ThaiPublica > คนในข่าว > “ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส” เปรียบการประมาณการจีดีพี เหมือนการทำ “ข้อสอบยาก”

“ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส” เปรียบการประมาณการจีดีพี เหมือนการทำ “ข้อสอบยาก”

30 ธันวาคม 2013


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเป็นหนึ่งใน “เสาหลัก” ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ที่นักวิเคราะห์ นักลงทุน นักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานราชการ ให้ความสนใจกับการประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. เพราะเชื่อมั่นในความเป็นอิสระของธนาคารกลางในการประเมินภาวะเศรษฐกิจ และกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน

แต่การประมาณการเศรษฐกิจในปี 2556 ของ ธปท. มีทั้งปรับขึ้น ปรับลง และมีความถี่ในการปรับประมาณการจีดีพีมากที่สุดถึง 6 ครั้งเมื่อเทียบกับหน่วยงานเศรษฐกิจเหมือนกันอย่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

จีดีพีปี 2556

อะไรเป็นสาเหตุทำให้ ธปท. ปรับประมาณการจีดีพีบ่อยครั้ง หรือความถูกต้อง ความแม่นยำของ ธปท. ลดลง หากเป็นเช่นนั้นจะกระทบความน่าเชื่อถือของ ธปท. หรือไม่ สำนักข่าวไทยพับลิก้าสัมภาษณ์ “ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส” โมษก ธปท. เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

ไทยพับลิก้า : การปรับประมาณการจีดีพีบ่อยครั้ง สะท้อนถึงความแม่นยำในการประเมินเศรษฐกิจลดน้อยลงหรือไม่ และจะกระทบความน่าเชื่อถือของหน่วยงานหรือไม่

การปรับประมาณการบ่อยๆ อาจกระทบความน่าเชื่อถือบ้าง แต่ปี 2556 ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีความผันผวนมาก เพราะมีปัจจัยความไม่แน่นอนเยอะ ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยของทุกสำนักพลาดไปจากที่ประมาณการไว้

แต่มองอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนว่า “ศาสตร์” นี้ก็เป็นศาสตร์ที่มีความคลาดเคลื่อนได้ แต่ถ้ามองไปทุกคนก็คลาดเคลื่อนเหมือนกัน ดังนั้น คงมองว่าใครเก่งกว่า เก่งน้อยกว่ากัน หรือใครดีกว่า ดีน้อยกว่า คงไม่ใช่ ก็ต้องเข้าใจว่าในสถานการณ์แบบนี้ “ข้อสอบยาก”

อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตตัวเลขของแต่ละสำนักไม่ได้ต่างกันมากในแง่ตัวเลขรวม คือมีการปรับประมาณการเกาะกลุ่มในทิศทางเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่คนที่ประกาศหลังสุดก็จะแม่นที่สุด เพราะมีข้อมูลมากที่สุด ชัดเจนที่สุด

ช่วงนี้ภายใต้โลกที่ผันผวนขึ้น ทุกคนทำข้อมูลประมาณการภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่ และก็รู้ว่าการประมาณการเศรษฐกิจอาจจะเป็นหรือไม่เป็นตามที่คาดไว้สูงกว่าปกติ คือ เป็นไปได้ทั้งสองทาง ทั้งสูงกว่าหรือต่ำกว่ามากกว่าปกติ ก็เป็นความท้าทายของทุกคน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เร็ว เราจึงใช้ข้อมูลทางด้าน “sentiment” มาพิจารณามากขึ้น แต่ก็ยังเป็นแค่ตัวประกอบ รวมทั้งออกไปคุยกับผู้ประกอบการมากขึ้นด้วย

ไทยพับลิก้า : ปัจจัยอะไรที่ ธปท. วิเคราะห์หรือประเมินพลาดจนส่งผลต่อการปรับประมาณการจีดีพีบ่อยครั้ง และปรับลดลงมาก

มี 4 เรื่องหลัก เรื่องแรก คือ “เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า” กว่าที่ ธปท. คาดการณ์ เห็นได้จากการคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ เมื่อตอนตุลาคม 2555 ถึง ตุลาคม 2556 หรือช่วง 12 เดือนของไอเอ็มเอฟ กับนักวิเคราะห์ในตลาด โดยเฉลี่ยมีแนวโน้มต่ำลง เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คิด

gdp us

การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวช้า จึงมีผลดีต่อส่งออกของเราน้อยไปอีก และการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการฟื้นในประเทศ คือการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น ตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัว แต่ของพวกนี้ไม่ใช่ของที่ต้องนำเข้า และของที่ต้องนำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ขณะที่สินค้าส่งออกของเราส่วนใหญ่เป็นฮาร์ดดิสก์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ของพวกนี้ต้องเป็นการลงทุนของภาคธุรกิจซึ่งยังไม่เห็น ดังนั้น การฟื้นตัวของสหรัฐฯ แต่ละองค์ประกอบก็ได้ไม่เท่ากัน และส่วนที่เราจะได้ก็ยังฟื้นตัวช้า

เรื่องที่สองที่พลาดอย่างมาก คือ “การคลัง” พลาดทั้งประมาณการใช้จ่ายในงบประมาณและนอกงบประมาณ โดยตอนต้นปีเราคาดการณ์การใช้จ่ายภาครัฐค่อนข้างสูง เพราะเมื่อต้นปีที่แล้วเขาเบิกจ่ายค่อนข้างมาก ก็คิดว่าจะเป็นไปตามแนวทางเดิมได้ ไม่คิดว่าจะ “แผ่วลง” ขนาดนี้ โดยปีนี้งบประมาณเบิกจ่ายทั้งปีได้แค่ 90.5% ต่ำกว่าเป้ามาก

ส่วนเงินนอกงบประมาณก็คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ตอนแรกเราคาดการณ์เบิกจ่ายค่อนข้างเยอะ เช่น โครงการฯ 2 ล้านล้านบาท ช่วงแรกคาดการณ์ว่าตลอด 7 ปี จะเบิกจ่ายได้ 70% ของเงินลงทุน แต่ช่วงแรกของโครงการคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ไม่มาก

มาตอนนี้ได้ทอนประมาณการเหลือเบิกจ่ายได้ 60% ตลอด 7 ปี และช่วงแรกๆ ของโครงการคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ให้ประมาณ 50%

เรื่องคาดการณ์การเบิกจ่ายภาครัฐ ยอมรับว่าคนข้างในก็ถามว่าจะทำได้ตามนั้นจริงหรือ แต่คนทำสมมติฐานก็ไปคุยกับทางกระทรวงการคลังมาจึงประมาณการตามนั้น แต่มาตอนนี้ก็ไม่ง่ายที่รัฐบาลจะผลักดันโครงการใหญ่ๆ พร้อมๆ กัน และแม้แต่ตอนนี้ในงบประมาณก็เบิกจ่ายช้าด้วย

เรื่องที่สาม คือ ผลของ “นโยบายรถยนต์คันแรก” คือ เรารู้ว่าจะทำให้การใช้จ่ายบริโภคจะลด แต่ไม่นึกว่าจะลดมากขนาดนี้ และต้องยอมรับว่าไม่เคยมีมาตรการแบบนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย จะว่าไปเราก็ไม่รู้จักมันดีพอ แรงกระแทกขาขึ้นก็ไม่นึกว่าจะเยอะขนาดนี้ และแรงกระแทกขาลงก็ไม่นึกว่าจะมากขนาดนี้ เรื่องนี้ก็คงยอมรับ

ดร. รุ่ง มัลลิกะมาส
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส

เรื่องที่สี่ คือ “การเมือง” ที่เราไม่ทราบว่าจะเกิดปัญหาการชุมนุม และจะจบเร็วหรือยืดเยื้อ

ไทยพับลิก้า : ธปท. มองโลกแง่ดีเกินไปหรือเปล่า

ไม่นะ อย่างมาตรการรถยนต์คันแรกเมื่อปีก่อนหน้านั้น เรารู้ว่า “ยาต้องหมดฤทธิ์” ลงปีนี้ แต่คิดว่าปัจจัยเศรษฐกิจโลก และการใช้จ่ายทางการคลัง ถ้าปัจจัยคู่นี้มาทันตัวใดตัวหนึ่ง ก็น่าจะเสริมในภาวะที่แรงกระตุ้นเดิมที่กำลังจะหมดฤทธิ์ แต่เมื่อทั้ง 2 ปัจจัยมาไม่ทัน จึงทำให้ผลกระทบลดฮวบเร็ว และคิดว่าส่วนหนึ่งที่ผลกระทบขาลงเยอะเป็นเพราะมาเจอ “sentiment” ที่ไม่ดีด้วย ซึ่งเกิดจากปัญหาการเมืองที่เราไม่ทราบล่วงหน้า ทำให้รถที่ซื้อปกติก็ชะลอออกไปด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ตัวใดตัวหนึ่ง แต่ “ผสม” กันหมด มันเป็นเรื่องจังหวะและเรื่องของเม็ดเงินด้วย พอเวลามาพลาดจังหวะ แทนที่จะช่วยพยุง ก็ทำให้ความสามารถที่จะพยุงลดลง จึงทำให้ตัวเลขประมาณการจีดีพีแย่กว่าที่เราคาดไว้

เวลาพวกเราพูดเรื่องการการคาดการณ์ เราจะพูดถึงความบางของแผนภูมิรูปพัด หรือ “fan chart” ว่ามันบานและเบ้ลงไปเรื่อยๆ หรือเบ้ขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสความเป็นไปได้ของการประมาณการว่ามีแนวโน้มไปทางสูงหรือทางต่ำมากกว่ากัน แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อ

ไทยพับลิก้า : 4 ปัจจัยที่กล่าวมายังเป็นความเสี่ยงในปีต่อไปหรือไม่

สำหรับปีหน้า คาดว่าจีดีพีโลกจะดีขึ้น ช่วยให้ส่งออกปรับตัวดีขึ้นด้วย แต่ปัจจัยภายใต้ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย และเรื่องการใช้จ่ายภาครัฐยากมากที่จะคาดคะเนได้ว่าจะมาเร็วมาช้า หรือเบิกจ่ายได้แค่ไหน ดังนั้น ก็มีโอกาสที่จีดีพีอาจจะต่ำกว่าที่ ธปท. ประมาณการไว้ 4%

ดังนั้น ในปีหน้าก็ “เผื่อใจ” ไว้หน่อย โดยการเมืองจะมีประเด็นมากที่สุด เพราะความอึมครึมของการเมืองจะมีผลต่อการลงทุนแน่นอน

ไทยพับลิก้า : แต่ละสำนักประเมินเศรษฐกิจเหมือนหรือต่างกันแค่ไหน

ทุกสำนักมองคล้ายกัน คือมองแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอลง แต่น้ำหนักไม่เท่ากัน อย่างในกรณีการประเมินเศรษฐกิจโลก เท่าที่สังเกต ไอเอ็มเอฟจะมองเศรษฐกิจโลกค่อนข้างจะแย่กว่าสำนักอื่น ขณะที่ สศค. กับ สศช. จะประเมินเศรษฐกิจโลกดีกว่า ธปท.

เพราะฉะนั้น สศค. กับ สศช. จะหวังเศรษฐกิจโลกเยอะ ส่วน ธปท. จะอยู่ตรงกลาง และไอเอ็มเอฟหวังเศรษฐกิจน้อยมาก ขณะที่ภาคการคลัง ทาง สศค. กับ สศช. จะประเมินต่ำกว่า ธปท. และไอเอ็มเอฟ จึงขึ้นอยู่กับว่าจะพูดตัวไหน

แต่ตอนที่ไอเอ็มเอฟปรับลดจีดีพีของไทย “ฮวบลง” จาก 5.9% เหลือ 3.1% เขาปรับภาคการคลังของเราลงค่อนข้างมาก คือแทบจะหายไปเลย เป็นมุมมองฉีกไปจากที่อื่นมาก ซึ่งเรายังคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ส่วน ธปท. ช่วงปรับประมาณการลง 2-3 ครั้งหลังก็ให้น้ำหนักภาคการคลังไม่ดีเป็นหลัก ส่วนเศรษฐกิจโลก ธปท. ปรับลดลงมาเป็นลำดับอยู่แล้ว

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส

ส่วนการปรับจีดีพีครั้งสุดท้ายช่วงพิเศษจาก 3.7% เป็น 3% ปัจจัยหลักเป็นเรื่องการบริโภคในประเทศที่เริ่มเห็นสัญญาณการบริโภคไตรมาส 3 ชะลอลง บวกกับเหตุการณ์ทางการเมืองด้วย

ไทยพับลิก้า : ความผันผวน และการประมาณการจีดีพีคลาดเคลื่อน มีผลต่อการทำนโยบายหรือไม่

แน่นอน มันก็เป็นความท้าทาย ในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวน นโยบายก็ควรต้องยืดหยุ่น หมายถึงความยืดหยุ่นทางความคิดต้องพร้อมปรับนโยบายได้ และเป็นไปได้ที่การดำเนินนโยบายที่ยืดหยุ่นอาจทำให้ดูเหมือนนโยบายสวิงไปสวิงมา แต่เรื่องนี้ต้อง “ชั่งน้ำหนัก” ทั้งสองด้านให้ดี คือไม่ใช่ปรับจนคนงงไปหมด

เราถึงต้องมีการประมาณการและมองไปข้างหน้า ประเด็นคือ ต้องเผื่อใจว่าอาจมีเหตุการณ์ที่ผลิกผันไม่ได้คาดหมาย ก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับได้

ในปีหน้า ความท้าทายเรื่องคาดการณ์ตัวเลขยังมีอยู่ แต่เป็นความท้าทายปกติของการดำเนินนโยบายการเงิน เพียงแต่ความท้าทายอาจมากขึ้นบ้างเพราะความชัดเจนในหลายๆ ปัจจัยมีน้อยลง โดยเฉพาะเรื่องการเมืองคาดการณ์ไม่ได้เลย แต่ไม่ใช่สิ่งที่นโยบายการเงินเพิ่งเผชิญ เราเคยเจอมาแล้วตอนปี 2551 ที่เกิดวิกฤติการเงินโลก

ไทยพับลิก้า : ตัวเลขจีดีพียังน่าเชื่อถือพอให้ใช้เป็นข้อมูลวางแผนธุรกิจได้หรือไม่

คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องให้ความสำคัญกับตัวเลขจีดีพี เพราะเป็นตัวสะท้อนกิจกรรมโดยรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่คนส่วนใหญ่ชอบดูตัวเลขสุดท้ายของประมาณการเศรษฐกิจ คือ จีดีพีโต 3% 4% 5% แต่ไม่ได้ดู “ไส้ข้างใน” ที่เป็นรายละเอียดข้อสมมติฐานแต่ละตัว ถ้าคนดูอย่างชาญฉลาดจริงๆ คงต้องเข้าไปเทียบไส้ในแต่ละตัว คือต้องดูให้ละเอียดมากขึ้น

โดยเฉพาะเรื่อง “ความเสี่ยง” ถ้าเริ่มเห็นรำไรๆ ว่ามีความเสี่ยงไปด้านใดด้านหนึ่ง เราก็ต้องปรับเองได้ว่ามันจะเสี่ยงด้านไหนมากขึ้น หรือเราก็ไปทอนหรือไปเพิ่มเอาเองในระดับหนึ่ง โดยใช้ข้อมูลประมาณการของหน่วยงานทางการดูเป็นแนวโน้มเท่านั้น

บางครั้งเราไป “ยึดมั่นถือมั่น” ตัวเลขจีดีพีปีต่อปีมากไป ความจริงต้องมองในลักษณะค่าเฉลี่ยหลายๆ ปี ว่าเราโตได้เฉลี่ยต่อเนื่องไหม ไม่ใช่ปีนี้ทรุด ปีหน้าเด้ง เช่น ปีที่น้ำท่วม เศรษฐกิจทรุดมากๆ แต่ปีถัดไปเศรษฐกิจก็จะเติบโตดีมาก ซึ่งไม่ใช่อะไรที่ควรจะแซ่ซ้องว่าเศรษฐกิจดี ดังนั้น ต้อง “ระมัดระวัง” ในการดูข้อมูลด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จีดีพีจะสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่อย่าลืมว่าจีดีพีของเราไม่ใช่ทั้งหมดของประเทศ ยังมีข้อมูลส่วนที่เก็บไมได้ และยังถกเถียงกันอยู่ เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจนอกระบบ เป็นต้น