ThaiPublica > เกาะกระแส > “โต้ง” สั่งสำนักบริหารหนี้กู้เงิน 1.3 แสนล้านบาทเพื่อชาวนา ไม่หวั่นขัดรัฐธรรมนูญ

“โต้ง” สั่งสำนักบริหารหนี้กู้เงิน 1.3 แสนล้านบาทเพื่อชาวนา ไม่หวั่นขัดรัฐธรรมนูญ

29 มกราคม 2014


นายกิตติรัตน์  ณ ระนอง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

หลังจากที่ชาวนาหลายจังหวัดรวมตัวกันประท้วงรัฐบาล เนื่องจากไม่ได้รับเงินจากการจำนำข้าวมาเป็นเวลาหลายเดือน พร้อมขู่ยกระดับการประท้วง ทำให้รัฐบาลต้องดิ้นสุดซอยเงิน 1.3 แสนล้านบาท แม้หลายฝ่ายจะท้วงติงว่าอาจจะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวการคลังและรองนายกรัฐมนตรี ลงนามในบันทึกพิเศษเป็นลายลักษณ์อักษร ยืนยันว่ารัฐบาลให้กระทรวงการคลังดำเนินการจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท โดยให้เหตุผลดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลรักษาการยังเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะสั่งการให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.

2. เลขาธิการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยชัดเจนว่า การดำเนินการค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ครั้งนี้ไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) เพราะเป็นการดำเนินการลดภาระหนี้สินของรัฐบาล กรณีที่รัฐบาลออกใบประทวนให้ชาวนาก่อหนี้ผูกพันตั้งแต่ก่อนยุบสภา ดังนั้น รัฐบาลต้องชดใช้หนี้ให้ชาวนา ถือเป็นการดำเนินนโยบายต่อเนื่องและไม่ได้สร้างภาระให้กับรัฐบาลชุดต่อไป

3. รัฐบาลโดยรักษาการรัฐมนตรีว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหนังสือสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร ยืนยันว่ากระทรวงการคลังจะดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท สำหรับข้าวเปลือกนาปี ปี 2556/57 และ มติ ครม. วันที่ 7 มกราคม 2557 ปรับแผนการบริหารหนี้ โดยสั่งการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท

ร่อนจดหมายชวนแบงก์ปล่อยกู้ ธ.ก.ส. ดีเดย์ลงนามเงินกู้ลอตแรก 8 ก.พ. 57

ในวันเดียวกันนั้นเอง นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้ากลุ่มด้านรายจ่ายและหนี้สิน จึงทำจดหมายถึงสถาบันการเงิน 35 แห่ง เชิญชวนให้มายื่นข้อเสนอเงินกู้ต่อกระทรวงการคลังภายในวันที่ 30 มกราคม 2557 โดยกระทรวงการคลังจะทยอยกู้เงินสัปดาห์ละ 20,000 ล้านบาท ติดต่อกัน 6-7 สัปดาห์ จนครบวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีการลงนามสัญญาเงินกู้ลอตแรก 20,000 ล้านบาท ระหว่างสถาบันการเงินที่ผ่านการคัดเลือกกับ ธ.ก.ส. โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2557

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

ด้านน.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)เปิดเผยว่า คำวินิจฉัยของเลขากฤษฎีกาครั้งนี้ ครอบคลุมถึงแผนการจัดหาเงินกู้, การค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. รวมทั้งกรณีที่รัฐบาลเป็นผู้กู้เงินมาปล่อยกู้ต่อให้กับรัฐวิสาหกิจด้วย การดำเนินการทั้งหมดอยู่ภายใต้กรอบวงเงินตามที่กำหนดในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งผ่านการอนุมัติจาก ครม. ก่อนยุบสภา ไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) ทันทีที่ได้รับหนังสือตอบข้อหารือจากคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างเป็นทางการ สบน. จะเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ต่อกรณีที่มีข้าราชการกระทรวงการคลัง เกรงว่าการดำเนินการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท เป็นการก่อหนี้โครงการรับจำนำข้าวกรอบใหม่ (กรอบเดิมวงเงินรับจำนำข้าวต้องไม่เกิน 5 แสนล้านบาท) อาจจะเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3)

น.ส.จุฬารัตน์กล่าวว่า “ไม่ทราบเหมือนกัน คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานที่คอยให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายแก่รัฐบาล เมื่อรัฐบาลทำหนังสือหารือไปแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยออกมาว่าให้ทำได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หาก สบน. ไม่ทำถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 หรือไม่ ในฐานะที่เป็นข้าราชการ ก็ระวังประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน ตอนนี้ สบน. ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น คงต้องรอจนกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหนังสือแจ้งมาที่ สบน. อย่างเป็นทางการ ถึงจะดำเนินการต่อไป”

วันที่ 20 มกราคม 2557กกปส.บุกออมสินจับมือสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน ต้านปล่อยกู้จำนำข้าวทุกรูปแบบ
วันที่ 20 มกราคม 2557 กปปส. บุกออมสินจับมือสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน ต้านปล่อยกู้จำนำข้าวทุกรูปแบบ

สหภาพออมสินค้านเอาเงินเด็กปล่อยกู้ ธ.ก.ส. ทุกรูปแบบ

หลังจากมีข่าวว่ากระทรวงการคลังจะให้ธนาคารออมสินปล่อยเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. วันที่ 27 มกราคม 2557 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสินออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านไม่ให้ผู้บริหารของธนาคารนำเงินฝากของประชาชนไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลทุกช่องทาง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางออม ทางสหภาพแรงงานธนาคารออมสินจึงขอเชิญชวนสมาชิกทุกคน แต่งชุดดำเข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญ ในวันพุธที่ 29 มกราคม 2557 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมเพชรรัตน์ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ เพื่อแสดงพลังคัดค้านโดยพร้อมเพรียงกัน

ขณะที่ ธ.ก.ส. มีการออกหนังสือเวียนแจ้งไปยังผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการสาขาทั่วประเทศ ว่าธนาคารขอยืนยันจะไม่นำเงินฝากของประชาชนไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ เงินที่จะนำมาจ่ายให้เกษตรกรต้องเป็นเงินที่มาจากการระบายข้าวและเงินที่รัฐบาลเป็นผู้จัดหาให้เท่านั้น ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่ากระทรวงการคลังสามารถดำเนินการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาทได้ โดยจะกู้เงินลอตแรก 20,000 ล้านบาท และจะทยอยกู้ไปจนครบวงเงิน หลังจากที่ ธ.ก.ส. ได้รับเงินกู้จากกระทรวงการคลังรวมกับเงินที่ได้จากการระบายข้าว ธนาคารจะเร่งจ่ายเงินให้เกษตรกรทันที คาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในกลางเดือนมีนาคม 2557 ขอให้ผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการสาขาทำความเข้าใจกับพนักงานให้ทราบโดยทั่วกัน และขอให้ช่วยกันชี้แจงต่อเกษตรกรและลูกค้าเงินฝาก

อนึ่ง กรอบวงเงินกู้ 2.7 แสนล้านบาท ตามมติที่ประชุม ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 นั้นจะมีเอกสารแนบท้ายว่าจะต้องอยู่ในกรอบวงเงินรับจำนำข้าว 5 แสนล้านบาท ซึ่งแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังทำเอกสารแนบท้ายมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยกำหนดให้กรอบวงเงินที่จะใช้ในโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาทตามมติ ครม. วันที่ 13 กันยายน 2554 โดยแหล่งเงินที่จะมาสนับสนุนยังคงใช้กรอบวงเงินเดิม คือกระทรวงการคลังจัดแหล่งเงินกู้สนับสนุนไม่เกิน 410,000 ล้านบาท และใช้สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 90,000 ล้านบาท ไม่มีการขยายกรอบวงเงิน แต่ล่าสุดสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการปรากฏว่าเป็นกรอบวงเงินกู้ใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับวงเงิน 5 แสนล้านบาท