ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > การเมืองไทยเกิดวิกฤติแฝด “ประชาธิปไตย-นิติรัฐ” แนะรัฐบาลเร่งกู้ศรัทธาด้วย 4 แพคเก็จต่อต้านคอร์รัปชัน สร้างจุดเปลี่ยนเส้นทางสู่อนาคต

การเมืองไทยเกิดวิกฤติแฝด “ประชาธิปไตย-นิติรัฐ” แนะรัฐบาลเร่งกู้ศรัทธาด้วย 4 แพคเก็จต่อต้านคอร์รัปชัน สร้างจุดเปลี่ยนเส้นทางสู่อนาคต

14 พฤศจิกายน 2013


“สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ชี้การเมืองปัจจุบันเป็น Twin crises คือ วิกฤติ “ประชาธิปไตย-นิติรัฐ” แนะรัฐบาลเร่งกู้ศรัทธาคืน โดยประกาศแพคเก็จต่อต้านคอร์รัปชัน 4 แนวทาง เพื่อใช้วิกฤติเป็นโอกาสปฏิรูปสู่การเติบโตยั่งยืน ระบุ “เป่านกหวีด” อย่างเดียวไม่พอ และการไล่รัฐบาลไม่ใช่ทางออก แต่ถ้าทางตันเสนอ “ยุบสภา” ป้องกันความรุนแรง

13 พฤศจิกายน 2556 หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการเงิน ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทย: จุดเปลี่ยนเส้นทางสู่อนาคต” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.สันติ ถิรพัฒน์ หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด

สัมนาปฏิรูปประเทศไทย จุดเปลี่ยนสู่เส้นทางอนาคต

“การศึกษา-นวัตกรรม” ปัจจัยหลักพัฒนาประเทศยั่งยืน

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า กรอบคิดการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ทั้งที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) และนักวิชาการพูดจะเห็นตรงกันว่า การเติบโตต้องมีพลวัต การเติบโตต้องมีส่วนร่วม มีการกระจายรายได้ดีขึ้น และการเติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของโลกใหม่ ต้องรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ green growth

“ทั้งสามตัวนี้เห็นตรงกัน แต่ประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้ากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดในอาเซียน เพราะฉะนั้น จะมีภาระการคลังเรื่องการรักษาพยาบาล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมีปัญหาตามมามากมาย คือ คนทำงานลดลง ดังนั้น โจทย์คือ ประเทศไทยถ้าอยู่อย่างนี้ต่อไปอยู่ไม่ได้แน่นอน” ดร.สมเกียรติกล่าวและว่า

เนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองไทยในระดับปัจจุบันไม่ได้ทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นปัญหา “กับดับประเทศรายได้ระดับกลาง” หรือ middle income trap และถ้าเราไม่ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ปัญหาเรื่องอื่นก็จะยังอยู่ไม่ได้รับการแก้ไข

ประธานทีดีอาร์ไอเชื่อว่า โจทย์ของเมืองไทยในลักษณะแบบนี้ ไม่น่าจะมองต่างกันมากนัก โดยการจะให้ประเทศไทยมีการเติบโตทั้งในระดับที่มีพลวัตมากขึ้น มีการกระจายรายได้มากขึ้น และการเติบโตที่เอื้อต่อการรักษาสภาพแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมของโลกด้วยนั้น สุดท้ายหนีไม่พ้นต้องทำ 2 ด้าน หนึ่ง การสร้างทุนมนุษย์ คือเรื่องการศึกษา การอบรมแรงงาน อีกด้านคือ การพัฒนานวัตกรรม การวิจัยพัฒนาของภาคเอกชน

“เสถียรภาพเศรษฐกิจ-การเมือง” เงื่อนไขการพัฒนาและการเติบโตที่ยั่งยืน

ดร.สมเกียรติระบุว่า การเติบโตที่มีพลวัต มีส่วนร่วม และเกิดการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยทำเรื่องการปฏิรูปการศึกษา และการวิจัยพัฒนานั้น จะเกิดขึ้นได้ต้องมีเงื่อนไขสำคัญ 2 เรื่องใหญ่ คือ ต้องมีเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาค กับเสถียรภาพการเมือง ซึ่งเดิมประเทศไทยเคยเชื่อว่ามีจริง แต่ปัจจุบันชักไม่แน่ใจว่ามีจริงหรือไม่

เงื่อนไขแรก ต้องมีเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาค คือ มั่นใจว่าเศรษฐกิจมหภาคนิ่งพอไม่ให้เกิดปัญหา แต่ตอนหลังพอมีเรื่องของการมีนโยบายประชานิยม ซึ่งขอเรียกว่า “นโยบายที่ไม่รับผิดชอบทางการคลัง” เกิดขึ้น เป็นนโยบาย ลด แลก แจก แถม มากขึ้น ก็เกิดคำถามว่า เศรษฐกิจมหภาคของเราจะมีเสถียรภาพไปได้นานแค่ไหนท่ามกลางสภาพตลาดการเงินของโลกที่ปั่นปวนและผันผวนมาก ในเวลาเดียวกันก็กำลังมีปัญหาการส่งออกลดลง หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น หนี้ภาครัฐสูงขึ้น

“เหล่านี้ทำให้เราตั้งคำถามว่า เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังเป็นของที่เรายังเชื่อได้อยู่หรือเปล่า” ดร.สมเกียรติกล่าว

เงื่อนไขที่สอง ต้องมีเสถียรภาพทางการเมือง จะเห็นว่าการเมืองของไทยนั้นแต่เดิมเราจะเชื่อว่าไม่ว่าจะเกิดการปฏิวัติรัฐประหารกี่รอบ เศรษฐกิจก็จะเดินต่อไป แต่โจทย์ปัจจุบันความขัดแย้งทางการเมืองได้ลุกลามและยาวนานไปเกินกว่าที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งกลายเป็นความปกติใหม่ไปแล้วว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องที่เราต้องอยู่กับมันตลอดเวลา

การเมืองเกิด “วิกฤติแฝด” โอกาสปฏิรูปประเทศ

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า หากดูสถานการณ์การเมืองเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นภายในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา คิดว่าเราเห็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนที่สุดที่สะท้อนสิ่งที่เราพูดมา คือเรื่องการผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งผมเห็นว่าเรื่องแบบนี้สะท้อน “วิกฤติฝาแฝด” หรือ “twin crises” คือวิกฤติของประชาธิปไตย และวิกฤติของนิติรัฐ

ในแง่ที่เป็น “วิกฤติประชาธิปไตย” คือ ประชาธิปไตยทั่วไปจะยึดถือเสียงข้างมาก และถือว่าเสียงข้างมากนั้นเป็นอำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่พอการใช้เสียงข้างมากในระบบรัฐสภาทำไปมากๆ ก็เกิดความรู้สึกเป็นห่วง เป็นกังวลว่า เสียงข้างมากได้สร้างให้เกิดสิทธิทางสังคมจริงๆ หรือไม่ ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต

เช่น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้นโยบายประชานิยมแล้วนโยบายนั้นสร้างภาระให้กับลูกหลาน คนในอนาคตคือลูกหลานของเรา คือคนที่ไม่มีโอกาสออกเสียงในวันนี้ เพราะฉะนั้น แม้ประชาธิปไตยจะเป็นระบบที่เรียกว่าดีที่สุดเท่าที่เราคิดกันได้ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการ

“เหตุการณ์ที่ผ่านมา การใช้เสียงข้างมากผ่านกฎหมายในเวลาตี 3 ตี 4 ก็ทำให้สังคมคิดว่ามีวาระซ่อนเร้นของการใช้เสียงข้างมาก อันนี้ผมคิดว่าเป็นวิกฤติประชาธิปไตยเสียงข้างมากที่เกิดขึ้น” ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวและว่า

ในแง่ “วิกฤติของนิติรัฐ” คือ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่รัฐบาลผลักดันถูกมองว่าจะไปนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำผิดคดีต่างๆ ทุกรูปแบบ รวมถึงคดีคอร์รัปชันด้วย จึงเป็นเหตุการณ์ให้ต่อต้านกันครั้งใหญ่ สะท้อนว่า ประชาชนต้องการนิติรัฐมาก และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เห็นว่าหลายกลุ่มไม่ว่าเสื้อสีแดง สีเหลือง และสีไหนมีความเห็นค่อนข้างตรงกัน ทั้งที่แต่เดิมวิวาทะหรือความแตกต่างของการเมืองไทยอยู่ที่จะเอาประชาธิปไตย หรือจะเอานิติรัฐ

ฝ่ายที่เอาประชาธิปไตย ตัวแทนคือกลุ่มเสื้อแดง ที่เห็นว่าอำนาจจากการเลือกตั้งสำคัญที่สุด ไม่ควรต้องมีองค์กรอิสระต่างๆ

ขณะเดียวกัน ฝ่ายเสื้อเหลือง ฟังวิวาทะที่เขาพูดกันถอดความได้ว่า เขาหวังจะให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล หวังให้เกิดระบบยุติธรรม คือตัวแทนที่เอานิติรัฐ

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ความจริงแล้วสองเรื่องนี้ไม่ได้ขัดกัน เพราะฉะนั้นประเทศไทยจะเดินหน้าไปได้ คำตอบง่ายนิดเดียว คือ เอาทั้งประชาธิปไตยและนิติรัฐ
โดยพูดอีกมุมคือ ถ้าเราเอาประชาธิปไตย คือเราไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาการเปลี่ยนนอกระบบที่เกิดขึ้น และเอานิติรัฐคือ เราไม่เอาการล้างผิด ไม่เอาการใช้อำนาจทางการเมืองไปลบล้างผลทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม

สัมมนาปฏิรูปประเทศไทย จุดเปลี่ยนเส้นทางสู่อนาคต

“สองเรื่องนี้ถ้าคุยกันแล้วน่าจะเห็นตรงกันไม่ยาก และผมคิดว่า ถึงจุดนี้ วิกฤติฝาแฝด คือ วิกฤติประชาธิปไตยและวิกฤตินิติรัฐที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสอันนี้ที่จะนำไปสู่ที่เราคุยกัน คือ โอกาสในการปฏิรูปประเทศ เพราะการปฏิรูปโดยลำพังจะยากมาก” ดร.สมเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวว่า การปฏิรูปไม่ใช่การเสนอความเห็นทางวิชาการที่เราคุยกัน แต่คือการนำความเห็นที่เราเห็นตรงกันไปสู่การปฏิบัติ และการปฏิบัติใดๆ จะยากมากถ้าไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง

อย่างไรก็ตาม ดร.สมเกียรติคิดว่าวิกฤติทุกครั้งจะนำสู่การปฏิรูปได้ อาทิ รัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดขึ้นเพราะในขณะนั้นคนเบื่อและเกลียดชังนักการเมืองที่ไม่สนใจประชาชน จึงนำไปสู่การออกเป็นรัฐธรรมนูญปี 40 ถือเป็นนวัตกรรมทางสังคม เป็นกลไกการใช้วิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองช่วงนั้น ซึ่งนำไปสู่ปฏิรูปการเมืองรอบแรกของประเทศไทย

“ผมคิดว่าตอนนี้มาถึงจุดที่เราจะใช้โอกาสจากพลังทางสังคมที่ออกมามากขนาดนี้ในการปฏิรูปทั้งสองเรื่อง คือ วิกฤติประชาธิปไตยกับวิกฤตินิติรัฐ โดยในเรื่องของการแก้วิกฤตินั้น นักวิชาการต้องพยายามวิเคราะห์ปัญหาให้อยู่ในโลกความเป็นจริง คิดถึงความเป็นไปได้ทางการเมืองมากพอสมควรหากจะให้ข้อเสนอมีความหมาย” ดร.สมเกียรติกล่าว

“สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” เสนอ 2 เรื่อง พลิกวิกฤติเป็นโอกาส

โดย ดร.สมเกียรติเสนอว่า อยากเห็นการเมืองกลับไปสู่ในระบบอย่างเดิม คือเป็นการเมืองในระบบรัฐสภา และการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามกลไกประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา แต่การที่รัฐบาลและรัฐสภาทำผิดพลาดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม น่าจะมีเหตุมีผลให้สังคมตกลงกันในวงกว้างว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำ และอะไรคือสิ่งที่ไม่ควรทำ ซึ่งท่ามกลางวิกฤติแฝดคิดว่ามี 2 เรื่องที่อยากเห็นและเป็นโอกาสทำให้เกิดขึ้นได้

เรื่องที่หนึ่ง อยากเห็นการเจรจาทั้งสองฝ่าย หรือทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันในเรื่องนิติรัฐ โดยอยากเห็นรัฐบาลซึ่งเสียแต้มมากในขณะนี้ “กู้ศรัทธา” กลับคืนมาด้วยการให้ “คำมั่น” ว่าจะต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง โดยมีรูปธรรม 4 อย่าง คือ

1. รัฐบาลจะต้องยอมรับข้อเสนอขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเสนอว่า การจัดซื้อจัดจ้างโครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการ 2 ล้านล้านบาท โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ขอให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเข้าไปสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ทีโออาร์ และแสดงความคิดเห็น แล้วข้อคิดเห็นนั้นรัฐจะต้องพิจารณาอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาองค์การต่อต้านคอร์รัปชันได้เสนอแนวความคิดนี้ แต่คณะรัฐมนตรียังไม่นำไปพิจารณา มีแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรับไปปฏิบัติในโครงจัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คัน

2. รัฐบาลจะต้องเน้นความโปร่งในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยรัฐบาลจะต้องแก้ไขข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งใช้ยากมาก ควรแก้ไขให้ใช้ง่ายขึ้น

3. คดีเกี่ยวกับคอร์รัปชันเป็นคดีที่ไม่มีอายุความ

4. รัฐบาลจะต้องให้ประเทศเข้าเป็นสมาชิก Anti-Bribery Convention ของ โออีซีดี การที่ให้องค์กรภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย จะสร้างความน่าเชื่อถือของการที่ประเทศไทยจะมีความมุ่งมั่นในการลดคอร์รัปชัน

“ฝ่ายที่ชุมนุมอยู่ควรจะทบทวนเรื่องการชุมนุม และรัฐบาลก็ควรจะทำอะไรบางอย่างเป็นการแสดงความรับผิดชอบด้วย นอกจากการออกมาขอโทษ คือ รัฐบาลจะต้องมีความมุ่งมั่นประกาศเรื่องการปราบการและการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมและทำให้เกิดผลที่จับต้องได้โดยเร็ว โดยทำ 4 ข้อข้างต้น” ดร.สมเกียรติกล่าว

เรื่องที่สอง ในส่วนของประชาธิปไตย อยากให้ฝ่ายที่เรียกร้องกดดันและฝ่ายรัฐบาลเจรจากันเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า การใช้เสียงข้างมากจะต้องมีขอบเขตจำกัดที่ยอมรับกันได้ เช่น จะไม่ใช้เสียงข้างมากในการไปแทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซงฝ่ายตุลาการ หากจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นกับองค์กรอิสระหรือศาล ก็ให้เสียงประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ใช่เอาการเมืองมาแทรกแซง

ในส่วนของเศรษฐกิจ เสนอว่า พรรคการเมืองใหญ่ๆ จะต้องตกลงกันว่า ต่อไปนี้การจะหาเสียงโดยใช้นโยบายใดๆ ก็ได้ แต่ต้องมีขอบเขตในการใช้ทรัพยากรสาธารณะ เช่น จะต้องไม่สร้างภาระหนี้ไม่เกินเท่าไร จะต้องขาดดุลงบประมาณไม่เกินเท่าไร นี่คือหัวใจที่เรียกว่า “ธรรมนูญการคลัง” ถ้าทำอย่างนี้ได้ การเลือกตั้งในครั้งต่อๆ ไป พรรคการเมืองก็แข่งกันเสนอนโยบาย แต่นโยบายเหล่านี้มีหลักประกันว่าจะไม่สร้างความเสียหายมาสู่ประชาชน และไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค

ดร.สมเกียรติย้ำว่า อยากเห็นการพูดคุยกันทั้งเรื่องประชาธิปไตย ว่าจะฟื้นฟูประชาธิปไตยอย่างไร จะฟื้นฟูนิติรัฐอย่างไร ถ้าตกลงกันได้ ประเทศไทยก็จะมีความมั่นคงในเรื่องของการเมือง และมีเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาค ไม่มีการใช้จ่ายที่เกินตัว และจะนำไปสู่การปฎิรูปและการพัฒนาต่อไปได้ แต่ถ้าเจรจากันไม่ได้ ตกลงกันไม่ได้ทางเลือกที่ควรจะเลือกในเวลานั้นคือ “การยุบสภา” แล้วกลับไปเริ่มต้นใหม่

“การยุบสภาไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการ reset ระบบใหม่ reset อารมณ์คนในสังคมไม่ให้เอาแพ้เอาชนะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย หาทางออกไม่ได้ ให้ไปแก้ปัญหากันใหม่ในอนาคต คิดกันใหม่ ก็ขอฝากแนวคิดนี้ไว้” ดร.สมเกียรติกล่าว

ดร.สมเกียรติย้ำว่า ตอนนี้หน้าต่างโอกาสเปิดอยู่บ้างพอสมควร และเชื่อว่ามีโอกาสทุกครั้งเมื่อมีวิกฤติ แต่โอกาสอย่างนี้ไม่ใช่โอกาสที่จะไปไล่รัฐบาล เพราะไล่แล้วรัฐบาลใหม่ก็อาจหน้าตาไม่ต่างจากเดิม กฎกติกาก็อาจไม่ต่างจากเดิม แต่มีโอกาสแบบนี้ที่รัฐบาลซึ่งภาวะปกติไม่ยอมทำอะไร หรือไม่อยากทำอะไรในหลายเรื่อง แต่อาจจะต้องทำเพราะแรงกดดันจากพลังของสังคมที่ออกมาชุมนุมกัน

“ดังนั้นช่วยกันต่อได้ไหมครับว่าทำอะไรได้มากกว่าเป่านกหวีด ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ผ่านวิกฤตินี้ไป อย่างน้อยมีของอะไรติดตัวกับประชาชนกลับมาได้ ให้องค์กร สถาบันต่างๆ ดีขึ้น” ดร.สมเกียรติกล่าว

สัมมนาปฏิรูปประเทศไทย จุดเปลี่ยนเส้นทางสู่อนาคต

ประเทศไทยเสี่ยงล้าหลังมากกว่าก้าวหน้า

ขณะที่ ดร.สันติ ถิรพัฒน์ หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะล้าหลังมากกว่าที่จะก้าวหน้า ถ้าหากผู้บริหารและนักการเมืองยังไม่ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า ระบบการเมือง ความมีเสถียรภาพทางการเมือง และระบบการกำกับดูแลล้วนมีผลต่อพลังในการพัฒนาประเทศ

“รัฐบาลและนักการเมืองจะต้องมีการลงมือปฏิบัติและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเหล่านี้อย่างจริงจัง ผู้บริหารประเทศไม่ใช่มีเพียงนโยบายที่สวยหรูที่แถลงต่อประชาชน เนื่องจากข้อมูลตัวชี้วัดการพัฒนาในเรื่องเหล่านี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าประเทศไทยมีแนวโน้มการพัฒนาที่แย่ลงโดยส่วนใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่เทียบ” ดร.สันติกล่าว

ประเทศไทยออกอาการ “เสื่อม”

ด้าน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา มีความเห็นว่า ประเทศไทยจะก้าวหน้าหรือล้าหลังขึ้นอยู่กับเราว่า “เราจะทำอะไร” เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ทำอะไรก็ล้าหลังแน่นอน เพราะมีสัญญาณชัดเจนว่า ประเทศไทยอยู่ในยุคที่กำลังเสื่อมและล้าหลังประเทศต่างๆ

“ถ้าเทียบเคียงก็เหมือนกับสุขภาพไม่ค่อยดี ซึ่งเราอาจไม่รู้ว่าโรคร้ายแรงแค่ไหน แต่ก็เริ่มออกอาการว่าป่วยแน่ๆ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

โดยจากการจับชีพจรประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิพบว่า อาการป่วยที่เริ่มออกอากาศ อาทิเช่น การส่งออกที่เคยมีส่วนแบ่งตลาดเมื่อ 10 ปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 15 ของโลก แต่ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 22 ของโลก และความสามารถในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เดิมมีประมาณ 1.3 % ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 0.6% เป็นต้น

“สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนเหมือนกับว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของเรา เสน่ห์ของเราในการดึงดูดนักลงทุนลดลงไป เพราะฉะนั้น ถ้าดูมิติที่อันดับของเราลดลง อาจกล่าวว่าเรื่องล้าหลังนั้นชัดว่าเราล้าหลัง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ประธานกรรมการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา คิดว่า การที่นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะคิดนโยบายแล้วเขียนเสนอให้รัฐบาลทำนั้น “หมดยุค” ไปแล้ว และไม่มีประโยชน์ เพราะหลายครั้งเรารู้ชัดว่าเราต้องทำอะไร แต่เราไม่ทำ

ตัวอย่างที่สะท้อนได้ดีคือ ในแวดวงวิชาการ เราพูดเรื่องปัญหาการติดกับดักประเทศมีรายได้ปานกลางกันตลอด การที่เราจะหลุดพ้นเป็นอะไรที่ทุกคนพูดไว้หมดว่าต้องใส่ใจลงทุน ลงแรง ลงเงิน ในเรื่องเกี่ยวกับการวิจัยพัฒนาและเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศที่เคยทำสำเร็จมาแล้วคือไต้หวันกับเกาหลี

เพราะฉะนั้น การวิจัยและพัฒนา กับเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือองค์ประกอบที่จำเป็นของการออกจากกับดักรายได้ระดับปานกลาง เรารู้ว่าต้องทำ แต่เราไม่ทำ แล้วยังทำกลับด้านหมด เช่น เรื่องวิจัยพัฒนา เรามีการจัดสรรงบประมาณเพียง 0.2% ของจีดีพี ไม่โตขึ้นเลย

ภาครัฐมีปัญหา ต้องลดบทบาทให้เล็กลง

“ถ้าเรารู้ว่าหลายเรื่องต้องทำอะไร แต่รัฐไม่ทำ แล้วจะไปหวังให้เขาทำ ไปเพิ่มทรัพยากรให้เขาทำอีกทำไม คำตอบเรารู้อยู่แล้ว ว่ารัฐบาลเรามีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล มีปัญหาคอร์รัปชัน และมีปัญหาเรื่องการจัดการค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นอย่าให้เขาทำเลยดีกว่า ควรลดบทบาทภาครัฐให้เล็กลง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวและว่า

ปัจจุบันภาครัฐมีบทบาทใหญ่มาก และใหญ่กว่าตัวเลขเชิงเศรษฐศาตร์ ที่เน้นดูรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งอาจไม่สะท้อนอำนาจ บทบาทของรัฐบาลที่มีต่อเศรษฐกิจบ้านเราในมิติอื่นๆ เช่น รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหุ้น สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารกรุงไทยที่มีสัดส่วนถึง 30% ของสินเชื่อทั้งระบบ ลงทุนภาครัฐมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของการลงทุนรวม ที่สำคัญ สินค้าที่รัฐบาลเข้าไปควบคุมอยู่ในตะกร้าเงินเฟ้อถึง 45%

นอกจากนี้ เรามักใส่ใจเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งมีสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่เปลี่ยนรัฐบาลน้อยมาก แต่ที่มากกว่าการเปลี่ยนรัฐบาลคือ รัฐมนตรีหรือคนที่จัดการทำนโยบาย พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดบ่อยมาก

โดยตอนนี้อายุเฉลี่ยของรัฐมนตรีว่าการในคณะรัฐมนตรีมีแค่ 11 เดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดใน 20 จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดของไทยมีอายุเฉลี่ย 17 เดือน แบบนี้จะทำอะไรได้ สะท้อนขีดความสามารถภาครัฐมีปัญหา ปัญหาคอร์รัปชันก็เยอะ และบทบาทภาครัฐก็ใหญ่

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เพราะฉะนั้น ต้องพยายามลดบทบาทภาครัฐ เพื่อให้บทบาทภาครัฐมีความชัดเจน และไม่มีเงาเข้ามาในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป โดยมี 2 เร่ืองที่ทำได้ คือ

1. การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ที่เริ่มหายไปและถูกบิดเบือน รวมทั้งกลายเป็นเรื่องที่ว่า ใครพูดเรื่องนี้เหมือนจะเอาสมบัติของชาติไปขาย ทั้งที่มีเหตุผลอะไรที่บ้านเรารัฐบาลจะต้องมีสายการบินใหญ่ที่สุด มีพลังงานที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงในบริษัทสาธารณูปโภค เพราะเมื่อรัฐบาลเข้าไปก็มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ประสิทธิภาพการให้บริการไม่ดี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีโทรศัพท์ สมัยก่อนกว่าจะได้โทรศัพท์เครื่องหนึ่งต้องยากเย็นสาหัส แต่ปัจจุบันวันเดียวก็ติดตั้งโทรศัพท์ได้แล้ว

2. ต้องปรับทัศนคติว่า ทุกอย่างที่รัฐทำมีต้นทุน อย่างนโยบายประชานิยม หรือโครงการจำนำข้าว คนที่เสียหายที่เสียหายที่สุดคือคนรากหญ้า เพราะเราสูญเสียทรัพยากรที่ควรจะทำหายไป เช่น ไปทำโรงเรียนให้ดีสุดยอด ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะต้องนำเงินไปทำโครงการจำนำข้าว เป็นต้น โดยตัวเลขโครงการจำนำข้าวที่นักวิชาการวิเคราะห์พบว่า จะขาดทุนประมาณ 2 แสนล้าน หรือคิดเป็นสัดส่วน 80 เท่าของงบ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) และ 20 กว่าเท่าของงบกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโลยี

“การจะแก้ปัญหาหลายเรื่องต้องสร้างความใส่ใจเรื่องต้นทุนเหมือนกับใส่ใจเรื่องอื่นๆ เช่น กรณีประท้วงเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะการปรับทัศนคติเรื่องนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญเรื่องการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้น” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว