ThaiPublica > คนในข่าว > “เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” สร้างคนต้นแบบ “ทายาทเกษตรกรมืออาชีพ” วิถีเกษตรกรรมยั่งยืน

“เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” สร้างคนต้นแบบ “ทายาทเกษตรกรมืออาชีพ” วิถีเกษตรกรรมยั่งยืน

24 ธันวาคม 2013


โดยพื้นฐานของประเทศที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรมไม่ว่าจะทำสวนทำไร่ทำนา ประเทศไทยสามารถที่จะเป็นครัวของโลกได้ หากมีการวางแผนและพัฒนาอย่างถูกที่ถูกทาง

แต่ปัจจุบันเกษตรกรที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ มาวันนี้ดูเหมือนว่ากระดูกเริ่มผุพังไม่มั่นคง อาชีพเกษตรกรรมกลายเป็นอาชีพที่ยากลำบาก ยากจน เป็นหนี้สิน ไร้ศักดิ์ศรี ไม่มีความสุข มีแต่ปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ที่สำคัญคือ ลูกหลาน เยาวชนคนหนุ่มสาว ทิ้งนาเข้าสู่ป่าคอนกรีต อาชีพเกษตรกรรมไร้ผู้สืบทอด

ท่ามกลางความผุกร่อน แต่ยังมีเกษตรกรบางส่วนที่พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิต ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต จนกลายเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เป็นศูนย์เรียนรู้วิถีใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเคารพธรรมชาติมากขึ้น

โครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ทำให้ มูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.) ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) รวมทั้งเครือข่ายทายาทเกษตรกรและหน่วยงานภาคีพัฒนา ได้ตระหนักถึงภัยคุกคามที่น่าวิตกของภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ จึงร่วมมือกันจัดทำหลักสูตร “ทายาทเกษตรกรมืออาชีพ” โดยจะเปิดการเรียนรู้ในเดือนเมษายน 2557 เป็นรุ่นที่ 1 จำนวน 50 คน

“คนต้นแบบ” สร้างทายาทเกษตรกรมืออาชีพ

19 ธันวาคม 2556 ธ.ก.ส. จับมือ มจส. และ มสธ. ร่วมทั้ง "คนต้นแบบ" เปิดตัวโครงการ "ทายาทเกษตรกรมืออาชีพ" ที่สำนักงานใหญ่ ธ.ก.ส. บางเขน กรุงเทพฯ
19 ธันวาคม 2556 ธ.ก.ส. จับมือ มจส. และ มสธ. ร่วมทั้ง “คนต้นแบบ” เปิดตัวโครงการ “ทายาทเกษตรกรมืออาชีพ”
สำนักงานใหญ่ ธ.ก.ส. บางเขน กรุงเทพฯ

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรมการ มจส. ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวคิด การเรียน การสอน และความคาดหวังของหลักสูตรทายาทเกษตรกรมืออาชีพว่า เนื่องจากภาคการเกษตรปัจจุบัน ผู้ประกอบส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุเฉลี่ยประมาณ 55 ปีขึ้นไป และลูกหลานไม่คิดสืบทอดต่อ เชื่อว่าลูกหลานที่ทำเกษตรต่อจากพ่อแม่มีไม่ถึง 10% ของเกษตรกรทั่วประเทศ

ทางมูลนิธิอาจารย์จำเนียร ธ.ก.ส และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คิดร่วมกันว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เราจึงคิดว่าต้องสร้างความเชื่อมั่น ทำให้คนหนุ่มสาวเชื่อมั่นว่า ทำอาชีพเกษตรแล้วมีกิน มีรายได้ดี และมีเกียรติ มีความสุขที่ได้ผลิตอาหารเลี้ยงคนในชาติ และคนทั่วโลก

จึงมีความเห็นว่า ควรมี “ต้นแบบ” ลูกหลานเกษตรกรตัวจริง เสียงจริง ให้กลับมาช่วยพ่อแม่ต่อยอดการเกษตรให้ดีขึ้น เป็นเกษตรสมัยใหม่มากขึ้น และเป็นลักษณะเกษตรยั่งยืน คือ ไม่ใช้สารพิษ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นอาหารปลอดภัย และค้าขายได้จริง มีระบบความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยพึ่งตัวเองภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เรามีตัวอย่างแบบนี้มาก ขณะนี้รวบรวมได้ประมาณ 30 คน เป็น “คนต้นแบบ” จะมาร่วมกันคิดหลักสูตรทายาทเกษตรมืออาชีพว่าจะสอนรุ่นน้องอย่างไร โดยมี มสธ. เข้ามาร่วมในการจัดทำมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตร “ทายาทเกษตรกรมืออาชีพ”

ทั้ง 30 คนนี้ บางคนทำเกษตรต่อยอดจากพ่อแม่ บางคนเคยทำอาชีพรับจ้างแล้วเปลี่ยนมาทำเกษตร โดยส่วนใหญ่จะทำเกษตรผสมผสาน ไม่มีใครทำเชิงเดี่ยวเลย เพราะเราต้องการความพอเพียง และการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้คุ้มค่า แต่อาจจะมีบางคนปลูกข้าวเยอะ บางคนทำสวนเยอะ บางคนสัตว์เยอะ แต่ทำอย่างอื่นผสมผสานด้วย

นายเอ็นนูกล่าวว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรถูกมองว่าทำแล้วยากจน ไม่เทียบเท่าคนอื่น แต่คนเหล่านี้เขาทำได้ คือ ทั้ง 30 คนต้นแบบเขามีรายได้เฉลี่ยเกือบ 1 ล้านบาทต่อปี และกลุ่มนี้ไม่มีใครเข้าโครงการรับจำนำ เขาแปรรูปเอง และส่วนใหญ่ทำเกษตรอินทรีย์ได้ของที่ดีมีคุณภาพ ปัจจุบันผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

“ส่วนหนึ่งที่ทำหลักสูตรนี้คือ ต้องการให้รู้ว่า อาชีพเกษตรกรมีกิน มีเกียรติ พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องรอพึ่งคนอื่น และไม่ต้องรอพึ่งนโยบายของรัฐบาล” นายเอ็นนูกล่าว

หลักสูตร 9 เดือน เน้นปฏิบัติจริงในพื้นที่จริง

ทายาทเกษตรกรมืออาชีพ

หลักสูตรทายาทเกษตรมืออาชีพ จะใช้เวลา 9 เดือน แต่จะไม่ใช่การเรียนที่จะไปบังคับว่าเขาจะทำอะไร โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การปฐมนิเทศ 5 วัน กับภาคปฏิบัติ 9 เดือน

นายเอ็นนูอธิบายว่า การปฐมนิเทศ จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เข้าเรียนมั่นใจว่า การทำเกษตรอยู่รอดได้จริง ได้ทั้งประโยชน์ ได้ทั้งความสุข โดยช่วง 5 วันของการปฐมนิเทศจะเชิญผู้ใหญ่ของบ้านเมืองมาพูดคุยให้กำลังใจ เช่น อาจารย์มีชัย วีระไวทยะ, คุณหมอประเวศ วะสี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และอาจารย์สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นต้น เพื่อมาบอกกับผู้เข้าเรียนว่า

“อนาคตภาคเกษตรอยู่ในมือเรา ถ้าเราช่วยกันรักษาให้อยู่ภายใต้แนวคิดเกษตรพอเพียงของในหลวง จะเลี้ยงดูประชาชนได้จริง”

หลังการปฐมนิเทศจะให้ผู้เรียนไปกำหนดและวางแผนการเรียนรู้ของเขาเอง โดยต้องเขียนเป็นโครงงานเสนอเรา แล้วก็กลับไปทำในแปลงนาแปลงสวนของตัวเองจริงๆ จากนั้นให้รายงานมาทุกเดือนว่าที่ทำไปแต่ละเดือนเกิดอะไรขึ้น และทุก 3 เดือนจะเชิญมาเจอกันเพื่อแลกเปลี่ยนว่า ที่ทำไปแล้วในช่วง 3 เดือน อะไรสำเร็จ อะไรมีปัญหา ก็ให้เพื่อนๆ ช่วยกันคิดว่า เรื่องเหล่านี้ต้องทำอย่างไร พี่เลี้ยงต้องทำอย่างไร

ในการทำโครงงานเราตั้งใจจะทำโจทย์ 4 ข้อ คือ การผลิต การแปรรูป การตลาด และการทำเครือข่าย เพราะฉะนั้น เขาต้องตอบโจทย์ 4 ข้อนี้ให้ได้ ถ้าเขาเก่งการผลิตแล้ว แต่แปรรูปไม่ได้ หรือทำการตลาดไม่ได้ เราจะช่วยดูแลด้านที่เขาไม่ได้ และการทำเครือข่ายยังไม่ได้เราก็เสริมเรื่องนี้

“อย่างน้อยเราวางหลักไว้ 4 ข้อ ถ้าเขาตอบโจทย์ได้ 3 ข้อ เหลือข้อเดียว เขาก็ทำข้อเดียว ถ้าเขาทำได้ 2 ข้อ เราก็เสริมให้ 2 ข้อ แต่เขาต้องเลือกเอง จะเป็นการกำหนดชะตาชีวิตเขาเอง เพราะเขาจะรู้จุดอ่อนของเขาเองว่าอยู่ที่ไหน ขณะที่จุดแข็งก็จะจับเชื่อมกัน เพราะบางที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียงกัน 2 แปลง ก็จับเชื่อมกันเลย บางคนผลิตดี แต่แปรรูปไม่เก่ง บางคนผลิตดี แต่ขายไม่เก่ง ก็จับเชื่อมกันเลยตั้งแต่แรก เพราะเราจะให้เขารู้จักกันตั้งแต่แรก” นายเอ็นนูกล่าว

ประธาน มสจ. อธิบายเพิ่มเติมว่า เราจะเป็นคนจัดสรรให้ในเรื่องที่เขาอยากรู้ เพราะมั่นใจว่าเรามีองค์ความรู้ที่จะให้เขาได้ และจะมีทั้งปราชญ์ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือรุ่นพี่ 30 คน ที่เขาเลือกว่าจะให้คนไหนเป็นพี่เลี้ยงตลอด 9 เดือน และมีทีมอาจารย์ มสธ. คอยติดตามดูแล หากมีปัญหาอะไรก็สามารถติดต่อกันทางอินเทอร์เน็ตหรือทางโทรศัพท์ได้ หากเกิดโรคอะไรต่างๆ กับแปลงไร่แปลงนาก็ใช้มือถือถ่ายรูป ส่งอีเมล์ไปถึงพี่เลี้ยง ทางพี่เลี้ยงก็ตอบกลับมา ถ้าไม่มั่นใจพี่เลี้ยงก็จะตามไปเยี่ยม

หลักสูตรนี้เป็นการเรียนรู้ที่ “เข้มข้น” และภายในระยะเวลา 9 เดือนของการเรียนรู้ เชื่อว่าจะเป็นการเรียนรู้ที่ “ระเบิด” จากข้างในอย่างที่ในหลวงทรงบอกไว้ คือคนอื่นไปสอนไม่เกิดประโยชน์ถ้าเจ้าตัวไม่อยากทำ เพราะฉะนั้น ถ้าเขามุ่งมั่นด้วยตัวเอง และลงมือด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันก็มีพี่เลี้ยงคอยบอกและช่วยกันแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น เชื่อว่า 9 เดือนนี้จะเป็นการเรียนรู้ที่สำเร็จ เพราะว่ามาจากใจเจ้าของ และเป็นหลักสูตรที่ตัวเองกำหนด ไม่ใช่คนอื่นมากำหนดชะตาชีวิตให้

“หลักสูตรนี้เน้นการพึ่งตัวเอง เรื่องสินเชื่อผมบอก ธ.ก.ส. ว่าเอาไว้ทีหลังสุด เราไม่อยากสร้างหนี้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร เราอยากให้เขาพึ่งตัวเอง ดูแลตัวเองก่อน สินเชื่อผมบอกเขาว่าอย่าเพิ่งเข้ามา ให้พึ่งตัวเองได้ก่อน และถ้าดีจริงๆ ธ.ก.ส. ให้อยู่แล้ว แต่จะไม่เน้นว่า มากู้เงินจากเรา” นายเอ็นนูกล่าว

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.)
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.)

สำหรับการวัดผลและการสำเร็จของการเรียนรู้ นายเอ็นนูอธิบายว่า จะพิจารณาจาก 1. ต้องทำตามโครงงานที่เสนอ ทำอยู่ในแปลงจริง และใช้เวลาอย่างน้อย 80% อยู่ในแปลงไร่ แปลงนา แปลงสวนของตัวเอง 2. จะต้องรายงานทุกเดือนว่าจดบันทึกจริงหรือเปล่า ทำจริงหรือเปล่า และ 3. เมื่อเสร็จแล้วภาพรวมได้ผลตามที่ตั้งใจไว้หรือเปล่า เมื่อมีปัญหามีการพยายามแก้ปัญหาหรือไม่ มีปราชญ์ชาวบ้านหรือรุ่นพี่ไปช่วยดูแลหรือไม่

“ทั้ง 3 ส่วนนี้จะเป็นตัววัดมาตรฐานว่าเขาผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าเขาไปทำได้ 1-2 เดือนเลิกก็จบไปเลย ถ้าไม่ได้ทำอยู่ในแปลงจริง ไม่มีการแก้ปัญหาจริงก็ไม่ผ่าน” นายเอ็นนูกล่าว

หวัง “ทายาทฯ” รุ่นแรกสร้าง “เครือข่าย” ต่อ

นายเอ็นนูระบุถึงความคาดหวังว่า ทายาทเกษตรกรมืออาชีพรุ่นที่ 1 จะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ระยะเวลาการปรับเปลี่ยนภาคเกษตรไม่ยาวนานถ้าเราตั้งใจจริง และคาดหวังว่าเขาจะเป็นเครือข่ายใหม่ที่จะรับสอนและถ่ายทอดความรู้ไปสู่รุ่นต่อไป ถ้าใครมาเรียนแล้วไม่รับสอนต่อเราก็ไม่รับ เพราะมาเรียนฟรี ก็ต้องให้กลับคืน

ทั้งนี้ ในการรับสมัครรุ่นแรก คิดว่าจะมีคนสนใจสมัครมากกว่า 50 คน แต่จะรับแค่ 50 คน ที่เหลือจะให้ไปเรียนปีหน้า เพราะปีหน้าเราคาดหวังว่าจะจัดการเรียนทั้ง 4 ภาค รุ่นแรกเรารวมอยู่ที่ส่วนกลางก่อน และปีที่ 3 จะจัดทำทั้ง 9 ภาคของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ทำให้การเรียนหลักสูตรนี้กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศมากขึ้น

“เชื่อว่าทำ 3 ปีแล้วเชื่อมโยงให้เขารู้จักกันหมด ทุกปีต้องกลับมาเจอกัน เป็นการ “สร้างเครือข่าย” ต่อไปเขาก็เชื่อมโยงช่วยเหลือกัน รูปแบบนี้เป็นแนวใหม่ คือการสร้างเครือข่ายภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็ง และเป็นเกษตรยั่งยืนในระยะยาว” นายเอ็นนูกล่าว

“คุณสมบัติ-การคัดเลือก” ผู้จะเข้าเรียน

หลักสูตร “ทายาทเกษตรมืออาชีพ” ไม่ได้กำหนดการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้ แต่กำหนดคุณสมบัติที่สำคัญคือ ต้องมีความมุ่งมั่น ต้องการทำการเกษตรยั่งยืนและพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ต้องมีความตั้งใจ และมีเวลาเข้าร่วมเรียนรู้สม่ำเสมอ มีที่ดินทำการเกษตร และต้องมีอายุไม่เกิน 40 ปีในวันสมัครเรียน

ทั้งนี้ เปิดรับสมัครตั้งแต่นี้ไปจนถึง 27 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้สนใจสามารถติดต่อขอใบสมัครได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ หรือดาวน์โหลดใบสมัครจาก www.chamnien.org

นายเอ็นนูคาดว่า จะมีคนสนใจสมัครมากกว่า 50 คน แต่จะรับแค่ 50 คน โดยการคัดเลือกจะดู 3 ข้อ คือ 1. ในใบสมัครจะเขียนไว้ว่า คุณคาดหวังอะไร ตั้งใจทำจริงหรือไม่ และจะขอให้ผู้ปกครองหรือผู้ค้ำประกันรับรองว่า จะคอยดูแลเด็กคนนี้ให้ด้วย คือจะมีคนกรองให้ระดับหนึ่ง 2. พนักงาน ธ.ก.ส. จะช่วยตรวจสอบด้วย เพราะเราไม่ได้คิดค่าเล่าเรียน ไม่ได้คิดอะไรเลย เพราะฉะนั้น เรามีสิทธิ์ที่จะเลือก

และ 3. จะดูว่าเขาต้องการทำอะไร แล้วให้คนต้นแบบ 30 คน หรือรุ่นพี่ช่วยคัดเลือกด้วยว่าเขาจะช่วยดูแลได้หรือไม่ โดยเราจะให้พี่เลี้ยงเป็นหลักว่า ที่เขาเขียนโครงงานมาจะดูแลได้ไหม เช่น คนนี้อยู่ใกล้บ้านดูแลได้ เรื่องนี้ผมถนัดเป็นพี่เลี้ยงได้ แต่บางเรื่อง ถ้าพี่เลี้ยงบอกว่าผมยังไม่รู้เลยก็จะไม่เลือกมา ทั้งนี้ รุ่นพี่ก็มีหลากหลายทั้งทำไร่ ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์

“วิธีแบบนี้เพื่อให้ตรงใจคนที่เข้ามาเรียน และสามารถหาครูพี่เลี้ยงให้ตรงกันแล้วจับคู่กัน เพราะเราตั้งใจจะไม่เอาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมาสอน หลักสูตรนี้เราเน้นการปฏิบัติจริง ถ้ารุ่นพี่เชื่อมกับรุ่นน้องได้ คนรุ่นใกล้เคียงกันพูดจากันรู้เรื่อง การเรียนรู้น่าจะมีประสิทธิภาพได้ผลที่ดีอย่างที่มุ่งหวังไว้” นายเอ็นนูกล่าว