ThaiPublica > เกาะกระแส > “เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” เสนอทางออก “จำนำข้าว” ไม่ใช่ยาวิเศษ ถ้าทำถูกวิธี 3 ปีพลิกฟื้นได้

“เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” เสนอทางออก “จำนำข้าว” ไม่ใช่ยาวิเศษ ถ้าทำถูกวิธี 3 ปีพลิกฟื้นได้

28 ธันวาคม 2013


“เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” เสนอทางออกจำนำข้าว ถ้าจะเดินหน้าทำต่อโดยไม่เกิดปัญหาต้องยึดหลัก 3 ข้อของอาจารย์จำเนียร สาระนาค และเน้นช่วยชาวนาจน กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดำเนินการแทน และทำโครงสร้างตลาดเชื่อมโยงการผลิต รวมทั้งทำประกันภัยพืชผล จัดทำข้อมูลเกษตรโดยลงทะเบียนทำประกันรายได้ เชื่อทำถูกวิธีแค่ 3 ปีสถานการณ์ข้าวน่าจะดีขึ้น

นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ฤดูการผลิต 2554/55 และฤดูการผลิต 2555/56 โดยกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าตันละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 2 หมื่นบาท และรับจำนำทุกเมล็ด ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากในการดำเนินการ คือ เพียง 2 ฤดูการผลิต ใช้เงินถึง 6.88 แสนล้านบาท และกำลังเกิดปัญหา “รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายให้ชาวนา” ในฤดูการผลิตต่อไป ทำให้ชาวนาเดือนร้อน

ล่าสุดนายกสมาคมชาวนาไทยออกมาขู่จะฟ้องศาลและจะนัดชุมนุมชาวนาที่เดือดร้อนออกมาประท้วงถ้าไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว

ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวไม่ว่าจะเป็นปัญหาคอร์รัปชัน ความเสี่ยงทางการคลัง ความเสียหายจากการขายข้าวขาดทุน และการทำลายระบบอุตสาหกรรม ปัญหาเหล่านี้ไม่ว่านักวิชาการและภาคธุรกิจจะเตือนและเสนอแนะทางออกอย่างไรก็ไม่กระเทือนถึงรัฐบาล

จนกระทั่งปัญหามาถึงตัวชาวนาโดยตรงคือไม่ได้เงินรับจำนำข้าว และเป็นช่วงรอยต่อของนโยบายเพราะเกิดสุญญากาศทางการเมือง เหตุการณ์นี้อาจเป็นจังหวะทำให้หากใครก็ตามที่มาเป็นรัฐบาลใหม่ต้องการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวอาจต้อง “ถอย” นโยบาย

ปัจจุบันรัฐบาลเริ่มถอยโครงการจำนำข้าวบ้างแล้ว โดยโครงการรับจำนำฤดูการผลิต 2556/57 ได้ปรับลดกรอบวงเงินการรับจำนำเหลือ 2.7 แสนล้านบาท ต่ำกว่าฤดูการผลิต 2555/56 ถึง 7.5 หมื่นล้านบาท การลดจำนวนรับจำนำข้าวเปลือกต่อรายไม่เกิน 3.5 แสนบาท ส่วนราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปียังคงเดิม แต่นาปรังลดลงเป็นตันละ 1.3 หมื่นบาท อย่างไรก็ตาม ราคารับจำนำก็ยังสูงกว่าราคาตลาด

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มสจ.) อดีตรองผู้จัดการธ.ก.ส.
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มสจ.) อดีตรองผู้จัดการธ.ก.ส.

การจะเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวโดยไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนในปัจจุบัน อาจไม่ถึงกับต้อง “ถอยสุดซอย” คือยกเลิกจำนำข้าว แต่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ ซึ่ง “นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ” ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มสจ.) อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอว่า ถ้าจะถอยนโยบายจำนำข้าว โดยหลักต้องเปลี่ยน “วิธีคิด” ของนักการเมืองก่อน ว่าการใช้กระบวนการจำนำ “ไม่ใช่” ยาวิเศษ ที่ทำได้ทุกเรื่อง

และหากจะเดินหน้าต่อโครงการรับจำนำข้าว ควรใช้หลักการรับจำนำที่ “อาจารย์จำเนียร สาระนาค” อดีตผู้จัดการ ธ.ก.ส. คนแรก วางไว้ 3 ข้อ ถ้าไม่ใช่ 3 ข้อนี้อย่าไปทำ

1. พืชผลนั้นต้องมีฤดูกาลที่ราคาแตกต่างกัน คือผลิตออกมาจำนวนมาก ทำให้ราคาตก แต่ทิ้งไว้ 3-4 เดือน ราคาจะปรับขึ้นเอง ในกรณีนี้ ถ้าเป็นข้าวนาปีน่าจะดำเนินการได้ แต่ข้าวนาปรังใช้โครงการรับจำนำไม่สำเร็จ เพราะข้าวออกสู่ตลาดอยู่ตลอด

2. พืชผลนั้น การเก็บรักษาต้องไม่สิ้นเปลื้องมากมาย และคุณภาพไม่เสื่อมเร็ว และไม่ใช้การลงทุนในการเก็บรักษามากเกินไป เช่น ไปจำนำกุ้ง ต้องเก็บรักษาในห้องเย็นอย่างเดียว ทำให้ลงทุนเยอะ ราคาก็ไม่เปลี่ยนแปลงมาก และเน่าเสียเร็ว อย่างนี้ไม่ควรทำ

3. พืชผลเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถปรับปรุง หรือเพิ่มมูลค่าหลังจากเวลาเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เก็บแล้วเสื่อมอย่างเดียว เพื่อให้เวลาระบายขายไม่ได้มีแต่เจ๊ง

“อาจารย์จำเนียรวางไว้ 3 หลัก แต่ตอนนี้เพี้ยนหมดแล้ว”

นายเอ็นนูกล่าวว่า โครงการรับจำนำไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ต้องไม่กำหนดราคามากเกิน เกินกว่าที่คนไม่มาไถ่คืน เพราะ “การจำนำ” คือจะมีการไถ่คืนเมื่อราคาดีขึ้น เพื่อให้เขามีทางเลือก ไม่ใช่ทางบรรเทาปัญหาและแก้ปัญหา และถ้าอยากช่วยภาคเกษตรจริงๆ จะต้องกำหนดว่าใครคือคนที่เราต้องการช่วย คนที่เข้มแข็ง แข็งแรงดีอยู่แล้ว จะไปช่วยเขามากมายทำไม เพราะนี่คือเงินภาษีของคนทั้งประเทศ ถ้าช่วยคนยากจนอ่อนแอไม่มีใครว่าอะไร

เพราะฉะนั้น ต้องมีการกำหนดว่า ถ้าจะเดินหน้าทำโครงการจำนำต้องลงไปช่วยคนยากจน คนที่มีปัญหาจริงๆ และวิธีการจัดการอย่าทำโดยส่วนกลาง ต้อง “กระจายอำนาจ” ให้ท้องที่จัดการ เพราะเขารู้ว่าใครควรเข้าโครงการจำนำ ผลผลิตจะออกช่วงไหนถึงช่วงไหน ซึ่งส่วนกลางไม่รู้ดีเท่ากับท้องถิ่น

การกระจายอำนาจลงไปที่จังหวัด คือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ไปเลือกทำโครงการรับจำนำเล็กๆ ของตัวเอง โดยให้เขาทำโครงงานเสนอขึ้นมา แล้วเรากำหนดหลักการ 3-4 ข้อให้เขาตอบโจทย์มาในโครงงาน

อาทิเช่น วิธีรับจำนำจะทำแบบไหน รับจำนำพืชอะไร และจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายลูกค้า หรือเกษตรกรเข้าร่วมโครงการไม่เกินเท่าไร เป็นเกษตรกรระดับไหน แล้วจะจำนำเก็บไว้เมื่อไร จะขายอย่างไร ข้อสุดท้าย จะมีวิธีป้องกันการโกงอย่างไร เป็นต้น โดยเฉพาะวิธีป้องกันโกงได้ ถ้าเขาทำได้ก็เอาเงินให้เขาไปดำเนินการเลย รัฐบาลอย่าทำเอง

“รัฐอย่าทำเองเลย ต้องกระจายให้ท้องถิ่นทำ และยึด 3 หลักการของอาจารย์จำเนียร น่าจะเป็นทางออกถ้าจะเดินหน้ารับจำนำต่อไป”

เอ็นนู ซื่อสุวรรณ

นายเอ็นนูกล่าวว่า ที่สำคัญ การจะช่วยภาคเกษตรอย่างแท้จริง ต้องทำเรื่อง “โครงสร้างตลาด” รัฐบาลต้องช่วยเรื่องโครงสร้างตลาด โดยควรมีนโยบายวิ่งหาตลาดที่เหมาะสม และดูแลว่าการค้าเป็นธรรมหรือไม่ ต้องดูว่าพ่อค้าไปกำหนดราคาให้ชาวบ้านเหมาะสมหรือไม่ แม้แต่เกษตรพันธสัญญา ก็ต้องดูว่าสัญญาเอาเปรียบชาวบ้านหรือไม่ สัญญาสร้างความเสี่ยงให้ชาวบ้านหรือไม่ และทำอย่าไรให้เกิดตลาดเกษตรจำนวนมาก จังหวัดใดมีพืชผลหลักอะไรก็ไปทำตลาดตรงนั้น เช่น ตลาดมังคุด ตลาดเงาะ ตลาดข้าว ตลาดมัน ตลาดยาง ต้องทำแบบนี้แล้วรัฐบาลก็ไปกำกับดูแลให้เป็นธรรม

“เรื่องแบนนี้รัฐบาลต้องทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล การไปลงมือทำเองทำให้มีปัญหา รัฐบาลอย่าลงมือทำ แค่คอยสนับสนุนกับดูแลให้มันสมดุลกันก็พอแล้ว”

นายเอ็นนูกล่าวว่า นโยบายภาคเกษตรไม่ควรแทรกแซงตลาดโดยไม่จำเป็น เราควรจะเข้าไปเฉพาะบางช่วงที่คิดว่ามีปัญหาจริง และควรจะส่งเสริมให้ชาวบ้านต่อสู้ได้ ที่สำคัญ ต้องเชื่อมภาคผลิตกับการตลาดเข้าด้วยกัน เพราะถ้ามีสินค้าที่มีคุณภาพจริง การต่อรองราคาจะทำได้

แต่ทุกวันนี้มีแต่เน้นการผลิตปริมาณมาก คุณภาพไม่ดี จึงไม่มีสิทธิ์ต่อรอง ทำให้พ่อค้าฉวยโอกาส แบบนี้ต้องสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในภาพรวม แล้วเอาตัวอย่างดีๆ ออกมา และทำเป็น “แกน” สร้างเป็นเครือข่ายเป็นชุมชน

“ตอนนี้เรามีชุมชนต้นแบบจำนวนมาก เช่น ชุมชนพอเพียง ที่เขาไม่ต้องรอให้รัฐบาลช่วย จึงอยากให้เกิดกระแส ทำดีทำได้”

นอกจากนี้ ข้อที่รัฐบาลควรเข้ามาทำ แต่ขาดอยู่คือ เรื่อง “ประกันภัยพืชผลเกษตร” โดยเฉพาะการประกันภัยธรรมชาติต้องทำ เพราะรัฐบาลควรไปทำเรื่องที่ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เช่น เรื่องภัยธรรมชาติที่เทวดากำหนด อย่างนี้รัฐบาลต้องช่วย แต่อะไรที่มนุษย์ทำได้ รัฐบาลอย่าไปยุ่ง แค่จัดทำระบบ ให้ระบบเดินไปได้ อย่าทำให้ระบบบิดเบี้ยว เช่น ทำโครงสร้างพื้นฐานระบบดิน ระบบน้ำ ระบบโครงสร้างตลาด ให้ดีก็เพียงพอแล้ว เป็นต้น

“โครงการจำนำข้าวปัจจุบันน่าเป็นห่วง เพราะทำให้คุณภาพข้าวลดลงไปเรื่อยๆ ถึงบอกว่าถ้าเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนที่นักการเมือง ห้ามรวบอำนาจ ถ้ารวบอำนาจเป็นช่องทางการทุจริต ต้องให้ท้องถิ่นทำ ส่วนเรื่องโกงในระดับท้องถิ่นถ้าทำก็รู้กันทันที ส่วนข้างบนก็โกงอยู่แล้ว แต่ข้างบนโกงไม่รู้เรื่อง ขอข้อมูลก็บอกไม่มี แต่ข้างล่างเห็นอยู่กับตา เชื่อว่าสังคมชุมชนตรวจสอบกันได้ดีกว่าส่วนกลาง”

นายเอ็นนูกล่าวว่า จุดอ่อนของการทำนโยบายภาคเกษตรของไทยคือ “เรื่องข้อมูล” ประเทศไทยไม่มีระบบข้อมูลเกษตรที่แท้จริง ต้องยอมรับข้อมูลที่ใช้กันอยู่เป็นข้อมูลการสำรวจตัวอย่างของสำนักเศรษฐกิจการเกษตรลงไปเก็บข้อมูล เดินสอบถามตามหมู่บ้าน แล้วรวมมาเป็นของประเทศ ข้อมูลจริงๆ เป็นเท่าไรเราประมาณการหมด โดยใช้หลักการสุ่มตัวอย่าง ใช้หลักสถิติ ซึ่งมันผิด

ขณะนี้การลงทะเบียนเกษตรกรตอนนี้เพี้ยนไปเรื่อยๆ เพราะกระบวนการจำนำข้าว ตอนที่ตนเสนอโครงการประกันรายได้ ลึกๆ แล้วมีเจตนารมณ์ว่า พืชหลักคือข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด เราจะให้ลงทะเบียนเพื่อจะได้ข้อมูลของจริงว่า พืชหลักแต่ละชนิดใครกินแค่ไหน ใครขายแค่ไหน และมีพื้นที่ปลูกเท่าไร เพราะทุกคนเข้าโครงการประกันรายได้ทั้งหมด แต่การจำนำคนที่ปลูกเพื่อกินไม่ได้เข้าโครงการจำนำ

“แนวทางการประกันรายได้ผมเสียดายมาก ผมเชื่อว่าถ้าจดทะเบียนแบบประกันรายได้จะได้ข้อมูลครบ และถ้าทำได้ 3 ปีต่อเนื่องก็จะวิเคราะห์ได้หมด แต่ทำได้แค่ปีกว่าๆ เปลี่ยนรัฐบาลก็เลิกไป ตอนนี้ข้อมูลก็หายหมด”

นอกจากนี้โครงการประกันรายได้สามารถทำควบคู่กับโครงการรับจำนำข้าวได้ แต่บ้านเราชอบเลือกทางเดียว แล้วบอกว่าวิธีนี้วิธีเดียวดีที่สุด ซึ่งผิดเพราะโลกนี้ไม่มียาขนานเดียว ต้องรักษาอาการตามแต่ละคน

อย่างไรก็ตามปัญหาจำนำข้าวที่เกิดขึ้นขณะนี้น่าจะเป็นโอกาสดี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะคนเราถ้าไม่เกิดปัญหาก็ไม่แก้ ดังนั้นควรใช้วิกฤติเป็นโอกาส เมื่อชาวนาไม่ได้เงินจะได้รู้ว่ารัฐบาลมีปัญหาเงินไม่มี และตอนนี้รัฐบาลก็ถอยโดยจากรับจำนำทุกเมล็ดก็ปรับลดเป็นรับจำนำได้ไม่เกิน 3.5 แสนบาทต่อครัวเรือน

“เขาไม่เข้าใจระบบ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่หมดเลย ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และเกษตรกรเองด้วย เกษตรกรต้องเลิกหวังพึ่งการเมือง สถานการณ์แบบนี้ต้องใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสปรับเปลี่ยนนโยบายจำนำข้าว”

แม้ปัญหาเรื่องข้าวจะน่าเป็นห่วง แต่นายเอ็นนูมีความเห็นว่า การพลิกฟื้นเรื่องข้าวยังมีโอกาส ถ้ามีวิธีคิดที่ถูกต้อง ให้ความรู้กับชาวบ้านที่ถูกต้อง และข้าราชการไม่ไปร่วมมือกับนักการเมืองมากเกินไป แล้วทำงานโดยยึดวิธีคิดของในหลวง

“ถ้าทำได้อย่างนั้นเชื่อว่าแค่ 3 ปีก็เห็นหน้าเห็นหลัง แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง”

วิธีการจำนำในสมัยอาจารย์จำเนียร สาระนาค

การจำนำข้าวในยุคแรกที่ ธ.ก.ส. ดำเนินการมีความแตกต่างกันอย่างมาก ที่เห็นชัดคือเรื่อง “ราคารับจำนำ” แต่ในทางปฏิบัติยังมีเรื่องวิธีการทำงานของพนักงาน ธ.ก.ส. ด้วย กว่าโครงการรับจำนำจะมาถึงจุดนี้ “นายจุมพล สัจจะอารีวัฒน์” อดีตพนักงาน ธ.ก.ส. ซึ่งมีประสบการณ์ทำเรื่องจำนำข้าวในสมัยอาจารย์จำเนียร สาระนาค ผู้จัดการ ธ.ก.ส. คนแรก เล่าให้ฟังว่า ผู้ริเริ่มแนวคิดโครงการรับจำนำข้าวคือ อาจารย์จำเนียร และเสนอให้นายบุญชู โรจนเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้นซึ่งเห็นด้วย จึงเริ่มดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งการรับจำนำในยุคแรกๆ กับในปัจจุบันมีความแตกต่างกันมาก

ยุคแรกๆ ถือเป็นการรับจำนำจริงๆ คือ เหมือนเราเอาทองไปจำนำที่โรงรับจำนำ มีการตีราคาและให้ราคาต่ำกว่าราคาของที่ซื้อขายในตลาด สมมติ ทองคำราคาในตลาด 20,000 บาท เขาจะรับจำนำ 16,000 บาท หรือ 18,000 บาท

ตอนนั้น พนักงานสินเชื่อ ธ.ก.ส. ต้องได้รับการอบรมเรื่องข้าวเพื่อให้ดูข้าวเป็น เหมือนรับจำนำทองต้องดูทองเป็น ดังนั้น พนักงานสินเชื่อ ธ.ก.ส. ต้องออกไปท้องนา ไปดูข้าว ขนข้าวเข้าโกดัง วัดปริมาตรข้าว เอาข้าวมาบดข้าว เพื่อประเมินคุณภาพว่าเป็นข้าวเกรดอะไร ข้าวกี่เปอร์เซ็นต์ และตีราคา จนในช่วงนั้นพนักงานสินเชื่อ ธ.ก.ส. ถูกเรียกว่าเป็น “พนักงานเหลือเชื่อ” เพราะทำมากกว่าแค่อนุมัติสินเชื่อ แต่ต้องลงพื้นที่จริง และต้องรู้จริงทุกขั้นตอนก่อนจะอนุมัติสินเชื่อ

ตอนนั้นการรับจำนำเรามีเกณฑ์ให้รับจำนำประมาณ 80% ของราคาตลาด ดังนั้น ถ้าราคาตลาด 20,000 บาท ก็จะรับจำนำข้าว 16,000 บาท ทำให้ไม่ขาดทุนเพราะของที่มีอยู่ราคาสูงกว่าจำนำ และการรับจำนำข้าวยุคแรกชาวนาต้องขนข้าวมาเก็บที่โกดังของ ธ.ก.ส. ที่เตรียมไว้ให้ เพราะฉะนั้น การจำนำคือ ชาวนาเอาเงินไป ข้าวอยู่กับ ธ.ก.ส.

ยุคที่สอง หลักเกณฑ์ราคาจำนำข้าวยังเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการเนื่องจากติดขัดเรื่องการขนส่ง การรับจำนำจึงให้ชาวนาเก็บข้าวใว้ในยุ้งฉางของตัวเองได้ เพื่อลดภาระค่าข้าวเข้ามาเก็บไว้ในโกดังของ ธ.ก.ส. เมื่อชาวนาเอาข้าวเก็บไว้ในยุ้งฉางของเขา พนักงาน ธ.ก.ส. ก็ต้องไปวัดกองข้าว กว้าง ยาว สูง เพื่อประเมินปริมาณข้าวว่ามีกี่เกวียน แล้วไปตรวจเอาข้าวมาดูเพื่อประเมินคุณภาพว่าเป็นเกรดไหน และตีราคาเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ต้องขนข้าวมา ธ.ก.ส.

แต่ข้าวที่อยู่ในยุ้งฉางของชาวนา พนักงานสินเชื่อ ธ.ก.ส. ต้องไปติด “ใบหลักฐาน” ที่เขียนว่า ข้าวที่รับจำนำเป็นทรัพย์สินของธนาคาร อย่าเอาไปขาย ไม่เช่นนั้นเจอข้อหาลักทรัพย์ บางครั้งชาวนาจำนำไม่ทั้งหมด เช่น มี 30 เกวียน แต่จำนำแค่ 15 เกวียน พนักงานสินเชื่อ ธ.ก.ส. ก็จะเขียนในใบหลักฐานว่า ชาวนารายนี้จำนำไว้ 15 เกวียนในยุ้งฉางนี้ ที่เหลือจะเอาไปทำอะไรก็เรื่องของเขา

“พอข้าวทะลักออกมา ราคาข้าวตกต่ำ เกษตรกรต้องการใช้เงิน ก็เอาข้าวมาจำนำกับ ธ.ก.ส. เอาเงินไปใช้ก่อน เพื่อชะลอความเดือดร้อนของเขา พอผ่านไป 3-4 เดือน ราคาข้าวจะขึ้นตามกลไกตลาดของข้าว ชาวนาก็จะมาไถ่ถอน เพียงแต่มาบอก ธ.ก.ส. ก็ดึงใบหลักฐานนั้นออก แล้วเอาข้าวไปขาย เอาเงินมาชำระ ธ.ก.ส. พร้อมดอกเบี้ย”

ต่อมายุคที่สาม วิธีการรับจำนำมีทั้งสองแบบ คือ ข้าวที่จำนำสามารถเอาข้าวไว้ที่เกษตรส่วนหนึ่ง และไว้ที่โกดังกลางของ ธ.ก.ส. ส่วนหนึ่ง ช่วงนี้วิธีการรับจำนำง่ายขึ้นด้วยการใช้ “ใบประทวน” ออกให้ชาวนาเพื่อเป็นหลักฐานการรับจำนำ

ในใบประทวนจะมีรายละเอียดเขียนว่า มีข้าวเกรดอะไร จำนวนเท่าไร เมื่อได้ใบประทวนก็เอามาขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส. และเวลาจะขายข้าวไม่ต้องเอาข้าวไปขาย แต่เอาประทวนไปขายได้ เช่น เมื่อชาวนาขายข้าวให้โรงสี เขาก็เอาประทวนไปขาย โรงสีก็ซื้อใบประทวนแล้วก็มาเบิกเอาข้าวไป เพราะฉะนั้น ใบประทวนมีค่าเท่ากับข้าว

เพราะฉะนั้น การรับจำนำยุคแรกๆ ถือเป็นทางเลือก ซึ่งสมัยก่อนให้ผลดีมาก เนื่องจากการที่ชาวนาจะถูกกดราคาแรงๆ จากพอค้าจะหายไป และพอเราแทรกแซงทุกปีๆ ความจำเป็นจะเข้าโครงการจำนำน้อยลง เพราะพ่อค้าเข้ามาเสนอราคาแข่ง โดยแต่ละปีคณะกรรมการข้าว (กนข.) กับ ธ.ก.ส. จะประกาศว่าแต่ละปีจะรับจำนำจำนวนเท่าไร แต่พอรับจำนำจริงๆ มีข้าวเข้าโครงการนิดเดียว ตอนนั้นเคยประกาศรับจำนำ 10 ล้านตัน มีข้าวเข้าโครงการเพียง 2 ล้านตัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก แต่เราถือว่าไม่ล้มเหลว เพราะนี่คือเจตนาให้ตลาดมาแข่งขัน

“พูดง่ายๆ คือ การกระตุ้นของ ธ.ก.ส. ได้ผล เนื่องจากกลไกตลาดทำงานดีขึ้น เพราะแค่ประกาศว่าจะรับจำนำจำนวนเท่าไร ราคาก็ขึ้นแล้ว เพราะพ่อค้าต้องหาซัพพลายไปส่งออก” นายจุมพลกล่าว

สำหรับในยุคหลังๆ ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกเรื่อยๆ โดยให้รับจำนำราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 80% เป็น 90% และ 100% จนเกิน 100% ของราคาตลาด ช่วงที่รับจำนำ 100% ธ.ก.ส. ก็พอรับไหว แต่พอบังคับให้รับมากกว่า 100% ก็เริ่มมีปัญหา จนในที่สุดเริ่มรับไม่ไหว มีปัญหาปะทุออกมาอย่างที่เห็นกัน

การรับจำนำในปัจจุบันต้องบอกว่าใช้ชื่ออย่างเดียวว่า “จำนำข้าว” ต่างจากในยุคแรกที่เขารับจำนำน้อยกว่าราคาของ ไม่มีสูงกว่าราคาของ เพราะฉะนั้นที่ทำอยู่ไม่ได้เป็นการรับจำนำ แต่เป็นการ “รับซื้อข้าว” โดยรัฐไปรับซื้อเองทั้งหมด และราคาเกินจริงเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด

การรับจำนำเจตนาจริงๆ คือ การดึงปริมาณข้าวออกจากตลาด เพื่อให้ความต้องการซื้อข้าวกับปริมาณข้าวสมดุลกัน แค่ความต้องการข้าวเท่าเดิม แต่ปริมาณข้าวหายไป ราคาก็จะขึ้นเอง ซึ่งในตอนนั้นแค่ ธ.ก.ส. ประกาศรับจำนำข้าว ดึงข้าวออกจากระบบ ราคาก็ปรับขึ้นแล้ว เพราะพ่อค้าต้องเสนอราคาแข่งขันสู้ เนื่องจากต้องหาข้าวไปส่งออก

“วิธีการปัจจุบันไม่ใช่การดึงซัพพลาย แต่เป็นการแทรกแซงผิดกลไกตลาด มาซื้อแข่งกับเอกชน แล้วเอกชนจะอยู่อย่างไร ไม่เลี้ยงพ่อค้า โรงสี ผู้ส่งออก แล้วใครจะทำหน้าที่ค้าขาย ก็เป็นการทำลายตลาดข้าว ก็ทำระบบข้าวทั้งระบบ ทำลายธุรกิจอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ เมื่อก่อน เข้าไม่ได้ฆ่า แต่บีบว่าอย่างมารังแกเกษตรกร จะมาทุบราคาไม่ได้ ส่วนตลาดยังคงเดิม” นายจุมพลกล่าว

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. อธิบายเพิ่มเติมว่า การรับจำนำในปัจจุบันเราเป็นผู้จ่ายเงินเป็นไม้ที่สาม ต่อจากการรับขึ้นทะเบียนได้ใบรับรอง เอาข้าวไปส่งได้ใบประทวน เอาใบประทวนมาขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส. โดยทำสัญญากู้ด้วยการเอาใบประทวนเป็นหลักประกัน

พอครบ 4 เดือน ถ้าชาวนาไม่มาไถ่ถอน ข้าวก็ตกเป็นของรัฐบาล หนี้ที่เกษตรกรกู้ก็ถูกโอนเป็นลูกหนี้รอการชดเชยจากนโยบายรัฐ ซึ่งจะได้รับการชำระ 2 ทาง คือ กระทรวงพาณิชย์ซึ่งดูแลสต็อก ต้องระบายขายข้าว ได้เงินมาก็เอามาชำระหนี้ดังกล่าว หนี้ก็ลดลง แต่ถ้าหนี้ยังไม่หมดรัฐบาลก็ต้องเอาเงินงบประมาณมาชดเชย และถ้าหนี้ยังไม่หมด รัฐบาลก็ต้องตั้งงบประมาณมาชำระต้นทุนเงิน สมมติกู้ 410,000 จากสถาบันการเงิน มีดอกเบี้ย รัฐบาลก็ต้องชดเชยภาระดอกเบี้ย

“ปัจจุบันมันถูกปรุงแต่งไปเยอะมาก เมื่อก่อนให้ 80% ของราคา แต่ฝั่งการเมืองจะให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกินราคาตลาด ปัจจุบันเกิน 40% ก็เลยมีปัญหาในการขาย” นายลักษณ์กล่าว