ThaiPublica > เกาะกระแส > 4 ประเทศถกสร้าง “เขื่อนดอนสะโฮง” ในแม่น้ำโขง ไม่มีข้อสรุปว่าขบวนการต้อง “ปรึกษาหารือล่วงหน้า” หรือ “แจ้งให้ทราบ”

4 ประเทศถกสร้าง “เขื่อนดอนสะโฮง” ในแม่น้ำโขง ไม่มีข้อสรุปว่าขบวนการต้อง “ปรึกษาหารือล่วงหน้า” หรือ “แจ้งให้ทราบ”

23 มกราคม 2014


เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2557 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(เอ็มอาร์ซี-MRC) เสนอโครงการเขื่อนดอนสะโฮงเข้าวาระประชุมระดับคณะมนตรี ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกในระดับคณะกรรมการร่วม (joint committee) โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสจากรัฐบาลของสี่ประเทศสมาชิก คือ กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม และสมาชิกอาวุโสจากสำนักงานเลขาธิการเอ็มอาร์ซี

แผนที่เขื่อนทั้ง 13 บนแม่น้ำโขงสายหลัก
แผนที่เขื่อนทั้ง 13 บนแม่น้ำโขงสายหลัก

ข้อสรุปดังกล่าวมีขึ้นหลังจากการประชุมคณะกรรมการร่วมโดยทั้งสี่ประเทศสมาชิก ซึ่งจัดขึ้นเพื่อพูดคุยเรื่องเขื่อนดอนสะโฮงในภาคใต้ของ สปป.ลาวโดยเฉพาะ สืบเนื่องจากในวันที่ 30 กันยายน 2556 รัฐบาล สปป.ลาวได้ดำเนินการในระดับ “แจ้งให้ทราบ” ต่อเอ็มอาร์ซี ว่า สปป.ลาวจะดำเนินการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง จึงได้ทำการแจ้งให้เอ็มอาร์ซีทราบ

ทั้งนี้ ตามกรอบของระเบียบปฏิบัติว่าด้วย “การแจ้งให้ทราบ, การปรึกษาหารือล่วงหน้า, การเห็นชอบ [Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement (PNPCA -พีเอ็นพีซีเอ)]” ในชั้นแรก ความเห็นของประเทศกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ต่างเสนอให้ลาวดำเนินการในระดับ “การปรึกษาหารือล่วงหน้า” เพราะหากเป็นเพียงการ “แจ้งให้ทราบ” ประเทศที่เสนอโครงการจะทำเพียงแค่เสนอข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการให้กับประเทศสมาชิกโดยการแจ้งให้ทราบ แต่หากเป็นระดับของ “การปรึกษาหารือ” จะกำหนดให้ต้องปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการ และการประเมินในทางเทคนิคอื่นๆ จากทั้งสี่ประเทศด้วย

หลังจากการพูดคุยในประเด็นกระบวนการภายใต้กรอบพีเอ็นพีซีเอดังกล่าว ที่ประชุมไม่สามารถมีมติเอกฉันท์ได้ว่าในกรณีเขื่อนดอนสะโฮงนี้ควรใช้กระบวนการ “แจ้งให้ทราบ” หรือกระบวนการ “ปรึกษาหารือล่วงหน้า”

เขื่อนดอนสะโฮงตั้งอยู่ในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสักของ สปป.ลาว บริเวณ “ฮูสะโฮง” ซึ่งเป็นช่องทางน้ำที่มีความยาว 5 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในหลายช่องน้ำในลำน้ำโขงที่ถักทออยู่ด้วยกัน ลักษณะเป็นเกลียวคล้ายเปีย (braided) ในพื้นที่ซึ่งอยู่ทางตอนบนของชายแดนลาว-กัมพูชาประมาณ 2 กิโลเมตร

ในที่ประชุม กัมพูชา ไทย และเวียดนามต่างยืนยันให้โครงการดำเนินการผ่านกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า โดยแต่ละประเทศได้หยิบยกเอาความเป็นห่วงโดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเส้นทางอพยพของปลา เนื่องจากฮูสะโฮงเป็นเส้นทางสำคัญที่ปลาสามารถอพยพผ่านได้ในช่วงฤดูแล้ง แต่ทาง สปป.ลาวชี้แจงว่า ช่องทางน้ำที่อยู่ใกล้กับฮูสะโฮงอีกสองช่องทาง คือฮูสะดำและฮูช้างเผือก สามารถใช้เป็นทางเลือกให้ปลาอพยพได้

นายที นาวุท (Mr. Te Navuth) หัวหน้าคณะผู้แทนจากกัมพูชาเน้นถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นทันทีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจในพื้นที่ตอนล่างของเขื่อนในประเทศกัมพูชา “เราเห็นว่ารายงานของเขื่อนดอนสะโฮงไม่สมบูรณ์ การศึกษาที่ทำไปก็ไม่คำนึงถึงผลกระทบข้ามพรมแดนในประเทศ เช่น ประเทศกัมพูชา ถ้าเส้นทางอพยพปลาที่เสนอมาเป็นทางเลือกไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดี เขื่อนดอนสะโฮงจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการของกัมพูชา”

ทางคณะผู้แทนประเทศไทยเห็นด้วยกับความเห็นของกัมพูชาในประเด็นคำถามเรื่องความเป็นไปได้ที่ปลาจะใช้เส้นทางอพยพอื่น และเสนอให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างประเทศสมาชิกก่อนที่โครงการจะเริ่มขึ้น โดยกล่าวว่า “ทางไทยเสนอให้โครงการมีการปรึกษาหารือกัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยจากกลุ่มที่มีข้อกังวลและระหว่างผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ”

ด้าน ดร.เลอ ดั๊ก จุง (Dr. Le Duc Trung) หัวหน้าคณะผู้แทนเวียดนาม ได้เสนอเรื่องผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเช่นกัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการไหลของน้ำและตะกอนว่า การประมงในเวียดนามจะได้รับผลกระทบมาก เช่น ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหาเส้นทางอื่นเพื่อมาทดแทนเส้นทางการอพยพขึ้นของปลาอย่างที่ฮูสะโฮงทำหน้าที่อยู่ จึงจำเป็นจะต้องมีการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมจากการสูญเสียการประมง

อย่างไรก็ตาม ดร.ดาววง โพนแก้ว (Dr. Daovong Phonekeo) หัวหน้าคณะผู้แทนจาก สปป.ลาว ยังคงยืนยันความเห็นที่แตกต่างโดยกล่าวว่า การดำเนินการในระดับของการแจ้งให้ทราบถือว่าเหมาะสม เพื่อเสนอข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการให้กับประเทศอื่นๆ ทราบ เพราะไม่ใช่โครงการเขื่อนบนลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงและบนแม่น้ำโขงสายหลัก อีกทั้งเขื่อนจะใช้น้ำอย่างชั่วคราวเพียงร้อยละ 15 ของปริมาณการไหลของแม่น้ำโขง เพราะฉะนั้นจึงเกิดผลกระทบไม่มากต่อการไหลของแม่น้ำโขง

“ฮูสะโฮงถือเป็นเส้นทางอพยพของปลาที่สำคัญในช่วงฤดูแล้ง แต่ในความเป็นจริง ยังมีช่องทางน้ำที่เป็นทางปลาผ่านช่วงฤดูฝนอยู่อีก และจากงานวิจัย เห็นว่าสามารถทำการปรับเปลี่ยนช่องทางน้ำอื่นๆ เพื่อทำให้การอพยพของปลาขึ้นลงแม่น้ำโขงดีขึ้นและสามารถใช้ได้ตลอดปี” ดร.ดาววง โพนแก้วกล่าว

พร้อมยืนยันว่าสปป.ลาวได้ทำงานอย่างโปร่งใสมาโดยตลอด และได้ทำสิ่งที่ควรทำตามเงื่อนไขข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538

ทั้งนี้ เขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนที่เริ่มดำเนินการเป็นแห่งที่สอง ต่อจากเขื่อนไซยะบุรี จากโครงการเขื่อนทั้งหมด 13 แห่งในแม่น้ำโขงสายหลัก

อ่านเพิ่มเติม
1.รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเขื่อนดอนสะโฮง และกระบวนการแจ้งให้ทราบของ สปป.ลาว

2.การประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายหลัก โดย ICEM: International Centre for Environmental Management

3.จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี 4 ประเทศ

ที่มาที่ไปจดหมายแจ้งให้ทราบ

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา รัฐบาล สปป.ลาวส่งจดหมายเพื่อ “การแจ้งล่วงหน้า” เสนอผ่านไปที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ถึงการตัดสินใจสร้าง “เขื่อนดอนสะโฮง” โดยแจ้งรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิค การประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และผลการศึกษาด้านการประมงที่ได้ทำขึ้น โดยข้อมูลต่างๆ จะถูกนำเสนอให้ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง คือ กัมพูชา ไทย และเวียดนาม รับรู้ต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลลาวเสนอว่าจะเริ่มสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในเดือนพฤศจิกายน 2556 และคาดว่าจะสร้างเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และจะเริ่มขายไฟในเดือนพฤษภาคม 2561 ให้กับการไฟฟ้าแห่งชาติลาว (Electricite du Laos: EDL) เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศลาว

เขื่อนดอนสะโฮง มีกำลังผลิตขนาด 256 เมกะวัตต์ กำหนดสร้างในพื้นที่ “ฮูสะโฮง” อันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของลาวและของภูมิภาคแม่น้ำโขงที่เรียกกันว่าพื้นที่ ‘สีทันดอน’ หรือ ‘สี่พันดอน’ (สี่พันเกาะ) ของเมืองโขง แขวงจำปาสัก ในภาคใต้ของประเทศลาว ด้วยเกาะแก่ง หุบห้วย และน้ำตกที่มีชื่อเสียงคือคอนพะเพ็งและหลี่ผี เป็นพื้นที่ห่างจากชายแดนกัมพูชาไม่ถึง 2 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดในการอพยพขึ้นลงของปลาแม่น้ำโขงเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ ปลานานาชนิดรวมทั้งปลาบึก และโลมาอิรวดี อพยพผ่านทางน้ำ โดยมีฮูสะโฮงเป็นช่องทางน้ำเดียว ที่มีน้ำไหลผ่านตลอดปี และไม่สูงชันจนเกินไป เหมาะกับการอพยพของปลา

นับตั้งแต่ปี 2549 เมื่อรัฐบาลลาวเริ่มลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงกับบริษัทสัญชาติมาเลเซีย บริษัท เมกะเฟิร์สท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ข่าวการสร้างเขื่อนที่แพร่กระจายออกไป ทำให้ทั้งกลุ่มนักวิชาการประมงและภาคประชาสังคมที่ติดตามปัญหาเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงต่อต้านโครงการมาตั้งแต่เริ่มแรก นอกจากจดหมายเรียกร้องจากกลุ่มภาคประชาสังคมต่างๆ แล้ว ยังมีนักวิทยาศาสตร์กว่า 30 คน ที่ร่วมกันส่งจดหมายถึงรัฐบาลประเทศแม่น้ำโขง และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเพื่อยืนยันว่า หากสร้างเขื่อนที่บริเวณฮูสะโฮง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะ “เลวร้ายที่สุด” เพราะเป็นจุดของเส้นทางอพยพที่สำคัญของปลาในลุ่มแม่น้ำโขง เป็นแหล่งอาศัยของโลมาอิรวดีฝูงสุดท้ายของลาว ที่สำคัญ จุดดังกล่าว เป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งให้ผลผลิตด้านประมงน้ำจืดที่มากที่สุดในลาวและในโลก นักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มยืนยันว่า มีปลาอย่างน้อย 201 สายพันธุ์ที่พบในบริเวณนี้ รวมถึงปลาที่อยู่ในภาวะคุกคามหรือใกล้สูญพันธุ์ เช่น ปลาสะอี ปลาเอินตาแดง หรือปลายี่สก หมายถึงว่าปลาเหล่านี้อาจถึงจุดจบได้ด้วยโครงการนี้

กลุ่มผู้สร้างเขื่อนดอนสะโฮงกำลังพยายามอ้างว่า เขื่อนดอนสะโฮงไม่ได้สร้างคร่อมแม่น้ำโขงสายหลัก แต่แท้ที่จริงแล้ว เขื่อนจะปิดกั้นช่องทางอพยพปลาที่สำคัญที่สุดบนลำน้ำโขงสายหลัก และยุติอนาคตของวิถีชีวิตอย่างยั่งยืนของผู้คนจำนวนมาก

ในปัจจุบัน ชาวบ้านในพื้นที่สร้างเขื่อนคือที่ดอนสะดำ และดอนสะโฮง กำลังต้องยุติการหาปลาโดย “หลี่” ที่เป็นหัวใจและแหล่งรายได้หลักในชีวิตของพวกเขา ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ปลาจากหลี่ เฉพาะจากในพื้นที่นี้ เฉลี่ยถึง 591–630 ตัน/ปี (ตัวเลขจากการศึกษาการใช้ลวงหลี่ ปี 2551) นอกจากชาวบ้านในพื้นที่เขื่อนดอนสะโฮงยังจะส่งกระทบต่อชาวบ้านอีกนับหมื่นคนที่อาศัยและพึ่งพิงแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ตลอดจนแม่น้ำสายเล็กสายน้อยทางตอนใต้และตอนกลางในเขตแขวงเซกองและแขวงอัตตะปือของประเทศลาว รวมถึงกัมพูชา เวียดนาม และประเทศไทยด้วย

หลี่ เครื่องมือจับปลาในแม่น้ำโขงของลาว ที่มาภาพ : http://transbordernews.in.th
หลี่ เครื่องมือจับปลาในแม่น้ำโขงของลาว ที่มาภาพ: http://transbordernews.in.th

ปลาเป็นแหล่งอาหารโปรตีนถึงร้อยละ 78 สำหรับชาวบ้านในแถบลุ่มแม่น้ำโขง การจับปลาในลาวใต้คือกิจกรรมร้อยละ 80 ของครัวเรือนของประชาชน โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ของลาวจากการประมงมีสัดส่วนระหว่างร้อยละ 6-8 ส่วนประเทศกัมพูชานั้นสูงถึงร้อยละ 12 ที่สำคัญ รายได้จากการจับปลาเฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนั้นก็สูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี อันเป็นตัวเลขที่ไม่สามารถทดแทนได้โดยง่าย

ผู้เชี่ยวชาญประมงขององค์กร WorldFish Center ยืนยันว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยพบว่ามีโครงการเขื่อนใดในโลกที่สามารถใช้มาตรการการลดหรือแม้กระทั่งมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านการประมงได้อย่างประสบผลสำเร็จ การตัดสินใจที่จะเดินหน้าสร้างเขื่อนดอนสะโฮงจึงวางอยู่บนความเสี่ยงและความสูญเสียอย่างมหาศาล ทั้งในลาวและประเทศอื่นๆ ที่แบ่งปันน้ำโขงร่วมกัน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คาดเดาไปว่าจะได้จากการสร้างเขื่อนนี้ จึงไม่อาจเทียบได้กับมูลค่าและคุณค่าทางวิถีชีวิตและเศรษฐกิจการประมงที่ต้องสูญเสียไปอย่างไม่มีวันหวนคืน

ความยั่งยืนของแม่น้ำโขง ต้องควบคู่ไปกับภูมิปัญญาในการใช้แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนของประชาชน มิใช่เพียงความต้องการไฟฟ้าและการลงทุนข้ามประเทศ การสร้างเขื่อนดอนสะโฮงไม่ควรเกิดขึ้นโดยปราศจากเสียงประชาชนที่ต้องพึ่งพาลำน้ำโขง ในภาวะที่โลกกำลังขาดแคลนอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ การตัดสินใจในการใช้ลำน้ำโขง ควรจะเป็นการตัดสินใจร่วมกันก่อนที่จะสายเกินไป