ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ตรวจสมุดพก ส.ส. เข้าประชุมสภาฯ เทียบพรรคต่อพรรค 70 คนไม่เคยขาด “ยิ่งลักษณ์” ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย

ตรวจสมุดพก ส.ส. เข้าประชุมสภาฯ เทียบพรรคต่อพรรค 70 คนไม่เคยขาด “ยิ่งลักษณ์” ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย

10 ธันวาคม 2013


นายกฯยื่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เมื่อเวลา 08.45 น. ของวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวยุบสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันเพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชน และเตรียมหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป

สภาผู้แทนราษฎรไทยชุดปัจจุบันหรือชุดที่ 24 เข้ามาทำงานรับใช้ประชาชนเป็นเวลาประมาณ 2 ปี 4 เดือน ระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว 153 ครั้ง และการประชุมร่วมกันของรัฐสภาอีก 47 ครั้ง รวมเป็นทั้งหมด 200 ครั้ง ซึ่งในจำนวนทั้งหมดนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. ผู้ทรงเกียรติทั้ง 500 คน มีสถิติการเข้าประชุมสภามากหรือน้อยเพียงใด ใครทำสถิติการเข้าประชุมมากที่สุด ใครน้อยที่สุด หรือพรรคใดที่มีค่าเฉลี่ยในการเข้าประชุมสูงสุด ซึ่งจากตรวจสอบข้อมูลสถิติล่าสุดถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 มีการประชุมสภาทั้งหมด 190 ครั้ง

นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีสถิติการเข้าประชุมทั้งหมด 139 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 73.16 หัวหน้าฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีสถิติการเข้าประชุมทั้งหมด 184 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 96.84 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. ไปก่อนหน้านี้แล้ว มีสถิติการเข้าประชุมทั้งหมด 174 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 91.58 ซึ่งจากการประชุมทั้งหมด 190 ครั้ง ส.ส. ทั้ง 500 คน มีค่าเฉลี่ยการเข้าประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 179.20 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 94.32

เมื่อนำสถิติมาพิจารณาเป็นรายบุคคล จะเห็นว่ามี ส.ส. ทั้งหมด 331 คนที่มีสถิติการเข้าประชุมเหนือกว่าค่าเฉลี่ย คือมากกว่าร้อยละ 94.32 และมี ส.ส. ทั้งหมด 70 คนที่ไม่เคยขาดการประชุมแม้แต่ครั้งเดียว กล่าวคือ มาครบทั้ง 190 ครั้ง ซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้ (คลิ๊กขยายภาพ)

70 ส.ส. ไม่ขาดประชุมสภา

เว็บไซต์ “เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย” หรือ Thailand Political Database โดย “จรัส สุวรรณมาลา” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “อรรถสิทธิ์ พานแก้ว” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวเป็นเจ้าของผลงานสมุดพก ส.ส. และ ส.ว. และได้เปิดเผยข้อมูลสถิติการเข้าประชุมสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คนในชุดปัจจุบัน ตั้งแต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไปปีที่ 1 ครั้งที่ 1 ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554 จนถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไปปีที่ 3 ครั้งที่ 21 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 จำนวน 146 ครั้ง และรวมการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตั้งแต่สมัยสามัญทั่วไปปีที่ 1 ครั้งที่ 1 ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554 จนถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไปปีที่ 3 ครั้งที่ 14 ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556 อีกจำนวน 44 ครั้ง รวมการประชุมทั้งหมดได้ 190 ครั้ง

เทียบสถิติพรรคต่อพรรค

สภาผู้แทนราษฎรไทย (ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556) ประกอบไปด้วย ส.ส. ทั้งหมด 500 คนจาก 11 พรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย 264 คน พรรคประชาธิปัตย์ 161 คน พรรคภูมิใจไทย 33 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 19 คน พรรคชาติพัฒนา 7 คน พรรคพลังชล 7 คน พรรครักประเทศไทย 4 คน พรรคมาตุภูมิ 2 คน พรรคมหาชน 1 คน พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน และพรรครักษ์สันติ 1 คน ซึ่ง ส.ส. จากแต่ละพรรคมีสถิติการเข้าร่วมประชุมดังนี้

พรรคเพื่อไทย มีค่าเฉลี่ยการเข้าประชุมสภาฯ 183.56 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 96.61 พรรคประชาธิปัตย์มีค่าเฉลี่ย 177 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 93.16 พรรคภูมิใจไทยมีค่าเฉลี่ย 162.42 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 85.48 พรรคชาติไทยพัฒนามีค่าเฉลี่ย 168.47 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 88.67 พรรคชาติพัฒนามีค่าเฉลี่ย 174 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 91.57 พรรคพลังชลมีค่าเฉลี่ย 178 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 93.68 พรรครักประเทศไทยมีค่าเฉลี่ย 175 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 92.10 พรรคมาตุภูมิมีค่าเฉลี่ย 175.50 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 92.37 พรรคมหาชนและพรรครักษ์สันติมีค่าเฉลี่ย 186 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 97.89 และพรรคประชาธิปไตยใหม่มีค่าเฉลี่ย 190 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 100

ค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งส.ส.ที่เข้าประชุมสภา

เมื่อนำมาวิเคราะห์เป็นรายพรรค จะเห็นว่ามีเพียง 4 พรรคการเมืองเท่านั้นที่มีสถิติการเข้าประชุมเหนือกว่าค่าเฉลี่ย คือ พรรคเพื่อไทย พรรคมหาชน พรรครักษ์สันติ และพรรคประชาธิปไตยใหม่ ซึ่ง 3 พรรคหลังมีจำนวน ส.ส. พรรคละ 1 คน ส่วนพรรคที่เหลือมีสถิติการเข้าประชุมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม สถิติการเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ที่ใช้เป็นเครื่องมือวัดผลการทำงานและประสิทธิภาพในการทำงานของ ส.ส. ซึ่งแสดงถึงการรับผิดชอบในการทำหน้าที่รับใช้ประชาชน แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะสามารถบอกได้ว่า ส.ส. คนไหนทำงานได้ดีหรือไม่ดี เป็นเรื่องที่แล้วแต่มุมมองของประชาชนจะตัดสิน โดยสถิตินี้อาจจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกตั้งหาผู้แทนราษฎรในครั้งต่อไป