ThaiPublica > คนในข่าว > นิโคลัส มาดูโร : “นายคิด ขี้ข้าทำ” กับ “อาญาประกาศิต” จากรัฐสภาเวเนซุเอลา

นิโคลัส มาดูโร : “นายคิด ขี้ข้าทำ” กับ “อาญาประกาศิต” จากรัฐสภาเวเนซุเอลา

2 ธันวาคม 2013


รายงานโดย…อิสรนันท์

อดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ และ นิโคลัส มาดูโร(ชูแขน) ที่มาภาพ : http://s1.ibtimes.com/sites/www.ibtimes.com/files/styles/v2_article_large/public/2013/10/25/nicolas-maduro.jpg
อดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ และ นิโคลัส มาดูโร (ชูแขน) ที่มาภาพ: http://s1.ibtimes.com/sites/www.ibtimes.com/files/styles/v2_article_large/public/2013/10/25/nicolas-maduro.jpg

ขณะที่รัฐบาลแห่งแดนดินถิ่นเจ้าพระยาได้สมคบกับรัฐสภากระทำการปู้ยี่ปู้ยำประเทศนี้ ด้วยการออกกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญโดยไม่ยอมฟังเสียงทักท้วงของประชาชน หนำซ้ำยังประกาศไม่รับคำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้หลักการการตรวจสอบและถ่วงดุลย์อำนาจระหว่างอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการถูกทำลาย จนบ้านเมืองแทบลุกเป็นไฟเมื่อประชาชนพยายามทวงอำนาจคืนผ่านวิธีอารยะขัดขืน

โรคเผด็จการเสียงข้างมากในรัฐสภายังได้ลอยข้ามน้ำข้ามมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล ไประบาดยังอีกฟากฝั่งหนึ่ง ทำให้แดนดินถิ่นสาวงามมากที่สุดในโลกอย่างเวเนซุเอลา ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ติดโรคร้ายทางการเมืองนี้ กระทั่งกลายเป็นหนึ่งในประเทศคู่แฝดของไทยแลนด์แดนแค่นยิ้ม นับตั้งแต่บุรุษหน้าเหลี่ยมผู้หนึ่งได้บินลัดฟ้าแอบไปศึกษาดูงานด้านประชานิยมของอดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ เจ้าตำรับแดงตัวจริง แล้วนำมาใช้ในแดนดินถิ่นขวานทอง เป็นเหตุให้การบ้านการเมืองวุ่นวายตราบจนทุกวันนี้ ขณะที่เวเนฯ ก็แอบลอกนโยบาย “พี่คิด น้องทำ” ของบุรุษหน้าเหลี่ยม ไปแปลงเป็นนโยบาย “นายคิด ขี้ข้าทำ” จนบ้านเมืองใกล้จะเกิดกลียุคเช่นกัน

สองปีที่แล้ว คนหน้าเหลี่ยมคนหนึ่งได้ผลักดันน้องสาวขึ้นมาสวมหัวโขนผู้นำประเทศภายใต้นโยบาย “พี่คิด น้องทำ” แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ชาเวซ เจ้าพ่อแดงตัวจริงแห่งเวเนฯ ที่ป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งจนต้องบินไปผ่าตัดที่คิวบาหลายครั้งก็เดินตามรอยด้วยการตั้งนิโคลัส มาดูโร มือขวาผู้ซื่อสัตย์วัย 50 ปี ขึ้นมาเป็นทายาทการเมืองและสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีแทนหลังชาเวซลาลับจากโลกนี้ ปรากฏว่าทั้ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”และ “นิโคลัส มาดูโร” ทายาททั้งสองคนต่างไม่ทำให้ผิดหวัง เมื่อเกิดใจตรงกัน ทำตามนโยบายที่พี่หรือนายคิด นอกเหนือจากเร่งผนึกอำนาจฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว จากนั้นก็สำแดงอำนาจความเป็นเผด็จการเสียงข้างมากให้ปรากฏ จนการเมืองต่างเขม็งเกลียวไปตามๆ กัน

ไล่เลี่ยกับที่รัฐสภาไทยแลนด์แดนแค่นยิ้มดึงดันออกกฎหมายหลายฉบับที่อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ รัฐสภาของเวเนฯ ก็ได้ออกกฎหมายประหลาดฉบับหนึ่งยกอำนาจของรัฐสภาให้กับประธานาธิบดี ให้สามารถออกกฤษฎีกาหรือคำสั่งประธานาธิบดีมาบังคับใช้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน หรืออีกนัยหนึ่งเท่ากับมอบอาญาประกาศิตให้กับมาดูโร เหมือนกับที่เคยมอบอำนาจพิเศษนี้ให้กับชาเวซใช้ เพื่อตอกเสาเข็มวางฐานรากนโยบายประชานิยมนานติดต่อกันถึง 5 ปี ระหว่างนั้นก็สั่งยึดกิจการบางอย่างกลับมาเป็นของรัฐ รวมถึงสั่งขึ้นภาษี เพิ่มสิทธิของแรงงาน และลงโทษคนที่กักตุนสินค้าและจำหน่ายสินค้าเกินราคา ทำให้ชาวเวเนฯ ต่างเสพย์ติดนโยบายนี้จนลืมเลือนไปว่าเหตุใดตัวเองจึงมีแต่ยากจนลงไปทุกทีๆ ทันทีที่มีอาญาประกาศิตอยู่ในมือ มาดูโรก็ไม่ลังเลใจแม้แต่น้อยที่จะใช้สิทธิพิเศษที่ได้รับสานต่อนโยบายประชานิยม ด้วยการลงดาบฟันบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่ค้ากำไรเกินควรทันที โดยอ้างว่าเพื่อให้ประชาชนที่ถูกขูดรีดมานานได้ใช้สินค้าในราคาถูก

อย่างไรก็ดี มีดที่จะ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ตามแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจรวมทั้งกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชันให้สิ้นซากนั้น กลับใช้มีดโคที่ใหญ่เทอะทะจนกลายเป็นการปราบปรามมากกว่าการกำราบให้หวาดกลัว จากกรณีที่มอบอำนาจให้กองทัพตบเท้าเข้ายึดร้านเครื่องไฟฟ้าหลายแห่งทั่วประเทศ ในข้อหาอุกฉกรรจ์ว่าขายสินค้าราคาสูงเกินความเป็นจริง พร้อมกับบังคับให้ร้านค้าเหล่านั้นขายสินค้าในราคาควบคุมตามที่รัฐบาลเคยกำหนดไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปรากฏว่าขบวนการเชือดไก่ให้ลิงดูนี้สร้างความโกลาหลไปทั่ว เพราะชาวบ้านต่างเฮโลแย่งกันซื้อสินค้าราคาถูกที่ทางการนำมารุสต็อกขายในราคาถูกเหมือนได้เปล่า รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรทัศน์จอพลาสมา เครื่องซักผ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ กระทั่งทางการต้องส่งทหารเข้าไปควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อย นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมเจ้าของร้านกว่า 100 รายในข้อหาว่าขายสินค้าเกินราคา พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าจะขยายมาตรการครอบคลุมถึงสินค้าชนิดอื่น เช่น รถยนต์ เสื้อผ้า เป็นต้น

การที่ “มาดูโร” ได้รวบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมาอยู่ในมือตัวเองแต่ผู้เดียวจนเหมือนกับมีอาญาประกาศิตอยู่ในมือ ฝ่ายค้านจึงได้ผนึกกำลังร่วมกันประณามการกระทำของมาดูโรว่าแก้ไม่ตรงจุด เพราะต้นตอของสารพัดปัญหาเศรษฐกิจมาจากระบบรวมศูนย์อำนาจจนรัฐบาลมีอำนาจล้นฟ้า และปล่อยให้ภาคเอกชนทำธุรกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอามาเนิ่นนาน ทำให้สินค้าจำเป็นหลายชนิดตั้งแต่แป้งสาลีจนถึงกระดาษชำระเกิดขาดแคลน ฝ่ายค้านยังย้ำด้วยว่า การใช้อำนาจพิเศษของมาดูโร นอกจากไม่ช่วยให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาพปกติในเวลาอันรวดเร็วแล้ว ยังเท่ากับบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศด้วย ที่สำคัญก็คือ รัฐบาลได้ใช้นโยบายประชานิยมจากการนำอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยึดมาจากร้านค้ามาขายในราคาถูก เพื่อหวังชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำหนดมีขึ้นในวันที่ 8 ธ.ค. ด้วยการหาแพะรับบาปนโยบายที่ผิดพลาดของตัวเอง และเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ตัวเองบริหารผิดพลาด

แต่เสียงประณามของฝ่ายค้านก็แผ่วเบาแทบไม่มีคนได้ยิน ด้วยความที่อดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ครองอำนาจมานานถึง 14 ปี แถมยังส่งไม้ต่อให้มาดูโรด้วยความราบรื่น ทำให้ฝ่ายค้านอ่อนกำลังลงไปมาก ก่อนหน้าที่รัฐสภาจะลงมติมอบอำนาจพิเศษให้มาดูโรไม่นานนัก รัฐสภาเพิ่งลงมติให้เพิกถอนเอกสิทธิ์คุ้มครองนางมาเรีย อารังกูเรน ส.ส.ฝ่ายค้าน ทำให้เธอต้องลาออกจากการเป็น ส.ส. และถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเธอยืนกรานว่าถูกใส่ร้ายป้ายสี

การถอดถอนนางอารังกูเรนครั้งนี้ยิ่งทำให้การเผชิญหน้าระหว่าง ส.ส. พรรครัฐบาลกับฝ่ายค้านทวีความเข้มข้นมากขึ้น หลังจากที่ ส.ส. ของ 2 ฝ่ายได้เคยวางมวยกันกลางสภาเมื่อกลางปีที่ผ่านมา นอกจากตะลุมบอนทั้งด้วยมือเปล่าแล้ว ยังมีการขว้างปาแล็ปท็อป โต๊ะ และเก้าอี้ ใส่กันจนบาดเจ็บไปตามๆ กัน หลังจาก ส.ส. พรรครัฐบาลอาศัยพวกมากลากไป ลงมติไม่ยอมให้สิทธิฝ่ายค้านในการแถลงต่อรัฐสภา อ้างว่าฝ่ายค้านจะต้องยอมรับมาดูโรในฐานะประธานาธิบดีก่อน แต่ฝ่ายค้านไม่ยอม อ้างว่ามาโดูโรโกงเลือกตั้ง พร้อมกับตะโกนคำว่า “ฟาสซิสต์” ใส่ผู้นำรัฐสภา นอกเหนือจากชูป้ายที่มีข้อความว่า “ปฏิวัติรัฐสภา”

แทนที่จะวางตัวเป็นกลาง ประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับฝ่ายรัฐบาล ได้เย้ยหยันฝ่ายค้านด้วยการท้าให้ไปฟ้องสื่อหรือไปร้องเรียนต่อสหประชาชาติก็ได้ หนำซ้ำยังยืนยันว่าการให้อำนาจมาดูโรถือว่าเป็นชัยชนะของประชาชน

“นิโคลัส มาดูโร” วัย 50 ปี เกิดในครอบครัวผู้ใช้แรงงานที่กรุงคารากัสเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 เป็นครอบครัวคาธอลิกผู้เคร่งครัด แม้บรรพบุรุษฝ่ายพ่อซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานจะมีเชื้อสายยิว แต่ท้ายสุดตัวเองกลับเป็นสาวกของสัตยา ไสบาบา มหาคุรุชาวอินเดีย ด้วยความที่มีเลือดพ่ออยู่เต็มตัว แม้จะเรียนไม่จบระดับมัธยม แต่มาดูโรก็เคยเป็นประธานสภานักเรียน ก่อนจะลาออกมาขับรถโดยสารประจำทางให้กับบริษัทเดินรถแห่งหนึ่ง ในช่วงนั้นเอง ได้เป็นผู้นำการจัดตั้งสหภาพแรงงานคนขับรถขึ้นเป็นครั้งแรก ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้น สหภาพแรงงานยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม และระหว่างนั้นได้รับการชักชวนให้เป็นการ์ดประจำตัวของผู้สมัครชิงประธานาธิบดีคนหนึ่งเมื่อปี 2526 ซึ่งสอบตกการเลือกตั้งในครั้งนั้น แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้มาดูโรก้าวสู่เส้นทางการเมืองในอีก 10 ปีให้หลัง

นิโคลัส มาดูโร ที่มาภาพ : http://www.esserecomunisti.it/wp-content/uploads/madurro.jpg
นิโคลัส มาดูโร ที่มาภาพ: http://www.esserecomunisti.it/wp-content/uploads/madurro.jpg

“มาดูโร” รู้จักกับชาเวซเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2536 ระหว่างที่ตัวเองเป็นหนึ่งในแกนนำขบวนการโบลิวาร์ที่นำโดยชาเวซ ซึ่งได้จับมือเป็นพันธมิตรกับขบวนการผู้ใช้แรงงาน กระทั่งมาดูโรได้เป็นแกนนำก่อตั้งขบวนการสาธารณรัฐที่ 5 หรือเอ็มบีอาร์-200 ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพให้ชาเวซ ที่ถูกจับกุมคุมขังโทษฐานพยายามยึดอำนาจรัฐแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากชาเวซได้รับการปล่อยตัว มาดูโรจึงร่วมกับชาเวซตั้งพรรคสังคมนิยมฝ่ายซ้ายขึ้น และสนับสนุนชาเวซให้ลงเลือกตั้งประธานาธิบดีจนชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2541 จากนั้น มาดูโรได้กระโจนสู่วงการเมืองบ้าง ด้วยการสมัครรับเลือกตั้งในเขตเมืองหลวงและได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรกเมื่อปี 2543 ระหว่างนั้น มีบทบาทสำคัญในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้นระหว่างการจัดทำประชามติ จากบทบาทสำคัญในรัฐสภา ทำให้มาดูโร ได้เป็นประธานสภาผู้แทนฯ เมื่อปี 2549 ระหว่างนั้นมีผลงานเข้าตาชาเวซ กระทั่งออกปากชักชวนให้ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ เพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแม้จะพูดภาษาอื่นไม่ได้เลย มาดูโรจึงลาออกแล้วให้นางซิเลีย ฟลอเรส ภรรยา ซึ่งเป็นอัยการ สืบทอดตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ แทน นับเป็นผู้หญิงคนแรกที่รั้งตำแหน่งนี้

ช่วงที่รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างปี 2549-2556 มาดูโรได้แสดงผลงานให้ปรากฏหลายชิ้น อาทิ ยึดมั่นนโยบายสนับสนุนรัฐบาลโมอัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบีย ให้ยืนหยัดต่อกรแรงกดดันจากตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐฯ ทั้งยังพลิกฟื้นความสัมพันธ์กับโคลอมเบีย ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยมีเรื่องกระทบกระทั่งกัน กระทั่งได้รับคำชมว่าเป็น “นักปกครองและนักการเมือง” ผู้มีความสามารถที่สุดภายในกลุ่มคนที่ถือเป็นคนวงในของชาเวซ

ความที่เป็นคนรู้ใจที่ร่วมงานกันมานาน ชาเวซ ซึ่งรู้ตัวว่าป่วยหนักและคงยากจะมีชีวิตยืนยาวจึงประกาศอย่างเป็นทางการให้มาดูโร ที่คะแนนนิยมมีแต่พุ่งขึ้นตลอดช่วง 22 ปีในวงการเมืองเป็นรองประธานาธิบดี หลังจากตัวเองชนะเลือกตั้งสมัยที่ 3 เมื่อเดือน ต.ค. 2555 ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะสามารถสานต่องานของพรรคสังคมนิยมที่ทำมาตลอด 14 ปีได้อย่างแน่นอน เหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ระหว่างที่ชาเวซบินไปผ่าตัดและรักษาโรคมะเร็งที่คิวบา มาดูโรจึงรับผิดชอบงานแทน กระทั่งชาเวซถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2556 โดยขึ้นมาเป็นรักษาการประธานาธิบดี เพื่อจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2556

ปรากฏว่ามาดูโรชนะเฮนริเก คาปริเลส ผู้ว่าการรัฐมีรันดา ผู้สมัครจากพรรคสหสังคมนิยม ด้วยคะแนนเสียงไม่ทิ้งห่างมากนัก คือแค่ 267,000 คะแนนเท่านั้น ทั้งๆ ที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งราว 15 ล้านคน จึงมีเสียงโวยวายของฝ่ายค้านว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง เพราะมีการนับคะแนนคนที่ตายไปแล้วถึง 600,000 คนด้วย ประชาชนจำนวนมากได้รวมตัวกันออกมาประท้วงด้วยการเคาะกระทะและภาชนะต่างๆ ตามสไตล์การประท้วงของตะวันตกและลาตินอเมริกา แม้มาดูโรจะยืนกรานว่า “วันนี้ พวกเรามีชัยชนะเลือกตั้งที่เป็นธรรม”

ก็ต้องคอยดูกันว่าการเมืองในแดนดินถิ่นเจ้าพระยากับเวเนฯ ใครจะจบก่อนกัน