ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > PwC-ธนาคารโลก เผยงานวิจัยไทยติดอันดับ 70 ประเทศของโลกที่จ่ายภาษีง่าย

PwC-ธนาคารโลก เผยงานวิจัยไทยติดอันดับ 70 ประเทศของโลกที่จ่ายภาษีง่าย

26 ธันวาคม 2013


ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างแข่งขันกันปรับลดอัตราภาษี เพื่อช่วงชิงเงินทุนจากต่างชาติ และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งหลายๆประเทศดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ อย่างประเทศไทยก็เริ่มทยอยปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จากอัตรา 30% ของกำไรสุทธิ ปรับลดเหลือ 23% ในปี 2555 และลดเหลือ 20% ในปี 2556 ล่าสุดก็มีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ระบบภาษีที่ดี ต้องปฏิบัติง่าย โปร่งใส และมีความเป็นธรรมมีบางยุคบางสมัย ผู้เสียภาษีไม่กล้าขอคืนภาษี เพราะกลัวสรรพากรสอบยัน อาทิ การขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ถูกตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ต้องเตรียมเอกสารกันให้วุ่นวาย กว่าจะได้ภาษีคืนช้ามาก บางรายสละสิทธิ์ ดังนั้นการอำนวยความสะดวกสบายให้ผู้เสียภาษีเข้าถึงระบบการชำระภาษีได้ง่ายขึ้นเป็นประเด็นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามาตรการปรับลดอัตราภาษี

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2556 บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย (PwC) นำเสนอรายงานผลการศึกษากระบวนการเสียภาษี 189 ประเทศทั่วโลกในเวทีสัมมนาหัวข้อ “Paying Taxes 2014: The global picture: A comparison of tax systems in 189 economies worldwide”

รายงาน Paying taxes 2014 ฉบับนี้ PwC ร่วมธนาคารโลก กำหนดเครื่องชี้วัดประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ผู้เสียภาษีของแต่ละประเทศมี 3 ประเภทคือ 1.อัตราภาษีทุกประเภท 2.ระยะเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการและจ่ายเงินค่าภาษี และ 3.ยื่นแบบฯเสียภาษีกี่ครั้งในหนึ่งปี โดยการคำนวณอัตราภาษีรวมทุกประเภท อาทิ ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีแรงงานที่นายจ้างจ่าย (ประกันสังคม), ภาษีที่ดิน (Property tax), ภาษีโอนที่ดิน, ภาษีเงินปันผล, ภาษีกำไรจากการขายหุ้น, ภาษีธุรกรรมการเงิน, ค่าขยะ (Waste collection tax), ภาษีรถยนต์ที่เก็บจากการใช้ถนน (Vehicle and road taxes) และค่าธรรมเนียมปลีกย่อยอื่นๆ

ลำดับความยากง่ายในการเสียภาษี

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาภาพรวมการจัดเก็บภาษีทั่วโลกที่จัดทำโดย PwC และธนาคารโลกฉบับล่าสุดระบุว่า ในปี 2555ที่ผ่านมา บริษัททั่วโลกเสียภาษีทุกประเภทรวมกันในอัตรา 43.1% ของผลกำไร ใช้เวลาในการเสียภาษีเฉลี่ย 268 ชั่วโมง และภายใน 1 ปีต้องมายื่นแบบจ่ายภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 26.7 ครั้ง โดยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของโลก ยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาษีแรงงาน (Labour taxes) ที่บริษัทต่างๆ ต้องรับผิดชอบ ซึ่งรวมภาระที่นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบให้กับประกันสังคม ยังคงทรงตัว โดยภาษีแรงงานนี้คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดของภาระภาษีทั้งหมด

ผลการศึกษาของ PwC ร่วมกับธนาคารโลกระบุว่า ประเทศที่มีระบบการจัดเก็บภาษีดีที่สุดในโลกในปี 2556 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย ส่วนกลุ่มเออีซี ได้แก่ ประเทศสิงค์โปร์, บรูไน และมาเลเซีย ไทยอยู่ในลำดับที่ 70 ของโลก ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ลำดับ 96 หากเปรียบเทียบกับกลุ่มเออีซี ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 5

เปรียบเทียบในกลุ่ม AEC

ภาพรวมการจัดเก็บภาษีในแต่ละภูมิภาค นายศิระกล่าวว่า ทวีปเอเชียกลางและยุโรปตะวันออกเป็นกลุ่มประเทศที่มีการปฏิรูประบบภาษีมากที่สุด โดยมีอัตราเฉลี่ยของเวลาที่ใช้ในการเสียภาษี 220 ชั่วโมง, จำนวนครั้งในการเสียภาษีต่อปีอยู่ที่ 25.1 ครั้ง และอัตราภาษีรวมทุกประเภทจะอยู่ที่ 15.7%

ขณะที่กลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ (แคนาดา เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา) มีระบบภาษีที่แตกต่างกันทั่วภูมิภาค แต่มีการยื่นภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ถึงแม้จะมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการยื่นภาษีแล้วก็ตาม แต่ก็ใช้เวลาในการชำระภาษีนานที่สุด

ด้านนายถาวร รุจิวนารมย์ หัวหน้าหุ้นส่วน กรรมการอาวุโส และกรรมการบริหาร สายงานภาษีและกฎหมาย PwC กล่าวว่า ภาพรวมการจัดเก็บภาษีของไทยเปรียบเทียบกับปีก่อนปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราภาษีโดยรวมของไทยนั้น เดิมอยู่ที่ 37.6% ของผลกำไร ปรับลดลงมาเหลือ 29.8% ทั้งนี้เป็นผลมาจากการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2555 จากอัตรา 30% ลดเหลือ 23% ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำลังมีผลบังคับใช้ในสิ้นปี 2556 ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการจัดเก็บภาษีของไทยปรับตัวดีขึ้น ส่วนตัวชี้วัดประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีตัวอื่น เช่น การนับจำนวนครั้งของการยื่นแบบเสียภาษี และการใช้เวลาในการชำระภาษี เปรียบเทียบกับปีก่อนแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยการยื่นแบบเสียภาษีของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 22 ครั้งต่อปี และใช้เวลาในการเสียภาษีนานถึง 264 ชั่วโมง

“การปรับลดอัตราภาษีมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขณะเดียวกันต้องทำควบคู่กับเรื่องการอำนวยความสะดวก โดยให้ผู้เสียภาษีเข้าถึงระบบการจ่ายภาษีได้ง่าย รวมทั้งภาครัฐต้องมีมาตรการ หรือแรงจูงใจให้ผู้เสียภาษีเข้ามาเสียภาษีอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ” นายถาวรกล่าว

อัตราภาษี PWC

นายถาวรกล่าวต่อไปอีกว่า จากการศึกษาระบบภาษี 189 ประเทศ หลายประเทศหันมาให้ความสนใจกับการปฏิรูประบบภาษีอากรกันมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยการนำระบบการยื่นเสียภาษีออนไลน์มาใช้ ปัจจุบันมีกรมสรรพากรประมาณ 76 ประเทศ เปิดให้บริการยื่นแบบเสียภาษีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของโลกสามารถยื่นแบบเสียภาษีได้ ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระในการเสียภาษีลดลง โดยดูจากจำนวนครั้งที่มายื่นแบบเสียภาษีและเวลาที่ใช้ในการเสียภาษี แต่ยังลดลงในอัตราที่ต่ำ