ThaiPublica > คอลัมน์ > ตระกูลการเมือง กับ การลดต้นทุนของนักการเมือง (ตอนที่ 1)

ตระกูลการเมือง กับ การลดต้นทุนของนักการเมือง (ตอนที่ 1)

4 ธันวาคม 2013


Hesse004

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยประเด็นการแก้ไขที่มาของ สว. ว่าไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว ปรากฏว่ามีถ้อยคำบางคำที่น่าสนใจปรากฏในคำวินิจฉัย เช่น สภาญาติพี่น้อง สภาครอบครัว หรือแม้แต่ “สภาผัวเมีย”

ถ้อยคำเหล่านี้ดูเหมือนสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหารวมไปถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วง 16 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 ประกาศใช้…ถูกฉีกโดยคณะรัฐประหาร…และถูกร่างใหม่เป็นรัฐธรรมนูญปี 50 อันนำมาซึ่ง “สว.สรรหา” ในที่สุด

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 40 นั้นคาดหวังกันว่า “วุฒิสภา” จะเข้ามามีบทบาทตรวจสอบถ่วงดุลการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง จึงพยายามให้มี “สว.เลือกตั้ง” ซึ่งได้รับเลือกจากประชาชนโดยตรงเช่นเดียวกับ สส.

ส่วนชุดคำอธิบายเหตุผลของรัฐธรรมนูญปี 50 เรื่อง สว.สรรหา นั้น ก็เนื่องจากต้องการให้โอกาสประชาชนทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพได้มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ของวุฒิสภา

ดูเหมือนว่าศาลรัฐธรรมนูญเองได้ใช้ชุดคำอธิบายนี้ในการวินิจฉัยเหตุผลว่าทำไมการแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ สว. จึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 50

…น่าคิดเหมือนกันว่า คำอธิบายทั้งสองชุดนั้นล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บน “หลักการ” และ “ความเชื่อ” ของผู้ร่างเอง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนไม่ขอวิจารณ์หรือให้ความเห็นใดในที่นี้

อย่างไรก็ดีเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเอ่ยถึงคำว่า “สภาผัวเมีย” หรือ สภาญาติพี่น้อง ทำให้นึกถึงคำว่า “ตระกูลการเมือง” หรือ Political Families บางครั้งก็ใช้คำว่า Political Dynasties

การเมืองไทยนับตั้งแต่ก้าวสู่ประชาธิปไตยนั้น น่าสนใจเหมือนกันว่าบทบาทของตระกูลการเมืองเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ
…ชัดเจนถึงขนาดที่ในวันนี้ที่กลายเป็นประเด็นการ “ขับไล่” ตระกูลการเมืองบางตระกูลให้พ้นจากแผ่นดินไทยไปเสียด้วยซ้ำ

ความเปราะบางของสถานการณ์ปัจจุบันที่เต็มไปด้วย “อารมณ์เกลียดชัง” ของผู้คนสองฝั่งเช่นนี้ ทำให้เราควรกลับมา “ตั้งสติ” และศึกษาข้อมูลกันอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะด่วนสรุปตัดสินใจทำอะไรลงไป

โดยส่วนตัวผู้เขียนเริ่มสนใจบทบาทของนักการเมืองที่มีพื้นฐานมาจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มการเมืองที่เติบโตมาจาก “วงการรับเหมาก่อสร้าง” ว่ามีผลต่อพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากน้อยขนาดไหน

อย่างไรก็ดีเมื่อก้าวเข้าสู่พรมแดนความรู้เรื่องนี้แล้ว ทำให้เราหนีไม่พ้นที่จะต้องรู้จักคำว่า Political Families ไปด้วย

หากจะว่าไปแล้ว Political Families นั้นมีกันอยู่ทั่วโลก ซึ่งถ้ามองในแง่ดี การดำรงอยู่ของตระกูลทางการเมืองอาจมาจากการสืบทอดของอุดมการณ์ทางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น

แต่หากมองในมิติทางการเมืองที่ว่าด้วยเรื่อง “อำนาจ” นั้น เราจะพบว่าทุกตระกูลการเมืองต่างพยายามรักษา “ฐานอำนาจ” รวมทั้งขยายฐานอำนาจให้กว้างขวางมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในตอนที่ 1 นี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างตระกูลการเมืองในสองประเทศยักษ์ใหญ่ของเอเชีย คือ อินเดียและจีน มาให้ผู้อ่านพิจารณาดูว่าตระกูลการเมืองทั้งสองประเทศนั้นมีรูปแบบการรักษาและสืบทอดอำนาจที่แตกต่างกัน

อินทิรา เนรูห์ แต่งงานกับ เฟรอซ คานธี ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com
อินทิรา เนรูห์ แต่งงานกับ เฟรอซ คานธี ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com

เริ่มจากในอินเดียที่ ตระกูลเนห์รู-คานธี (Nehru-Gandhi Family) คือ ตระกูลการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดและอยู่ในวงการเมืองอินเดียมาตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษใหม่ ๆ โดยนายเยาวหราล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย และมีนางกมลา เนห์รู (Kamala Nehru) ศรีภรรยาที่ยังนั่งอยู่ในสภาพร้อมสามีเช่นกัน

นางอินทิรา คานธี ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com
นางอินทิรา คานธี ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com

ครอบครัวเนห์รู เกี่ยวดองกับครอบครัวคานธีเมื่อบุตรีของเยาวหราลและกมลา คือ นางอินทิรา (Indira Priyadarshini Nehru) แต่งงานกับนักการเมืองหนุ่มที่อนาคตไกลอย่างนาย เฟรอซ คานธี (Feroze Gandhi) อย่างไรก็ดี เฟรอซกลับด่วนจากโลกไปก่อนวัยอันควรทำให้ภรรยาม่ายอินทิราต้องกระโดดเข้ามสู่การเมืองอย่างเต็มตัว
ในปี 1980 นางอินทิรา คานธี กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สามของอินเดีย ก่อนที่นางจะถูกองครักษ์คนสนิทลอบสังหารเมื่อปี 1984

ราจีฟ คานธี ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com
ราจีฟ คานธี ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com

การตายของอินทิรา ได้ทำให้บุตรชายของเธอ คือ นายราจีฟ คานธี (Rajiv Gandhi) ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่สี่และมีชะตากรรมเดียวกับมารดา คือ ถูกลอบสังหารด้วยระเบิดพลีชีพที่รัฐทมิฬนาดู (Tamil Nadu) เมื่อปี 1991

หลังจากราจีฟตายทำให้ภรรยาม่ายชาวอิตาเลียนของเขา คือ นางโซเนีย คานธี (Sonia Gandhi) ต้องตัดสินใจมารับบทเป็นผู้นำพรรคคนต่อไป และแม้ว่านางจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นางก็ยังมีบทบาทสำคัญในการเมืองอินเดียอยู่ดี
ปัจจุบันตระกูลเนห์รู-คานธี ได้สร้างทายาทรุ่นล่าสุดขึ้นมาสืบทอดอำนาจทางการเมืองโดยทายาทรุ่นนี้ประกอบด้วยนายราหุล คานธี (Rahul Gandhi) ลูกชายของราจีฟและโซเนีย ซึ่งถูกจับตามองว่าจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียในอนาคต

ลูกสาว - ลูกชาย และนางโซเนียในงานศพนายราจีฟ คานธี ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com
ลูกสาว – ลูกชาย และนางโซเนียในงานศพนายราจีฟ คานธี
ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com

นอกจากราหุลแล้ว ยังมีวรุณ คานธี (Varun Gandhi) ที่เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ของอินเดียเช่นกัน วรุณเป็นบุตรของสัญชัยและมานิกา คานธี (Sanjay and Maneka Gandhi) ซึ่งกรณีของสัญชัย คือ ผู้ที่ถูกวางตัวไว้ให้เป็นทายาทสืบต่อจากนางอินทิราแต่กลับมาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกเสียก่อน ทำให้ตระกูลเนห์รู-คานธี จึงต้องดันให้นายราจีฟ น้องชายขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งแทน1

ตระกูลเนห์รู-คานธี (Nehru-Gandhi Family) ตระกูลการเมืองเก่าแก่และทรงอิทธิพลมากที่สุดของอินเดีย http://www.instablogs.com/wp-content/uploads/2012/07/dinasti-nehru-gandhi_q8uQH_21916.jpg
ตระกูลเนห์รู-คานธี (Nehru-Gandhi Family) ตระกูลการเมืองเก่าแก่และทรงอิทธิพลมากที่สุดของอินเดีย
http://www.instablogs.com/wp-content/uploads/2012/07/dinasti-nehru-gandhi_q8uQH_21916.jpg

ถ้าจะว่ากันตามตรงแล้ว ตระกูลเนห์รู-คานธี ของอินเดียเป็นยิ่งกว่า “สภาผัวเมีย” เสียอีก เพราะคนในตระกูลนี้แทบทุกคนถูกผลักดันให้ก้าวเข้าสู่วงการเมือง ขอให้พะยี่ห้อนามสกุลว่า “เนห์รู” หรือ “คานธี”

ขณะที่อินเดียมีตระกูลเนห์รู-คานธี ที่ผูกขาดและ “วนเวียน” อยู่ในอำนาจทางการเมืองอินเดียมาตั้งแต่ปี 1947 นั้น กรณีของ “จีน” พี่ใหญ่แห่งโลกสังคมนิยมก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่มีตระกูลการเมืองไม่แพ้ชาติอื่นเหมือนกัน

นับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าปกครองประเทศ กลุ่มผู้นำพรรครุ่นที่ 1 ได้ช่วยกันก่อร่างสร้างพรรคให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง พร้อมกันนั้นพวกเขาก็ได้วางอนาคต “ปูทาง” ให้กับลูกหลานตัวเองได้เติบโตในพรรคคอมมิวนิสต์ไว้ด้วย

กล่าวกันว่าลูกหลานของผู้นำพรรครุ่นแรกนั้นถูกขนานนามว่าเป็น Princelings หรือกลุ่มเจ้าชายทั้งหลาย (Crown Princes Party)

…ถ้าเป็นสมัยโบราณก็คงประมาณพวก “ท่านอ๋องน้อย”

นักการเมืองจีนที่ถูกมองว่าเป็นเหล่าท่านอ๋องที่ได้รับอานิสงค์มาจากการเป็นบุตรหลานของผู้นำพรรครุ่นแรก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jin Ping) บุตรชายของสี จงชุน (Xi Zhongxun) อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รุ่นแรก คนสนิทของประธานเหมา

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มาภาพ :http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/china/9767514/Heirs-of-Communist-Chinas-Eight-Immortals-have-amassed-huge-wealth.html
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
ที่มาภาพ :http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/china/9767514/Heirs-of-Communist-Chinas-Eight-Immortals-have-amassed-huge-wealth.html

หรือแม้แต่อดีตคู่แข่งที่ขับเคี่ยวกับนายสี จิ้นผิง อย่างนาย ป๋อ ซีไหล (Bo XiLai) ก็เป็นบุตรของป๋ออีปอ (Bo Yibo) อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ระดับอาวุโสที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับเหมาจนถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มแปดเซียน (The Eight Great Eminent Officials หรือ Eight Immortals)

ผู้นำในกลุ่มแปดเซียนเหล่านี้นำโดย “เติ้ง เสี่ยว ผิง” (Deng Xiaoping) ซึ่งว่ากันว่าลูกหลานของเหล่าแปดเซียนนี้ล้วนแล้วแต่อยู่อย่างสุขสบายและได้ตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์หรือได้ผลประโยชน์ในวงการธุรกิจอย่างเป็นล่ำเป็นสัน2

และนี่เองที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการคอร์รัปชันในจีน ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่า Nepotism หรือ Cronyism

สำหรับโลกทางการเมืองแล้ว ดูเหมือนว่าตระกูลการเมืองทั่วโลกต่างพยายามผลักดัน “สมาชิก” ในครอบครัวหรือคนในตระกูลการเมืองตนเองให้ก้าวเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองทั้งในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น

…ไม่ว่าสมาชิกคนนั้นของตระกูลจะถูก “บังคับ” ให้เข้าการเมืองหรือ “สมัครใจ” ที่จะเข้ามาเอง

น่าคิดเหมือนกันว่า เหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้ตระกูลการเมืองยังคงดำรงสถานะอยู่ได้ในโลกการเมืองไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือสังคมนิยมก็ดี นอกจากความพยายามที่รักษาสืบทอดอำนาจหรืออุดมการณ์ทางการเมืองแล้ว เหตุผลอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ยังมีชุดความคิดใดที่อธิบายเรื่องนี้ได้อีกบ้าง

…ไว้มาว่ากันใหม่ในตอนต่อไปครับ

หมายเหตุ :
1ผู้สนใจเรื่องนี้โปรดดูบทความเรื่อง The making of the Gandhi Dynasties
2ผู้สนใจโปรดดูบทความเรื่องHeirs of Communist China’s Eight Immortals have amassed huge wealth ของ Tom Philips