ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (6): ปิดฉากปมขัดแย้งอธิบดีกรมศุลฯ “ราฆพ” สรุปคดีชง DSI ส่งศาลชี้ขาด

ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (6): ปิดฉากปมขัดแย้งอธิบดีกรมศุลฯ “ราฆพ” สรุปคดีชง DSI ส่งศาลชี้ขาด

17 ธันวาคม 2013


ปัญหาความคิดเห็นขัดแย้งภายในกรมศุลกากรที่ยืดเยื้อมานาน 8-9 ปี ระหว่างสำนักสืบสวนและปราบปราม (สสป.) ในฐานะผู้จับกุม ซึ่งมีความเห็นว่า “เงินโบนัสที่บริษัทแอมเวย์ประเทศไทยจ่ายให้กับตัวแทนจำหน่าย (IBO) มาคำนวณภาษีนำเข้า” จึงตั้งข้อกล่าวหาบริษัทแอมเวย์ (ประเทศไทย) ว่าสำแดงราคานำเข้าสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริง พร้อมกับแจ้งประเมินภาษีแอมเวย์ 4,600 ล้านบาท ขณะที่สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร (สมพ.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคราคาศุลกากร มองว่า “เงินโบนัสดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายทางการตลาด นำมารวมในราคาศุลกากรเพื่อคำนวณภาษีไม่ได้”

รายชื่ออธิบดีกรมศุลที่เกี่ยวข้องกับคดีแอมเวย์
รายชื่ออธิบดีกรมศุลที่เกี่ยวข้องกับคดีแอมเวย์

จึงกลายเป็นข้อพิพาทกันมาเกือบทศวรรษ คดีนี้ผ่านการพิจารณาจากอธิบดีกรมศุลกากรมาแล้ว 8 คน ไม่มีอธิบดีกรมศุลกากรคนใดกล้าฟันธงคดีแอมเวย์ จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยของนายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากรคนปัจจุบัน ปัญหาข้อพิพาทแอมเวย์-กรมศุลฯ ที่คาราคาซังกันมาเกือบ 10 ปี ก็ได้ข้อสรุป โดยนายราฆพนำข้อพิพาทนี้ส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการกรมศุลกากรพิจารณาในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 โดยคณะกรรมการกรมศุลกากรใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้นานกว่า 2 ชั่วโมง

สุดท้าย ที่ประชุมก็มีมติให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรสรุปสำนวนพร้อมพยานหลักฐานส่งกรมสอบสวนคดี (DSI) ดำเนินคดีกับบริษัทแอมเวย์

นายราฆพกล่าวว่า การตัดสินใจส่งคดีแอมเวย์ให้ DSI ไม่ใช่ความเห็นของตนเพียงคนเดียว แต่เป็นการตัดสินใจในรูปแบบของคณะกรรมการกรมศุลกากร ซึ่งมีอธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของกรมศุลกากรทุกท่าน นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้กว่า 30 คนมาแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุม เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่ายมานานหลายปี แต่เจ้าหน้าที่ สมพ. ไม่สามารถยืนยันหรือสรุปสำนวนคดีได้ว่าแอมเวย์ไม่มีความผิด ดังนั้น คณะกรรมการกรมศุลกากรจึงมีมติส่งคดีแอมเวย์ให้ DSI ในฐานะเจ้าพนักงานสอบสวนดำเนินคดีในชั้นศาล

“กรณีที่จะให้อธิบดีกรมศุลกากรลงนามยุติการดำเนินคดีกับบริษัทแอมเวย์ได้ ต้องปราศจากข้อสงสัยใดๆ แต่จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พบว่ายังมีประเด็นข้อสงสัยอยู่หลายส่วน ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา แอมเวย์ใช้กฎหมายต่างประเทศต่อสู้คดีกับกรมศุลกากรมาโดยตลอด แต่กรมศุลกากรยังไม่เคยใช้กฎหมายไทยต่อสู้คดี กรณีนี้อาจจะคล้ายกับคดีของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ที่ต่อสู้ในเวทีต่างประเทศ ฝ่ายไทยแพ้มาตลอด แต่สุดท้ายสำนักงานอัยการสูงสุดก็สรุปสำนวนคดีบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ส่งฟ้องศาล ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการกรมศุลกากรจึงตัดสินใจส่งสรุปสำนวนคดีแอมเวย์ให้ DSI ดำเนินคดี จะผิดหรือถูกไปว่ากันในชั้นศาล” นายราฆพกล่าว

นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร
นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรเปิดเผยว่า มหากาพย์คดีแอมเวย์กลายเป็นประเด็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ในกรมศุลกากรขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านราคาขององค์การศุลกากรโลก (WCO) ครั้งที่ 36 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 เมษายน 2556 เสนอให้ตัวแทนฝ่ายไทยเลือกระหว่าง “การยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าเงินโบนัสที่แอมเวย์จ่ายให้ IBO ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของราคาศุลกากร” หรือ “นำข้อหารือคดีแอมเวย์ไปเก็บไว้ที่ตาราง Conspectus ภาค 3” โดยตัวแทนฝ่ายไทยภายใต้การนำของอัครราชทูต (ฝ่ายศุลกากร) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ตัดสินใจแจ้งต่อที่ประชุม WCO ว่าให้นำประเด็นข้อหารือดังกล่าวไปเก็บไว้ในตาราง Conspectus ภาค 3 ประเด็นข้อหารือที่กรมศุลกากรเขียนไปสอบถาม WCO เมื่อปี 2552 จึงกลายเป็น “เรื่องค้างการพิจารณา” เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอ แต่ประเทศสมาชิก WCO สามารถนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาได้ในภายหลัง หากมีข้อมูลเพิ่มเติม

ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านราคาของ WCO จึงมีมติให้เก็บเรื่องนี้ไว้ในตาราง Conspectus ภาค 3 ตามข้อเสนอของฝ่ายไทย ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง คดีแอมเวย์ที่เงียบหายมานานกลายมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากหอการค้านานาชาติ (ICC) ซึ่งมีฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ ออกมาเคลื่อนไหว โดยนำสรุปบทคัดย่อผลการตัดสินของคณะกรรมการเทคนิคด้านราคาของ WCO อย่างไม่เป็นทางการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ ICC ประเทศบัลแกเรีย

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2556 นายไมเคิล บี.จี. โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ส่งจดหมายผ่านสถานฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร้องเรียนต่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า “ทั้งๆ ที่ WCO มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การจ่ายเงินโบนัสไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาศุลกากร แต่ตัวแทนฝ่ายไทยไม่ยอมรับมติที่ประชุม WCO และไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมร่วมระหว่างบริษัทแอมเวย์กับศุลกากรเมื่อปี 2553 ซึ่งตกลงกันว่าจะยอมรับคำวินิจฉัยของ WCO ทำให้การแก้ปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวขาดความน่าชื่อถือ”

ส่วนความเคลื่อนไหวภายในประเทศ หลังจากที่ WCO มีมติให้แขวนคดีแอมเวย์เอาไว้ในตาราง Conspectus ภาค 3 วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 นางเบญจา หลุยเจริญ ลาออกจากอธิบดีกรมศุลกากรมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรกลุ่มหนึ่งพยายามชงเรื่องให้นายยุทธนา หยิมการุณ รักษาการอธิบดีกรมศุลกากรขณะนั้น ลงนามยุติการดำเนินคดีกับแอมเวย์ ปรากฏว่ามีหลายหน่วยงาน อาทิ DSI สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงการคลัง ทำหนังสือมาทวงถามความคืบหน้าของคดีแอมเวย์กับกรมศุลกากร โดยเฉพาะหนังสือจากนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง มีความเห็นให้กรมศุลกากรเร่งสรุปสำนวนส่งดีเอสไอดำเนินคดี ก่อนขาดอายุความตามกฎหมาย

วันที่ 1 ตุลาคม 2556 นายราฆพ ศรีศุภอรรถ มารับตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร นายราฆพตัดสินใจยุติปมความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานาน โดยมีคำสั่งให้นำประเด็นข้อพิพาทแอมเวย์-กรมศุลกากร เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกรมศุลกากรวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 สรุปที่ประชุมคณะกรรมการกรมศุลกากรมีมติให้สำนักกฎหมายส่งเรื่องให้ DSI ดำเนินคดี โดยกรมศุลกากรส่งสำนวนคดี พร้อมบัญชีพยานหลักฐานให้ DSI วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556

เบื้องหลังมติกรมศุลฯ ส่ง DSI ดำเนินคดีแอมเวย์

บรรยากาศการประชุมคณะกรรมการกรมศุลกากรวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร เชิญหน่วยงานภายในกรมศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับคดีแอมเวย์ 4 หน่วยงาน อาทิ สสป., สมพ., สำนักกฎหมาย (สกม.) และอัครราชฑูต (ฝ่ายศุลกากร) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ มาแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุม

สำนักแผนและการต่างประเทศ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกรมศุลกากร กล่าวบรรยายความเป็นมาคดีแอมเวย์ต่อที่ประชุม จากนั้นนายราฆพ ประธานที่ประชุม เปิดให้ 4 หน่วยงาน แสดงความคิดเห็นต่อคดีแอมเวย์ โดยนายราฆพมอบหมายให้ สสป. ในฐานะผู้จับกุม ชี้แจ้งถึงสาเหตุที่ทำให้ สสป. เชื่อว่าเงินโบนัสที่แอมเวย์จ่ายให้ IBO ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาศุลกากร

สสป. นำสัญญาที่บริษัทแอมเวย์ไทยทำกับบริษัทแม่ 5 ฉบับแสดงต่อที่ประชุม โดยเน้นที่สัญญาฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นสัญญาจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อย่างเฉพาะเจาะจง สัญญาฉบับนี้จะพูดถึงแผนการขาย, การกำหนดราคาขายให้ครอบคลุมเงินโบนัสที่ต้องจ่ายให้ IBO ในทางเทคนิคของศุลกากรเรียกว่า “เงื่อนไขการขาย” ที่เกิดขึ้นก่อนการนำเข้าสินค้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงข้อผูกพันระหว่างบริษัทแม่กับ IBO ดังนั้น รายได้ของ IBO จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้าที่กำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนการนำเข้า ต้องนำมารวมในราคาสินค้านำเข้าด้วย

สัญญาฉบับที่ 4 เป็นสัญญาบริการสนับสนุนด้านการจัดการและส่งเสริมการตลาด ระบุว่า “การจ่ายเงินโบนัสรายเดือนและรายปี ถือเป็นต้นทุนและค่าใช้จ่ายของบริษัทแม่ในต่างประเทศ” ถึงแม้แอมเวย์โต้แย้งในภายหลังว่า “เงินโบนัสที่แอมเวย์ไทยจ่ายให้บริษัทแม่บางส่วนถือเป็นค่าบริการ” โดยรายการดังกล่าวถูกบันทึกเป็นต้นทุนทางบัญชีของบริษัทแม่ แต่ไม่ปรากฏรายการดังกล่าวในบัญชีที่แอมเวย์ยื่นต่อกรมสรรพากร

หากนำสัญญาที่บริษัทแอมเวย์ไทยทำกับบริษัทแม่มาพิจารณาร่วมกับงบการเงินของบริษัทแอมเวย์ไทยและงบการเงินของบริษัทแม่ น่าจะเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะยืนยันได้ว่า เงินโบนัสที่แอมเวย์จ่ายให้ IBO รวมอยู่ในต้นทุนสินค้า ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคานำเข้า

นอกจากนี้ ในสัญญาให้ใช้สิทธิคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์หลัก (สัญญาฉบับที่ 5) แอมเวย์ไทยชี้แจงว่า เป็นผู้สั่งจ่ายเงินโบนัสให้ IBO เอง แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามเอกสารสัญญาแล้ว พบว่าแอมเวย์ไทยไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์หลัก กรณีการจ่ายเงินโบนัสอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทแม่กำหนด ถือเป็น “เงื่อนไขการขาย” ตั้งแต่ก่อนการนำเข้า ต้องนำมารวมในราคาศุลกากร

นายราฆพเปิดโอกาสให้ สมพ. แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมเป็นลำดับต่อมา โดยประเด็นที่ สมพ. ชี้แจงจะเน้นไปที่กระบวนการจ่ายเงินโบนัส โดยตัวแทนจำหน่ายอิสระ หรือ IBO จะได้รับเงินโบนัสจากแอมเวย์ก็ต่อเมื่อ IBO ได้ขายสินค้าออกไปแล้ว ถือเป็นค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่สินค้าถูกขายออกไป สสป. ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเงินโบนัสที่แอมเวย์จ่ายให้ IBO เป็นต้นทุนสินค้าที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ก่อนการนำเข้าสินค้า สมพ. มีความเห็นว่า ไม่สามารถนำเงินโบนัสดังกล่าวมารวมเป็นราคาศุลกากรได้ แต่ สมพ. ไม่ได้อธิบายว่าทำไมแอมเวย์ไทยต้องจ่ายเงินโบนัสให้ IBO

จากนั้นก็ให้อัครราชทูตฝ่ายศุลกากรฯ และสำนักกฎหมายชี้แจงต่อที่ประชุม ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับ สสป.

นายราฆพกล่าวทบทวนความเห็นของ สมพ. อีกครั้งว่า “สสป. มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าโบนัสเป็นส่วนหนึ่งของราคาศุลกากร” จากนั้นอธิบดีกรมศุลกากร ซักถาม สมพ. ต่อไปว่า “สมพ. สามารถยืนยันได้หรือไม่ว่า บริษัทแอมเวย์ไม่ผิด” เจ้าหน้าที่ สมพ. เงียบ ไม่โต้แย้งแต่ประการใด

นายราฆพถามต่อไปอีกว่า “แสดงว่า สมพ. มีความเห็นว่า สสป. ขาดพยานหลักฐานบางอย่างที่จะบ่งชี้ว่าเงินโบนัสเป็นส่วนหนึ่งของราคาศุลกากร แต่ สมพ. ไม่ได้ปฏิเสธว่าเงินโบนัสเป็นส่วนหนึ่งของราคาศุลกากร” เจ้าหน้าที่ สมพ. ไม่ได้ตอบ ก่อนสรุป นายราฆพถามอีกครั้งว่า ใครมีประเด็นสงสัยอะไรอีกหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี ที่ประชุมคณะกรรมการกรมศุลกากรจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้สำนักกฎหมายสรุปสำนวนคดีแอมเวย์ส่ง DSI ดำเนินคดี โดยให้ สมพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกับ DSI หากมีการร้องขอพยานหลักฐานเพิ่มเติม