ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > บอร์ดชั่วคราวดันแผนฟื้นฟูสหกรณ์ฯ คลองจั่น หวังพึ่งศาลล้มละลาย – หาแหล่งเงินกู้ 5 พันล้าน ขอเวลา 8-10 ปี

บอร์ดชั่วคราวดันแผนฟื้นฟูสหกรณ์ฯ คลองจั่น หวังพึ่งศาลล้มละลาย – หาแหล่งเงินกู้ 5 พันล้าน ขอเวลา 8-10 ปี

27 มกราคม 2014


คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นชุดชั่วคราวเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2556 จากคำสั่งแต่งตั้งของนายทะเบียนสหกรณ์ หลังจากที่มีคำสั่งปลดนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และคณะกรรมการชุดที่ 29 คนอื่นๆ เนื่องจากกระทำผิดพระราชบัญญัติสหกรณ์หลายข้อ โดยภารกิจหลักที่ระบุในคำสั่งแต่งตั้งมี 2 ประการ ได้แก่ 1. จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่น 2. จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการที่มาจากสมาชิกสหกรณ์ ทั้งนี้ กรรมการชุดชั่วคราวมีระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน ซึ่งจะหมดวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2557

ประชุม กรมส่งเสริมสหกรณ์
ข้าราชการกระทรวงเกษตรประชุมร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เรื่องแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 คณะกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่นชุดชั่วคราว นำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการต่อตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้แก่ นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่นชุดชั่วคราว, นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์, นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์, ผู้อำนวยการสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ และตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่น รวมประมาณ 100 คน เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดยแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้จัดทำโดยคณะกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่นชุดชั่วคราว ร่วมกับสมาชิกสหกรณ์บางส่วนที่มีประสบการณ์ด้านการธนาคารและกฎหมาย

นายสมชาย ทองพันธ์อยู่ กรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ฯ คลองจั่นชุดชั่วคราว กล่าวในที่ประชุมว่า การนำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยมีการปรับแก้ตามคำแนะนำของภาคราชการในครั้งก่อน ส่วนที่ปรับแก้หลักคือ ระยะเวลาการบังคับใช้แผนฟื้นฟูกิจการ เพิ่มจาก 5 ปี เป็น 8-10 ปี และปรับวงเงินที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นต้องกู้เสริมสภาพคล่องจาก 3 พันล้านบาท เป็น 5 พันล้านบาท เพื่อนำไปหารายได้ อาทิ การปล่อยสินเชื่อกับสมาชิก ปล่อยสินเชื่อให้กับสหกรณ์อื่นๆ ทั้งที่เป็นเจ้าหนี้เก่าและรายใหม่

แผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่นนี้ต้องการเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง 5,000 ล้านบาท แบ่งกู้ 3 งวด ตั้งแต่ปี 2557-2559 ระยะเวลา 8 ปี โดยเป็นกู้ยืมเงินจากภาครัฐ สถาบันการเงิน และสหกรณ์อื่นๆ อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ระยะ 3 ปีแรกปลอดดอกเบี้ย ส่วนภาระดอกเบี้ยที่เหลือจะขอเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (กพส.) ปีละ 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี (ปี 2557-2561) ซึ่งปี 2556 ที่ผ่านมาสหกรณ์ฯ คลองจั่นได้รับเงินอุดหนุน 100 ล้านบาทจาก กพส. เพื่อจ่ายดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้

นอกจากนี้มีแผนการบริหารหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ การดำเนินคดีติดตามหนี้ ทั้งส่วนลูกหนี้สมาชิกสมทบ 28 ราย วงเงินมากกว่า 12,000 ล้านบาท รวมทั้งหนี้เงินยืมทดรองกว่า 3,300 ล้านบาท

ขณะที่แผนการปรับปรุงโครงสร้างและระบบบริหาร เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบสหกรณ์ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ เปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งกรรมการจากการยกมือและนับคะแนนในที่ประชุมใหญ่เป็นการลงคะแนนเสียงลับในคูหา เพิ่มข้อกำหนดการคัดเลือกผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์และผู้สอบบัญชีสหกรณ์

นายสวัสดิ์ แสงบางปลา รองประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่นชุดชั่วคราวและอดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทยและสหกรณ์จุฬาฯหลายสมัยกล่าวว่า ความคิดเห็นของสหกรณ์จำนวนมากไม่ต้องการให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นปิดกิจการไป เพราะส่งผลกระทบรุนแรงกับสหกรณ์ทั้งระบบในหลายมิติ แต่การช่วยเหลือกันเองในระบบสหกรณ์โดยการปล่อยกู้ให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นโดยตรงมีความเป็นไปได้ตํ่า เพราะสหกรณ์ฯ คลองจั่นแทบไม่เหลือความน่าเชื่อถือในขณะนี้ ดังนั้น ได้เสนอให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รับเงินฝากจากสหกรณ์ที่พร้อมจะช่วยเหลือสหกรณ์ฯ คลองจั่น และนำไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยตํ่าให้สหกรณ์ฯ คลองจั่น ซึ่งเปรียบเป็นการคํ้าประกันโดยภาครัฐทางอ้อม เป็นการสร้างความมั่นใจให้สมาชิกสหกรณ์ที่นำเงินมาช่วยเหลือสหกรณ์คลองจั่นได้

ส่วนการอนุญาตให้สมาชิกสหกรณ์ถอนเงินฝากหรือลาออกและถอนทุนเรือนหุ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกไม่สามารถทำได้อย่างปกติเป็นเวลาเกือบ 1 ปี นายสมชายกล่าวว่า ปัจจุบันสภาพคล่องสหกรณ์ฯ คลองจั่นไม่สามารถชำระคืนผู้ฝากเงินหรือชำระค่าหุ้นในกรณีที่สมาชิกลาออกได้ คณะทำงานจึงต้องมีมาตรการลดผลประโยชน์ที่สหกรณ์ให้กับสมาชิกหลายประการเพื่อลดภาระด้านการเงินของสหกรณ์ ได้แก่ มาตรการชะลอการลาออกจากการเป็นสมาชิก จนกว่าจะฟื้นฟูกิจการได้ 3 ปี (ปี 2557-2560) ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีสมาชิกสหกรณ์ที่สามารถถอนทุนเรือนหุ้นได้ แต่อาจได้รับเงินปันผลตามความเหมาะสมหากการดำเนินกิจการของสหกรณ์มีผลกำไรจริง

flow chart แผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

นายสมชายกล่าวอีกว่า มาตรการให้ถอนเงินรับฝากทั้งออมทรัพย์และออมทรัพย์พิเศษ บัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ระบุในแผนฟื้นฟูฯ ว่า หลังแผนฟื้นฟูบังคับใช้จริง ให้ถอนเงินได้เดือนละไม่เกินร้อยละ 10 ของยอดคงเหลือ ส่วนบัญชีออมทรัพย์พิเศษระบุว่า ให้ชะลอการถอนเงินฝาก 3 ปี (ปี 2557-2560) หลังจากนั้นให้ถอนได้บางส่วนปีละครั้งโดยสัดส่วนมากขึ้นตามลำดับ คือ ปี 2560 ไม่เกินร้อยละ 5 ของยอดเงินฝากคงเหลือ ปี 2561 ถอนได้ไม่เกินร้อยละ 10 และปี 2562-2566 ถอนได้ไม่เกินร้อยละ 15 ตามลำดับ

ทั้งนี้ บัญชีเงินฝากที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นมี 4 ประเภท คือ

1) บัญชีทุนเรือนหุ้น ซึ่งสมาชิกทุกรายต้องนำเงินมาฝากอย่างตํ่าเดือนละ 100 บาท แต่ไม่เกินเดือนละ 3 แสนบาท เพื่อคงสถานะสมาชิก เงินส่วนนี้ไม่สามารถถอนได้บางส่วน แต่จะถอนทั้งหมดได้ต่อเมื่อลาออกจากการเป็นสมาชิกเท่านั้น โดยสมาชิกจะได้รับผลตอบแทนในรูปเงินปันผล ซึ่งผลประกอบการในอดีตที่ผ่านมาสหกรณ์ฯ คลองจั่นให้เงินปันผลสูงถึงร้อยละ 10 มาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี

2) เงินฝากออมทรัพย์ มีลักษณะเหมือนบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ คือ ผู้ฝากสามารถถอนเงินเมื่อใดก็ได้เมื่อทวงถามกับสหกรณ์ โดยมีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยคงที่ทุกปีอยู่ที่ร้อยละ 2

3) และ 4) บัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษสำหรับสมาชิกสหกรณ์และบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ 1 สำหรับสหกรณ์อื่นๆ ซึ่ง 2 บัญชีนี้คล้ายกับออมทรัพย์แต่มีข้อจำกัดเพิ่มคือให้ถอนได้เดือนละไม่เกิน 1 ครั้ง ถ้ามากกว่านั้นจะมีค่าธรรมเนียมพิเศษ โดยมีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยสูงสุดคงที่ร้อยละ 5.5 ดังนั้น เงินฝากส่วนใหญ่ของสมาชิกและสหกรณ์อื่นๆ จึงอยู่ที่ออมทรัพย์พิเศษซึ่งปัจจุบันยอดสูงถึง 15,000 ล้านบาท ส่วนยอดจากบัญชีหุ้นทุนอยู่ที่ประมาณ 4,400 ล้านบาท ในขณะที่บัญชีออมทรัพย์ปกติมียอดคงเหลือปัจจุบันเพียง 396 ล้านบาท อาจเนื่องจากสองสาเหตุ คือ ให้ดอกเบี้ยตํ่าและใช้เป็นที่พักเงินปันผลกับดอกเบี้ยที่ได้จากบัญชีอื่นๆ

ส่วนประเด็นที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าตลาดมาก นายสมชายกล่าวว่า คณะกรรมการตระหนักถึงภาระส่วนนี้เช่นกัน จึงลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภทแต่ก็ยังสูงกว่าเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ สำหรับออมทรัพย์ปกติปรับลงจากเดิมร้อยละ 2 ต่อปี เหลือร้อยละ 1.5 ต่อปี และออมทรัพย์ทรัพย์พิเศษทั้งสองประเภท จากเดิมอัตราสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี เหลือร้อยละ 3 ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ยังคงเดิมที่สูงสุดร้อยละ 12 สำหรับสมาชิกสหกรณ์

แผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

นายสมชายอธิบายว่า เงินที่สหกรณ์กู้เพื่อดำเนินแผนฟื้นฟูกิจการต้องนำมาหารายได้เพื่อให้สถาบันการเงินดำเนินกิจการต่อ โดยปล่อยกู้แก่สมาชิกในวงเงินคิดตามสัดส่วนยอดฝากหุ้นและเงินฝากแต่ละรายเป็นอัตราก้าวหน้า มีระยะเวลากู้เงิน 24 งวด (เดือน) คิดดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี โดยปี 2557-2558 ปล่อยไม่เกินร้อยละ 10 ของยอดเงินที่สมาชิกมีในสหกรณ์ ปี 2559-2560 ไม่เกินร้อยละ 15 ปี 2561-2562 ไม่เกินร้อยละ 20 และสุดท้าย ปี 2563-2566 ไม่เกินร้อยละ 25 ของทุนเรือนหุ้นและเงินรับฝากของสมาชิก

ขณะเดียวกัน มาตรการนี้ยังใช้กับสหกรณ์เจ้าหนี้อื่นๆ ที่ไม่สามารถถอนเงินได้เช่นกัน สำหรับสหกรณ์เจ้าหนี้เดิมคิดดอกเบี้ยร้อยละ 6 ส่วนสหกรณ์ที่ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 6 อีกทั้งการกำหนดวงเงินกู้สำหรับสหกรณ์เจ้าหนี้อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดเงินฝากหรือที่ให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นกู้คงเหลือ หรือมากกว่านั้นหากมีหลักทรัพย์คํ้าประกัน

นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส หนึ่งในกรรมการชั่วคราวสหกรณ์ฯ คลองจั่น และผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า คณะกรรมการจะนำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม เมื่อแก้ไขรายละเอียดจนแล้วเสร็จและอาจต้องแก้กฎกระทรวงบางข้อ จะยื่นต่อศาลล้มละลายเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับใช้แผนฟื้นฟูดังกล่าวกับสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย โดยสหกรณ์จะได้รับสถานะพิเศษในช่วงที่บังคับใช้แผนคือเจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ที่เหลือของคลองจั่นได้ และยังสามารถดำเนินกิจการไปตามปกติเช่นเดียวกัน ซึ่งปัญหาการฟ้องร้องสหกรณ์เรื่องผิดสัญญาเงินฝากสร้างความยากลำบากในการบริหารมาก ทั้งเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสู้คดี อีกทั้งรายรับที่เข้ามาก็อาจถูกอายัด

สำหรับบัญชีสหกรณ์ฯ คลองจั่น วันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 มีดังนี้ ทรัพย์สินสหกรณ์ 21,622 ล้านบาท แบ่งตามแหล่งที่มาทรัพย์สิน 2 แหล่ง ได้แก่ ทุนภายในสหกรณ์ 10,622 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินรับฝากสมาชิก 6,147 ล้านบาท และทุนสหกรณ์ 4,475 ล้านบาท ส่วนทุนภายนอกสหกรณ์ 10,001 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้ยืมและเครดิตการค้า 1,465 ล้านบาท และเงินรับฝากสหกรณ์และอื่นๆ อีก 9,535 ล้านบาท ส่วนการใช้ไปของทรัพย์สิน 21,622 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ เงินสด/ฝากธนาคาร/เงินฝากสหกรณ์ 187 ล้านบาท ลูกหนี้ 14,958 ล้านบาท ที่ดิน/อาคาร/อุปกรณ์ 1,604 ล้านบาท และอื่นๆ อีก 4,589 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ คลองจั่นไปไม่ตํ่ากว่า 12,000 ล้านบาท นายกิตติก้อง คณาจันทร์ ผู้อำนวนการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอกำลังเร่งสรุปสำนวนคดีเพื่อส่งต่อให้อัยการเป็นผู้ยื่นฟ้องศาลสำหรับคดีที่แจ้งข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ คลองจั่นกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษรและพวก ไปตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2556 อีกทั้งผู้ร่วมกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์คนอื่นๆ ได้แก่นายจิรเดช วรเพียรกุล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง และนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ย่านนครปฐม แต่ช่วงนี้อาจล่าช้าบ้างเนื่องจากมีการชุมนุมทางการเมืองใกล้กับสำนักงานดีเอสไอ

ส่วนความคืบหน้าอื่นๆ คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิร่วมกับคณะกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่นขายที่ดินย่านอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ของนายศุภชัยที่ถูกอายัด โดยหลังจากหักหนี้ติดจำนองแล้ว เหลือเงินนำส่งคืนสหกรณ์ประมาณ 100 ล้านบาท