ThaiPublica > คอลัมน์ > จับประจานคอร์รัปชัน

จับประจานคอร์รัปชัน

24 ธันวาคม 2013


หางกระดิกหมา

ในบรรดาประเทศทั้งหลายในโลกนี้ อินเดียถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนต้องเจอกับคอร์รัปชันในชีวิตประจำวันมากที่สุด เพราะในประเทศนี้ ประชาชนมีเรื่องจะต้องจ่าย “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” หรือที่คนอินเดียเรียกว่า “ไจ ปานี (Chai Pani)” ให้กับเจ้าหน้าที่ตั้งแต่การออกสูติบัตรเรื่อยไปจนกระทั่งการออกมรณบัตร หรือพูดอีกอย่างก็คือ คนอินเดียจะต้องจ่ายสินบนให้กับทุกใบอนุญาตในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย

แต่ด้วยเหตุนี้ อินเดียก็เลยกลายเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีนวัตกรรมต่อต้านคอร์รัปชันมากมายเหมือนกัน โดยนอกจากมาตรการแจก “แบงก์ศูนย์รูปี” ให้ประชาชนใช้ตบหน้าข้าราชการโกงๆ เวลาถูกเรียกสินบนอย่างที่ได้เล่าไปในตอนที่แล้ว อีกหนึ่งมาตรการที่ได้ผลมากก็คือมาตรการประจานคอร์รัปชัน หรือที่รู้จักกันในนามของเว็บไซต์ “ipaidabribe.com”

I paid a bribe

เว็บไซต์นี้เปิดโอกาสให้คนมาบอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ทางคอร์รัปชันของตน โดยเขาแบ่งเป็น 4 หมวด คือ หมวด I Paid a Bribe สำหรับเล่าว่าโดนเรียกสินบนเรื่องอะไร ที่หน่วยงานไหน และเป็นจำนวนเท่าไหร่ หมวด I Am a Bribe Fighter สำหรับเล่าเรื่องที่โดนเรียกแต่ไม่จ่าย หมวด I Met an Honest Officer สำหรับเล่าเรื่องเวลาเจอข้าราชการที่ไม่โกง และหมวด I Don’t Want to Pay a Bribe สำหรับให้คนมาแลกเปลี่ยนเทคนิคที่จะหลีกเลี่ยงการจ่ายสินบนต่างๆ

คุณสวัตตี รามนฐาน (Swati Ramanathan) หนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์กรเอ็นจีโอ “ชนเคราะห์ (Janaagraha)”เจ้าของโครงการ บอกว่า ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อเปลี่ยนการจ่ายสินบนไม่ให้เป็นเรื่องของตัวคนเดียวโดนคนเดียวอีกต่อไป แต่ให้กลายเป็นเรื่องกลางตลาดที่คนรู้กันไปทั่ว สมดังสโลแกนของเว็บไซต์ที่ว่า Uncover the market price of corruption หรือ “แฉราคาคอร์รัปชัน”

กล่าวคือ พอคนรายงานข้อมูลเข้ามาที่ ipaidabribe แล้วเขาก็เอาไปทำชาร์ตสรุปไว้ทุกแง่ทุกมุมว่าเมืองไหน หน่วยงานไหน มีสถานการณ์คอร์รัปชันเป็นอย่างไรบ้าง เช่น คนก็จะรู้ว่าค่าจดทดทะเบียนโฉนดที่ดินในบังกาลอร์นั้นมีราคาได้ตั้งแต่ 20,000 ไปจนกระทั่ง 200,000 รูปี (ขึ้นอยู่กับว่าที่ดินที่จะให้จดนั้นอยู่กลางเมืองขนาดไหน) หรือค่าสินบนตำรวจนั้น ถ้าในเดลีอาจจะแค่ 500-1000 รูปี แต่ถ้าอยู่มุมไบก็อาจจะไปได้ถึงหลักแสน

โดยแรกทีเดียว ตัวเลขอย่างนี้ก็เหมือนจะไม่มีความหมายอะไร แต่พอข้อมูลสะสมไปเรื่อยๆ ตัวเลขก็จะยิ่งใหญ่ขึ้น และมีพลังมากขึ้น พร้อมจะเอาไปใช้ผลักดันอะไรได้มากมาย โดยตัวอย่างที่ยกกันมากก็คือกรณีของกรมขนส่งของรัฐกรณาฏกะ อันได้ชื่อว่าวันๆ หาเรื่องเรียก “ไจ ปานี” จากประชาชนได้เก่งที่สุด อย่างไรก็ตาม พอข้อมูลการร้องเรียนที่ ipaidabribe ปูดขึ้นเรื่อยๆ กรมก็ถูกกดดันให้ชำระสะสางตัวเอง จนเป็นผลให้ข้าราชการโต๊ะที่เป็นปัญหากว่ายี่สิบคนถูกตักเตือน แถมยังนำไปสู่การนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในกรมแทนคนเพื่อตัดปัญหาโกงอีกต่างหาก

เช่น มีการเปิดบริการสมัครใบขับขี่ออนไลน์และเปิดให้ทุกคนสามารถตรวจสถานะของคำขอตัวเองได้อย่างโปร่งใส หรือในส่วนการสอบใบขับขี่ ซึ่งปกติเจ้าหน้าที่จะใช้ดุลพินิจปรับตกตะพึดเพื่อเรียกสินบนนั้น สุดท้ายก็ถูกแทนที่ด้วยระบบตรวจสอบแบบไอที ซึ่งทำให้บังกาลอร์กลายเป็นเมืองแรกในโลกที่มีสนามทดสอบการขับขี่แบบอัตโนมัติซึ่งใช้ระบบเซ็นเซอร์แทนคนในการตรวจฝีมือการขับขี่ โดยเจ้ากรมบอกว่า การปฏิรูปยกเครื่องอย่างนี้ ถ้าอยู่ดีๆ ตนลุกขึ้นมาดันคงไปไม่รอด แต่เมื่อมีข้อมูลจาก ipaidabribe ประจานทนโท่อย่างนี้แล้ว ใครก็เลยขวางไม่ได้

นอกจากนั้น กระดานรวบรวมการร้องเรียนไว้เป็นสาธารณะอย่าง ipaidabribe ยังส่งผลทำให้เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันนั้นกลายเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงที่จะถูกจับได้เพิ่มขึ้น เพราะอย่างที่บอก พอเอามาลงอย่างนี้ เรื่องเรียกสินบนก็ไม่ใช่เรื่องที่รู้กันแค่คนสองคนอีกต่อไป แต่จะรู้กันไปทั่วโลก โดยถึงแม้ทางเว็บไซต์จะมีซอฟต์แวร์ซึ่งกรองเอาการพาดพิงถึงชื่อคนออกโดยอัตโนมัติ เพื่อป้องกันการถูกฟ้องหมิ่นประมาท แต่ในเมื่อชื่อกรม ชื่อแผนก ชื่อเมืองยังอยู่ครบ เจ้าหน้าที่ในกรมก็ย่อมอดหนาวๆ ร้อนๆ ไม่ได้ และไม่กล้าย่ามใจเรียกสินบนสุ่มสี่สุ่มห้าอย่างแต่ก่อน

ยิ่งกว่านั้น พอทำไปๆ เว็บไซต์ก็กลายเป็นเหมือนแหล่งข้อมูลที่ทำให้คนได้แลกเปลี่ยนกันเรื่องคอร์รัปชัน ทำให้มีทางหนีทีไล่กันมากขึ้น เช่น มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาโพสต์ว่า “ถ้าไปที่โต๊ะนี่ของกรมนี่แล้วมันบอกว่าเอกสารไม่อัพเดตก็ให้รู้เลยว่ามันต้องการจะเรียกสินบน อย่าตกใจ บอกมันไปเลยว่าถ้ามันเขียนคำสั่งที่ว่ามาเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมลงชื่อและตราประทับ คราวหน้าเราจะเอาเอกสารที่ถูกต้องมาให้ ดูซิมันจะกล้ามั้ย” อ่านแล้วก็ได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งกำลังใจที่จะสู้กับโกง

แน่นอน เว็บไซต์ ipaidabribe ก็เป็นเช่นเดียวกับแบงก์ศูนย์รูปี คือ โดยสาระแล้วมันให้ผลในทางเปลี่ยนทัศนคติคนให้ลุกขึ้นสู้กับคอร์รัปชันมากกว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อันเป็นรากของคอร์รัปชัน จนบางคนบอกว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เล็กนัก

แต่นึกอีกที การเปลี่ยนให้คนที่เคยแต่เป็นเหยื่อ กลายมาเป็นคนที่สู้กับคอร์รัปชันได้ มันจะเป็นเรื่องเล็กได้อย่างไร

ไม่เชื่อก็ถามรัฐบาลดูได้

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “โกงกินสิ้นชาติ” นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 23 ธันวาคม 2556