ThaiPublica > คอลัมน์ > “ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนจบ): เราจะออกจากกับดักความขัดแย้ง แล้วเดินหน้าต่อกันอย่างไร

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนจบ): เราจะออกจากกับดักความขัดแย้ง แล้วเดินหน้าต่อกันอย่างไร

2 มกราคม 2014


“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”

ทั้ง 6 ตอนที่ผ่านมา ผมพยายามเรียบเรียงที่มา พัฒนาการของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ตลอดสิบสองปีที่ผ่านมา จนกระทั่งนำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรง การแตกแยกเป็นสองขั้วอย่างชัดแจ้ง ด้วยความหวังว่า ความเข้าอกเข้าใจถึงรากฐานปัญหา โดยเฉพาะเข้าใจถึงความคิดของฝั่งตรงข้าม จะช่วยนำมาซึ่งกระบวนการแก้ปัญหาที่ถาวรอย่างสงบสุข

ความรู้ความเข้าใจของผมอาจจะไม่ครบถ้วน อาจจะไม่รอบด้าน หรือแม้อาจไม่เป็นกลาง แต่เป็นการพยายามมองปัญหาอย่างไร้อคติ ไร้เจตนาร้ายต่อสังคมฝ่ายใด (อย่างน้อยก็ในความคิดของผม)

ถึงวันนี้นาทีนี้ ผมคิดว่าเรายังไร้ทางออกที่สงบสุขแท้จริง ความขัดแย้งยังคงอยู่ และถ้ากระบวนการแก้ไขไม่ราบรื่น ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงได้ทุกเมื่อ หรือแม้ถ้าฝ่ายรัฐบาลจะยอมถอยสุดซอย คือยอมลาออก ไม่รักษาการ ให้ตั้งรัฐบาลรักษาการมาตรา 7 แต่สุดท้ายก็ยังต้องมีการเลือกตั้ง (ถ้าตามรัฐธรรมนูญก็ใน 60 วัน) หรือไม่ก็ยังอาจมีมวลชนของอีกฝ่ายลุกมาขับไล่รัฐบาลมาตรา 7 ได้ทุกเมื่อ

ผมไม่มีข้อเสนอทางออกในระยะสั้นหรอกครับ ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ แต่ที่จะเสนอ เป็นเรื่องการแก้ไขโครงสร้างในระยะยาว เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความสงบสุขกลับคืนมาเสียก่อน ไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้เป็นผู้บริหารประเทศ ก็น่าจะเริ่มกระบวนการได้อย่างจริงจัง ถ้ามีความจริงใจในการแก้ปัญหาประเทศไทย

มีคำสำคัญอยู่ 5 คำ 1. ความเหลื่อมล้ำ 2. พรรคพวกนิยม 3. คอร์รัปชัน 4. ผลิตภาพที่แท้จริง 5. บทบาทอำนาจรัฐ เป้าหมายของข้อเสนอผมมีง่ายๆ ครับ ข้อ 1. ข้อ 2. ข้อ 3. จะต้องลดต้องขจัดให้ลดน้อย จนถึงหมดไป (ข้อ3.) ให้ได้ ส่วนข้อ 4. จะต้องหาทางเพิ่มให้ได้ ส่วนข้อ 5. นั้นจะต้องปรับให้เหมาะสม เพิ่มบางเรื่อง ลดบางเรื่อง กระจายเสียให้มาก หาสมดุลให้ได้

ฟังดูเหมือนง่ายๆ แต่ทั้งห้าเรื่องมีเงื่อนไข มีพัฒนาการ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง ไม่สามารถแก้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยละเลยด้านอื่นๆ เหมือนที่ผมคิดว่าคุณทักษิณอาจมีเจตนาดี ต้องการแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่ดันใช้ระบบพรรคพวกนิยม ยอมให้มีโกงกิน และมุ่งแต่จะใช้อำนาจรัฐ ทรัพยากรรัฐ ละเลย ไม่ได้ทุ่มเทที่จะปรับปรุงผลิตภาพที่แท้จริง ก็เลยมาสะดุด

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

แล้วเราจะไปถึงจุดนั้น จุดที่สังคมสงบสุข มีพัฒนาการอย่างยั่งยืน มีการกระจายที่ดีตามควร อยู่ร่วมกันได้ มีความเป็นธรรมสูง เป็นสังคมอารยะ ได้อย่างไร

มันไม่มีทางเลือกหรอกครับ เราต้องเริ่มจากจุดที่เป็นอยู่จริง มันไม่มีทางลัดหรอกครับ มันต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน มันไม่มีทางมีอัศวินคนเดียวกลุ่มเดียวขี่ม้าขาวมาบันดาลให้หรอกครับ มันต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน อย่างน้อยก็จากคนส่วนใหญ่ของประเทศ มันไม่มีทางได้มาจากชัยชนะในการต่อสู้ของสองฝ่ายหรอกครับ มันต้องมาจากการทำความเข้าใจในความต้องการของอีกฝ่าย แล้วปรับเข้าหากัน มันไม่มีทางสำเร็จได้ด้วยความเกลียดชังหรอกครับ มันต้องมาจากความรักความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

จุดเริ่มต้นก็คือ สังคมจะต้องรับรู้ถึงปัญหาว่ามันคืออะไรกันแน่ อย่าเริ่มที่อคติความเกลียดชัง ในที่นี้ผมขอเสนอว่า รากฐานของปัญหาที่ลึกที่สุดคือ “ความเหลื่อมล้ำ” และ ระบบเศรษฐกิจโดยรวมมีผลิตภาพต่ำ

ขั้นที่สอง มาหาสาเหตุที่มาของปัญหา ซึ่งในทางเศรษฐกิจก็ย่อมได้แก่ ไม่มีการปรับปรุงผลิตภาพ แถมมีภาคส่วนที่เอารัดเอาเปรียบ ไม่มีการกระจายทรัพยากร กระจายโอกาส ทั้งนี้ มีระบบพรรคพวกนิยมกับการคอร์รัปชันเป็นแกนของความบิดเบือนทั้งมวล

ขั้นที่สาม มาสรุปแนวทางหลักที่จะใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งต้องมาวิเคราะห์ว่า แนวเดิมที่เคยใช้ ไม่ว่าในระบอบทักษิณ ระบอบ Buffet Cabinet มันไม่ดี มันใช้ไม่ได้ยังไง การเพิ่มบทบาทอำนาจรัฐไม่น่าจะตอบโจทย์ได้ ประชานิยมที่ไม่ช่วยเพิ่มผลิตภาพก็ช่วยไม่ได้ แถมสิ้นเปลืองบิดเบือน จนนำไปสู่หายนะในอนาคต และแน่นอน การทำลาย การสร้างกลไกไม่ให้พรรคพวกนิยมและคอร์รัปชันดำรงอยู่ได้เป็นวาระสำคัญ เร่งด่วนที่สุด

ขั้นที่สี่ ถึงจะมาวางกลยุทธรายละเอียดในแต่ละเรื่อง ว่าการลดการปราบโกงจะทำอย่างไร การไม่ให้คนชั้นบนเอาเปรียบทำอย่างไร การกระจายอำนาจ การกระจายทรัพยากร การกระจายบริการพื้นฐานนั้นทำอย่างไร เวลาเราพูดถึงคำว่ากระจาย ก็แปลตรงๆ อยู่แล้วว่าเอาของกลุ่มหนึ่งไปให้อีกกลุ่มหนึ่ง (Redistribution) ดังนั้น แผนการต้องดี ชัดเจน ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ฝ่ายที่ต้องให้เข้าใจและรับได้ แผนต้องสอดคล้องบูรณาการกัน

ที่จริง ขั้นตอนที่ผมนำเสนอ ก็แค่เป็นการน้อมนำแนวทาง “อริยสัจ 4” ของพระพุทธองค์มาเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร

และแน่นอนครับ ที่ผมวิเคราะห์ นำเสนอ ย่อมยังไม่ครบ ไม่รอบด้านทุกอย่าง มันเป็นเพียงแนวที่จะดำเนินการ โดยมุ่งเน้นในเรื่องเป็นไปได้ และไม่ทำให้เกิดความวุ่นวายจนเกิดการหยุดชะงักเสียหายหลายสิบปี ยังต้องมีกระบวนการศึกษา กระบวนการวางแผน กระบวนการดำเนินการอีกมากมาย

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
ในความเห็นของผม ทั้งหมดนี่ ถ้าจะให้ดีมันต้องเริ่มที่ “มวลมหาประชาชน” นี่เองแหละครับ พวกเราต้องสำนึกก่อนว่า เราเป็นกลุ่มคนที่โชคดี ได้โอกาสที่ดี เริ่มตั้งแต่ได้เกิดมา ได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี ได้โอกาสรับการศึกษาที่ดี อยู่ในสังคมที่ดี ได้เข้าถึงทรัพยากร ได้มีชีวิตที่ดี (ผมค่อนข้างแน่ใจว่าคนที่ชั่วโดยสันดาน คนขี้ฉ้อขี้โกงนั้นไม่มีหรือมีอยู่น้อยในกลุ่มผู้ที่ออกไปอยู่บนท้องถนนนะครับ)

ที่สำคัญ เราต้องมองเห็นผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเราอย่างเข้าอกเข้าใจ อย่างเห็นใจ ถึงแม้เขาจะไม่ชอบ จะเกลียดชังเรา เราก็ต้องรู้จักอภัย และเราต้องมีความคาดหวังให้เขาดีขึ้น ต้องยอมให้มีการกระจายทรัพยากร กระจายความมั่งคั่งให้เขา ถ้าไม่อย่างนั้น เขาก็จะถูกพวกที่ไม่ได้หวังดีจริงไปหลอกไปลวงด้วยอกุศโลบาย และอามิสต่างๆ จนพวกเราเองเดือดร้อนในที่สุด

ในข้อเสนอบนเวที ผมเห็นด้วยหลายอย่าง เช่น การกระจายอำนาจ ทั้งผู้ว่าฯ ตำรวจ การปราบโกง ซึ่งผมเชื่อว่าต้องเกิดต่อไปอย่างแน่นอน (ความจริงในข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปชุดคุณอานันท์ ปันยารชุน ยังมีที่ดีอีกหลายข้อ ค่อยๆ นำมาปฏิบัติได้

ส่วนในระยะสั้น ถามว่าผมมีข้อเสนออะไร ที่เราจะออกจากวิกฤติครั้งนี้ ผมยอมรับว่า ไม่มีแนวคิดวิเศษอะไรหรอกครับ เพียงแต่อยากบอกว่า ถึงแม้จะต้องมีการเลือกตั้งตามกำหนด ถึงแม้พรรคเดิมจะได้เป็นรัฐบาล แต่ประเทศเราจะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่มีทางที่ใครจะทำอะไรตามใจโดยไร้หลักการ ไร้เหตุผล ไร้คุณธรรมได้เหมือนเดิมอีกแล้ว กระบวนการปฏิรูปโดยประชาชนได้เริ่มขึ้นแล้ว และจะไม่หยุด (ไม่ได้หมายถึง และไม่เคยเห็นด้วยกับคณะคุณบรรหารนะครับ คณะนั้นควรยุบถาวร)

เรามาจัดตั้งกระบวนการปฏิรูปคู่ขนาน ที่คอยกระทุ้ง คอยกำกับ คอยเป่านกหวีด ให้ใครก็ตามที่ได้รับเลือกมาบริหารประเทศต้องอยู่ในกรอบที่จะต้องทำให้ทุกอย่างดำเนินไปสู่ประโยชน์สุขอย่างทั่วถึง อย่างยั่งยืนไม่ดีกว่าหรือครับ ยังมีกลไกอื่นๆ ที่ถึงแม้ไม่ได้ระบุกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใดๆ แต่สามารถมีพลังร่วมสร้างสรรค์สังคมได้โดยไม่ต้องมีความรุนแรง (เช่น สถาบันวิจัยสร้างสรรค์และตรวจสอบนโยบายสาธารณะ สื่อมวลชนที่ดีมีคุณภาพ ภาคประชาสังคม) มาร่วมทำร่วมสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิด ดีกว่าจะมารบกันเยอะครับ

ผมพยายามวิเคราะห์ปัญหาโดยละเอียด พยายามเสนอทางออกอย่างเต็มที่ เท่าที่ความรู้ความสามารถของผมจะทำได้ เพียงหวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นเพียง “ไทยเฉย” เพราะออกไปเป่านกหวีดแค่สองครั้ง ไปอนุสาวรีย์แค่ 2 ครั้ง ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเลิก พ.ร.บ.เหมาเข่ง พอเขาเลิก ก็ไม่ไปอีกเลย

ขอจบบทความเรื่องนี้แค่นี้นะครับ และหวังว่าเหตุการณ์ทุกอย่างจะจบลงด้วยดี