ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > เมื่อสิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง พิษชนชั้นการเมือง “ตั๊น” ต้องลา “ภิรมย์ภักดี” คืนอ้อมอก “กฤดากร” ย้อนรอย 5 ราชตระกูลในการเมืองไทย

เมื่อสิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง พิษชนชั้นการเมือง “ตั๊น” ต้องลา “ภิรมย์ภักดี” คืนอ้อมอก “กฤดากร” ย้อนรอย 5 ราชตระกูลในการเมืองไทย

25 ธันวาคม 2013


จิตภัสร์ กฤดากร ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
จิตภัสร์ กฤดากร ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

คำโบราณว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง” ยังใช้ได้ในสังคมไทยในยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์กครอบครองอำนาจการสื่อสาร และมีพลานุภาพการทำลายล้างสูง ถึงขนาดที่ทำให้ น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี ลูกหลานพ่อค้า ในศักดินาระดับ “พระยาภิรมย์ภักดี”ต้องถอนพิษการเมืองด้วยการลาออกจากตระกูลพ่อค้าฝ่ายพ่อ กลับไปสังกัด “ราชสกุลกฤดากร” ฝ่ายแม่ ผู้ซึ่งสืบสาแหรกมาจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ พระโอรสในรัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดากลิ่น

เพราะมีการอ้างถึงคำสั่งเสียจากเจ้าพระยาภิรมย์ภักดี ที่ให้ไว้แก่คนในตระกูลราชาน้ำเมายี่ห้อเบียร์สิงห์ ว่าไม่อยากให้ลูกหลานเข้าสู่แวดวงทางการเมืองหากตัดสินใจทำการค้า และเห็นว่าธุรกิจไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งโดยวัฒนธรรมของตระกูลภิรมย์ภักดี ก็ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับวงการเมือง

คำพูดพลาดของ น.ส.จิตภัสร์ บุตรสาวของ ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี (กฤดากร) และ นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ที่พาดพิงคนชนบท มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางปัญญา และปัญหาระดับความรับรู้เรื่องประชาธิปไตย ของคนในเมืองและคนชนบท จึงทำให้ชะตากรรมของผู้หญิงวัย 28 ปี ต้องถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ทั้งชีวิต และหน้าที่การงาน ในถนนการเมือง

ตามรอย คนในราชตระกูล “โสณกุล-บริพัตร-เทวกุล และสวัสดิวัตน์” คนการเมือง จาก 4 ราชตระกูล ที่สืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 4 ซึ่งเคยฝ่ามรสุมการเมืองมาแล้วหลายสมัย ทั้งยุคการเมืองหลังอำนาจรัฐประหาร และยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ และคนเคยเฉียดใกล้พรรคใหญ่-เก่าแก่อย่างพรรคชาติไทย

และแม้ว่าภาวะวิกฤติการเมืองไทยจะซับซ้อนเพียงใด อำนาจวาสนาในหอคอยการเมือง ยังคงหอมหวาน เย้ายวน ให้บรรดาราชตระกูล ราชนิกูล และเหล่าอำมาตย์ กระโจนเข้าสู่เกมอำนาจ ทุกยุค ทุกสมัย

บรรดาหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง จากราชตระกูลทั้งหลาย จึงยังเป็นที่ต้องการของพรรคการเมืองที่เกิดใหม่ และพรรคการเมืองเก่าแก่

เช่นเดียวกับบรรดา “เจ้าพระยา” ที่ได้รับพระราชทาน “บรรดาศักดิ์” จนกลายเป็นตระกูลคหบดีเก่าแก่ แม้บางตระกูลจะข้ามน้ำข้ามฟ้าขึ้นเรือสำเภามาจากเมืองจีนโพ้นทะเล

หากสืบสาวสาแหรก จากย่านเกาะรัตนโกสินทร์ ในวังบางขุนพรหม วังเทเวศน์ วังสวนผักกาด และวังเทวะเวสม์ ล้วนเคยเป็นแหล่งชุมนุมนักกิจกรรม นักคิด และนักการเมือง ที่สืบเชื้อสายจากราชตระกูลสายบริพัตร โสณกุล และ เทวกุล

เฉพาะตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจาก “พระเจ้าแผ่นดิน” ในรัชกาลที่ 4 ก็มีไม่ต่ำกว่า 17 ต้นตระกูล ที่ยังรับใช้ชาติบ้านเมือง

อาทิ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต แห่งวงศ์ราชตระกูล “บริพัตร” ทรงเคยดำรงตำแหน่งต่างๆ อาทิ ตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ องคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 6 และเป็นองคมนตรี อภิรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ในสมัยรัชกาลที่ 7

หรือจะเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ แห่งราชตระกูล “เทวกุล” ทรงเคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญของ “บ้านเมือง” หลายตำแหน่ง อาทิ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ นายกสภาการคลัง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

และพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา แห่งราชตระกูล “โสณกุล” ที่เคยเป็นราชองครักษ์ และข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณ มณฑลพายัพ รับผิดชอบจัดการป้องกันหัวเมืองชายแดนด้านตะวันตกของเชียงใหม่

ส่วน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ แห่งราชตระกูล “สวัสดิวัตน์” นั้น ทรงเคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และได้ปรับปรุงกิจการศาลแบบเก่า ในสมัยรัชกาลที่ 6

กล่าวได้ว่า 4 ราชตระกูลดังของประเทศไทย ที่สืบจากเชื้อแห่ง “รัชกาลที่ 4” ทั้ง “บริพัตร” “เทวกุล” “โสณกุล” “สวัสดิวัตน์” และ “อัมระนันทน์” นั้น มีทายาทที่เจริญรอยตามอยู่ในแวดวงการเมืองไทยมาหลายชั่วอายุคน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่มาภาพ : http://www.oknation.net
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่มาภาพ : http://www.oknation.net
ทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ล้วนสืบเชื้อชายมาจากรัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาเดียวกันคือ เปี่ยม (สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา)

เพราะทั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเป็น “เสด็จปู่” ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ที่เป็น “เสด็จตาทวด” ของ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ล้วนเป็นโอรสของ “เจ้าจอมมารดาเปี่ยม”

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ (ซ้ายสุด)ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กPiyasvasti Amranand
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ (ซ้ายสุด)ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กPiyasvasti Amranand

เช่นเดียวกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล “คุณชายเต่า” ที่สืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาวาด กัลยาณมิตร (ท่านท้าววรจันทร์) ซึ่งเป็นพระมารดาของพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ต้นตระกูล “โสณกุล” นั้นเป็น “ยายทวด” ของ “คุณชายเต่า”

ส่วนหนึ่งของชีวิตของ “คุณชายเต่า” ก็ย่อมต้องมีเชื้อสายจากตระกูล “กัลยาณมิตร”

“คุณชายเต่า” ยังมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับ “คุณชายสุขุมพันธุ์” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร นั้น ระดับ “ลูกพี่ลูกน้อง”

“ม.ล.อภิมงคล โสณกุล” จึงได้สานต่อ ลงรับสมัคร ส.ส. ในเขตเลือกตั้งเดิมต่อจาก “คุณชายสุขุมพันธุ์” ซึ่งเป็น “ญาติฝ่ายพ่อ”

เพราะทั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน “ท่านแม่” ของ “คุณชายเต่า” กับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ “ท่านพ่อ” ของ “คุณชายสุขุมพันธุ์” ล้วนเป็นโอรสและธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์พินิต ต้นตระกูล “บริพัตร”

“ท่านแม่” ของคุณชายเต่านั้น นับเป็นสตรีท่านแรกที่เปิดร้านอาหารไทยแห่งแรกในประเทศอังกฤษ ในนาม “Thai rice”

ส่วน “สายแม่” ของ “ปิยสวัสดิ์” ม.ร.ว.ปิ่มสาย สวัสดิวัตน์ นั้น สืบเชื้อสายโดยตรงมาจาก “ท่านชิ้น” หรือ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ก่อนที่จะแต่งงานไปร่วมสายกับ “อัมระนันทน์”

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่มาภาพ : http://news.mcot.net
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่มาภาพ : http://news.mcot.net

“วงญาติ” ในเจเนอเรชันที่ 4 ที่สืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 4 ทั้ง 4 คน มีแนวโน้มสูงยิ่ง ที่จะปักหลักอยู่กับวงการเมือง

ทั้ง ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล เคยฝักไฝ่ฝ่ายประชาธิปัตย์ แต่มีเรื่องขัดใจกันจนต้องไปถอนเงินบริจาคออกจากพรรค และเคยถูกทาบทามให้เข้าสังกัดพรรคชาติไทย ของนายบรรหาร ศิลปอาชา

โดยมี ม.ล.อภิมงคล โสณกุล ที่ประจำอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ มาแล้ว 3 สมัย

ส่วนนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ก็เคยร่วมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ยุคหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

เช่นเดียวกับบุคลากร “รุ่นพ่อ” ก็เป็นที่หมายปองของหัวหน้าพรรคการเมือง ทั้งประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีคู่บารมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ยุครัฐประหาร ที่บัดนี้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ลำดับที่ 3

โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธรนั้น เป็นที่ชัดเจนว่า “นายบรรหาร ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เคยตีตราจองมาตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเคยถูกแกนนำพรรคเพื่อไทย ทาบทามให้เข้าร่วมวงเป็นรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ แต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรปฏิเสธ

ส่วน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นั้นถูก “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทาบทามขอให้มาช่วยเป็นทีมงาน “ด้านเศรษฐกิจ” ต่อเนื่องมา ตั้งแต่ยุค “ประชาธิปัตย์ผลัดใบ”

เฉพาะนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ปรากฏตัวถ่ายรูปในม็อบคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ก็มีสายสัมพันธ์อันดีกับ “ประชาธิปัตย์” และแนบแน่นเป็นยิ่งนักกับฝ่ายภรรยาที่ชื่อ อานิก อัมระนันทน์ ผู้ดำรงตำแหน่งอดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร(คนกลาง เสื้อสีน้ำเงิน) ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร(คนกลาง เสื้อสีน้ำเงิน) ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ไม่ต้องนับรวมว่าทายาทแห่งตระกูล “บริพัตร” อย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่เข้าสู่วงการเมืองด้วยการเป็น “ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 17 แล้วเข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มานานกว่า 2 ทศวรรษ บัดนี้มีตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และยังควบรวมตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคอีกด้วย

ทั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ต้นตระกูล “เทวกุล”

และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ต้นตระกูล “สวัสดิวัตน์”

กับพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ต้นตระกูล “โสณกุล”

และล่าสุด ทายาทแห่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ สายตระกูล “กฤดากร”

ล้วนสืบเชื้อสายสาแหรกมาจากรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 และทั้ง 5 ตระกูลล้วนมี “ทายาท” ที่ใกล้ชิด วนเวียน อยู่ในวงการเมืองทั้งสิ้น