ThaiPublica > เกาะกระแส > ม็อบยึดกระทรวงคลังส่งผลเบิกจ่ายงบลงทุนสะดุด หลุดเป้า 1,800% คลังเตรียมล้างท่อ ใช้ “วิธีพิเศษ” แทน “อี-ออคชัน”

ม็อบยึดกระทรวงคลังส่งผลเบิกจ่ายงบลงทุนสะดุด หลุดเป้า 1,800% คลังเตรียมล้างท่อ ใช้ “วิธีพิเศษ” แทน “อี-ออคชัน”

10 ธันวาคม 2013


หลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โค่นล้มระบอบทักษิณ ใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย บุกยึดกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณมาตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 โดยมีเป้าหมายที่จะตัดกลไกการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ตัวสำคัญที่รัฐบาลใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และบริการ ซึ่งกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมบุกยึดสถานที่ราชการครั้งนี้ ส่งผลทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปี 2557 วงเงินรวม 2.525 ล้านล้านบาท ต้องสะดุดลง

เริ่มจากสำนักงบประมาณ หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่จัดสรรวงเงินงบประมาณให้ส่วนราชการ โดยนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2557 ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 สำนักงบประมาณได้อนุมัติแผนการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการไปแล้ว 413 กรม พร้อมกับอนุมัติเงินประจำงวด 2.36 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 93.47% ของงบประมาณรายจ่ายปี 2557 วงเงิน 2.525 ล้านล้านบาท กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ายึดสำนักงบประมาณ แทบจะไม่มีผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณเลย เพราะสำนักงบประมาณได้อนุมัติเงินประจำงวดให้ส่วนราชการไปเกือบหมด ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเข้ายึดพื้นที่

ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 สำนักงบประมาณอนุมัติเงินประจำงวด 2.36 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 1. งบประจำ วงเงินตามเอกสารงบประมาณ 2.08 ล้านล้านบาท อนุมัติเงินประจำงวดไปแล้ว 2.01 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 96.28% ของวงเงินงบประจำ 2. งบลงทุน วงเงินตามเอกสารงบประมาณ 4.42 แสนล้านบาท อนุมัติเงินประจำงวด 3.525 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 79.84% ของวงเงินงบลงทุน

“หลังจากสำนักงบฯ เห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการและอนุมัติเงินประจำงวดไปแล้วกว่า 90% ขั้นตอนต่อไปเป็นหน้าที่กรมบัญชีกลาง ต้องติดตาม เร่งรัดการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุน ปกติก็เบิกจ่ายล่าช้าอยู่แล้ว ยิ่งในภาวะที่ไม่ปกติในช่วงนี้ ควรผ่อนคลายระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างเป็นการชั่วคราว เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินมีความคล่องตัว” นายสมศักดิ์กล่าว

เบิกจ่ายงบประมาณ

จากข้อมูลการเบิกจ่ายเงินของกรมบัญชีกลาง ระบุว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 มีส่วนราชการเบิกเงินจากกรมบัญชีกลางไปแล้ว 4.76 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.85% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2.525 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 30.46% แต่ที่มีปัญหามากที่สุดคือการเบิกจ่ายงบลงทุน ตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายไว้ที่ 1.41 แสนล้านบาท ปรากฏว่ามีส่วนราชการมาเบิกเงินไปแค่ 7,414 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.68% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม และต่ำกว่าเป้าหมาย 1,801% ส่วนงบประจำเบิกจ่ายไปแล้ว 4.69 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.51% ของวงเงินรวม ต่ำกว่าเป้าหมายเพียง 2.35%

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เท่าที่ได้รับรายงานจากกรมบัญชีกลาง การเบิกจ่ายงบประจำ ขณะนี้แทบไม่มีปัญหาเลย แต่ที่เป็นปัญหาคืองบลงทุนมีการเบิกจ่ายเงินน้อยมาก โดยเฉพาะรายจ่ายประเภทจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าเกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป รายจ่ายประเภทนี้ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549” หรือที่เรียกว่า “อี-ออคชัน” ส่วนราชการหลายแห่งจัดให้มีการประกวดราคาแบบอี-ออคชันมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่สามารถคัดเลือกผู้ชนะการประกวดราคาได้ ขณะที่หัวหน้าส่วนราชการไม่กล้าตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้การจัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีพิเศษ

“หลังจากที่เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย ภายใน 1-2 สัปดาห์ ผมจะเรียกประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) และคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) เพื่อหาทางปลดล็อกปัญหาดังกล่าว เช่น ส่วนราชการเปิดประมูลแบบอี-ออคชันมาแล้ว 4-5 ครั้ง ยังหาตัวผู้รับเหมางานไม่ได้ อาจจะผ่อนคลายให้ใช้วิธีพิเศษแทนได้ เป็นต้น”นายพงษ์ภาณุกล่าว

นายพงษ์ภาณุกล่าวต่อไปอีกว่า ถึงแม้ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมบัญชีกลางจะถูกตัดขาด แต่กรมบัญชีกลางมีระบบสำรองอยู่ที่สำนักงานคลังเขต 2 อยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ยังสามารถสั่งจ่ายเงินคงคลังจากบัญชีที่ฝากกับธนาคารแห่งประเทศไทยโอนเข้าบัญชีส่วนราชการได้ตามปกติ กรณีเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้ามาทำงานที่กรมบัญชีกลางได้ ก็ให้ไปนั่งทำงานที่สำนักงาน ก.พ. จังหวัดนนทบุรี

ด้านนายมนัส แจ่มเวหา กล่าวว่า ปัญหาการเบิกจ่ายงบลงทุนได้น้อยมาก สาเหตุเกิดจากหัวหน้าส่วนราชการไม่กล้าจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากปีงบประมาณก่อน และอีกส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเข้าไปยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าทำงานไม่ได้ จึงไม่สามารถเข้าไปเตรียมเอกสาร เพื่อทำเรื่องขอเบิกเงินจากกรมบัญชีกลางได้ หลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมส่งคืนพื้นที่ให้กับกระทรวงการคลัง คงต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่เร่งเคลียร์เอกสารค่างวดงานที่ยังค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว