ThaiPublica > คอลัมน์ > ข้อเสนอทางออกประเทศไทย…ผ่านข้อตกลงประกอบการยุบสภา

ข้อเสนอทางออกประเทศไทย…ผ่านข้อตกลงประกอบการยุบสภา

5 ธันวาคม 2013


สมชัย จิตสุชน

ผมอยากเชิญชวนให้ใช้ช่วงเวลาพักรบที่หายากนี้ช่วยกันระดมสมอง ว่าพอจะมีข้อตกลงทางการเมืองที่สามารถ ‘แนบ’ ไปพร้อมกับการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภาที่พอจะเป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย (ไม่ใช่แค่สองฝ่าย) ได้หรือไม่ เพราะเกรงว่าการเสนอให้ยุบสภาโดยไม่มีเงื่อนไขอาจยังไม่เพียงพอต่อการทำให้เหตุการณ์สงบยาวนานพอจะเห็นบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้าได้บ้าง แม้จะก้าวช้า ๆ ก็ตาม

ผมคิดว่าข้อตกลงประกอบการยุบสภาต้องมีคุณสมบัติ (ก) คงไว้ซึ่งหลักการ ประชาธิปไตยเสียงข้างมาก และ (ข) ลดข้อบกพร่องในทางปฏิบัติของการใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ‘เพียงอย่างเดียว’ เช่น รัฐสภามิได้ดำเนินการสอดคล้องกับหลักพื้นฐานของประชาธิปไตยในการรับรองสิทธิ์และเสรีภาพของทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะผ่านการใช้เสียงข้างมากละเมิดนิติรัฐ นิติธรรม หรือการไม่รับฟังข้อท้วงติงใดๆ เลยในการออกนโยบายที่สำคัญๆ ของประเทศ ซึ่งหลายครั้งชัดเจนว่ากระทำการเช่นนั้นเพื่อประโยชน์ของผู้กุมอำนาจ ‘จำนวนน้อย’ เป็นหลัก จนนำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน

ความจริงแล้วคุณสมบัติข้างต้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคือสิ่งที่ รัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2540 และ 2550 คำนึงถึงมาก่อนแล้ว แต่ประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าทั้งสองฉบับล้วนมีจุดบกพร่อง ไม่ว่าจะในการบังคับใช้หรือมีจุดอ่อนในหลักการพื้นฐาน เช่น รธน. ปี 40 ที่ไม่สามารถป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิดของฝ่ายบริหารได้จริง ในขณะที่ รธน. 2550 ก็มีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ดังนั้น ในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นการแสวงหา รธน. ใหม่ที่ปรับปรุงและแก้ปัญหาของ รธน. ทั้งสองฉบับดังกล่าว

และนี่คือข้อตกลงที่ควรมีประกอบการยุบสภา

ผมขอเสนอรายละเอียดข้อตกลงดังกล่าวอย่างนี้ครับ…

ให้ทุกพรรค (หรือพรรคที่มีที่นั่งสูงสุดในสภาผู้แทนปัจจุบัน 4 อันดับแรก) ให้สัตยาบันประกอบการยุบสภาว่า
(1) จะหาเสียงหลังยุบสภาโดยต้องมีข้อเสนอของพรรคเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นในเรื่องนี้เป็นขั้นแรกผ่านการเลือกพรรคการเมือง
(2) หลังเลือกตั้ง ให้รัฐสภาใหม่จัดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มีสมาชิกตามสัดส่วนที่นั่งแต่ละพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมา โดยสมาชิก สสร. ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. แต่ให้เสนอชื่อโดยพรรคการเมือง และต้องตั้ง สสร. นี้ภายในเวลาไม่เกินหนึ่งเดือนหลังจากมีรัฐสภาใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าสู่บรรยากาศการปฏิรูปอย่างรวดเร็ว
(3) ให้ สสร. ออกแบบ ถกเถียง และสุดท้าย ออกเสียงลงมติรับรอง รธน. ใหม่โดยต้องได้รับเสียง 2/3 หรือ 3/4 ของสมาชิก สสร. (ไม่แน่ใจว่าควรเป็นเท่าไร มีทั้งข้อดีและข้อเสีย) อันนี้ปรับใช้แนวทางการแก้รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ที่่ต้องได้เสียงถึง 4/5 ของรัฐสภาจึงจะแก้ได้ ซึ่งผมชอบเพราะ รธน. เป็นกฎหมายใหญ่ ควรได้รับการสนับสนุนด้วยเสียงข้างมากในลักษณะ super majority ไม่ใช่เพียงเกินกึ่งหนึ่งแบบ simple majority ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งในสังคมที่รุนแรง เช่น คนจำนวน 49% ของประเทศไม่เห็นด้วยกับสาระใหม่ของรัฐธรรมนูญ และออกมาต่อต้านตามท้องถนนในที่สุด
(4) เมื่อ รธน. ใหม่ร่างเสร็จก็ให้ทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนออกเสียงอีกรอบ โดยขั้นตอนนี้ใช้ simple majority ได้ และตรงกับที่ศาล รธน. เคยตั้งกฎไว้ว่าการแก้ รธน. ทั้งฉบับต้องขอประชามติ

แนวทางนี้ พรรคเพื่อไทยอาจไม่ชอบข้อ (3) ที่ต้องการเสียง 2/3 หรือ 3/4 ของ สสร. เพราะอาจกลัวตัวเองไม่ได้เสียงมากพอต่อการร่างเนื้อหา รธน. ใหม่ตามที่ตัวเองต้องการ แต่ภายใต้การกดดันของการชุมนุมและภาคส่วนอื่นในสังคมที่ต้องการเห็น ‘การปฏิรูปประเทศ’ พรรคเพื่อไทยอาจยอมไปวัดดวงในสนามเลือกตั้งเพราะคงยังเชื่อว่าจะได้เสียงข้างมากมากพอ ส่วนทางผู้ชุมนุมก็อาจพอใจว่าการแก้ รธน. ตามแนวทางนี้เสียงส่วนน้อยได้รับการเคารพสิทธิ์และมีโอกาสนำข้อเสนอปฏิรูปประเทศแทรกไว้ใน รธน. ฉบับใหม่ผ่านพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงส่วนน้อย

ไม่ต้องมีการจัดตั้งสภาประชาชนที่มีปัญหารูปแบบและที่มา และที่สำคัญคือ ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะสามารถออกแบบ ‘การปฏิรูป’ ที่ได้รับการยอมรับมากพอจนไม่ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงของอีกฝ่ายในที่สุด

เป็นไปได้ว่า กระบวนการร่าง รธน. ใน สสร. ที่เสนอข้างต้นจะลากยาว เพราะเสียงส่วนน้อยมีอำนาจวีโต้ (Veto) ระดับหนึ่ง แต่ผมคิดว่าการลากยาวไปบ้างไม่ใช่ข้อเสียหาย ดีเสียอีกที่สังคมโดยรวมสามารถใช้เวลาที่มีเพิ่มขึ้นนำเสนอข้อเสนอต่างๆ ให้ตกผลึกมากขึ้นแล้วนำเสนอ สสร. ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ต้องการยืนยันหลักการประชาธิปไตย หรือฝ่ายที่ต้องการเพิ่มเติมกระบวนการอื่นใน รธน. (ที่เรียกว่าการปฏิรูป) ที่ทำให้สังคมและเสียงข้างน้อยพอจะอยู่ร่วมกับการบริหารโดยรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากได้แม้จะไม่ชอบก็ตาม

โดยข้อเสนอปฏิรูปมีได้หลากหลายมาก เช่น การดูแลมิให้มีการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ การปรับปรุงระบบการตรวจสอบคอร์รัปชันที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ผ่านการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกำหนดให้ความผิดคอร์รัปชันไม่มีอายุความ เป็นต้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง การจำกัดการใช้นโยบายประชานิยม การรับประกันการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าของโครงการรัฐใหญ่ๆ ฯลฯ ล้วนสามารถนำเสนอสู่เวที สสร. ได้ ส่วนที่ว่าจะสามารถบรรจุใน รธน. ได้โดยตรงหรือควรอยู่ในรูปกฎหมายลูกที่ออกตาม รธน. (และมีเงื่อนปฏิบัติและเงื่อนเวลาให้มีการออกกฎหมายดังกล่าวจริง ไม่เหมือนกฎหมายลูก รธน. 50 หลายฉบับที่ปัจจุบันก็ยังไม่ออกมา จะทำได้อย่างไรผมไม่ทราบ ต้องให้ผู้รู้มาช่วยคิดอีกที)

ช่วยๆ กันคิดครับ ยินดีรับฟังทุกท่านว่าควรปรับแก้ตรงไหนอย่างไร ไม่อยากเห็นเพียงข้อเสนอให้ยุบสภาเฉยๆ ที่ไม่ตอบโจทย์ฝ่ายผู้ชุมนุม (ซึ่งหลายส่วนเป็นโจทย์ประเทศด้วย) ในขณะที่ก็ชักจูงมิให้ผู้ชุมนุมเสนอข้อเสนอแนะที่นอกหลักการจนเดินหน้าไม่ได้ หากเงื่อนไขข้างบนได้รับการปรับปรุงจนพอจะเป็นที่ยอมรับกันได้ในวงกว้างระดับหนึ่ง ประเทศอาจหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้แม้จำนวนผู้ชุมนุมอาจเหลือไม่กี่พันคนหลังการยุบสภาแบบไม่มีข้อตกลง

ไม่อยากเห็นการสูญเสียชีวิตอย่างไม่จำเป็นอีกแล้ว…