ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เหมืองทองคำของไทย

เหมืองทองคำของไทย

8 ธันวาคม 2013


ขุมเหมืองบนภูทับฟ้าบริษัททุ่งคำ จำกัด
ขุมเหมืองบนภูทับฟ้าบริษัททุ่งคำ จำกัด

การคัดค้านการให้สัมปทานเหมืองทองคำระหว่างบริษัท ทุ่งคำ จำกัด กับประชาชน 6 หมู่บ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการมีสารพิษปนเปื้อนในดิน น้ำ และกรณีที่ในปี 2555 เขื่อนกักเก็บกากสารไซยาไนด์พังทลายลง ทำให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ถูกคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว แต่ก็ยังได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการต่อไปได้อีก รวมทั้งการขยายพื้นที่ทำเหมืองทองเพิ่มเติม เป็นปมร้อนจนกลายเป็นข้อพิพาทที่มีการฟ้องร้องกัน

ทั้งนี้“กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน” ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่รวมตัวกันคัดค้าน
การจัดเวที public scoping (ประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่ 76/2539 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แต่ถูกปิดกั้นจากตำรวจกว่า 600 นายไม่ให้เข้าร่วมเวที การเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนใน 6 หมู่บ้านจึงเป็นเรื่องราวของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ได้เคยรายงานถึงปัญหาของการทำประชาพิจารณ์ของบริษัททุ่งคำไว้แล้ว

หากมองในภาพรวมของการทำเหมืองแร่แล้ว ประเทศไทยมีการทำเหมืองแร่มาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 โดยในช่วงแรกส่วนใหญ่นิยมทำเหมืองดีบุก ต่อมา พ.ศ. 2444 จึงมีพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ ร.ศ. 120 ซึ่งถือเป็นพระราชบัญญัติแร่ฉบับแรก กว่า 100 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการทำเหมืองแร่กว่า 40 ชนิด โดยมีแร่เศรษฐกิจอยู่ 10 ชนิด ได้แก่ ถ่านหิน ยิปซัม หินอุตสาหกรรม เฟลด์สปาร์ สังกะสี โดโลไมต์ ดีบุก ทรายแก้ว เกลือหินและโพแทซ และทองคำ

สำหรับเหมืองทองคำเริ่มทำครั้งแรกในปี พ.ศ. 2414 แต่ทำได้ไม่นานก็ปิดกิจการไป และกลับมาทำกันอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทำเหมืองแร่ที่ได้ประทานบัตรกว่า 1,500 แปลง เฉพาะแปลงแร่ทองคำที่ได้รับประทานบัตรหรือใบอนุญาตให้ขุดแร่ได้มีทั้งหมด 33 แปลง และมีพื้นที่อีก 16 แปลงที่ได้รับอาชญาบัตรหรือใบอนุญาตสำรวจแร่

ด้านกลุ่มบริษัทที่ได้รับประทานบัตรมีทั้งหหมด 6 แห่ง ได้แก่

บริษัท ชลสิน จำกัด มีใบประทานบัตร 10 แปลง รวม 2,604 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา ในพื้นที่ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส มีอายุประทานบัตร 25 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2532 – 20 กรกฎาคม 2557 แผนที่

บริษัท สมพงษ์ไมนิ่ง จำกัด มีประทานบัตร 1 แปลง พื้นที่ 239 ไร่ 29 ตารางวา ซึ่งทำดีบุกและทองคำ ที่ตำบลศรีมงคล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี อายุประทานบัตร 25 ปี ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2524 -14 กรกฎาคม 2549 ซึ่งปัจจุบันประทานบัตรสิ้นอายุแล้ว แผนที่

บริษัท เหมืองแร่ดำรงเกียรติ จำกัด มีประทานบัตร 1 แปลง ที่ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ 189 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา ได้รับประทานบัตรตั้งแต่ 24 พฤษภาคม 2527 – 23 พฤษภาคม 2543 ซึ่งประทานบัตรสิ้นอายุแล้ว แผนที่

บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มีทั้งหมด 14 แปลง แบ่งเป็นที่ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์จำนวน 6 แปลง แปลงหนึ่ง สิ้นอายุประทานบัตรแล้วตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2555 มีพื้นที่ 93 ไร่ 1 งาน 77 วา

อีกแปลงขนาดพื้นที่ 299 ไร่ 1 งาน 92 วา ซึ่งได้ประทานบัตรตั้งแต่ 19 มิถุนายน 2543 – 18 มิถุนายน 2563

และอีก 4 แปลง ได้รับสัมปทานช่วง 21 กรกฎาคม 2551 – 20 กรกฎาคม 2571 รวมพื้นที่ 1,155 ไร่ 6 งาน 16 ตารางวา

ส่วนอีก 8 แปลงในตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร แผนที่ ซึ่งอัคราไมนิ่งเป็นบริษัทที่ทำเหมืองแร่ทองคำใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของไทย

อบจ.พิจิตร ตำบลหนองพระ อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ขนาดพื้นที่ 114 ไร่ 2 งาน 36 วา ประทานบัตรมีอายุ 6 ปี ซึ่งสิ้นอายุไปเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 แผนที่

บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งทำเหมืองทองคำ เงินและทองแดง มีพื้นที่ทั้งหมด 6 แปลง 3 แปลงแรกได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2546 – 22 มกราคม 2571 รวมพื้นที่ 592 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา และอีก 3 แปลงได้รับสัมปทานช่วง 27 กันยายน 2545 – 26 กันยายน 2570 รวมพื้นที่ 697 ไร่ 5 งาน 32 วา แผนที่

ด้านกลุ่มบริษัทที่ได้รับอาชญาบัตรมีทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่

บริษัท อมันตา มิเนอรัลล์ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 แปลง แปลงหนึ่งอยู่ในตำบลบ้านส้อง มีพื้นที่ 8,675 ไร่ และที่ตำบลเขานิพันธ์ พื้นที่ 9,831 ไร่

บริษัท อมันตา จำกัด ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีพื้นที่ 4,315 ไร่ ยื่นขอเมื่อ 2 กรกฎาคม 2552

บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ที่อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร มีทั้งหมด 4 แปลง คือตำบลวังทรายพูน 2 แปลงพื้นที่รวม 19,812 ไร่ ที่ตำบลหนองพระ 10,000 ไร่ และที่ตำบลหนองปล้องอีก 10,000 ไร่ โดยยื่นคำขออาชญาบัตรเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550

บริษัทรัชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก มีทั้งหมด 9 แปลง คือ ตำบลไทรย้อย 4 แปลงรวมพื้นที่ 33,465 ไร่ ตำบลบ้านมุง 2 แปลงรวมพื้นที่ 18,335 ไร่ ตำบลวังยางพื้นที่ 3,869 ไร่ และตำบลวังโพรง 2 แปลงรวมพื้นที่ 20,000 ไร่ โดยยื่นขอเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554

หลังจากที่บริษัททั้ง 4 แห่งนี้สำรวจแร่เรียบร้อยแล้วก็ประเมินได้ว่าปริมาณแร่ ณ พื้นที่แปลงนั้นๆ คุ้มค่าพอที่จะทำเหมืองแร่ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าจะทำเหมืองแร่จริงก็ต้องยื่นขอประทานบัตรหรือใบอนุญาตทำเหมืองแร่ต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และรออนุญาตต่อไป

ปริมาณการผลิตและส่งออกทองคำของไทย

มูลค่าส่งออกทองคำ

ด้านการส่งออก ทองคำที่ผลิตได้ในประเทศจะส่งออกเกือบทั้งหมด ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกทองคำมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาทองคำในตลาดโลก โดยมูลค่าการส่งออกในปี 2554 ประเทศไทยส่งออกทองคำรวม 2,860,219 กรัม มูลค่า 4,425.4 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2555 ผลิตได้ 4,895,021 กรัม มูลค่า 8,119.9 ล้านบาท

ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีแหล่งแร่ทองคำไม่ถึงร้อยละ 1 ของแร่ทั้งประเทศ แต่ราคาทองคำในตลาดโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ดึงความสนใจให้นักลงทุนหันมาขุดทองกันมากขึ้น