ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กระบวนการลงทุนโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน “กลับหัวกลับหาง” ขั้นตอนบิดเบี้ยวผิดระเบียบสำนักนายกฯ

กระบวนการลงทุนโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน “กลับหัวกลับหาง” ขั้นตอนบิดเบี้ยวผิดระเบียบสำนักนายกฯ

12 ธันวาคม 2013


คัดค้านโครงการน้ำ3.5 แสนล้าน จ.สมุทรสงคราม ที่มาภาพ :ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กจับตาแม่น้ำใหม่ อย่าทำร้ายสายน้ำแม่กลอง
คัดค้านโครงการน้ำ3.5 แสนล้าน จ.สมุทรสงคราม ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กจับตาแม่น้ำใหม่ อย่าทำร้ายสายน้ำแม่กลอง

กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หรือโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย โดยใช้งบประมาณ 184.64 ล้านบาท เพิ่งเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556 โดยแต่ละพื้นที่ได้กำหนดจำนวนประชาชนไว้ล่วงหน้าว่าต้องการกี่คน ทำให้ในหลายพื้นที่ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ ต้องอยู่นอกห้องประชุม เพราะเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ เนื่องจากหน่วยงานต้องจ่ายเงินให้ผู้เข้าร่วมประชุมคนละ 400 บาท และในหลายพื้นที่มีประชาชนไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว ได้เคลื่อนไหวประท้วงคัดค้าน ขณะที่นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำแล­ะอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ระบุชัดเจนว่า แม้จะมีการคัดค้าน แต่โครงการนี้จะเดินหน้าต่อไป นอกจากนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า ขั้นตอนการทำโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐในครั้งนี้ กระบวนการทำโครงการ ทำแบบ”กลับหัวกลับหาง” ไม่เป็นไปตามระเบียบการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่เคยดำเนินการมา

งบประมาณดำเนินการรับฟังความคิดของประชาชน

จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ของไทยเมื่อปลายปี 2554 ทำให้รัฐบาลออกระเบียบสำนักนายกฯ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำหลายฉบับ และตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ๆ ขึ้นมาดูแลปัญหาด้านการจัดการน้ำโดยเฉพาะ เริ่มจากการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการอื่นๆ อีกหลายชุด รวมถึงการออก พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการก่อสร้างโครงการต่างๆ ทั้ง 10 โมดูล

พร้อมกันนี้มีข้อกังขาถึงความไม่โปร่งใสในขั้นตอนดำเนินงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี 2555 เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นขั้นตอนพิเศษที่อาจมิชอบด้วยกฎหมาย จนเกิดการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและมีคำพิพากษาให้รัฐบาลต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนลงนามสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง

ตามข้อวิพากษ์ว่ากระบวนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่”กลับหัวกลับหาง”นั้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 การทำโครงการขนาดใหญ่ของรัฐจะต้องเริ่มต้นจากการศึกษาแผนงานหรือโครงการที่จะก่อสร้าง รวมถึงศึกษาผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นจากโครงการนั้นๆ เมื่อศึกษาครบทั้งหมดแล้วต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) แล้วส่งต่อให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเพื่ออนุมัติหรือส่งกลับแก้ไขเพิ่มเติม หลังจากนั้นจึงมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ประชาชนเห็นด้วย จึงสามารถออกแบบโครงการ และจัดประกวดราคาได้ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องทำโดยรัฐบาล เมื่อรัฐบาลประกวดราคาได้เรียบร้อยแล้ว บริษัทเอกชนที่ประมูลราคาได้ก็จะเข้ามาก่อสร้างตามที่รัฐบาลกำหนดไว้

เปรียบเทียบขั้นตอนการดำเนินโครงการของภาครัฐ

แต่สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 นั้นแตกต่างกับระเบียบสำนักนายกฯ พ.ศ. 2535 กล่าวคือ รัฐบาลมีหน้าที่จัดประกวดราคาเพียงอย่างเดียว และขั้นตอนที่เหลือกำหนดให้เอกชนทำทั้งหมด ตั้งแต่ศึกษาผลกระทบของโครงการ ทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ออกแบบโครงการก่อสร้าง กำหนดราคากลางและก่อสร้างโครงการ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2554 ที่ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 และแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 รัฐสภารับรองพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ พ.ศ. 2555 เพื่อขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งมีผลทางกฎหมายภายในวันที่ 30 กันยายน 2556

หลังจากนั้นจึงออกระเบียบและแต่งตั้งคณะกรรมการหลายชุดเพื่อขับเคลื่อนโครงการในวงเงิน 3.5 แสนล้าน โดยออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2555 โดยประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 และแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ขึ้น

ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2555 ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ 2555 และตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคต (กยอ.) ขึ้น

หลังจากนั้น กยน. ได้ทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขึ้นมา สรุปแล้วมีทั้งหมด 10 โครงการ 9 โมดูล ดังนี้

โมดูล A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง, ยม, น่าน, สะแกกรัง และป่าสัก

โมดูล A2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

โมดูล A3 การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือ จ.นครสวรรค์ เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว

โมดูล A4 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่แม่น้ำยม, น่าน และเจ้าพระยา

โมดูล A5 การจัดทำทางผันน้ำ (Flood diversion channel)

โมดูล A6 และ B4 ระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ

โมดูล B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ

โมดูล B2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ

โมดูล B3 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ

โครงการต่างๆ เปิดประมูลไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 และประกาศผลเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 โดยผลการประมูลปรากฏว่ามีบริษัทต่างๆ ชนะการประมูลดังนี้

ผลการประมูลโครงการน้ำ (1)

วันที่ 27 มิถุนายน 2556 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้รัฐบาลกลับไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอก่อนลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชน ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และกลุ่มประชาชน รวม 45 คน ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, กยน., กบอช. และ กบอ.

ในขณะที่นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้แบบมีระยะเวลา (term loan) เป็นครั้งที่ 2 วงเงิน 324,606 แสนล้านบาท กับธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย ก่อนที่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ พ.ศ. 2555 จะหมดอายุในวันที่ 30 กันยายน 2556

จากคำสั่งศาลทำให้รัฐบาลจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้นทุกจังหวัดของประเทศไทยระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม ถึง 6 ธันวาคม 2556 โดยมีจังหวัดที่มีโครงการรวม 36 แห่ง และจังหวัดที่ไม่มีโครงการอีก 41 แห่ง

นี่คือขั้นตอนดำเนินการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ 3.5 แสนล้านบาท