ThaiPublica > คอลัมน์ > ตระกูลการเมือง กับ การลดต้นทุนของนักการเมือง (ตอนที่ 2)

ตระกูลการเมือง กับ การลดต้นทุนของนักการเมือง (ตอนที่ 2)

14 ธันวาคม 2013


Hesse004

การที่นักการเมืองทั่วโลกต่างส่งสมาชิกของตระกูลลงเล่นการเมืองนั้น เหตุผลสำคัญ คือ เพื่อรักษาอำนาจของครอบครัวตัวเองให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะอำนาจ คือ ที่มาของผลประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง ตำแหน่งหน้าที่ ชื่อเสียง เกียรติยศ

คำอธิบายภายใต้เหตุผลดังกล่าวทำให้เราสามารถมองเห็นภาพพฤติกรรมนักการเมืองในการ “ลงทุนทางการเมือง” เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องเป็นหลัก (Maximize Profit or Maximize Utility) โดยอาศัยกระบวนการเข้าสู่การใช้อำนาจรัฐผ่านกลไกการเลือกตั้งก็ดีหรือการสรรหาแต่งตั้งก็ได้

ชุดคำอธิบายนี้ทำให้นักการเมืองมองการเมืองเป็นเรื่องของการทำ “ธุรกิจ” รูปแบบหนึ่งเพราะธุรกิจที่พวกเขาขาย คือ สิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง ความเชื่อ ภาพลักษณ์ตัวเอง รวมไปถึงนโยบายพรรค ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็เพื่อแลกกับ “คะแนนเสียง” ของประชาชนที่จะสนับสนุนให้พวกเขาเป็นผู้ผลักดันนโยบายหรือตัดสินใจออกกฎหมายต่าง ๆ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชน

ดังนั้น นักการเมืองทั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นก็ดี… ทั้งที่ถูกเลือกตั้งเข้ามาหรือถูกแต่งตั้งก็ดี… ทั้งที่เล่นการเมืองในสภาและเล่นการเมืองกันบนถนนก็ดี… คนกลุ่มนี้ได้ถูกทำให้เป็น “ตัวแทน” ของคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ว่าจะใช้กระบวนการใดก็ตาม เพื่อให้พวกเขาเข้าไปแสวงหาหรือแย่งชิงอำนาจรัฐตลอดจนทรัพยากรส่วนรวมโดยมีข้ออ้างเรื่องความชอบธรรมในการเป็น “ตัวแทน” ของคนส่วนใหญ่

…น่าสนใจว่า หากนักการเมืองมองว่าการเล่นการเมืองคือการทำธุรกิจอย่างหนึ่งแล้ว การส่งคนในครอบครัวตัวเองลงเล่นการเมืองก็เปรียบเสมือนการสืบทอด “ธุรกิจของครอบครัว” เช่นเดียวกัน

กรณีศึกษาตระกูลการเมือง (Political Family หรือ Political Dynasty) นอกจากเราจะคุ้นชื่อกับตระกูลการเมืองอย่างเคนเนดี้ (Kennedy) บุช (Bush) ในสหรัฐอเมริกา หรือตระกูลเนห์รู-คานธี (Nehru-Gandhi) ในอินเดียแล้ว ประเทศที่ถูกยกให้เป็นกรณีศึกษาตระกูลการเมืองอีกประเทศหนึ่ง คือประเทศ “ฟิลิปปินส์”

ในฟิลิปปินส์ การสืบทอดอำนาจทางการเมืองของตระกูลใดตระกูลหนึ่งนับเป็นลักษณะเด่นของการเมืองฟิลิปปินส์ตั้งแต่เริ่มมีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 1907 หรือเมื่อ 116 ปีมาแล้ว!!

มีงานศึกษาบทบาทตระกูลนักการเมืองในฟิลิปปินส์ของ Professor Bobby Tuazon 1 ซึ่งทำการศึกษาพัฒนาการของตระกูลการเมืองฟิลิปปินส์ตั้งแต่ยุคก่อนอาณานิคม (Pre-Colonial หรือยุค Pre-Magellanic) ยุคอาณานิคมสเปน (Spanish Regime) และยุคที่เป็นอาณานิคมสหรัฐอเมริกา (US Colonization)

Professor Tuazon อธิบายปัจจัยที่เอื้อให้ให้ตระกูลการเมืองฟิลิปปินส์เติบใหญ่ขึ้นมาได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากสายสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ระหว่างเจ้าอาณานิคมและกลุ่มครอบครัวที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชุมชนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนในยุคอาณานิคมสเปน ซึ่ง Professor Tuazon ใช้คำว่า Principalia ซึ่งมีนัยยะว่าเป็นกลุ่มชนชั้นสูงใหม่ในท้องถิ่น (The new kind of local elite)

หรือถ้าจะเปรียบเทียบง่าย ๆ กับบ้านเรา คือ คนกลุ่มที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีความคุ้นเคยกับอำนาจรัฐ แต่ในฟิลิปปินส์คนกลุ่มนี้มีสายสัมพันธ์อันดีกับผู้ปกครองเจ้าอาณานิคมนั่นเอง

การสืบทอดตำแหน่ง Principalia ในท้องถิ่นแบบรุ่นสู่รุ่นทำให้อิทธิพลของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งในท้องถิ่นนั้นกลายเป็น “ผู้มีอิทธิพล” ไปโดยปริยาย และผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ย่อมมีความมั่งคั่งเป็นศูนย์รวมอำนาจในท้องถิ่นและที่สำคัญ คือ เป็นเจ้าของที่ดิน (Landowners)

ด้วยเหตุนี้สภาพการปกครองในยุคนั้นจึงมีลักษณะเป็น “คณาธิปไตยในท้องถิ่น” หรือ Local Oligarchy

คำอธิบายของ Professor Tuazon ชี้ให้เห็นสภาพของระบบอุปถัมภ์ (Patronage-Client) ที่เข้มแข็งในสังคมเอเชีย เมื่อมาผนวกเข้ากับความต้องการของชาวบ้านที่ต้องหาตัวแทนมาช่วยคุ้มครองหรือพึ่งพาในยุคอาณานิคมด้วยแล้ว…จึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการสืบทอดตระกูลการเมืองขึ้นมา

อย่างไรก็ตามเมื่อฟิลิปปินส์ก้าวเข้าสู่ยุคที่มีการเลือกตั้งในสมัยที่เป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา กลุ่ม Principalia เหล่านี้ต่างกระโจนเข้าสู่สนามเลือกตั้งและกลายเป็นตัวแทนของประชาชนในที่สุดโดยอาศัยความชอบธรรมในกติกาและใช้ “เวทีสภา” เป็นหนทางการเข้าสู่อำนาจรัฐสมัยใหม่

กลุ่มชนชั้นที่เป็น Local Elite มีทั้งอำนาจเงิน ที่ดิน ทุนทรัพย์และมีความรู้จึงเป็นเรื่องง่ายที่พวกเขาจะสามารถเดินเข้าสู่สภาเพื่อเกาะเกี่ยว “อำนาจรัฐ” ในฐานะที่เป็นผู้แทนของท้องถิ่น

ในงานศึกษาของ Professor Tuazon แสดงข้อมูลให้เห็นว่า นับตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกในฟิลิปปินส์เมื่อปี 1907 เป็นต้นมา ปรากฏว่า ทั้งสองสภามีจำนวนตระกูลการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องถึง 160 ตระกูล!!

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเลือกตั้งในสภาผู้แทน พบว่า ส.ส. ทั้งหมด 98 คน มีผู้แทนที่มาจากตระกูลการเมืองเข้าไปแล้ว 61 คน และปัจจุบันแทบจะทุกจังหวัดในฟิลิปปินส์มีการสืบทอดของตระกูลการเมืองในอัตราส่วน 2.31 นั่นหมายถึง เกือบทุกจังหวัดในฟิลิปปินส์จะมีตระกูลการเมืองอยู่ประมาณ 2 ตระกูลที่ขับเคี่ยวแย่งชิงอำนาจกัน

การผูกขาดอำนาจทางการเมืองของแต่ละตระกูลทั้งสนามใหญ่ระดับชาติและสนามเล็กระดับท้องถิ่นนี้เองที่ทำให้ตระกูลการเมืองพวกนี้มี “อำนาจผูกขาด” ในพื้นที่เลือกตั้งตัวเอง การผูกขาดอำนาจทางการเมืองยังสามารถสร้างสภาพการผูกขาดทางด้านเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นตามมาอีกด้วย

Professor Tuazon ยกตัวอย่างธุรกิจภายในท้องถิ่นที่ถูกผูกขาดโดยมีอำนาจทางการเมืองช่วยหนุนหลัง เช่น ธุรกิจเหมืองแร่ ค้าไม้ น้ำตาล ยาสูบ อสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งก้าวเข้าบางตระกูลการเมืองเริ่มเข้าสู่ธุรกิจสื่อหรือสถาบันการเงิน

…นั่นหมายความว่า การเริ่มต้นธุรกิจครอบครัวจากการลงเล่นการเมืองนั้นได้นำไปสู่การต่อยอดธุรกิจอื่น ๆ ของสมาชิกครอบครัวคนอื่นด้วย

Political Dynasty การสืบทอดของสมาชิกในตระกูลกับการทำธุรกิจการเมือง ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com/-K-xsC7SZotU/UG1Rk6-oSDI/AAAAAAAAAL0/iDOt93zD8L4/s1600/political+dynasty.jpg
Political Dynasty การสืบทอดของสมาชิกในตระกูลกับการทำธุรกิจการเมือง
ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com/-K-xsC7SZotU/UG1Rk6-oSDI/AAAAAAAAAL0/iDOt93zD8L4/s1600/political+dynasty.jpg

ปัจจุบันตระกูลการเมืองเก่าแก่ในฟิลิปปินส์และยังเป็นที่คุ้นหูกันอยู่ ได้แก่ ตระกูล Cojuanco-Aquino และตระกูล Macagapal-Arroyo และตระกูล Marcos

ตระกูล Cojuangco-Aquino เป็นตระกูลเก่าแก่สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนฮกเกี้ยนสกุล Xu ที่อพยพมาอาศัยในฟิลิปปินส์แถมยังมีเชื้อสายสแปนิชปนอยู่ด้วย (Filipino-Chinese-Spanish) ตระกูล Cojuangco นับเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลมากที่สุดตระกูลหนึ่งโดยฐานที่มั่นของตระกูลนี้อยู่ที่เมือง Tarlac บนเกาะLuzon สมาชิกในตระกูล Cojuangco ต่างลงเล่นการเมืองทั้งในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับชาติ แต่คนที่ดูจะมีบทบาทมากที่สุด คือ Don Jose Cojuangco หรือ Pepe

Jose Pepe Cojuangco เป็น ส.ส. คนแรกของเมือง Tarlec และมีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของลูกสาวคนที่ 6 ของเขา คือ นาง Corazon Cojuangco หรือ ที่เรารู้จักในภายหลังว่านาง Corazon Aquino

…นี่คือ ที่มาว่าทำไมตระกูล Cojuangco จึงมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตระกูล Aquino

นาง Corazon หรือ Cory แต่งงานกับนักการเมืองหนุ่มอนาคตไกล คือ นาย Benigno Aquino Jr. หรือ Ninoy วุฒิสมาชิกชื่อดังจาก Tarlec

Ninoy นับเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านที่ต่อสู้กับระบอบเผด็จการMarcos ในช่วงทศวรรษที่ 70-80 จนตัวเองต้องลี้ภัยทางการเมืองหลบไปอยู่อเมริกา

noynoy ที่มาภาพ :http://4.bp.blogspot.com/
noynoy ที่มาภาพ :http://4.bp.blogspot.com/

ต่อมา Ninoy กลับเข้ามาฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ปี 1983 เขาได้ถูกลอบสังหารและเสียชีวิตทันที่ที่ลงจากเครื่องบิน ณ สนามบิน Manila International Airport

การเสียชีวิตของเขาทำให้นาง Corazon ต้องก้าวเข้าสู่การเมืองฟิลิปปินส์เต็มตัวพร้อมกับช่วยขับไล่เผด็จการ Marcos ออกจากประเทศได้สำเร็จ

ปัจจุบันตระกูลการเมือง Coujangco-Aquino ยังคงมีบทบาทและครองอำนาจสูงสุดในฟิลิปปินส์โดยมีนาย Benigno Aquino III (Benigno “The Third”) หรือ Noynoy ลูกชายของ Ninoy และ Corazon ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฟิลิปปินส์

ในตอนหน้า เราจะมาดูกันต่อถึงตระกูลการเมืองฟิลิปปินส์อีก 2 ตระกูล ที่ท้ายที่สุดมีชะตากรรมไม่แตกต่างกัน

หมายเหตุ 1 ผู้สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลด สรุปผลรายงานการวิจัยเรื่อง SIX CENTURIES OF POLITICAL. DYNASTIES: Why the Philippines will Forever be Ruled by Political Clans? โดย Professor Bobby Tuazon แห่ง Center for People Empowerment in Governance.