ThaiPublica > คอลัมน์ > ผลประโยชน์ทับซ้อนกับการปฏิรูปประเทศไทย

ผลประโยชน์ทับซ้อนกับการปฏิรูปประเทศไทย

22 มกราคม 2014


ภาวิน ศิริประภานุกูล

ขอสวัสดีปีใหม่ทุกท่านย้อนหลังสักหน่อยครับ สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในกรุงเทพมหานครในปัจจุบันเป็นข้ออ้างชั้นดีสำหรับการทำงานอันล่าช้าของผม ซึ่งส่งผลต่อการสวัสดีปีใหม่อันล่าช้าในคอลัมน์นี้ด้วยครับ อย่างไรก็ตาม ในปีใหม่นี้ก็ขอให้ทุกท่านประสบกับความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอีกปีนะครับ

การติดตามข้อมูลข่าวสารในช่วงเวลาปัจจุบันได้ทำให้ผมอยากจะมีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองด้วยครับ โดยประเด็นที่ผมเลือกนำมาเสนอในโอกาสนี้จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศไทยในแง่ของการพัฒนากติกาประชาธิปไตย เพียงแต่จะมีความจำกัดเฉพาะในพื้นที่ซึ่งผมคิดว่าตนเองมีความถนัดเท่านั้นครับ

โลกในความเป็นจริงนั้นมีความแตกต่างจากโลกในอุดมคติหลากหลายประการครับ โดยประเด็นความแตกต่างหลักอย่างหนึ่งที่เรารับรู้กันมานานก็คือ การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นไม่สมบูรณ์แบบเหมือนกับในโลกแห่งอุดมคติ

ภายใต้โลกในอุดมคตินั้น ผู้คนทุกคนรับรู้ถึงข้อมูลข่าวสารในระดับที่เท่าเทียมกัน โดยข่าวสารที่ทุกคนรับรู้นั้นมีความถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ และรอบด้านครับ ดังนั้น การตัดสินใจเลือกทำกิจกรรมอะไรของผู้คนแต่ละคนจะแตกต่างกันที่รสนิยมหรือความชอบส่วนบุคคลเป็นหลัก

ในแง่ของระบอบประชาธิปไตยนั้น โลกอุดมคติที่สวยงามจะทำให้ผู้คนตัดสินใจเลือกผู้แทนโดยพิจารณาจากนโยบายที่มีความใกล้เคียงกับรสนิยมหรือความชอบส่วนบุคคลของผู้เลือกมากที่สุด ซึ่งทำให้ผู้แทนที่ถูกเลือกจะเป็นตัวสะท้อนที่ดีถึงกลุ่มบุคคลที่เลือกตนเองเข้ามา

มีความเป็นไปได้ครับว่านโยบายของผู้แทนที่ถูกเลือกคนดังกล่าวอาจไม่ได้อยู่ในจุดเดียวกันกับผู้ที่เลือกเขาเข้ามาเสียทีเดียว แต่นโยบายของผู้แทนคนดังกล่าวจะต้องมีความใกล้เคียงกับกลุ่มคนที่เลือกเขาเข้ามามากกว่านโยบายของผู้แทนคนอื่นๆ

ในโลกอุดมคตินี้ “การเลือกตั้ง” แทบจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญเพียงองค์ประกอบเดียวของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตัวแทนครับ ผู้แทนที่ชนะการเลือกตั้งจะมีนโยบายที่มีความใกล้เคียงกับรสนิยมหรือความชอบของผู้คนส่วนใหญ่ ทำให้การดำเนินนโยบายของผู้แทนเหล่านี้มีความสอดคล้องกับรสนิยมหรือความชอบของผู้คนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ในขณะที่การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์จะเป็นตัวกดดันไม่ให้ผู้แทนที่ถูกเลือกเข้าไปกระทำการอะไรที่ผิดแผกไปจากนโยบายที่ได้มีการหาเสียงเอาไว้

แน่นอนว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารมีความไม่สมบูรณ์เป็นอย่างยิ่งครับ อย่างน้อยที่สุดใน 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ การขาดหายไปของข้อมูลข่าวสารที่สำคัญบางส่วน ความสามารถในการเสาะหาและประมวลข้อมูลข่าวสารที่จำกัด และการตีความของข้อมูลข่าวสารที่อาจผิดแผกออกไปจากจุดที่ควรจะเป็น

ในการเลือกผู้แทนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยตัวแทนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งครับที่เราจะต้องมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้แทนของเราให้มากที่สุด เพื่อที่จะให้แน่ใจได้ว่าเราจะสามารถเลือกผู้แทนที่ทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นหรือรสนิยมของเราอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับแรงจูงใจของผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งหลายๆ ประการไม่มีปรากฏแก่สาธารณะ

แน่นอนว่าผู้คนในโลกแห่งความจริงพยายามสะสมและเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้แทนจากประสบการณ์ที่ได้ประสบมาในอดีต แต่ด้วยความเป็นปุถุชน พวกเราทุกคนจึงอาจไม่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาประมวลได้อย่างพร้อมเพรียงกันในคราวเดียวครับ

นอกจากนั้น ข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นมักมีการผสมผสานทัศนคติหรือความเชื่อบางอย่างเข้าไประหว่างการถ่ายทอดข้อมูลอีกด้วย ซึ่งทำให้ภายใต้ข้อเท็จจริงเดียวกันการตีความหรือการรับรู้ข้อมูลของผู้คนจึงมีความแตกต่างกัน แน่นอนครับว่าการตีความที่หลากหลายภายใต้ข้อมูลชุดเดียวกันนี้ย่อมหมายความว่าต้องมีการตีความบางกรณีที่ผิดแผกไปจากจุดที่ควรจะเป็น

ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้น เมื่อเราพูดถึงความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร เราจะนึงถึงปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลเป็นหลัก นั่นคือ ผู้คนมีระดับการรับรู้ข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยภายใต้กรอบที่ง่ายที่สุดนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลย่อมมีการรับรู้ข้อมูลในระดับสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าว

ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เจ้าของบริษัทแห่งหนึ่งไม่สามารถเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการบริษัทด้วยตัวเองได้ จำเป็นจะต้องว่าจ้างให้บุคคลอื่นเข้ามาบริหารจัดการบริษัทแทนเขา ผู้ที่ได้รับการว่าจ้างให้เข้ามาบริหารจัดการบริษัทย่อมมีข้อมูลเกี่ยวกับแรงจูงใจต่างๆ ของตนเองเหนือกว่าเจ้าของบริษัทที่ว่าจ้างเขาเข้ามาอย่างแน่นอน

และปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลข่าวสารที่คนไทยรู้จักกันดีจะอยู่ในรูปของ “ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน” ซึ่งอาจถูกจัดแบ่งเป็นปัญหาคุณธรรมวิบัติ (Moral Hazard) ลักษณะหนึ่งได้ครับ ในทางการเมืองอาจยกตัวอย่างของปัญหานี้ง่ายๆ ว่าผู้แทนบางคนจะประกาศนโยบายหาเสียงที่ครองใจผู้คนส่วนใหญ่ แต่ภายหลังการได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็นผู้แทนแล้วอาจกระทำการอันขัดแย้งกับนโยบายที่ได้ประกาศเอาไว้หรือขัดประโยชน์ของผู้คนที่เลือกเขาเข้าไปได้

ในกรณีของปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปอาจมีวัตถุประสงค์หลากหลายอย่างจากการทำหน้าที่เป็นผู้แทน เช่น วัตถุประสงค์หนึ่งอาจอยู่ที่การพยายามทำตามนโยบายที่ได้ประกาศเอาไว้เพื่อให้ผู้ที่เลือกเขาเข้ามาได้เรียนรู้ว่าเขาเป็นผู้แทนที่ดีและจะเลือกเขาเข้ามาอีกครั้งในอนาคต ในขณะที่วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งอาจอยู่ที่การเข้าไปเสาะแสวงหาผลตอบแทนส่วนตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ครอบครัว หรือพวกพ้องของตนเองได้

ภายใต้โลกแห่งความเป็นจริงที่ข้อมูลข่าวสารไม่มีความสมบูรณ์พร้อม ในขณะที่การรับรู้และตีความข้อมูลยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนน่าจะยิ่งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าข้อมูลข่าวสารบางประเด็นเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนแล้ว ยิ่งเพิ่มเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้และการตีความของผู้คนในสังคมมากยิ่งขึ้นไปอีก อันจะส่งผลเอื้อต่อการเกิดขึ้นของปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ภายใต้โลกแห่งความเป็นจริงที่มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นนี้ “การเลือกตั้ง” คงจะไม่ได้เป็นองค์ประกอบสำคัญเพียงประการเดียวของระบอบประชาธิปไตยตัวแทน ที่มีความมุ่งหวังในการคัดเลือกผู้แทนที่จะทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นของผู้คนที่เลือกเขาเข้ามาอีกต่อไปครับ

ในกรณีของประเทศไทยนั้น ผู้แทนปวงชนที่มาจากการเลือกตั้งดูเหมือนจะกระทำการผ่านกฎหมายบางฉบับที่ดูจะขัดกับความคิดเห็นของผู้คนที่เลือกเขาเข้ามาในหลายครั้งหลายครา ในขณะที่กฎหมายหลายฉบับที่ผู้คนเรียกร้องกลับไม่ได้รับการตอบสนองหรืออาจถูกพักไว้ในขั้นตอนที่ไม่น่าจะนำมาสู่การประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้ได้

พวกเราได้เห็นการพยายามผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม การปรับเพิ่มเพดานลดหย่อนภาษีกองทุน LTF/RMF การปรับขึ้นเงินเดือนผู้แทน การปรับตำแหน่งที่ตั้งของเขื่อนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ฯลฯ อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ กฎหมายภาษีที่ดินหรือกฎหมายเพื่อเพิ่มความโปร่งใสให้กับกระบวนการงบประมาณกลับใช้เวลาในการพิจารณาอย่างเนิ่นนาน ทั้งๆ ที่มีความพยายามในการผลักดันจากภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ถ้าหากเราเห็นพ้องต้องกันครับว่าปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยตัวแทนในประเทศไทย เราก็น่าจะเห็นพ้องต้องกันเช่นเดียวกันครับว่า “การเลือกตั้ง” ไม่ได้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญเพียงประการเดียวของระบอบประชาธิปไตยตัวแทน (ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งจะยังคงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากประการหนึ่งก็ตาม) และประเด็นการปฏิรูปประเทศไทยประเด็นหนึ่งที่น่าจะสามารถทำความตกลงกันได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นก็คือการบริหารจัดการกับปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในภาคการเมืองนี้ครับ

การบริหารจัดการกับปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนน่าจะมีอยู่ด้วยกันอย่างน้อย 4 ลักษณะครับ ได้แก่ การขจัด การเปิดเผย การลดแรงจูงใจ และการสร้างระบบสอบทานเพิ่มเติม ซึ่งแน่นอนครับว่าการบริหารจัดการเหล่านี้จะต้องกระทำควบคู่ไปกับจิตวิญญาณของผู้รักประชาธิปไตยในการให้ความสนใจติดตามและประเมินผลการทำงานของผู้แทนของพวกเราอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

การขจัดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนอาจทำได้โดยเงื่อนไขต่างๆ ที่บังคับใช้กับผู้แทนของพวกเราในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดเงื่อนไขให้มีการขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทต่างๆ การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินก่อนและหลังการเข้ารับตำแหน่งสำคัญ หรือการลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทต่างๆ เป็นต้นครับ

การเปิดเผย หมายถึง การสร้างกระบวนการทำงานต่างๆ ที่มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน รอบด้าน การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเก็บรวบรวมและเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การให้ความสำคัญกับการตอบข้อซักถามต่างๆ ของผู้คน เป็นต้น

การลดแรงจูงใจในที่นี้จะเกี่ยวข้องกับการลดระดับผลประโยชน์ที่ผู้แทนจะได้รับจากการเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว ประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องกับการลดบทบาทของรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐลงไป การปรับลดสัดส่วนทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับดุลยพินิจของรัฐบาลหรือผู้แทนลงไป รวมไปถึงการกระจายทรัพยากรและการตัดสินใจออกไปในหน่วยที่เล็กลง เป็นต้น

ประการสุดท้าย การสร้างระบบสอบทานเพิ่มเติม โดยการจัดตั้งโครงสร้างที่เป็นกลางเพื่อเข้าไปสอบทานข้อมูลหรือให้ข้อมูลคู่ขนานกับทางรัฐบาลเพื่อป้องกันการผูกขาดการให้ข้อมูล ซึ่งอาจส่งผลต่อการรับรู้และการตีความของผู้คนได้

สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่าผู้แทนไทยที่มีจิตใจรักและหวงแหนประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่กลัวการตรวจสอบ เนื่องจากผู้แทนกลุ่มนี้จะยึดมั่นในการทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นและความต้องการของผู้คนที่เลือกเขาเข้ามาทำงานอย่างแท้จริง โดยเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้แทนสามารถสะท้อนความคิดเห็นของผู้คนอย่างถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้นน่าจะยิ่งได้รับการสนับสนุนและผลักดันอย่างจริงจังครับ