ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สมาคมพัฒนาทวายเรียกร้องญี่ปุ่น ลงทุนอย่างยั่งยืนใน”ทวาย” ติงต้องโปร่งใส-เป็นธรรมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

สมาคมพัฒนาทวายเรียกร้องญี่ปุ่น ลงทุนอย่างยั่งยืนใน”ทวาย” ติงต้องโปร่งใส-เป็นธรรมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

12 ธันวาคม 2013


No Coal -Only Green -DDA

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556 สมาคมพัฒนาทวายได้เปิดเผยว่า ในวาระที่การประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่น-อาเซียน (Japan-ASEAN Summit) จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2556 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และจะมีการหารือกันถึงการลงทุนของญี่ปุ่นในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่นและสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ด้วยเหตนี้ทางสมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association: DDA) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่น, หน่วยงานด้านการพัฒนา และนักลงทุน ระงับการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone: DSEZ) ในแคว้นตะนาวศรี ประเทศพม่า จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติสากล

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พม่าและไทยได้เข้ามาบริหารโครงการแทนที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาความล้มเหลวในการระดมทุน และการตัดสินใจเรื่องแหล่งพลังงานสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

ทางสมาคมพัฒนาทวายจึงเรียกร้องต่อนักลงทุนญี่ปุ่น ว่าจะต้องไม่ลงทุนในอุตสาหกรรมสกปรกที่จะทำร้ายชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม โดยชาวบ้านได้เคยหยิบยกประเด็นความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาพึ่งพิงอาศัย ซึ่งในวันที่ 4 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา ประชาชนหลายพันคนได้รวมตัวกันต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน นับเป็นขบวนการทางสังคมครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในทวาย และต่อมาโครงการดังกล่าวก็ได้ถูกยกเลิกไป

ชาวบ้านทวายปิดถนน
ชาวบ้านทวายปิดถนน

ทาน ซิน (Thant Zin) ผู้ประสานงาน สมาคมพัฒนาทวาย (DDA) กล่าวว่า“ชุมชนท้องถิ่นไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่เพียงพอ ชาวบ้านถูกบังคับให้ออกจากที่ดินของพวกเขาโดยไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และพวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพที่เหมาะสมหลังจากการถูกโยกย้าย นอกจากนี้ ยังไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิในปัจจุบัน ทั้งนี้ ปัญหาทั้งหมดนี้ต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะมีนักลงทุนใหม่เข้ามาลงทุน”

ทาน ซิน กล่าวต่อว่า ประเทศญี่ปุ่นมีแนวระเบียบปฏิบัติ (guidelines) ในการป้องกันผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนอันเกิดจากโครงการ และด้วยข้อกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับโครงการที่มีอยู่จนถึงบัดนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นและนักลงทุนต้องมั่นใจว่าจะปฏิบัติตามแนวระเบียบปฏิบัติดังกล่าว ก่อนที่จะมีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

ทางบริษัท มิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น ได้เห็นชอบที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ

“จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลพม่าและ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ยังมิได้กระทำการใดใดสักเท่าไรในการปกป้องสิทธิ วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมของชุมชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ดังนั้น นักลงทุนรายใหม่ ๆ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ ที่สอดคล้องตามหลักมาตรฐานสากล” ทาน ซิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่จะลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติสากลในการปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเคารพสิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมตาม ‘หลักการยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ’ (Free, Prior, Informed Consent–FPIC) การเปิดเผยข้อมูลในเวลาและรูปแบบที่เหมาะสม รวมถึงดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งในช่วงการวางแผน, การดำเนินงาน และการติดตามผลของโครงการ ไม่กระทำการบีบบังคับหรือขมขู่ให้ชาวบ้านและชุมชนต้องโยกย้ายโดยไม่สมัครใจ หลีกเลี่ยงการโยกย้ายอย่างไม่สมัครใจหากกระทำได้ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องฟื้นฟูมาตรฐานความเป็นอยู่และโอกาสทางรายได้ของชาวบ้านที่ถูกโยกย้าย และมีมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

อนึ่ง ทางสมาคมพัฒนาทวาย ยังได้แนบจดหมายที่เคยส่งร้องเรียนถึงรัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2556 เรื่อง ข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันสืบเนื่องมาจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และลำดับเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่ ปี 2551-2556