ThaiPublica > คอลัมน์ > การเดินทางในเมืองหลวง (1): รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์)

การเดินทางในเมืองหลวง (1): รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์)

29 พฤศจิกายน 2013


ณัฐเมธี สัยเวช

ผมเป็นคนที่สัญจรในเมืองหลวงด้วยขนส่งมวลชนเป็นหลัก และขนส่งมวลชนที่คุ้นเคยที่สุดก็คงจะไม่พ้นรถโดยสารประจำทางอย่างรถเมล์ ทั้งแบบที่บริหารจัดการโดยองค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) และรถร่วมบริการทั้งหลายแหล่ และการโดยสารนี้ก็เป็นมาตั้งแต่จำความได้ เนื่องด้วยบ้านผมนี้ไม่เคยมีรถส่วนตัวเป็นของตัวเองเลย เนื่องจากสมัยที่คุณพ่อคุณแม่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ นั้น ที่ทำงานของพวกท่านสามารถไปถึงได้ด้วยรถเมล์โดยไม่ยากเย็นอันใดนัก พ่อนี่นั่งรถเมล์ต่อเดียวถึงภายในไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แม่นี่นั่งไปประมาณเกือบชั่วโมง แล้วต่อสายอื่นอีกสองป้ายก็ถึงที่ทำงาน

เล่าขำๆ (แบบที่ถ้าคิดดีๆ ก็ไม่ขำ) สมัยก่อนนี่ไม่กล้าบอกใครเลยว่าที่บ้านไม่มีรถ เพราะคิดว่ามันเป็นเกณฑ์ชี้วัดฐานะทางการเงินอย่างหนึ่ง (สมัยเด็กๆ ก็คิดว่ามันคือตัวชี้รวยชี้จนล่ะครับ) มานั่งคิดดูทุกวันนี้ เออ พ่อแม่เราก็ฉลาดดี ก็มันเดินทางได้ง่ายๆ จะมีรถทำไม

ผมก็เลยคุ้นเคยกับรถเมล์มาแต่เด็ก คุ้นแบบที่คุ้นจนถึงบันไดล่างสุดที่ประตูนั่นแหละ เพราะสมัยผมเรียนชั้นมัธยม ที่ยังไม่มีกฎเคร่งครัดเรื่องว่าต้องปิดประตู บ่อยครั้งที่คนทะลักล้นรถเมล์เล็กจนผมต้องเกาะราวประตูยืนขาเดียวบนบันไดชั้นล่างสุด อีกขาห้อยออกมานอกตัวรถ โอ้โฮ คุณเอ๋ย จังหวะกลับรถตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนี่รู้สึกเหมือนสู้กับมังกร มันตื่นเต้นเร้าใจเหมือนอาจตายในเสี้ยววินาที

ตอนนี้อายุสามสิบสอง ปัดเป็นตัวเลขกลมๆ แล้วผมใช้รถเมล์มาสามสิบปีเห็นจะได้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com

สามทศวรรษนี่มากพอให้เห็นปัญหามากมายจากการโดยสารรถเมล์นะครับ และที่โหดเหี้ยมนักก็คือ สามสิบปีแล้วมันก็ยังมีปัญหาแบบนี้อยู่ วันนี้ก็เลยอยากเอามาแบ่งปันกัน บางข้อนั้น ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (นี่ผมก็แฟนท่านคนหนึ่งนะ หรือภาษาวัยรุ่นเขาเรียก “ติ่ง”) ก็อาจจะเล็งเห็นและเริ่มดำเนินการแก้ไขไปแล้ว แต่ก็นั่นแหละครับ ผมไม่มั่นใจอะไรในความยั่งยืนทั้งหลายของบ้านเมืองนี้ เพิ่งต้นหนาวแต่อากาศการเมืองร้อนเป็นกลางเมษาแบบนี้ ไม่รู้อะไรจะเป็นอะไร ออกก้อยก็อาจหัว ออกหัวก็อาจก้อย เรื่องที่เห็นแล้วก็เลยคงต้องพูดซ้ำๆ ย้ำกันไป

1. เมื่อไหร่จะมา

ผมเคยรอรถเมล์อยู่หนึ่งชั่วโมง…

น้ำหนักตัวผมนี่เฉลี่ยอยู่ที่ 0.1 ตัน (ครับ 100 กิโลกรัม) การรอรถเมล์นานหนึ่งชั่วโมงนั้นทำร้ายร่างกายและจิตใจเป็นอันมาก ยิ่งรอนานก็ยิ่งไม่ต้องหวังละครับ ว่าขึ้นรถแล้วจะได้นั่งให้คลายเมื่อยหรือลดปัญหารักแร้แฉะ เพราะก็คงมีคนอื่นที่รอนานอย่างเราเหมือนกัน กว่ารถจะมาถึงเรา เขาก็คงทั้งนั่งทั้งยืนจนเต็มคันกันไปหมด

มิตรสหายท่านหนึ่งของผมเคยแนะนำให้แก้ปัญหา (ทางใจ) นี้ด้วยการใช้แอปพลิเคชัน Google Maps ซึ่งแอปฯ ดังกล่าวนั้น เมื่อเราทำการค้นหาเส้นทางโดยพิมพ์ระบุจุดหมายปลายทางของเราลงไป มันสามารถบอกได้ด้วยว่าจากจุดที่เราอยู่นั้นต้องขึ้นรถเมล์สายอะไร และรถเมล์สายดังกล่าวจะมาถึงภายในเวลาเท่าไหร่

ทว่า…ใช้การไม่ได้ดังใจครับ

คือ บางท่านนั้นที่เคยใช้งานก็บอกว่าแอปฯ นี้สามารถบอกเวลาได้ถูกต้องแม่นยำ บางท่านเดียวกันนั้นก็บอกว่าคลาดเคลื่อนเล็กน้อย แต่สำหรับผม มันคลาดเคลื่อนอย่างหนักหนา ครั้งหนึ่งบอกว่าอีกสิบหน้าทีรถเมล์จะมา แต่รอไปชั่วโมงหนึ่งแล้วก็ยังไม่มา สุดท้ายต้องเรียกแท็กซี่ด้วยหัวใจสั่นไหว คอยหันมองว่าจะไม่มีรถสายดังกล่าววิ่งตามหลังหรือบดขยี้หัวใจด้วยการแซงแท็กซี่ที่ผมนั่งไป

อ้อ แต่แน่นอนครับ บอกว่าอีกสิบห้านาที แต่เห็นรถตรงรี่มาที่หน้าแล้วก็มีเช่นกัน

ผมคงไม่ตั้งข้อสงสัย ว่าคลาดเคลื่อนเพราะอะไร หรือทำอย่างไรแอปฯ ดังกล่าวจึงสามารถคาดประมาณเวลามาถึงให้เราได้ เพราะว่า สิ่งที่ผมคำนึงจริงๆ ในเรื่องนี้ก็คือ แล้วคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันดังกล่าวเล่า เขาจะมีทางออกอย่างไร

และสิ่งที่ต้องคำนึงยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ครั้งหนึ่ง ผมเคยต้องรอรถเมล์ตอนเวลาประมาณเที่ยงคืน รอด้วยความไม่แน่นอนในชีวิตอย่างร้ายกาจ กระวนกระวายพอกับอีกสามสี่คนที่ยืนปะปนที่ป้ายเดียวกัน เพราะผมไม่รู้ว่ารถเมล์สายที่ผมจะขึ้นนั้นวิ่งตลอดคืนหรือไม่ และถ้าไม่ตลอดคืน รถเมล์คันสุดท้ายของสายนั้นได้ผ่านป้ายรถเมล์ที่ผมรออยู่ไปหรือยัง ปัญหาเหล่านี้นี่ ลำพังการทราบว่ารถเมล์คันสุดท้ายอกจากท่ากี่โมงนั้นช่วยอะไรไม่ได้ และการโทรถามสายด่วนของ ขสมก. (เมื่อก่อนคือหมายเลข 184 ปัจจุบันนี้คือ 1348) ก็ช่วยไม่ได้ด้วยเช่นกัน เพราะ 1. จากที่เคยใช้ เข้าใจว่าสายด่วนให้บริการถึงสามทุ่ม 2. สายด่วนไม่น่าบอกผมได้ว่ารถคันสุดท้ายของสายนั้นผ่านป้ายที่ผมรออยู่ไปหรือยัง

รถเมล์ฟรี ที่มาภาพ : http://image.mcot.net
รถเมล์ฟรี ที่มาภาพ : http://image.mcot.net

ปัญหาเรื่องไม่รู้ว่าสายที่รอนั้นผ่านไปหรือยังนี่ใหญ่มากนะครับ คือ ถ้าให้คิดอย่างเหมารวม และตัดสินคนจากภายนอก คนที่จนดึกดื่นแล้วยังรอรถเมล์แทนที่จะขึ้นแท็กซี่ เหตุผลหนึ่งย่อมไม่พ้นเรื่องเงินๆ ทองๆ อาจไม่ใช่อะไรระดับว่าขัดสนจนยากหมากแพง แต่ก็อาจเป็นคนที่ถ้าเลือกได้ก็อยากจะประหยัดกัดก้อนไว้ใช้ในวันหน้า ซึ่งผมว่า การได้รู้อย่างชัดเจนว่ารถเมล์จะมาถึงเมื่อไหร่ คันสุดท้ายผ่านจุดที่เรายืนรออยู่ไปหรือยัง เหล่านี้สร้างความมั่นคงในชีวิตและจิตใจได้โขอยู่ทีเดียว อย่างน้อย ก็ทำให้สามารถวางแผนชีวิตได้ ว่าจะเอายังไงต่อไป ไม่ใช่ยืนกันไปอย่างมืดมนไร้หนทาง รถบางสาย ต้นทางอยู่สำโรง คนจะขึ้นยืนงงอยู่แถวทองหล่อ ต้องการไปยังสุดสายปลายทางอย่างสายใต้ใหม่ล่าสุด ผมว่านั่นเป็นภาวะที่สุดจะกล่าวจริงๆ

2. หลงทางกลางป้าย

หากใช้บริการรถเมล์แล้ว ก็ย่อมน่าจะเคยเห็นกันใช่หรือไม่ครับว่า ที่ป้ายรถเมล์นั้น จะมีบอกไว้ว่าสายอะไรบ้างที่ผ่านป้ายดังกล่าว

นั่นก็ถือว่าดีสำหรับคนแปลกที่แปลกหน้าผู้ทำการบ้านมาดี คือ รู้ว่าจากป้ายนี้แล้วตนต้องขึ้นสายอะไร

แต่กับคนที่จับพลัดจับผลูไปโผล่ที่ป้ายนั้นแล้วละก็…

เป็นปัญหานะครับ เพราะบางที จะถามคนอื่นที่ยืนอยู่ที่ป้าย เขาก็ไม่ได้สามารถจะบอกเราได้เสียทุกคนทุกคราวไป ทั้งมีบ่อยครั้งที่ผมได้ยินการ “บอกผิด” ที่ทำให้ตัวเองต้องรีบออกตัวยื่นหน้าไปแก้ไขให้แทบไม่ทัน ครั้นจะให้ผู้แปลกถิ่นหวังดูเอาจากป้ายข้างรถเมล์ที่มาจอด ป้ายนั้นก็เล็กเหลือเกิน บางทีก็จอดไม่นานพอให้ทันมองรู้เรื่อง ครั้นจะถามกระเป๋ารถเมล์ ถ้าบางคันไม่จอดล่ะ จะไปโบกให้จอดเพื่อถามก็อาจจะไม่งามนัก

3. จะถึงที่หมายหรือตายกลางทาง

อันนี้คงไม่ต้องกล่าวอะไรกันมาก เพราะเป็นประจำสม่ำเสมอ กับการที่เราต้องเจอปัญหารถเมล์ซิ่งนรก ขับเร็วจนน่าหวาดเสียว ต่อให้ไม่ไปเฉี่ยวชนกับใคร เอาแค่จังหวะเบรก แรงเฉื่อยก็แทบจะเทคนที่ยืนอยู่ไปกองรวมกันตรงเครื่องรถที่ข้างพวงมาลัย หนำซ้ำ คนที่ไม่ได้ใช้บริการรถเมล์ แต่ต้องใช้ถนนร่วมกับรถเมล์ ต่างก็ต้องมีส่วนเสี่ยงไปกับความน่าหวาดเสียวนี้ด้วยอย่างไม่แพ้กัน

แล้วเราจะทำอย่างไร

สำหรับปัญหาในข้อ 1. และ 2. นั้น ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แอปพลิเคชันชั้นเลิศในสมาร์ทโฟน เพราะจนถึงทุกวันนี้ ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟน และต่อให้เข้าถึงสมาร์ทโฟน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งย่อมแปลว่าไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันอัจฉริยะได้

ผมคิดว่าเราน่าจะต้องการระบบป้ายรถเมล์อัจฉริยะ หรือจริงๆ คือระบบขนส่งมวลชนอัจฉริยะ ที่สามารถทำให้เราทราบได้จากป้ายรถเมล์ที่เรายืนอยู่ว่า ขณะนี้รถเมล์สายที่เรารออยู่นั้นอยู่ที่ไหนแล้ว จะมาถึงป้ายภายในเวลาเท่าไหร่

กับปัญหาในข้อ 2. ถ้าสามารถรวมอยู่ในป้ายรถเมล์อัจฉริยะด้วยก็ดี แต่ถ้าทำไม่ได้ถึงขนาดนั้น อย่างน้อย ขอแผนที่ใหญ่ๆ ชัดๆ และป้ายใหญ่ๆ ชัดๆ ที่บอกเราได้ว่ารถเมล์สายไหนผ่านป้ายนี้บ้าง และจะผ่านไปไหนบ้าง ก็จะช่วยเหลือได้มาก

เบื้องต้น ถ้าให้จัดการกันเอง เฉพาะในหมู่ผู้เข้าถึงสมาร์ทโฟนและสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ผมไปเจอเพจหนึ่งในเฟซบุ๊กมา ชื่อเพจ “เมล์ฉันอยู่ไหน?” ซึ่งเป็นการให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ขึ้นรถเมล์สาย 40 เข้ามาโพสต์แจ้งว่าตอนนี้รถเมล์สาย 40 คันที่ตัวเองโดยสารนั้นอยู่ที่ตรงไหนของเส้นทางแล้ว (ที่เคยเข้าไปดูนี่เห็นมีคนที่บอกว่าตัวเองเป็นพนักงานขับรถของรถเมล์สายดังกล่าวเข้ามาโพสต์ด้วยนะครับ) ผมว่าอันนี้เป็นโมเดลแก้ไขปัญหาเบื้องต้นที่เข้าท่ามาก แต่ในระยะยาวมันไม่ควรเป็นทางแก้ปัญหาหลักนะครับ เราน่าจะต้องการระบบที่ออกแบบมาจัดการแก้ปัญหานี้ให้

นอกจากที่กล่าวไปแล้ว ที่อยากได้แถมขึ้นมาอีกก็คือ ระบบป้ายรถเมล์และรถเมล์ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตา เราหวังแต่น้ำใจให้ประชาชนหยิบยื่นกันเองไม่ได้นะครับ ผมเคยเจอมาแล้ว กับเหตุการณ์ที่ผู้พิการทางสายตาตะโกนถามและขอความช่วยเหลือจากผู้โดยสารร่วมป้าย ว่ารถเมล์ที่เข้าป้ายนั้นสายอะไร แต่ไม่มีใครตอบสักคน จนผมกับแฟนไม่อาจไว้ใจอะไรได้ ต้องยอมเสี่ยงจะพลาดรถเมล์คันสุดท้าย เพื่อส่งชายตาบอดคนนั้นไปพ้นป้ายด้วยรถเมล์สายที่เขาต้องการ แล้วผมไม่ได้ทำเพราะมีน้ำใจนะครับ แต่ผมอยากให้สังคมมันอยู่ในสภาพที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตร ผมอยากได้สังคมแบบนั้น เพราะมันจะดีกับตัวผมด้วย

จริงๆ กรณีคนตาบอดนี่ หลายปีก่อนผมจำได้ว่ามีรถเมล์ที่มีเสียงประกาศบอกสายอัตโนมัติเมื่อเข้าป้าย แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงหายไปและไม่ปรากฏมีอีก

ส่วนปัญหาข้อที่ 3. มาถึงทุกวันนี้นี่ ชัดเจนมากๆ แล้วว่าปัญหาเรื่องขับเร็วขับอันตราย ไปจนถึงเรื่องอย่างพนักงานไม่สุภาพนั้น มักเกิดในรถร่วมบริการ โดยเฉพาะรถเมล์เล็ก (ในขณะที่ฝั่ง ขสมก. จะมีปัญหาเรื่องการไม่จอดรับผู้โดยสาร) ซึ่งเหตุแห่งปัญหานั้นก็ได้รับการเปิดเผยออกมาบ้างแล้วว่า เป็นผลมาจากเรื่องการต้องดิ้นรนหารายได้ ซึ่งเป็นทั้งในแง่ค่าครองชีพของตน หรือเป็นนโยบายของทางผู้ให้บริการ ว่าจะต้องวิ่งกี่รอบ ต้องให้ได้เงินเท่านั้นเท่านี้

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือรถเมล์สาย 8 ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องบริการไม่น่าประทับใจ ซึ่งจากการลงพื้นที่ของ รมว.กระทรวงคมนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ได้ข้อมูลเปิดเผยมาว่าเพราะไม่มีเงินเดือน รายได้ของคนขับและกระเป๋ารถเมล์นั้นจะมาจากส่วนแบ่งค่าตั๋ว เป็นเหตุให้ต้องทำเวลา เพื่อสามารถวิ่งหลายรอบ จะได้รับผู้โดยสารได้เยอะขึ้น (ดูเพิ่มเติม) เป็นลักษณะที่ว่า “ยิ่งผู้โดยสารมีมากเท่าไร ก็ยิ่งได้เงินมากขึ้นเท่านั้น” (อ่านเพิ่มเติม)

และที่น่าสนใจ เมื่อไปค้นดูก็พบว่า ก่อนจะมีการลงพื้นที่ของนายชัชชาติในครั้งนี้จนมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ก็เคยมีบทความที่พูดถึงรายได้ของพนักงานรถเมล์สาย 8 ในแบบเดียวกันมาแล้วครั้งหนึ่งครับ ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในหน้าที่ 3 ของบทความที่มีชื่อว่า “เหตุใดพนักงานขับรถของ ขสมก. จึงไม่ค่อยจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร?” โดย ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร ซึ่งระบุว่าตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2004 หรือ พ.ศ. 2547 ซึ่งก็คือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว นั่นหมายความว่า ปัญหาด้านโครงสร้างอย่างนี้ดำรงตนอยู่มายาวนานโดยไม่เคยมีใครไปแตะต้อง หรือหนักหนากว่านั้นคือไม่มีใครรู้

แทนที่จะไปตรวจตราวินัยอย่างเข้มงวดเพียงอย่างเดียว เรื่องนี้ผมเห็นว่าเราควรแก้ปัญหาโดยไปจัดการทางด้านรายได้ของผู้ให้บริการด้วยนะครับ มันก็เป็นความจริงอยู่หรอก หากจะบอกว่าผู้ให้บริการนั้นควรจะมีสำนึกต่อหน้าที่ ตระหนักให้ดีว่าตนเองต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสาร หรือบอกว่าควรจะต้องมี service mind อันหมายถึงจิตใจที่พร้อมให้บริการ แต่ว่า ถ้าเราเอาแต่แก้ปัญหาโดยไปเคร่งครัดในเรื่องเหล่านั้น คุมกฎให้เข้มขึ้น โดยไม่ทำการแก้ไขในเรื่องรายได้ของผู้ให้บริการ ให้เกิดหลักประกันเป็นความแน่นอนของค่าครองชีพไปด้วย ผมว่ามันจะเป็นการทำให้ผู้ให้บริการต้องรับแรงกดดันจากหลายทางเสียมากกว่า

เรามักจะเห็นว่า รถของ ขสมก. จะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องพวกนี้ ซึ่งปัญหานั้นก็มาจากการที่พนักงานของ ขสมก. นั้นมีเงินเดือนขั้นต่ำเป็นที่แน่นอน ทำให้รายได้หลักไม่ต้องไปผูกกับจำนวนรอบในการวิ่งและจำนวนผู้โดยสาร การมีรายได้ที่แน่นอนว่าจะได้รับในแต่ละเดือน และอย่างน้อยควรจะอยู่ที่ระดับของค่าแรงขั้นต่ำนั้นสำคัญนะครับ มันคือหลักประกันความมั่นคงในชีวิต เราจะเรียกร้อง service mind ก็ควรจะต้องให้มันเป็นไปบนฐานของรายได้ที่เป็นธรรมด้วย ซึ่งอย่างไรถึงเป็นธรรม และจะทำอย่างไรให้เป็นธรรมนั้น นี่คงเป็นเรื่องที่จะต้องมาทำกันอย่างจริงจังเสียที

ผมเชื่อว่า กับเรื่องแบบนี้ ถ้าปากท้องปลอดภัย คงไม่มีใครอยากทำอะไรให้เสี่ยงอันตรายแก่ตัวเองและผู้อื่นครับ