ThaiPublica > เกาะกระแส > โครงการจำนำข้าวฤดูใหม่ 56/57 ชาวนาแห่นำใบประทวนกว่าล้านใบขอขึ้นเงิน 90,000 ล้าน แต่ ธ.ก.ส. มีเงิน 47,100 ล้าน

โครงการจำนำข้าวฤดูใหม่ 56/57 ชาวนาแห่นำใบประทวนกว่าล้านใบขอขึ้นเงิน 90,000 ล้าน แต่ ธ.ก.ส. มีเงิน 47,100 ล้าน

13 ธันวาคม 2013


หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลผลิต 2556/2557 เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 จนถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2556 ปรากฏว่า ที่ผ่านมามีเกษตรกรจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวจาก ธ.ก.ส. นานกว่า 2 เดือน สาเหตุเกิดจากกระทรวงพาณิชย์ส่งเงินจากการระบายข้าวมาให้ ธ.ก.ส. ต่ำกว่าเป้าหมาย ขณะที่ ธ.ก.ส. พยายามปรับลดวงเงินสินเชื่อส่วนเกินให้อยู่ในกรอบ 5 แสนล้านบาทภายในสิ้นปี 2556 ตามมติ ครม. วันที่ 10 มิถุนายน 2556 นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ในฐานะตัวแทนชาวนา จึงเดินทางไปร้องต่อกระทรวงพาณิชย์ ขอให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากในขณะนี้ชาวนาเดือดร้อนมาก ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่ดิน ดอกเบี้ย ค่าปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์ ถึงแม้รัฐบาลจะประกาศยุบสภาไปแล้ว แต่ก็ยังต้องรับผิดชอบโครงการนี้ต่อไป หากไม่เร่งแก้ไข ชาวนา 26 จังหวัด อาจจะรวมตัวกันปิดถนนประท้วง

ที่ผ่านมานับจากวันที่เกษตรกรนำใบประทวนมาทำสัญญากับ ธ.ก.ส. ธนาคารจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากเกษตรกรภายใน 7 วัน ปกติไม่เคยมีปัญหาจ่ายเงินล่าช้า แต่พอมาถึงฤดูกาลผลิตข้าวเปลือกนาปี 2556/2557 รอบแรก ธ.ก.ส. จ่ายเงินล่าช้า

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า จากมติ ครม. วันที่ 10 มิถุนายน 2556 และวันที่ 3 กันยายน 2556 กำหนดว่า ณ วันสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2555/2556 (31 ธันวาคม 2556 ) วงเงินสินเชื่อที่ใช้ในโครงการนี้ต้องมียอดคงค้างไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วยเงินกู้ที่กระทรวงการคลังจัดหา 410,000 ล้านบาท และเงินทุนของ ธ.ก.ส. 90,000 ล้านบาท โดยในช่วงฤดูการผลิต 2555/2556 ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อโครงการรับจำนำข้าวมียอดคงค้าง 680,000 ล้านบาท ดังนั้น ธ.ก.ส. จึงจำเป็นต้องพยายามปรับลดวงเงินลงมาให้อยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท ตามมติ ครม. ดังกล่าว

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.

นายลักษณ์กล่าวต่อไปอีกว่า แนวทางการบริหารจัดการวงเงินสินเชื่อให้อยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท มีดังนี้

1) กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวนำเงินมาชำระคืนให้กับ ธ.ก.ส. ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์โอนเงินจากการระบายข้าวให้ ธ.ก.ส. 162,000 ล้านบาท
2) สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณปี 2557 มาให้ ธ.ก.ส. แล้ว 52,000 ล้านบาท ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้รับเงินมาแล้ว 214,000 ล้านบาท นำไปปรับลดยอดสินเชื่อคงค้างลงมาเหลือ 466,000 ล้านบาท เหลือวงเงินที่จะใช้รับจำนำข้าวปี 2556/2557 เบื้องต้น 34,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังทำเรื่องเบิกเงินชดเชยจากการทำข้าวถุงธงฟ้าเพื่อมาชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส. ประมาณ 7,100 ล้านบาท คาดว่าสำนักงบประมาณจะอนุมัติเงินให้ไม่เกินสัปดาห์หน้านี้ และภายในสิ้นปี 2556 กระทรวงพาณิชย์ต้องส่งเงินจากการระบายข้าวให้ ธ.ก.ส. เพิ่มเติมอีก 6,000 ล้านบาท รวมแล้ว ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องหรือวงเงินที่จะจ่ายให้เกษตรกรไปจนถึงสิ้นปี 2556 ประมาณ 34,000-47,100 ล้านบาท

“วิธีการบริหารจัดการก็เป็นตามที่กล่าวมาข้างต้น หลักการคือ กระทรวงพาณิชย์ต้องส่งเงินจากการระบายข้าวให้ ธ.ก.ส. ตามเป้าหมายที่กำหนด และสำนักงบประมาณจัดสรรงบฯ มาชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส. ก็จะทำให้ ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องพอที่จะทยอยจ่ายเงินให้ชาวนาได้จนถึงสิ้นปี 2556” นายลักษณ์กล่าว

สภาพคล่อง ธ.ก.ส.

อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ประมาณ 34,000-47,000 ล้านบาท เพียงพอที่จะใช้รับจำนำข้าวในฤดูการผลิต 2556/2557 นายลักษณ์กล่าวว่า ตามมติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 กำหนดให้ ธ.ก.ส. ใช้เงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวปี 2556/2557 ไม่เกิน 2.7 แสนล้านบาท เฉพาะรอบแรกเป็นข้าวเปลือกนาปี คาดว่าจะมีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำ 11 ล้านตัน ใช้เงิน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งรอบแรกเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2556 มีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำเกือบ 6 ล้านตัน องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกใบประทวนมูลค่ากว่า 90,000 ล้านบาท ขณะนี้ ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้เกษตรกรตามใบประทวนไปแล้ว 17,000 ล้านบาท จนถึงสิ้นปี 2556 ธ.ก.ส. ยังมีวงเงินสภาพคล่องเหลือกว่า 20,000 ล้านบาท

“ธนาคารไม่ได้มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ตอนนี้ ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องเหลืออยู่ 180,000 ล้านบาท แต่ต้องคุมยอดสินเชื่อคงค้างไม่เกิน 5 แสนล้านบาทภายในสิ้นปี 2556 ตามมติ ครม. การจ่ายเงินให้เกษตรกรช่วงนี้คงต้องล่าช้าสักหน่อย เพราะต้องรอเงินจากการระบายข้าวและงบประมาณแผ่นดิน เฉลี่ยจ่ายเงินได้สัปดาห์ละ 2,000 ล้านบาท ส่วนวิธีการจ่ายเงินจะใช้วิธีทยอยจ่าย โดยพิจารณาจากข้อมูลเกษตรกรที่มาลงทะเบียน ใครมาลงทะเบียนก่อนได้เงินก่อน ตามลำดับ ” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

นายลักษณ์กล่าวต่อไปอีกว่า ถึงแม้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/2557 วงเงินไม่เกิน 2.7 แสนล้านบาท ผ่านการอนุมัติจาก ครม. แล้วทั้ง 2 รอบ คือ รอบแรกเป็นข้าวเปลือกนาปี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนรอบที่สองเป็นข้าวเปลือกนาปรัง คงต้องทำเรื่องเสนอ ครม. อีกครั้งว่าจะให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการต่อไปหรือไม่ ส่วนวงเงินกู้ที่กระทรวงการคลังต้องดำเนินการจัดหาวงเงิน 410,000 ล้านบาท ขณะนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันไปแล้ว 365,000 ล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีก 45,000 ล้านบาท หลังจากรัฐบาลประกาศยุบสภาแล้ว ในความเห็นส่วนตัวของตน คิดว่า สบน. สามารถดำเนินการก่อหนี้ต่อไปได้ เพราะแผนการก่อหนี้ดังกล่าวอยู่ภายใต้มติ ครม. เดิมวงเงิน 410,000 ล้านบาท ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะปี 2556 แล้ว สบน.น่าจะดำเนินการต่ดไปได้

ส่วนเกษตรกรที่เดือดร้อนจากการที่ ธ.ก.ส. จ่ายเงินรับจำนำข้าวล่าช้านั้น นายลักษณ์กล่าวว่า ระหว่างที่รอเงินจากการระบายข้าว ธนาคารได้เตรียม “โครงการสินเชื่อเพื่อรอการขายผลผลิต” วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร โดยปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรเป็นรายบุคคล วงเงิน 5,000 ล้านบาท และปล่อยสินเชื่อผ่านสหกรณ์การเกษตรวงเงิน 5,000 ล้านบาท

อนึ่ง ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/2557 รอบแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 10 ธันวาคม 2556 อ.ต.ก. และ อคส. รับจำนำข้าวจากเกษตรกรแล้ว 7.072 ล้านตัน และออกใบประทวนจำนวน 1.079 ล้านใบ ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2556 ธ.ก.ส. จ่ายเงินตามใบประทวนให้กับเกษตรกร 92,470 สัญญา คิดเป็นเงิน 11,772 ล้านบาท