ThaiPublica > เกาะกระแส > คลังก่อหนี้เตรียมกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท โปะรับจำนำข้าว ใบประทวนค้างจ่ายที่ ธ.ก.ส. กว่า 1.4 ล้านใบ

คลังก่อหนี้เตรียมกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท โปะรับจำนำข้าว ใบประทวนค้างจ่ายที่ ธ.ก.ส. กว่า 1.4 ล้านใบ

4 มกราคม 2014


จากรายงานล่าสุด ชาวนานับล้านรายยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต่อเนื่องมาจากปี 2556 โดยข้อมูลศูนย์บริหารจัดการโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร กรมการค้าภายใน ณ วันที่ 2 มกราคม 2557 ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/57 รอบแรก เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 1 มกราคม 2557 มีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) จำนวน 9.57 ล้านตัน ทั้ง 2 หน่วยงาน ออกใบประทวนให้ชาวนา 1.62 ล้านใบ ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2556 ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้กับเกษตรกรตามใบประทวนไปแล้ว 193,678 สัญญา คิดเป็นเงิน 22,772 ล้านบาท ยังคงมีเกษตรกรที่นำใบประทวนไปขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส. แล้วยังไม่ได้รับเงินกว่า 1.4 ล้านใบ

กราฟฟิกรับจำนำข้าว

โดยเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 1/2557 เพื่อทบทวนแผนการกู้เงินของรัฐบาลประจำปีีงบประมาณ 2557 ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรอบวงเงินรวมที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 มีวงเงินไม่เกิน 270,000 ล้านบาท

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 ภายใต้กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาท มาจาก 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ 1. กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาและค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. วงเงิน 130,000 ล้านบาท 2. กระทรวงพาณิชย์ส่งเงินจากการระบายข้าวให้ ธ.ก.ส.

ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงการคลังนำมติคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะรายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบแล้ว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะเริ่มดำเนินการกู้เงินให้กับ ธ.ก.ส. ทันที เพื่อนำไปจ่ายให้กับเกษตรกรที่นำใบประทวนมาขอกู้เงินกับ ธ.ก.ส. กรณีวงเงินกู้ 130,000 ล้านบาทนี้อยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ไม่ขัดกับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพราะถือเป็นนโยบายต่อเนื่องที่เคยผ่านการอนุมัติจาก ครม. มาแล้วเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ที่ผ่านมา รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อนุมัติกรอบวงเงินรวมที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นมติ ครม. วันที่ 13 กันยายน 2554 อนุมัติกรอบวงเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2554/55 และ 2555/56 วงเงินรวมไม่เกิน 500,000 ล้านบาท (วงเงินเดิม) วิธีการจัดหาแหล่งเงินทุนมาจาก 2 ส่วน คือ กระทรวงคลังเป็นผู้จัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. วงเงิน 410,000 ล้านบาท และใช้เงินทุนหมุนเวียนของ ธ.ก.ส. อีก 90,000 ล้านบาท ซึ่งมีผลสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2556

ครั้งที่ 2 ครม. มีมติเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 อนุมัติกรอบวงเงินรวมที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2556/57 วงเงินไม่เกิน 270,000 ล้านบาท เพื่อให้ ธ.ก.ส. นำมาใช้รับจำนำข้าวในปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป

ด้านนางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาท ถือเป็นกรอบวงเงินใหม่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรอบวงเงินเดิม 5 แสนล้านบาท โดยภายใต้กรอบวงเงินใหม่ 270,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. เงินกู้ก้อนใหม่ที่ สบน. เป็นผู้จัดหา วงเงิน 130,000 ล้านบาท 2. งบประมาณแผ่นดิน 3. รายได้จากการระบายข้าวและ 4. สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ซึ่งในส่วนนี้มติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 ไม่ได้กำหนดวงเงินเอาไว้ แต่ในหลักการก็ควรใช้วงเงินเดิม คือ 90,000 ล้านบาท หลังจาก ครม. รับทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ทาง สบน. จะเริ่มทยอยกู้เงินให้ ธ.ก.ส. นำเงินไปจ่ายให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2556/57

“ยืนยันว่าเกษตรกรที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/57 ได้รับเงินทุกคน แต่การดำเนินการรับจำนำข้าวในปีนี้ต้องพยายามควบคุมวงเงินไม่ให้เกิน 270,000 ล้านบาท หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินเกินวงเงินดังกล่าว คงต้องรอฟังนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะดำเนินโครงการนี้ต่อไปหรือไม่” นางสาวจุฬารัตน์กล่าว

นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

นางสาวจุฬารัตน์กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนกรอบวงเงินเดิม 500,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีเงินกู้ที่ สบน. ต้องจัดหาให้ ธ.ก.ส. 410,000 ล้านบาท ถึงแม้จะปิดบัญชีไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2556 แต่ สบน. ยังจัดหาให้ ธ.ก.ส. ไม่ครบ กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องกู้เงินอีก 13,000 ล้านบาท ชำระคืนให้กับ ธ.ก.ส. กรณีที่มีการสำรองจ่ายเงินให้กับเกษตรกรไปก่อน สำหรับเงินกู้ที่ สบน. จัดหาให้ ธ.ก.ส. ไปแล้วกว่า 300,000 ล้านบาท ก็ต้องบริหารจัดการกันต่อไป

“ที่ผ่านมา สบน. ได้ดำเนินการกู้เงิน 13,000 ล้านบาทไปแล้ว แต่ช่วงที่กำลังจะลงนามในสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงิน ปรากฏว่าดอกเบี้ยแพงมาก จึงชะลอแผนการกู้เงินดังกล่าวเอาไว้ก่อน ซึ่งแผนการกู้เงินดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว สามารถดำเนินการกู้เงินต่อไปได้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะครั้งนี้มีทั้งการปรับเพิ่มและปรับลดวงเงินกู้ในโครงการลงทุนหลายโครงการ โดยสรุปแล้วลดมากกว่าเพิ่ม ทำให้ภาพรวมของแผนการบริหารหนี้ลดลงไป 5,000 ล้านบาท” นางสาวจุฬารัตน์กล่าว

อ่านจดหมายเปิดผนึก”นิพนธ์” จี้กกต. – ป.ป.ช. ตรวจสอบคลัง “ลักไก่ – แหกกฏกติกาการคลัง” กู้จำนำข้าวล็อตใหม่ 1.3 แสนล้าน