ThaiPublica > สัมมนาเด่น > ThaiPublica Forum เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..? : “สุทธาภา อมรวิวัฒน์” 3 ปมปัญหา”แรงงาน-การลงทุน-หนี้ครัวเรือน” บั่นทอนการเติบโตระยะยาว

ThaiPublica Forum เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..? : “สุทธาภา อมรวิวัฒน์” 3 ปมปัญหา”แรงงาน-การลงทุน-หนี้ครัวเรือน” บั่นทอนการเติบโตระยะยาว

1 ธันวาคม 2013


เสวนา ThaiPublica Forum ครั้งที่ 7 หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?วิทยากร ได้แก่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI), ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน),ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.),ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)และดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ KTC Pop เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556

เสวนาThaiPublica Forum ครั้งที่ 7  หัวข้อ "เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?" เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ณ KTC POP
เสวนาThaiPublica Forum ครั้งที่ 7 หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?” เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ณ KTC POP

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 สำนักข่าวไทยพับลิก้าจัดเสวนา ThaiPublica Forum ครั้งที่ 7 หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?” เนื่องด้วยประเทศไทยมีอาการถดถอยอย่างมีนัยสำคัญในด้านต่างๆ ดังรายงานของ World Economic Forum ปี 2556 รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีอัตราการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ สำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงเห็นว่าประเด็นการเติบโตอย่างยั่งยืนน่าจะเป็นเรื่องที่ควรหยิบยกมาเป็นหัวข้อเสวนาครั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงของประเทศอย่างรอบด้าน และมองแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้น

โดยวิทยากรที่เข้าร่วมในการเสวนาดังกล่าว ได้แก่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI), ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน),ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.),ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยดร.สุทธาภาได้นำเสนอต่อจากดร.เอกนิติซึ่งรายละเอียดของการเสวนามีดังนี้

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.สุทธาภา : ถ้าพูดถึงปัญหาระยะยาว ปัญหาสำคัญเรื่องแรกคือเรื่องแรงงาน อย่างที่ ดร.เอกนิติบอก แรงงานเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมาก และไม่ใช่แค่เรื่องจำนวนของแรงงาน การจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล เพราะภายใน 3-4 ปีข้างหน้า ตลาดแรงงานของเราจะเริ่มหดตัว และเริ่มพุ่งขึ้นขีดสุดในปี 2018-2019 หลังจากนั้นจะหดตัวลงไป แรงงานจะหายากขึ้น อย่างที่ ดร.เอกนิติบอกให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเปิดศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ก็จะหาคนงานยากขึ้นไปเรื่อยๆ จริงๆ แล้วเรามองเหมือนกัน เรื่องสังคมผู้สูงอายุ (aging society) เป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดปัญหากับแรงงาน เรื่องสังคมผู้สูงอายุทำให้แรงดึงดูดในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนลดลง

มาดูในเรื่องประสิทธิภาพของแรงงาน (labor efficiency) ทาง World Economic Forum จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 64 ส่วนประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซียอยู่อันดับที่ 25 สิงคโปร์อยู่อันดับ 1

การวัดประสิทธิภาพของแรงงาน เขาวัดกัน 2 เรื่อง คือ หนึ่ง เรื่องการจัดสรรแรงงานในพื้นที่ที่มีศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามทักษะและความสามารถของแรงงาน พบว่ามีการจัดสรรที่ไม่ค่อยดี และ สอง ความยืดหยุ่นในการว่าจ้างและลาออกมีความยืดหยุ่นขนาดไหน ประสิทธิภาพของแรงงานที่ต่ำส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการจ้างงานค่อนข้างมีปัญหา และแรงงานนอกระบบของไทยโตขึ้นเรื่อยๆ

แรงงานนอกระบบไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แรงงานนอกระบบถือเป็น “เบาะ” รองรับ อย่างในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ แรงงานในระบบที่มีปัญหากลุ่มนี้ไหลเข้าสู่แรงงานนอกระบบ ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น แรงงานเหล่านี้ก็ไหลกลับเข้ามาในระบบ

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แรงงานนอกระบบมีสัดส่วน 75% ของจำนวนประชากรไทย และค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ เมื่อเศรษฐกิจไทยเจริญเติบโต ภาคอุตสาหกรรมมีการว่าจ้างแรงงาน การจ้างงนอกระบบค่อยๆ ลดลงเหลือ 60% แต่ตอนนี้กระโดดกลับขึ้นไปที่ 64-65% ตัวนี้เป็นตัวอันตราย แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ จริงๆ แล้วการจ้างงานในระบบควรเพิ่มมากขึ้น

แรงงานนอกระบบ ณ ที่นี้หมายถึงใคร ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน กลุ่มแรก คือพวกที่เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็น กลุ่มที่ค่อนข้างเล็ก กลุ่มที่ 2 เป็นคนงานในครอบครัวที่ไม่รับเงินค่าจ้าง คนงานในบ้านของเรา กลุ่มที่ 3 แรงงานในธุรกิจขนาดเล็กที่มีคนงานไม่เกิน 5 คน และกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มค่อนข้างใหญ่ คือแรงงานนอกภาคการเกษตร ไม่ใช่ภาคเกษตรทุกคนเป็นแรงงานนอกระบบ แต่ 90% ของคนที่ทำงานในภาคเกษตรอยู่นอกระบบแรงงาน

ที่ผ่านมาแรงงานนอกระบบมีสัดส่วนลดลงจาก 75% เหลือ 60% แรงงานภาคเกษตรค่อยๆ หดตัว แรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้น ทำให้แรงงานภาคการเกษตรไหลเข้าไปสู่ในระบบ แต่ 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขแรงงานนอกระบบเริ่มกลับไปสูงเหมือนเดิม

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล(ซ้าย)ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์(กลาง) ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (ขวา)
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล(ซ้าย)ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์(กลาง) ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (ขวา)

ความวิตกกังวลคือ แรงงานนอกระบบที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรีมีจำนวนมากขึ้น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 20% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด หรือ 1 ใน 5 ของคนที่จบปริญญาตรี ปัจจุบันนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 30% ความหมายคือ คนจบปริญญาตรีมีโอกาสเข้ามาทำงานในระบบลดลง เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา คนจบปริญญาตรีมีโอกาสหางานทำในสายอาชีพที่ตนเรียนจบมา หรือตรงกับที่เรียนมา มีประมาณ 40%

กล่าวคือ ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 10 คน ประมาณ 4 คน ได้ทำงานในสาขาอาชีพที่เหมาะกับตัวเอง ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวมีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 23% ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าตกใจมาก

ปัจจุบันนี้คนจบปริญญาตรีค่อนข้างเยอะ หมายความว่า ทักษะของการเรียนไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ว่าจ้าง ในปีที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์เคยทำการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศประมาณ 400-500 ราย ถามว่าปัญหาของเขาคืออะไร ใช่ดอกเบี้ยหรือเปล่า ได้รับผลกระทบจากการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community: AEC) หรือไม่

แต่ปรากฏว่าปัญหา “ขาดแคลน” แรงงานเป็นปัญหาใหญ่ในลำดับต้นๆ จึงไม่แปลกใจที่ต้องขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แต่สิ่งที่พวกเขาตกใจมากกว่าคือเราไม่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างเป็นระบบว่าต่อไปจะทำอย่างไร

หากเรามองภาพแรงงานเป็นก้อนๆ คนที่มีการศึกษาสูงมีทักษะฝีมือดี คนที่มีการศึกษาสูงแต่ทักษะไม่ดี คนที่มีการศึกษาต่ำทักษะต่ำ ภาพที่เห็นคือ คนที่มีการศึกษาสูงแต่ทักษะต่ำของประเทศไทยว่างงานประมาณ 3% ขณะที่ภาพรวมของอัตราการจ้างงานของประเทศไทยแทบไม่มีการว่างงานเลย แต่กลุ่มนี้มี 3% แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาผลผลิตทางการเกษตรโตปีละ 6.4% ขณะที่ราคาสินค้าอุตสาหกรรมโต 2.4% ต่อปี แต่ราคาของภาคบริการหดตัวลงเรื่อยๆ เกือบจะเป็นศูนย์ หรือแทบไม่เติบโตเลย คนก็ไหลกลับไปทำงานภาคการเกษตรมากขึ้น เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีมาตรการมาช่วยเหลือภาคการเกษตรออกมามาก ผลักให้คนกลับไปทำงานภาคเกษตรมากยิ่งขึ้น

การจะแก้ปัญหาแรงงาน สิ่งจำเป็นต้องเพิ่มแรงจูงใจให้กับแรงงานผ่านการลงทุนฝึกอบรมต่างๆ ในโรงงาน ดึงให้แรงงานกลับเข้ามา โดยอาจแบ่งกลุ่มแรงงานที่่ต้องแก้ปัญหาเป็นดังนี้

กลุ่มแรก แรงงานที่มีการศึกษาน้อย ทักษะต่ำ กลุ่มนี้ถูกเสริมด้วยแรงงานต่างด้าว เช่น ประมง สิ่งทอ กลุ่มนี้หลังจากเปิด AEC ประเทศของเขามีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น แรงงานกลุ่มนี้ก็จะกลับประเทศของเขา ซึ่งนั่นก็มีปัญหาแล้ว ประเทศไทยอาจจะต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกรอบ

ส่วนคนกลุ่มบนที่มีการศึกษาสูงและมีทักษะที่ดี ก็จะถูกดึงออกไป กลุ่มอาชีพมีการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีก็จะทำให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น กลุ่มที่เหลือคือกลุ่มที่มีการศึกษาสูงแต่ทักษะน้อย เป็นกลุ่มที่ปัจจุบันทำงานอยู่ในร้านอาหารต่างๆ กลุ่มนี้ยังค้างอยู่ในตลาดเมืองไทย เนื่องจากเขาไม่ได้อยู่ในระบบ ไม่สามารถฝึกอบรมเขาได้ มันก็ขาดศักยภาพ

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์
ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์

ปัญหาระยะยาวเรื่องที่ 2 การลงทุนภาครัฐ ภาคเอกชนเราอยากเห็นให้การลงทุนเกิดขึ้น เราอยากเห็นการลงทุนนี้แน่นอน กล่าวคือ โครงการ2 ล้านล้านบาท ประมาณ 60% เป็นเทคโนโลยีของเมื่อวาน มันควรจะเกิดขึ้นมาหลายทศวรรษแล้ว ส่วนอีก 40% เป็นโครงการลงทุนเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง โครงการนี้เห็นด้วยแน่นอนและคิดว่าน่าทำ ต่อให้กู้ยืมเงินมาก็เห็นด้วยว่าน่าทำ

เรื่องของรถไฟความเร็วสูง ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดว่า หากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลผลดีอย่างไร ประเด็นที่เราพบคือ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงนั้นผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจของเขาจะดี เพราะว่าเขามีแผนที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นเลย ประเทศที่ทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีจริงๆ เขาทำแล้วผลตอบแทนทางด้านการเงินอาจจะไม่ค่อยดี แต่เขาทำเพื่อที่จะโชว์ ซึ่งเขาจะได้ไปขายเทคโนโลยีนั้นให้กับประเทศอย่างเรา ตอนนี้ก็มีทั้งฝรั่งเศส จีน และญี่ปุ่น ไม่รู้ว่าใครดีกว่าใคร แต่เราก็รับมาทั้งดุ้น

รถไฟฟ้าความเร็วสูงมีต้นทุนที่สูงมาก และไม่ใช่ต้นทุนการก่อสร้าง แต่เป็นต้นทุนในการบริหารจัดการ เช่น อะไหล่ต่างๆ ที่ต้องซ่อมแซมบ่อยๆ ถามว่าเมืองไทยมีอุตสาหกรรมเหล่านี้รองรับไหม เช่น อุตสาหกรรมทำเก้าอี้หรือไม่ เพราะอาจจะต้องซ่อมแซมบ่อยๆ ซึ่งเราไม่มีการวางแผนในเรื่องเหล่านี้เท่าไหร่ อีกประเด็น เคยถามตัวเองหรือยังว่าใครจะขึ้นรถไฟแบบนี้ แน่นอน ถ้ามีก็อยากจะขึ้น

“ประเทศที่เขาลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เป็นเพราะว่ารถไฟฟ้าความเร็วระดับกลางของเขาแน่นไปหมดแล้ว ส่วนรถไฟไทยยังนั่งห่างๆ กันอยู่เลย มันจะยังไง เราจะเจ๊งกับเจ๊งหรือเปล่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

ปัจจุบันเรามีสายการบินราคาประหยัดอยู่ (low cost airline) สมมติว่าเราวางแผนที่จะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง แล้วอุตสาหกรรมสายการบินราคาประหยัดที่กำลังเติบโตนั้นรัฐบาลมีแผนอย่างไร ดิฉันไม่เห็นด้วยที่จะเข้าไปอุ้มอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่มันก็ต้องมีแผนเหมือนกัน เราเป็นคนนำพาอุตสาหกรรมใหม่เข้ามา จึงมีหน้าที่ตอบโจทย์ว่าเราจะแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วอย่างไร

จริงๆ แล้วใช่ว่าไม่มีข้อดี มีการเสนอขึ้นมาจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ข้อดีก็คือว่า รถไฟรางคู่ความกว้างของรางแค่ 1 เมตร รถไฟความเร็วสูงความกว้างของราง 1.4 เมตร ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากจีนลงมาได้ แต่จะมีประโยชน์จริงๆ ก็ต่อเมื่อเราสามารถสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นฮับ (hub) ของที่อยู่อาศัยในภูมิภาคนี้ ทำให้คนอยากมาทำงานที่กรุงเทพฯ

เงินลงทุนจริงๆ ไม่ได้สำคัญ สำคัญว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูงไปเชื่อมกับใคร ถ้าทำสายสั้นๆ แค่หัวหินหรือขอนแก่นก็อย่าไปสร้างเลย ทำอย่างอื่นยังคุ้มกว่า เพราะฉะนั้น ถ้าทำต้องเชื่อมได้ทั้งอีส-เวสท์คอริดอร์ (East-West Corridor) และนอร์ท-เซาท์คอริดอร์ (North-South Corridor) ส่วนเมืองกรุงเทพฯ เหมาะที่จะรองรับหรือไม่ โครงสร้างพื้นฐานรองรับมีไหม เราน่าอยู่ถึงขนาดนั้นหรือไม่ ดูจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ ดร.สมชัย (จิตสุชน) นำมาแสดงก็ไม่ค่อยน่าอยู่สักเท่าไหร่ การวางแผนระยะยาวยังไม่ค่อยเห็นเกิดขึ้น

ปัญหาระยะยาวเรื่องสุดท้ายคือเรื่องของหนี้ เป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับเมืองไทย ซึ่งในระยะหลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ผิดไปทั้งหมด เราจะพบว่าหนี้ครัวเรือนของเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้วอยู่ที่ 40-50% ของ GDP ปัจจุบันอยู่ที่ 80% ของ GDP สาเหตุที่ไม่ได้เป็นในเชิงลบก็มีมาก ยกตัวอย่าง กระทรวงการคลังส่งเสริมในเรื่องของการสร้างหลักประกันทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนประกันสังคมต่างๆ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเก็บเงินออมมากนัก เพราะมีระบบรองรับไว้ค่อนข้างมาก

แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของหนี้ไปกระจุกตัวอยู่กับครัวเรือนระดับล่างอย่างรุนแรง เมื่อสัก 4-5 ปีที่แล้ว ครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนกว่า 10,000 บาท มีจำนวนมาก ต้องไปใช้หนี้ทั้งในและนอกระบบประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน แต่ทุกวันนี้รายได้ 10,000 บาท ต้องจ่ายหนี้ 6,200 บาท เพราะฉะนั้น ถามว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตจะมีผลต่อระบบอย่างไร และคนกลุ่มนี้จะเป็นปัญหาทางสังคมหรือไม่

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์
ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์

คำถามที่ว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นนี้แบงก์กังวลไหม แบงก์ไม่กังวลในผลกระทบทางตรง เพราะมองว่าปัญหาทั้งระบบคงไม่เกิดในระยะสั้น แต่การบริโภค การลงทุน คนกลุ่มนี้มีปัญหาแน่นอน ถ้าสมมติว่ารัฐบาลมีปัญหาส่งออก เงินทุนไหลออกค่อนข้างมาก จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังมักจะกระตุ้นไปที่ภาคครัวเรือนเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยทันที

“เราไม่อยากใส่เงินไปที่คนรวย เพราะจะเอาเงินครึ่งหนึ่งไปเก็บไว้ แต่การจะเอาเงินไปให้ผู้มีรายได้น้อยก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเหมือนในอดีต สิ่งที่ทุกคนกังวลคือคนกลุ่มนี้อาจจะเป็นปัญหาของสังคมต่อไปได้ในระยะยาว เพราะเป็นครัวเรือนระดับล่างที่มีจำนวนค่อนข้างมาก คนกลุ่มนี้จะมีปัญหาในต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ”

อ่านต่อ “ธานี ชัยวัฒน์” สังคมต้องสร้าง “ความเชื่อใจ – ความร่วมมือ” เพื่อเอื้อเศรษฐกิจและการลงทุนระยะยาว