ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “ทนง พิทยะ” ประเมินเศรษฐกิจไทย “คอร์รัปชัน” เป็นความเสี่ยงสูงสุด หมดยุค”กินแต่ของเก่า” ผลาญทรัพยากร ใช้ทุนสะสมต่างชาติ เทคโนโลยีเก่า

“ทนง พิทยะ” ประเมินเศรษฐกิจไทย “คอร์รัปชัน” เป็นความเสี่ยงสูงสุด หมดยุค”กินแต่ของเก่า” ผลาญทรัพยากร ใช้ทุนสะสมต่างชาติ เทคโนโลยีเก่า

18 ธันวาคม 2013


เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 ดร.ทนง พิทยะ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา บริษัทหลักทรัพย์จัดการองทุน ทหารไทย จำกัด และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บรรยายในหัวข้อ “ประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 ดร.ทนง พิทยะ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา บริษัทหลักทรัพย์จัดการองทุน ทหารไทย จำกัด และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บรรยายในหัวข้อ “ประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ทนง พิทยะ” ประเมิน 4 ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย แรงสุดคือปัญหาคอร์รัปชัน ถ้าแก้ได้ เศรษฐกิจโตได้ 6-7% พร้อมหนุนปฏิรูประเบียบกติกาใหม่ เน้นความโปร่งใส ก่อนเลือกตั้ง

4 ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

ดร.ทนง พิทยะ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา บริษัทหลักทรัพย์จัดการองทุน ทหารไทย จำกัด และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้บรรยายในหัวข้อ “ประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน ภาควิชาการธนาคารและการเงินคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 ว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมี 4 ประเด็นหลักๆ คือ ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ความเสี่ยงทางนโยบาย ความเสี่ยงจากการกำหนดกลยุทธ์ และความเสี่ยงจากภาคปฏิบัติ

“ปัญหาเราเยอะ แต่โอกาสก็เยอะ แค่กำจัดปัญหาหรือความเสี่ยงทางนโยบายและความเสี่ยงจากภาคปฏิบัติได้ เศรษฐกิจก็จะเติบโตได้ 6-7%” ดร.ทนงกล่าว

แก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ ดันเศรษฐกิจโต 6-7%

แต่ถ้าจัดลำดับความเสี่ยงที่น่าห่วงและควรเร่งแก้ไขมากที่สุด ดร.ทนงกล่าวว่า ความเสี่ยงจากภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาคอร์รัปชัน ถือว่ามีปัญหามากที่สุด เพราะหากแก้ไขไม่ได้จะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ และจะมีผลกระทบต่อการลงทุนของนักลงทุนเอกชนมากที่สุด

“ดีใจที่การเมืองเริ่มตามเศรษฐกิจทัน มีการตื่นตัวเรื่องกำจัดคอร์รัปชัน นี่คือจุดผ่านที่สำคัญที่สุด ถ้าทำสำเร็จเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 6-7% แต่ถ้าไม่สำเร็จเศรษฐกิจก็จะโตแค่ 3-4%” ดร.ทนงกล่าว

นอกจากการแก้ปัญหาคอร์รัปชันแล้ว ดร.ทนงกล่าวว่า ความเสี่ยงภาคปฏิบัติที่ต้องแก้ไขไปพร้อมๆ กันคือ ปัญหาการเล่นพวก ปัญหาการอุปถัมภ์เครือญาติ ปัญหาความล่าช้าจากระเบียบปฏิบัติ ปัญหาระบบการทำงาน และปัญหาระบบการจัดการ โดยปัญหาเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน เพราะนักลงทุนใหม่ๆ ไม่สามารถเข้ามาลงทุนได้ เพราะติดขัดปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดการผูกขาดการลงทุนอยู่แต่กลุ่มนักลงทุนเดิมๆ ดังนั้น ถ้าแก้ปัญหาภาคปฏิบัติได้จะทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว

“ประชานิยม” เป็นความเสี่ยงทางนโยบาย

ดร.ทนง พิทยะ
ดร.ทนง พิทยะ

ส่วนความเสี่ยงทางนโยบาย ดร.ทนงกล่าวว่า ที่ผ่านมามีนโยบายที่เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ คือ นโยบายประชานิยม นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายจำนำราคาพืชผลการเกษตร นโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายภาษี

โดยนโยบายประชานิยม ดร.ทนงกล่าวว่า หมายถึงนโยบายที่เอาเงินไป “แจกฟรี” ให้ประชาชน ไม่ได้สร้างความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้น หรือสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ความเลวร้ายของนโยบายประชานิยมคือ ทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตไม่ต่อเนื่องอย่างแท้จริง และทำให้ประชาชนอ่อนแอ

อาทิ นโยบายจำนำราคาพืชผลการเกษตร ดร.ทนงระบุว่า อะไรที่จำนำสูงกว่าราคาตลาดโลกจะเดินต่อไปไม่ได้ ซึ่งนโยบายจำนำข้าวถือเป็นการจำนำที่ผิดวิธี เพราะราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดโลก ทำให้เป็นภาระการคลังของภาครัฐ และให้ชาวนาในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นโยบายอย่างนี้ควรทบทวนและปรับเปลี่ยน

“นโยบายจำนำข้าวจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ถ้ายังรับจำนำราคาสูงกว่าตลาดโลก และน่ากลัวเพราะจะทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล” ดร.ทนงกล่าว

ขณะที่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาททั่วประเทศ ดร.ทนงกล่าวว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะการเพิ่มค่าแรงควรจะทำได้ต่อเมื่อสามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิตและเพิ่มเทคโนโลยี แต่การปรับค่าจ้างเพิ่มทันทีทำให้บางจังหวัดมีค่าแรงเพิ่มขึ้นถึง 40-50% ทำให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับนโยบายภาษีที่รัฐบาลปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% เพราะจะทำให้ภาคธุรกิจไทยแข่งขันได้ในอาเซียน และนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ประเด็นอยู่ที่ต้องจัดลำดับความสำคัญและจัดสรรทรัพยากรให้ถูกต้อง เพราะถ้าไม่รู้ว่าอะไรสำคัญกว่าอะไรจะเป็นปัญหาและเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

รื้อส่งเสริมการลงทุนใหม่ เน้น “Transfer Technology”

ด้านความเสี่ยงจากการกำหนดกลยุทธ์ ดร.ทนงกล่าวว่า กลยุทธ์ของเราเก่ามาก อาทิ กลยุทธ์ส่งเสริมการลงทุน ต้องปรับเปลี่ยนจากสนับสนุนการลงทุนแบบไม่โฟกัส มาเป็นการสนับสนุนการลงทุนที่เราต้องการ คือ การลงทุนด้านเทคโนโลยี และการสนับสนุนอุตสาหกรรมกลางน้ำและต้นน้ำ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน

ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ แม้เราจะเป็นผู้นำ แต่เรายังไม่ชนะ เพราะเราไม่มีอุตสาหกรรมต้นน้ำ คือ อุตสาหกรรมถลุงเหล็กกล้า เพราะฉะนั้น อาจทำให้สูญเสียการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมถ้าไม่มีวัตถุดิบ เป็นต้น

นอกจากนี้ กลยุทธ์เพื่อสร้างสมรรถนะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ดร.ทนงกล่าวว่า ตั้งแต่มีการปฏิวัติไม่ได้เน้นในเรื่องนี้ ทำให้เรา “กินแต่ของเก่า” คือ เผาผลาญทรัพยากร ใช้ทุนสะสมจากต่างชาติ การพัฒนาทรัพยากรไม่มี แรงงานไม่พอก็นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และเทคโนโลยีที่เราใช้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย จำเป็นต้องสนับสนุนให้มีการโยกย้ายเทคโนโลยี หรือ “Transfer Technology” ออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

“เรื่องเทคโนโลยี ถ้าเราไม่ย้ายเทคโนยีเก่าของเราออกไปประเทศเพื่อนบ้าน เราก็จะไม่มีเทคโนโลยีใหม่ เพราะฉะนั้น หัวใจเรื่องเทคโนโลยีคือ ต้องย้ายเทคโนโลยีเก่าออกไป และส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาทำให้เกิดการสะสมเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนาประเทศในที่สุดได้” ดร.ทนงกล่าว

ส่วนความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า จากปัญหาความตกต่ำของเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ ขณะนี้เศรษฐกิจยุโรปถือว่าผ่าน “ก้นเหว” แล้ว แต่ยังดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด อาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ​เริ่มดีขึ้น ดังนั้นอาจปรับลดมาตรการอัดฉีดเงิน (คิวอี) ซึ่งจะกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ทำให้ผันผวนมากยิ่งขึ้น

“หากค่าเงินบาทผันผวนมาก จะบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ส่งออก ทำให้ผู้ส่งออกได้น้อยลง การแก้ปัญหาจะให้ผู้ส่งออกทำป้องกันความเสี่ยงก็อาจไม่คุ้ม เพราะมาร์จินมีแค่ 5% การป้องกันความเสี่ยงอาจไม่คุ้ม ดังนั้น เรื่องความผันผวนของค่าเงินบาทก็อยู่ที่แบงก์ชาติจะดำเนินการดูแลอย่างไร” ดร.ทนงกล่าว

หนุนปฏิรูปกติกาให้โปร่งใสก่อนเลือกตั้ง

ดร.ทนง พิทยะ
ดร.ทนง พิทยะ

ทั้งนี้ ดร.ทนงประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2556 ว่า จะเติบโตได้ใกล้ๆ 3% และเนื่องจากปีนี้เศรษฐกิจโตสูง จึงคาดว่าปีหน้าจะขยายตัวได้ 4.5-5% แต่หากนำปัจจัยการเมืองที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนมาพิจารณาด้วย ก็อาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตลดลงอยู่ที่ประมาณ 4%

“เศรษฐกิจปีหน้าน่าเป็นห่วง เพราะกลไกภาครัฐคงไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ และมาตรการต่างๆ ที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่สามารถออกมาได้ เนื่องจากภาวะแรงกดดันจากปัญหาทางการเมือง” ดร.ทนงกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.ทนงมีความเห็นว่า การชุมนุมทางการเมืองหากเป็นไปอย่างสันติ มีการชุมนุมอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ก็น่าจะเป็นภาพการชุมนุมที่ดี ตามสันติวิธี จะทำให้นักลงทุนไม่กังวล เพราะเป็นเรื่องของระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติทั่วโลก แต่ถ้ามีการเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมไปสถานที่ต่างๆ ก็อาจเสี่ยงจะเกิดความรุนแรง ซึ่งน่าเป็นห่วง

“ปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเลือกตั้งได้หรือไม่นั้น ในความเห็นส่วนตัวควรจะมีการเปลี่ยนแปลงกติกาให้โปร่งใสก่อนมีการเลือกตั้ง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว เลือกตั้งคงได้รัฐบาลไม่แตกต่างจากที่เป็นมา และแก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน ต้องแก้ไขเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน” ดร.ทนงกล่าว

ดังนั้น ทางออกทางการเมืองในขณะนี้ ดร.ทนงเสนอว่า ควรร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์แนวทางการปฎิรูปทางการเมืองหลังจากนี้ไป ถ้าจำเป็นจะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป 1-2 เดือนก็น่าจะคุ้ม

อย่างไรก็ตาม กรณีที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป 12-18 เดือน ดร.ทนงกล่าวว่า การเลือกตั้งไม่น่าจะเลื่อนยาวเกินไปเพราะอาจเกิดสุญญากาศ กระทบการลงทุน และทำให้เศรษฐกิจชะลอลง แต่ถ้ามีความจำเป็นทางการเมือง ก็อาจจะคุ้มก็ได้ในระยะยาว

“เมื่อมีรัฐบาลเข้ามา นโยบายแรกๆ ที่ควรต้องเร่งดำเนินการคือ แก้ปัญหาคอร์รัปชัน เพราะเป็นอุปสรรคอย่างมาก ทำให้นักลงทุนต่างประเทศไม่อยากเข้ามาลงทุน ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งแก้ปัญหาภาคปฏิบัติ อาทิ ระเบียบราชการ และขั้นตอนการดำเนินการที่ทำให้การทำธุรกิจสะดวก โดยควรตั้ง one point service ที่สามารถมาติดต่อการดำเนินการธุรกิจที่เดียวจบ” ดร.ทนงกล่าว