ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” เสนอ กลับไปเลือกตั้งแล้วแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อรองรับสภาประชาชน และจุดยืนธรรมศาสตร์ห้องเรียนประชาธิปไตย

“วรเจตน์ ภาคีรัตน์” เสนอ กลับไปเลือกตั้งแล้วแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อรองรับสภาประชาชน และจุดยืนธรรมศาสตร์ห้องเรียนประชาธิปไตย

4 ธันวาคม 2013


รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์(ถือไมค์) นายประจักษ์ ก้องกีรติ (ซ้ายสุด)และคณาจารย์ร่วมบรรยาย "ธรรมศาสตร์บรรยายสาธารณะ: ห้องเรียนประชาธิปไตย"   ที่มาภาพ : วัศพล  ศิริวัฒน์
รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์(ถือไมค์) นายประจักษ์ ก้องกีรติ (ซ้ายสุด)และคณาจารย์ร่วมบรรยาย “ธรรมศาสตร์บรรยายสาธารณะ: ห้องเรียนประชาธิปไตย” ที่มาภาพ : วัศพล ศิริวัฒน์

จากเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งยังไม่ข้อสรุปว่าจะมีทางออกอย่างไร ในเรื่องนี้ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ความเห็นต่อทางเลือกเกี่ยวกับการตั้งสภาประชาชนตามข้อเสนอของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)ว่าในทางรัฐธรรมนูญแล้วการตั้งสภาประชาชนเป็นไปไม่ได้ เหตุผลเพราะว่า ถ้าหากจะมี ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสียก่อน คือ ถ้าไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่คิดขึ้นเอง โดยที่ไม่มีช่องทางทางกฎหมายรองรับ

“อาจจะมีคนบอกว่า ถ้ามีการยุบสภาแล้วคณะรัฐมนตรี ( ครม. ) ก็จะพ้นจากตำแหน่งพร้อมกันทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญบังคับเป็นหน้าที่ว่า ครม. ชุดนั้นจะต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ หมายถึงว่า ต้องเกิดการเลือกตั้ง แล้วก็มีการตั้ง ครม. แล้ว ครม. ชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ ชุดที่รักษาการณ์ก็จะพ้นจากตำแหน่งไป ในกระบวนการนี้มันไม่เปิดช่องให้มีการใช้อำนาจอันอื่นมาแทรกได้ ทีนี้ ก็อาจจะมีคนเสนอว่า ก็อย่างนี้ไง ก็ยุบสภา แล้วก็ให้ ครม.รักษาการณ์ลาออกอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ไม่มี ครม.รักษาการณ์ เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งผู้เข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีจากที่อื่นได้ ข้อเสนอแบบนี้มันก็ไม่มีบทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญรองรับอีก เพราะว่าตำแหน่งมันก็คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

รศ.ดร.วรเจตน์ให้ความเห็นต่อว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ ครม.รักษาการณ์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ก็ต้องเอาฝ่ายประจำ ก็คือปลัดกระทรวงขึ้นมาทำหน้าที่แทน ไม่ใช่ตั้งจากที่อื่นเข้ามา เพราะว่าอย่างปลัดกระทรวงมีอำนาจตามกฎหมาย คือทำหน้าที่รักษาการณ์ไปเพื่อรอการเลือกตั้งแล้วเกิด ครม. ใหม่ อันนี้คือการแก้ปัญหาไปตามหนทางทางกฎหมายและชอบธรรมในทางกฎหมายด้วย ส่วนการแก้ปัญหาอย่างอื่น เช่น การไปเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยคำกราบทูลของวุฒิสภา ก็ไม่มีตัวบทกฎหมายรองรับ รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกเอาไว้ เป็นการอ้างขึ้นมาเองลอยๆ ทำไม่ได้ทางกฎหมาย

“ทีนี้ ประเด็นที่กปปส. ต้องการก็คือ ต้องการให้ ครม.รักษาการณ์นี่มันหายไปด้วย เพื่อทำให้เกิดสุญญากาศ แล้วเพื่อให้วุฒิสภานี่ทำหน้าที่เลือกนายกฯ ซึ่งมันไม่มีรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้แบบนั้น ผมมีความเห็นว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องเอาบรรดาปลัดกระทรวงขึ้นมาทำหน้าที่ถึงจะถูกต้อง ไม่ใช่เอาใครก็ได้มาตั้งนายกฯ แล้วก็ไม่รู้ว่าตั้งไปนานแค่ไหน อำนาจในทางกฎหมายมาจากไหนก็ไม่รู้ มันไม่มี แล้วผู้ทำหน้าที่นายกฯ ก็ไม่มีกฎหมายรองรับอำนาจในทางกฎหมาย”

รศ.ดร.วรเจตน์ให้ความเห็นว่า”ทางออก มันก็ต้องเลือกตั้ง สุดท้ายมันก็ต้องเลือกตั้ง เพราะเลือกตั้งทุกคนก็ต้องไปเลือกนะครับ แล้วมันก็เป็นการถามด้วย เพราะอ้างประชาชนไม่ใช่เหรอ ก็กลับไปถามประชาชนไง ใช่ไหมครับ หลังจากนั้นก็มาเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ แล้วตอนเลือกตั้งนี่สามารถถามไปด้วยก็ได้ เรื่องทำประชามติ ว่าควรจะมีการแก้รัฐธรรมนูญไหม แล้วก็รณรงค์กันไปว่ามันต้องแก้เพื่อตั้งสภาประชาชน เปลี่ยนกฎเกณฑ์ว่าเอานายกฯ ไม่ต้องมาจาก ส.ส. ก็ได้ มันต้องไปผ่านตรงนั้นไม่ ใช่มาตัดตอนตรงกลางแบบนี้โดยไม่มีที่มาที่ไป”

นอกจากนี้ นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่า ตอนนี้มาถึงจุดที่ทุกฝ่ายก็รู้แล้วว่าไม่มีใครที่จะสามารถแอบอ้างประชาชนได้ เพราะว่าการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่การต่อสู้ของรัฐกับประชาชน เราไม่สามารถเอากรอบแบบ 14 ตุลา มาใช้ได้ ตอนนี้ประชาชนเองก็แตกกัน มีประชาชนที่หนุนรัฐบาลนี้อีกอย่างน้อยก็ 15 ล้านเสียง ถ้ามีการล้มรัฐบาลด้วยการใช้กำลังบังคับหรือวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่ล้มนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่มันคือการปฏิเสธเสียงอีก 15 ล้านเสียง ว่าสิทธิการเลือกตั้งของเขามันไม่มีความหมาย

นายประจักษ์กล่าวต่อว่า “เราก็ต้องฟังเสียงประชาชนให้ครบทุกกลุ่ม ประชาชนไม่ได้มีแค่ที่ศูนย์ราชการฯ, กระทรวงการคลัง หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเท่านั้น เราจะไม่นับประชาชนที่ราชมังคลาฯ เป็นประชาชนเหรอ โดยยืนยันว่าสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ว่า ถ้าจะเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องเคารพเสียงของคนอื่นและอย่าดูถูกคนอื่นด้วย ฉะนั้น การที่ไปคุกคามสื่อ หรือไปคุกคามคนที่เห็นต่าง เที่ยวไปไล่เป่านกหวีดนี่ก็ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าเป็นนักประชาธิปไตยจริง ต้องพร้อมที่จะยอมรับความต่างทางความคิด”

นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมฟังบรรยาย "ธรรมศาสตร์บรรยายสาธารณะ: ห้องเรียนประชาธิปไตย"  ที่มาภาพ : วัศพล  ศิริวัฒน์
นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมฟังบรรยาย “ธรรมศาสตร์บรรยายสาธารณะ: ห้องเรียนประชาธิปไตย” ที่มาภาพ : วัศพล ศิริวัฒน์

“ธรรมศาสตร์บรรยายสาธารณะ: ห้องเรียนประชาธิปไตย”

สืบเนื่องจากที่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศให้งดการเรียนการสอนและการทำงานทุกศูนย์การศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ ท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์พัทยา และศูนย์ลำปาง เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2556 และต่อมาได้ขยายเวลาในการหยุดเพิ่มอีก 2 วัน คือ วันอังคารที่ 3 และวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2556 โดยให้เหตุผลว่า ตามที่สถานการณ์ทางการเมืองในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัดได้พัฒนาไปสู่ความรุนแรง โดยมีการใช้อาวุธทำร้ายผู้ชุมนุมจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายแล้ว โดยผู้รักษากฎหมายมิได้ทำหน้าที่ของตัวเองแต่ประการใด อีกทั้งมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะขยายตัวไปมากยิ่งกว่าเดิมจนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนและการทำงาน

ทำให้มีนักศึกษาบางกลุ่มและคณาจารย์บางคนออกมาคัดค้านการประกาศหยุดการเรียนการสอนในครั้งนี้ โดยจัดเวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ “ธรรมศาสตร์บรรยายสาธารณะ: ห้องเรียนประชาธิปไตย” เมื่อวันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. ณ ลานอาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ (SC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีอาจารย์หลายคนเข้าร่วมการบรรยาย อาทิ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร, นางสาวสาวตรี สุขศรี และนายประจักษ์ ก้องกีรติ

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เริ่มต้นกล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศหยุดการเรียนการสอนในครั้งนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยย่อมมีสิทธิ เสรีภาพ ในฐานะประชาชนที่จะแสดงความเห็น แต่ในทางกลับกัน เมื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย ก็ย่อมมีอำนาจในทางกฎหมาย ไม่ใช่เป็นประชาชนธรรมดา ฉะนั้น เมื่อจะสั่งหรือประกาศสิ่งใด ก็ควรจะต้องใช้ดุลยพินิจแบบมีเหตุมีผลด้วย

การที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกมาแสดงความเห็นโดยอ้างชื่อมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ ถ้าจะอ้างก็ต้องมีการประชุมประชาคมเสียก่อน ซึ่งในกรณีดังกล่าวนั้นไม่มี นอกจากนี้ การประกาศในนามมหาวิทยาลัย ยังนำไปสู่การแสดงออกว่าทุกคนในธรรมศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนการปกครองที่ไม่ได้เป็นไปในทางประชาธิปไตย ซึ่งตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า “อธิการบดีไม่ใช่เจ้าของมหาวิทยาลัย”

การประกาศหยุดการเรียนการสอนทั้ง 4 ศูนย์ คือ ท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์พัทยา และศูนย์ลำปาง สร้างคำถามที่น่าสนใจไว้ว่า เหตุใดศูนย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ท่าพระจันทร์ถึงต้องหยุดการเรียนการสอนด้วย เพราะนอกจากจะไม่ใช่พื้นที่ที่มีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินแล้วยังอยู่ห่างไกลกับที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอีกด้วย จึงไม่น่ามีเหตุผลใดๆ ที่จะทำการหยุดการเรียนการสอน

ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร กล่าวเสริมว่า “การหยุดเรียนควรเป็นไปเพื่อความปลอดภัยของนักศึกษา ไม่ใช่เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง” และทิ้งท้ายว่า อย่าเหมารวมทั้งมหาวิทยาลัยว่าจะมีความคิดเห็นแบบเดียวกัน

นายประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยประกาศให้มีการหยุดการเรียนการสอน อาจเป็นการรับรองการกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยห้ามไม่ให้อาจารย์มาสอนหนังสือ ซึ่งสุดท้ายแล้ว คำสั่งของอธิการบดีจะเป็นคำสั่งที่มีเจตนารมณ์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารและอธิการบดีมหาวิทยาลัยต้องตอบให้ได้