ThaiPublica > คอลัมน์ > Gutenberg เปลี่ยนแปลงโลกยิ่งกว่าอินเตอร์เน็ต

Gutenberg เปลี่ยนแปลงโลกยิ่งกว่าอินเตอร์เน็ต

7 ธันวาคม 2013


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

การเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไม่เคยมีใครคิดมาก่อนจนอาจเชื่อกันว่าเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุด อย่างไรก็ดีในประวัติศาสตร์โลกมีสิ่งหนึ่งที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกที่ยิ่งใหญ่กว่าอินเตอร์เน็ต

สิ่งประดิษฐ์โดย Johannes Gutenberg ชาวเยอรมันในปี ค.ศ. 1450 มีอิทธิพลต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาลและต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

มนุษย์รู้จักการพิมพ์ภาพ ตัวอักษรลงบนผ้า หรือวัสดุอื่น ๆ มานานตั้งแต่เมื่อ 5,000 พันปีก่อนโดยใช้ลูกกลิ้งดินเผาทั้งในจีนและอียิปต์ หลายท้องถิ่นมีการพิมพ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่นจีนใช้แกะอักษรลงบนแผ่นไม้เพื่อพิมพ์ข้อความ อินเดียสลักลงบนแผ่นหิน ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากจึงไม่แพร่หลายจนมีส่วนทำให้คนอ่านหนังสือออกมีจำนวนน้อย

ในพันปีแรกของคริสตศาสนา พระและนักบวชใช้วิธีลอกข้อความจากไบเบิลและหนังสือโดยทำกันเป็นล่ำเป็นสันแต่ก็ผลิตได้ในจำนวนจำกัด ถ้าเป็นคนธรรมดาที่ต้องการเป็นเจ้าของหนังสือก็ต้องจ้างในราคาแพงมาก

Nate Silver หนุ่ยวัยไม่ถึง 40 ปี ซึ่งกำลังดังเป็นพลุเพราะสามารถพยากรณ์ผลเลือกตั้งโดยไม่ต้องทำโพลล์เอง หากเอาโพลล์ต่าง ๆ มารวมกันวิเคราะห์ เขาเป็นคนเดียวที่พยากรณ์ว่าโอบามาจะชนะขาดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านไปและพยากรณ์ได้ถูกในทั้ง 50 รัฐอีกด้วย ในการเลือกตั้งระดับชาติและท้องถิ่นของนักการเมืองอื่น ๆ เขาก็พยากรณ์ถูกเกือบทั้งหมด

ในหนังสือของเขาชื่อ The Signal and the Noise : The Art and Science of Prediction (2012) เขาคำนวณให้เห็นว่าเครื่องพิมพ์ของ Gutenberg ทำให้ตั้งทุนในการผลิตหนังสือลดลงไปกว่า 300 เท่า

ในสมัยนั้นค่าจ้างลอกหนังสือห้าหน้าตก 1 florin (เหรียญทองคำปัจจุบันมีมูลค่าตามราคาปัจจุบันประมาณ 200 เหรียญสหรัฐ) ดังนั้นหนังสือขนาด 500 หน้าจะมีต้นทุนประมาณ 20,000 เหรียญตามราคาปัจจุบันซึ่งต่างจากราคาของหนังสือปัจจุบันซึ่งตกเล่มละ 70 เหรียญ

เมื่อหนังสือมีราคาแพงมากขนาดนั้นในสมัยก่อน การแพร่กระจายของหนังสือและองค์ความรู้ที่ฝังตัวอยู่จึงมีน้อยมาก เมื่อหนังสือมีน้อย คนอ่านออกเขียนได้ก็มีน้อยตามไปด้วย เฉพาะพระและชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นเจ้าของหนังสือเล่มที่สืบทอดมาจากยุคโบราณ เช่นของ Plato และ Aristotle

เทคนิคการพิมพ์ในยุคก่อนหน้าระบบออฟเซ็ตไม่ต่างไปจากเครื่องพิมพ์ของ Gutenberg กล่าวคือเป็นแบบเรียงพิมพ์โดยวางอักษรโลหะแต่ละตัวลงในบล๊อกไม้และเอาหมึกกลิ้งบนอักษรโลหะ จากนั้นก็ใช้การบีบอัด (press) แผ่นกระดาษที่วางทับอยู่บนบล๊อกอักษรลงไป ก็ได้กระดาษที่พิมพ์ข้อความออกมา

เมื่อสมัยก่อนมีแต่สิ่งพิมพ์เป็นสื่อปากเสียงของประชาชน และใช้การบีบอัดตามแบบเครื่องพิมพ์ Gutenberg ดังนั้นในภาษาอังกฤษปัจจุบันคำว่า press จึงหมายถึงสื่อมวลชนด้วย

Gutenberg สร้างผลกระทบอย่างมากมายมหาศาล ภายในเวลาเพียง 20 ปี ศาสตร์การพิมพ์ตามแบบของ Gutenberg กระจายไปทั่วเมืองใหญ่ของยุโรปทั้งหมด จำนวนหนังสือที่ผลิตออกมาในยุโรปจากจำนวนหมื่นพุ่งเป็น 12 ล้านเล่มในอีก 200 ปีต่อมา

การเกิดขึ้นของเครื่องพิมพ์ Gutenberg เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ยุคฟื้นฟูครั้งใหญ่ (The Renaissance) ในช่วง 300 ปีต่อมา Francis Bacon ใน ค.ศ. 1620 กล่าวว่าการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ ปืน และเข็มทิศนำทางเรือคือ 3 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบของเรา

ผลกระทบของ Gutenberg อาจสรุปได้ดังนี้

(1) การอ่านเขียนกลายเป็นสมบัติของประชาชน แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ในชนชั้นสูงดังเช่นที่เป็นมานับพันปี โดยข่าวสาร ความคิด และความรู้กระจายไปทั่วทุกชนชั้นและเกิดความรู้มากยิ่งขึ้น การตีพิมพ์วารสารวิชาการทำให้เกิดมีลิขสิทธิ์ และเกิดการแลกเปลี่ยนต่อยอดความคิดเห็นขึ้น

(2) ทำให้เกิดยุคสมัยของสื่อสารมวลชน การกระจายตัวขององค์ความรู้และความคิดเสรีนิยมเปลี่ยนแปลงความนึกคิดของผู้คนในสังคมจนมีส่วนทำให้โครงสร้างสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรทั้งในยุโรปและในเอเชียในเวลาต่อมา

(3) ผู้มีอำนาจมายาวนานนับพันปีถูกท้าทายยิ่งกว่ามีด ดาบ ธนู กองทัพทหาร ดังที่เคยเป็นมาในอดีตเมื่อผู้คนสามารถสื่อสารแนวคิด เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และสื่ออารมณ์ถึงกันได้อย่างสะดวกกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีความถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนโดยคำบอกเล่าหรือโดยหนังสือซึ่งคัดลอกมาผิดพลาดอีกด้วย

(4) การแพร่กระจายของคริสต์ศาสนาผ่านการพิมพ์ไบเบิลนับล้าน ๆ เล่มสู่ประชาชนในแทบทุกมุมโลกนำไปสู่การเกิดขึ้นของความคิดในเรื่องคุณธรรม การทำงานหนัก การประหยัด อดออม ความรัก ความเมตตา ฯลฯ ตามหลักศาสนา คงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่า Gutenberg มีอิทธิพลอย่างมากต่อการแพร่กระจายของคริสตศาสนา

(5) หลายภาษาในยุโรปมีความเป็นตัวตนมากขึ้นเพราะการพิมพ์จนนำไปสู่ความรู้สึกชาตินิยมและความคิดในเรื่องรัฐ-ชาติ การเกิดขึ้นของสงครามศาสนาและอีกหลายสงครามในเวลาต่อมาเป็นผลพวงจากอิทธิพลของ Gutenberg อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

การเป็นอดีตช่างทองของ Gutenberg ทำให้เข้าใจเรื่องส่วนผสมที่เหมาะสมของโลหะสำหรับตัวอักษร กอปกับการพัฒนาของคุณภาพกระดาษ ตลอดจนการเกิดขึ้นเป็นเล่มแบบหนังสือ (codex) แทนที่จะเป็นม้วน ล้วนเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการแพร่อิทธิพลของ Gutenberg

การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดรก็จริง แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ทิ้งผลกระทบไว้แก่ชาวโลกอย่างเกินพรรณา

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 22 ต.ค. 2556