวัดเลย ซึ่งเพื่อนเล่าว่าชาวบ้านต้องสร้างกำแพงปิดหมู่บ้าน และเกิดเหตุการณ์ที่ตำรวจทำลายกำแพงที่ชาวบ้านสร้างขึ้น ก็รู้สึกว่าหมู่บ้านนี้น่าสนใจ จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนมาเข้าค่าย

“หลังจากลงพื้นที่และได้รับรู้ข้อมูลต่างๆ แล้วทางกลุ่มจึงตัดสินใจทำภาพยนตร์สารคดีความยาว 10 นาที ที่แสดงมุมมองและทัศนคติของชาวบ้านหลายๆ คนที่มีต่อเหมือง ซึ่งหลังจากนี้ก็จะแก้ไขและเพิ่มเติมบางส่วนแล้วเผยแพร่ผ่านทางยูทูบต่อไป แต่กระแสตอบรับของชาวบ้านจากการฉายหนังเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมนั้นคือ ชาวบ้านมองเราเป็นกระบอกเสียงของเขา มองว่าเราคือคนที่จะช่วยเหลือเขาให้ไม่มีเหมืองอีกต่อไป ส่วนชาวบ้านเอง ผมคิดว่าพอเขาดูหนังที่ฉายเขารู้สึกสลดใจที่ไม่มีใครช่วยเหลือพวกเขาได้จริง”

กิจกรรมสันทนาการในค่ายอาสาพาน้องทำหนัง : เหมืองแร่เมืองเลยระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคม 2556
กิจกรรมสันทนาการในค่ายอาสาพาน้องทำหนัง: เหมืองแร่เมืองเลย ระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคม 2556

ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านเขาจึงเห็นพวกเราเป็นกระบอกเสียง ความหวัง และทางเลือกของพวกเขา เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมาสะท้อนชัดเจนว่า “ความยุติธรรม” ไม่มีอยู่จริง ไม่มีใครที่ช่วยเขาได้ เพราะข้าราชการและบุคคลที่มีอำนาจในพื้นที่ไม่ได้ช่วยเหลือเขา ใครที่มีเงิน มีอำนาจมากกว่า ก็จะสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้มากกว่า แม้ว่าจะมีคนภายนอกมาช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มที่และชาวบ้านรวมตัวกันเข้มแข็งแค่ไหนก็ตาม

นางสาวญาณิศา แซ่ฮ้อ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตัวแทนกลุ่มหงายเงิบ กล่าวว่า ด้วยความที่เป็นนักศึกษานิเทศศาสตร์ จึงมีโครงการด้านสื่อสารมวลชนเข้ามาให้ทดลองทำเรื่อยๆ ซึ่งโครงการนี้อาจารย์ในคณะเป็นคนแนะนำและชักชวนให้นักศึกษาไปสมัคร แต่เหตุผลที่มาสมัครค่ายนี้จริงๆ แล้วไม่ได้สนใจเพราะ “เหมืองทองคำที่วังสะพุง” แต่เป็นเพราะปกติสนใจและทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และมีประสบการณ์การผลิตสื่อภาพยนตร์มาบ้าง จึงตัดสินใจมาเข้าค่าย โดยคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้เรื่องของสิ่งแวดล้อมและการทำภาพยนตร์เพิ่มเติมด้วย

ด่านชุมชนที่ชาวบ้านผลัดเปลี่ยนเวรยามกันมาเฝ้า
ด่านชุมชนที่ชาวบ้านผลัดเปลี่ยนเวรยามกันมาเฝ้า

จากการลงพื้นที่หาข้อมูลทั้ง 2 วัน สิ่งที่สนใจมากที่สุดและหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นสร้างภาพยนตร์คือ ด่านชุมชนทั้ง 3 ด่านที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องและคัดกรองบุคคลเข้าสู่หมู่บ้าน ซึ่งแนวคิดนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากคืนแรกที่เราถึงหมู่บ้านด้วย เนื่องจากทางกลุ่มถึงหมู่บ้านนาหนองบงตอนดึกของวันที่ 4 ธันวาคม แล้วพบว่ามียามเฝ้าอยู่ที่ด่าน และมีด่านถึง 3 ด่าน ก็รู้สึกว่าต้องมีเรื่องผิดปกติเกิดขึ้นกับหมู่บ้านนี้แน่ๆ แล้วก็ศึกษาหาคำตอบถึงความผิดปกตินี้

จนเป็นที่มาของภาพยนตร์สารคดีสั้นเรื่อง “บ้านฉันมีด่าน” ซึ่งสะท้อนชีวิตของชาวบ้านที่ต้องผลัดเปลี่ยนกันมาเป็นยาม ซึ่งผู้ชายเกือบทั้งหมดของหมู่บ้านต้องมาทำหน้าที่นี้ โดยเล่าเรื่องผ่านวิถีชีวิตผ่านชายหนุ่มคนหนึ่งที่ประกอบอาชีพกรีดยาง ทำกิจวัตรประจำวันไม่ต่างจากเกษตรกรที่อื่น แต่เขากลับมีหน้าที่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือ การอยู่ยามเฝ้าด่าน กินนอนอยู่ที่นั่นแทนบ้านของตัวเอง

สำหรับหนังฉบับที่ฉายในหมู่บ้าน ทางกลุ่มยังรู้สึกว่าทำงานได้แค่ร้อยละ 50 เท่านั้น ยังไม่เต็มที่ การดำเนินเรื่องยังธรรมดาและสะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้านได้ไม่ครบ เพราะจริงๆ แล้วชาวบ้านมีอาชีพอื่นๆ ทั้งปลูกพืชสวนพืชไร่ ขายลอตเตอรี ฯลฯ แต่ในเรื่องพูดถึงแค่อาชีพกรีดยางพาราเท่านั้น แต่ในส่วนของชาวบ้านก็ดูหนังของเราอย่างตั้งใจ พวกเขาคงดีใจที่เราเข้ามาช่วยพัฒนาหมู่บ้านเขา เข้ามาช่วยเหลือเขาในการสะท้อนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเขาไปสู่คนภายนอกผ่านภาพยนตร์สั้นที่สร้างขึ้นมา และคิดว่าเขาคงภูมิใจที่มีคนภายนอกอย่างเราเข้าไปช่วยเหลือ อย่างที่ยายคนหนึ่งพูดกับเราว่า “อยากให้มีคนเข้ามาในหมู่บ้านแล้วช่วยทำหนังแบบนี้บ่อยๆ”

น้ำดื่มและน้ำใช้ที่ชาวบ้านต้องซื้อในปัจจุบัน หลังจากที่บ่อน้ำขุดไม่สามารถดื่ม-ใช้ได้อีกต่อไป
น้ำดื่มและน้ำใช้ที่ชาวบ้านต้องซื้อในปัจจุบัน หลังจากที่บ่อน้ำขุดไม่สามารถดื่ม-ใช้ได้อีกต่อไป

จากประสบการณ์การลงพื้นที่ครั้งนี้ เราได้สร้างหนังขึ้นมาหนึ่งเรื่องและฉายให้ชาวบ้านดู แต่หลังจากนี้เราจะนำไปตัดต่อใหม่ ใส่คอมพิวเตอร์กราฟฟิกและองค์ประกอบอื่นๆ ของหนังให้สมบูรณ์ แล้วเผยแพร่ต่อผ่านยูทูบ ทั้งนี้ อาจารย์ที่คณะก็ขอหนังเรื่องนี้ไปดูด้วย ส่วนหนังฉบับที่ฉายในหมู่บ้านชาวบ้านก็ขอเอาไว้เพื่อฉายในเทศกาลต่างๆ ของชุมชน

นายธนพล เฟือยคำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนศรีสงครามวิทยา อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ตัวแทนกลุ่มอินทนิล เล่าว่า แม้ว่าจะเป็นคนอำเภอวังสะพุง แต่ผมกลับไม่ค่อยทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านทั้ง 6 รอบๆ เหมืองทองคำเลย อาจเป็นเพราะว่าอยู่นอก 6 หมู่บ้านนี้ จนกระทั่ง 2-3 ปีที่แล้วถึงได้พอทราบจากข่าวที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ว่าอำเภอวังสะพุงมีปัญหาเรื่องเหมืองแร่ทองคำ แต่ก็ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าที่ข่าวบอก

กระทั่งวันหนึ่ง อาจารย์ที่โรงเรียนมาบอกว่ามีค่ายทำหนังเกี่ยวกับเรื่องเหมืองทองคำที่วังสะพุงของเรา ผมและเพื่อนๆ ก็สนใจสมัครทันที เพราะเป็นคนชอบทำงานกิจกรรม รวมถึงมีทักษะและประสบการณ์การทำหนังมาบ้าง ซึ่งในทีมก็มีเพื่อนที่อยู่ในหมู่บ้านนาหนองบงถึง 3 คนด้วย

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการ  ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ บรรยายข้อมูลเบื้องต้นเรื่องเหมืองแร่เมืองเลยให้ผู้เข้าค่ายฟัง
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ บรรยายข้อมูลเบื้องต้นเรื่องเหมืองแร่เมืองเลยให้ผู้เข้าค่ายฟัง

เมื่อได้ลงพื้นที่จริง ทำให้ได้เห็น ได้สัมผัส และรู้ปัญหาต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่เกิดขึ้นของชุมชนแห่งนี้ ซึ่งมันมากกว่าที่ข่าวบอกเสียอีก เมื่อเรารู้ผลกระทบและปัญหาที่แท้จริงแล้วก็มีความรู้สึกว่าอยากช่วยเหลือชาวบ้าน ดังนั้น ผลงานภาพยนตร์ที่ผลิตขึ้นจึงเป็นสารคดีที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่แท้จริงที่ชาวบ้านได้รับ โดยไล่เรียงเรื่องราวชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่ก่อนมีเหมืองว่าเป็นอย่างไร และเมื่อมีเหมืองจนกระทั่งถึงปัจจุบันชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง โดยเล่าเรื่องราวชีวิตของชาวบ้านคนหนึ่งที่ปัจจุบันกำลังเจ็บป่วยอยู่ ดำเนินเรื่องสลับไปมาระหว่างการสัมภาษณ์ ภาพวิถีชีวิตประกอบเสียงบรรยาย

“ในตอนที่หนังฉายครั้งแรกที่หมู่บ้าน ผมรู้สึกได้ว่าชาวบ้านเขารู้สึกเศร้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเพราะภาพและดนตรีของเรื่องที่พาไป แต่ชาวบ้านก็ดีใจที่เด็กรุ่นใหม่ๆ อย่างผมมารับรู้ความทุกข์ของพวกเขาและช่วยบรรเทามันให้จางลง เพราะชาวบ้านต้องการให้มีคนมาช่วยเผยแพร่เรื่องราวของเขาออกไปให้คนภายนอกรับรู้มากๆ”

และกล่าวอีกว่า”ถึงผมจะไม่ใช่คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ แต่การได้ช่วยเผยแพร่เรื่องราวของคนที่นี่ก็เหมือนกับเป็นการเติมเต็มความหวังให้ชาวบ้าน เพราะอย่างน้อยคนในพื้นที่ใกล้เคียง คนอำเภอเดียวกันก็มาช่วยเหลือกัน ผมเชื่อว่าความต้องการลึกๆ ของชาวบ้านก็คือ การช่วยเหลือของคนในพื้นที่เดียวกันนั่นเอง เพราะแม้แต่ข้าราชการท้องถิ่น หรือมหาวิทยาลัยในจังหวัด ยังไม่ได้มาช่วยเหลือชาวบ้านที่นี่เลย ดังนั้น เมื่อมีคนในพื้นที่มาช่วยกัน ความหวังของชาวบ้านก็มีมากขึ้น”

นักศึกษากำลังถ่ายวิดีโอเพื่อทำภาพยนตร์
นักศึกษากำลังถ่ายวิดีโอเพื่อทำภาพยนตร์

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ทันทีที่แก้ไขเสร็จแล้วก็จะเผยแพร่ผ่านยูทูบ และสื่อออนไลน์ต่างๆ ต่อไป

ผมอยากฝากบอกถึงคนนอกพื้นที่ว่า อยากให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านที่วังสะพุงแห่งนี้เป็นต้นแบบการต่อสู้ของชาวบ้านและความสามัคคีในชุมชนเพื่อทัดทานกับเหมืองทองคำ เพราะผมไม่อยากให้มีเหมืองทองคำแบบนี้ที่ไหนอีก ผลกระทบนี้เริ่มต้นจากความไม่รู้ของชาวบ้าน พอผู้ประกอบการเหมืองมาบอกว่าถ้าเห็นด้วยกับการทำเหมืองทองคำแล้วจะมีแต่เรื่องดีๆ สู่หมู่บ้าน โดยจะสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ ให้ แต่ความจริงคือจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นสิ่งก่อสร้างใดที่เหมืองสร้างให้ชุมชนเลย

แม่ๆ หรือแม่บ้านของแต่ละครอบครัวช่วยกันทำอาหารเลี้ยงชาวค่ายทั้ง 3 มื้อ ตลอด 4 วัน
แม่ๆ หรือแม่บ้านของแต่ละครอบครัวช่วยกันทำอาหารเลี้ยงชาวค่ายทั้ง 3 มื้อ ตลอด 4 วัน

นางสาวณัฐชลี สิงสาวแห นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสังคมศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนกลุ่ม “บิ๋ม” เล่าว่า ทันทีที่เห็นโครงการนี้ก็ชักชวนเพื่อนๆ มารวมกลุ่มกันแล้วสมัครเข้าค่ายเลย เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยฝึกงานอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จึงมีทักษะด้านการตัดต่อและการทำสื่ออยู่บ้าง แล้วมีโอกาสได้รู้จักเพจเฟซบุ๊ก “เหมืองแร่เหมืองเลย” และติดตามข่าวนี้มาโดยตลอด อีกทั้งโดยส่วนตัวชอบทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย

ก่อนที่จะลงพื้นที่เราก็มีชุดความคิดเกี่ยวกับ 6 หมู่บ้านรอบเหมืองไว้แล้ว และเมื่อลงพื้นที่จริงๆ สิ่งที่ได้เห็นได้รับรู้ก็ไม่ต่างกับที่เราคิดและรู้มาก่อนหน้านี้มากนัก เพียงแต่เรารู้มากขึ้น ละเอียดมากขึ้น และรู้ลึกกว่าเดิมมาก จากข้อมูลในแหล่งต่างๆ ที่ติดตามมาก่อนหน้านี้ และการได้เห็นสภาพพื้นที่จริงประกอบกับการพูดคุยกับชาวบ้านก็ช่วยให้เรารู้ถึงบริบทของเรื่องราวต่างๆ ชัดเจนขึ้นด้วยว่า มีปัญหาเรื่องชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปด้วยนอกเหนือสภาพปัญหาของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

น้ำสีแดงสนิมในป่าเก็บกินของชาวบ้านบริเวณลำห้วยเหล็ก ซึ่งอยู่ติดกันบ่อกักเก็บกากแร่ จากเดิมที่เคยใสสะอาดเป็นแหล่งอาหารของชุมชน
น้ำสีแดงสนิมในป่าเก็บกินของชาวบ้านบริเวณลำห้วยเหล็ก ซึ่งอยู่ติดกับบ่อกักเก็บกากแร่ จากเดิมที่เคยใสสะอาดเป็นแหล่งอาหารของชุมชน

ขณะอยู่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า “อยากให้เราช่วยเป็นกระบอกเสียงให้พวกเขาหน่อย” ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้เราก็ตั้งใจที่จะเป็นกระบอกเสียงและเป็นสื่อที่เผยแพร่เรื่องในชุมชนนี้ออกสู่สาธารณะอยู่แล้ว ซึ่งช่องทางหนึ่งที่เราทำได้ก็คือ ส่งออกอากาศทางไทยพีบีเอส เนื่องจากเราเป็นนักข่าวพลเมืองของที่นี่

ความทุกข์ที่สุดของชาวบ้านก็คือ “เหมืองทองคำยังอยู่” ฉะนั้น การขจัดทุกข์นี้ของชาวบ้านก็คือ “หยุดการทำเหมืองให้ได้” ซึ่ง ณ ตอนนี้เราในฐานะนักศึกษาคนหนึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มทำได้อย่างไร แต่เป้าหมายแรกของเราในตอนนี้ก็คือช่วยชาวบ้านไม่ให้ได้รับผลกระทบจากเหมือง ดังนั้นจึงเป็นที่มาของภาพยนตร์ในธีม “สารพิษมาจากไหน” โดยดำเนินเรื่องราวจากปัจจุบันย้อนไปถึงอดีต จากปัจจุบันที่ชาวบ้านป่วยย้อนกลับไปยังตอนที่เริ่มมีเหมืองทองคำ เพื่อชวนให้คนดูคิดว่าสาเหตุของปัญหาเกิดจากอะไร และสร้างความรู้สึกเสมือนว่าคนดูคือชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่แค่ผู้ชมคนหนึ่งที่รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนในชุมชนนี้

หลังจากฉายหนังก็ได้รับเสียงตอบรับจากชาวบ้านดีมาก ชาวบ้านชอบหนังของเราและรู้สึกขอบคุณที่นักศึกษาคนหนึ่งอย่างเราสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เนื่องจากหนังแบบนี้ไม่ได้สร้างกันง่ายๆ มันต้องมาเรียนรู้ มาศึกษาพื้นที่ เพื่อให้มีข้อมูลมากในระดับหนึ่งก่อนจะทำหนัง สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้“หลังเหมือง” หลังจากที่แก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นอีกครั้ง ก็จะเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น ยูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ รวมถึงบอกต่อยังเพื่อนๆ ด้วย

ชาวบ้านพาน้องๆ ชาวค่ายไปดูพื้นที่เหมืองแร่และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
ชาวบ้านพาน้องๆ ชาวค่ายไปดูพื้นที่เหมืองแร่และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

นายณัฐปคัลภ์ เข็มขาว นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนกลุ่ม “เต่าคลานฟิล์ม” กล่าวว่า ตอนอยู่ปี 1 เคยทำภาพยนตร์สิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เรื่อง “สี่แยกวังเพลิง” ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวการขายแผ่นซีดีเถื่อน ในเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 17 ของมูลนิธิหนังไทย ซึ่งทีมของตนได้รับรางวัลรองชนะเลิศ และต่อมาก็ได้รับรางวัลเอสซีจีอีกด้วย

จากทุนเดิมที่ชอบทำหนังเกี่ยวกับประเด็นสังคม และผลตอบรับที่ดีด้านการสร้างภาพยนตร์ของทีม ทำให้อยากที่จะสร้างผลงานภาพยนตร์แนวนี้ต่อไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็มีรุ่นพี่ในแวดวงภาพยนตร์ส่งโครงการนี้ให้ดู จึงสนใจและชวนเพื่อนๆ ทีมเดิมสมัครเข้าค่ายนี้ ซึ่งพวกเรามาลงพื้นที่ด้วยข้อมูลที่ทราบจากข่าวเพียงคร่าวๆ เท่านั้น ไม่รู้รายละเอียดอะไร และถ้าไม่เห็นโครงการนี้ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศไทยมีเหมืองทองคำ

สำหรับเด็กๆ ชุมชน กลุ่มพี่ค่ายที่เป็นอาสาสมัครก็มีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องเหมืองแร่เมืองเลยและกิจกรรมสร้างสรรค์ในขณะที่กลุ่มนักศึกษาน้องค่ายทำกิจกรรมอื่นๆ ในแต่ละวัน
สำหรับเด็กๆ ชุมชน กลุ่มพี่ค่ายที่เป็นอาสาสมัครก็มีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องเหมืองแร่เมืองเลยและกิจกรรมสร้างสรรค์ในขณะที่กลุ่มนักศึกษาน้องค่ายทำกิจกรรมอื่นๆ ในแต่ละวัน

DSC_0941

“ความตั้งใจแรกที่สมัครเข้าค่ายนี้คือ อยากทำหนังสักเรื่องให้ชาวบ้านดู เอากลับมาตัดต่อใหม่ให้ดีขึ้น อัพโหลดขึ้นยูทูบ แล้วเผยแพร่ต่อๆ กันไป แต่พอได้ลงพื้นที่จริงๆ แล้วก็รู้สึกว่า โห มันมีข้อมูลเยอะมากๆ ที่น่าสนใจ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทางทีมต้องการจะบอกต่อ ซึ่งเราไม่สามารถทำได้ในหนังสั้นฉบับที่จะฉายในชุมชน ดังนั้นเราจึงอึดอัดมากที่ใส่รายละเอียดและประเด็นได้น้อย เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเวลาในการตัดต่อ แต่ ณ ปัจจุบันเราวางแผนไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะทำเป็นหนังยาวประมาณ 60 นาที ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการหาทุนสร้าง”

สำหรับหนังสั้น “ภูซำป่าบอน” ความยาวประมาณ 13 นาที ที่ฉายในหมู่บ้านนั้น ถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างเหมืองแร่ทองคำกับผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับทั้งด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ ผ่านชีวิตของลุงสุวัด จุตโนที่ขาทั้งสองข้างลีบลงเรื่อยๆ และชาจนไร้ความรู้สึก ซึ่งปัจจุบันเดินไม่ได้แล้ว ชาวบ้านคาดการณ์กันว่าอาจเป็นเพราะสารพิษจากเหมืองที่ไหลลงสู่นาข้าวจนทำให้ผลผลิตตกต่ำมาก ซึ่งลุงสุวัดกินข้าว จับปลาในนานั้นมาโดยตลอด โดยใช้นักแสดงหนุ่มที่เป็นที่รู้จักของคนในหมู่บ้านมาแสดงนำแทน

นาข้าวของลุงสุวัด จุตโน
นาข้าวของลุงสุวัด จุตโน

หนังของทีมนี้เป็นหนังเรื่องเดียวที่ชาวบ้านดูแล้วขำ ไม่ใช่เพราะว่าเนื้อเรื่องตลก แต่เป็นเพราะชาวบ้านรู้สึกขำเวลาที่เห็นคนรู้จักอยู่ในหนัง ทั้งๆ ที่เนื้อหาเป็นแนวดราม่าแสดงความทุกข์ยากของพวกเขา

“สำหรับผลตอบรับเช่นนี้ เพื่อนๆ ในทีมของผมต่างรู้สึกผิดหวัง เพราะเรื่องเศร้าที่เขาสะท้อนออกมากลับกลายเป็นว่าชาวบ้านหัวเราะแทน แต่สำหรับผมไม่คิดเช่นนั้น ผมกลับไม่ผิดหวังเลย เพราะหนังเรื่องนี้สร้างโอกาสให้ชาวบ้านได้หัวเราะในช่วงเวลาที่พวกเขากำลังเป็นทุกข์อยู่ ผมกล้าพูดเลยว่าในคืนที่ฉายหนังเป็นวันที่ผมดีใจและมีความสุขมากที่สุด มากกว่าตอนที่ผมได้รับรางวัลเสียอีก”

และกล่าวเสริมอีกว่า”ท่ามกลางเสียหัวเราะของชาวบ้าน ผมก็ถาม “แม่” เจ้าของบ้านที่ผมนอนพักว่าดูหนังเข้าใจไหม แม่ก็บอกว่าเข้าใจ ดูรู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในชุมชนนี้ ซึ่งผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะความทุกข์ดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขา แต่ถ้าฉายหนังเรื่องนี้กับคนนอกพื้นที่ คนดูก็คงจะรู้สึกสะเทือนใจเมื่อรับรู้ว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบใดบ้างจากเหมืองตามที่ทีมผมตั้งใจไว้”

ลุงสุวัด จุตโน เจ้าของที่นาที่ผลผลิตตกต่ำลงจากเกี่ยวข้าวได้ 30 กระสอบป่านเหลือ 9 กระสอบป่านในปีล่าสุด และขาลีบ ชา จนไร้ความรู้สึกและไม่สามารถเดินได้มา 3 ปีแล้ว
ลุงสุวัด จุตโน เจ้าของที่นาที่ผลผลิตตกต่ำลง จากที่เคยเกี่ยวข้าวได้ 30 กระสอบป่าน กลับเหลือ 9 กระสอบป่านในปีล่าสุด และขาลีบ ชา จนไร้ความรู้สึกและไม่สามารถเดินได้มา 3 ปีแล้ว

“การทำหนังครั้งนี้เป็นครั้งที่พิเศษมากสำหรับทีมผม เพราะเราได้สร้างหนังในพื้นที่ที่เกิดปัญหาจริงๆ ดังนั้น เมื่อเราเป็นคนภายนอกที่ได้มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ หนังที่สร้างขึ้นจึงเป็นการเอาเรื่องราวของชาวบ้านและความเป็นชาวบ้านมาใส่ในภาพยนตร์ อีกเรื่องที่ประทับใจคือการต่อสู้ของชาวบ้านที่ทุกคนต่างสู้สุดใจ รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนที่เข้มแข็ง มีการวางแผนและพัฒนาความรู้ภายในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย ซึ่งบางทีอาจจะมีความรู้มากกว่าคนที่เรียนปริญญาตรีอย่างผมเสียอีก”

นายณัฐปคัลภ์กล่าวว่าในวันนี้ “เหมืองทองคำ” คือสิ่งที่ตนเกลียดมากอันดับที่ 2 รองจาก “ข้าวโพด” ที่จังหวัดน่านบ้านเกิดของเขาได้รับผลกระทบ เพราะถึงแม้ทองคำจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกฐานะ แต่กว่าที่จะได้ทองคำนั้นกลับสร้างความเสียหาย สร้างปัญหามหาศาลให้กับชุมชนโดยรอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมกับชาวบ้านที่เขาไม่รู้อิโน่อิเหน่อะไรด้วยเลย

ทั้งนี้ตนจะเอาข้อมูลเรื่องการถลุงแร่ทองคำไปเผยแพร่ต่อเพื่อนๆ ที่มหาวิทยาลัย โดยเริ่มจากเพื่อนๆ กลุ่มนักเรียนทุนเรียนฟรีของมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการ “84 พรรษามหาราชา ปี 2555” ในฐานะที่ตนเป็นหัวหน้าของกลุ่มดังกล่าว