ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีดีอาร์ไอเสนอโมเดลเศรษฐกิจใหม่ : “10 ปี ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพ-ขายปัญญา” รัฐบาลต้องจุดให้ติด

ทีดีอาร์ไอเสนอโมเดลเศรษฐกิจใหม่ : “10 ปี ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพ-ขายปัญญา” รัฐบาลต้องจุดให้ติด

23 พฤศจิกายน 2013


ทีดีอาร์ไอ เสนอรัฐบาลประกาศให้ 10 ปีจากนี้ไปเป็น “ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพ” และต้องเร่งลงทุนวิจัยและพัฒนา ด้วยการเพิ่มเงิน เพิ่มคน และเพิ่มประสิทธิภาพการวิจัย เผยที่ผ่านมาเอกชนใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อน R&D น้อยมาก ทำให้รัฐสูญเสียเงินด้านนี้เพียง 440 ล้านบาทต่อปี แต่สูญเสียเงินกับมาตรการรถคันแรก 92,000 ล้านบาท และมาตรการบีโอไอถึง 280,000 ล้านบาท

สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอโมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจว่า ต้อง “เพิ่มผลิตภาพ” และ “ขายปัญญา” ถึงจะทำให้เศรษฐกิจหลุดพ้นจากกับดับประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) แต่การจะเพิ่มผลิตภาพและขายปัญญาได้ จะต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research & Development: R&D)

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ผู้อภิปราย , ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้นำเสนอบทความ (ซ้ายไปขาว)
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ผู้อภิปราย, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้นำเสนอบทความ (ซ้ายไปขวา)

ดังนั้น บทความที่ 2: สู่การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมการผลิต จะเป็นการวิเคราะห์ให้เห็นว่าการวิจัยและพัฒนาเป็นหัวใจสำคัญของการยกระดับการเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มในทุกๆ ด้าน ซึ่งนำเสนอโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ และดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ โดยมีผู้ภิปราย คือ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

เสนอรัฐบาลประกาศ 10 ปีจากนี้ไปเป็น “ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพ”

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า การทำให้ประเทศก้าวออกจากกับดับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เราต้องเพิ่มประสิทธิภาพ ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยผนวกกับห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศได้ดีพอสมควร แต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มไม่สูง

ทีดีอาร์ไอประเมินว่า หากอุตสาหกรรมการผลิตไทยผลิตแบบ Lean Manufacturing อย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จะสามารถลดต้นทุนค่าแรงได้ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 3.8 เท่าของค่าจ้างแรงงาน ทั้งนี้ ระบบ Lean Manufacturing หมายถึงการลดความสูญเปล่าที่เกิดจากการผลิตทั้งหมดให้ได้มากที่สุด

และหากประเทศไทยมีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับมาเลเซีย จะสามารถประหยัดพลังงานหรือลดต้นทุนได้ 1.43 แสนล้านบาท และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 20 ล้านตันต่อปี

“เพราะฉะนั้น เราต้องยกระดับกระบวนการผลิตเพื่อจะช่วยลดต้นทุนค่าแรงได้ 1.4 หมื่นล้านบาท และที่สำคัญ การใช้พลังงาน ถ้ามีประสิทธิภาพจะช่วยลดต้นทุนได้ 1.4 แสนล้านบาทต่อปี หรือลดต้นทุนได้ถึง 4 เท่า” ดร.สมเกียรติกล่าว

ดร.สมเกียรติกล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้ เราอยากเห็นรัฐบาลประกาศให้ 10 ปีต่อไปนี้เป็นปีแห่ง “ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพ” โดยรัฐบาลควรออกมาตรการ หรือโครงการอย่างในปี 2540 เช่น โครงการชุบชีวิตธุรกิจไทย ที่มีส่วนช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตได้ดี จึงยากให้ต่อยอดโครงการเหล่านี้ต่อไปให้ดีขึ้น และอยากให้รัฐบาลกำหนดเป้าหมายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในลักษณะระยะยาว บอกล่วงหน้าตามระดับผลิตภาพการผลิต

ขณะที่ภาคเอกชนต้องสร้าง “ภาคีเพิ่มผลิตภาพ” โดยอยากเห็นหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมหาธุรกิจที่ต้องการเพิ่มผลิตภาพ โดยทำวิจัยพัฒนามารวมกันเพื่อผลิตภาพ และให้ภาคีนี้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

การวิจัยและพัฒนา “หัวใจ” การสร้างมูลค่าเพิ่ม

ดร.สมเกียรติระบุว่า หัวใจที่สำคัญการเพิ่มมูลค่า คือ “การวิจัยและพัฒนา” เพราะลำพังการยกระดับกระบวนการผลิตอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการพัฒนาพ้นกับดับประเทศรายได้ปานกลาง

smiling curve

ดร.สมเกียรติอธิบายว่า จากภาพข้างบนเป็นการบอกว่า ถ้าปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างเดียว จะอยู่ในจุดที่มีมูลเพิ่มต่ำที่สุด แต่ถ้ามีการทำการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้การ Lean Manufacturing ประหยัดพลังงาน ก็สามารถขยับมูลค่าเพิ่มได้นิดหน่อย แต่ถ้าจะไปได้ไกลๆ สิ่งที่จะต้องทำนั้นก็เช่น การออกแบบที่ช่วยเพิ่มมูลค่า และยิ่งมีการทำวิจัยพัฒนาก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นไปอีก หรือขยับไปทางต้นน้ำ (ด้านซ้ายของภาพ) และถ้าขยับทางปลายน้ำก็ทำได้เช่นเดียวกัน คือ การกระจายสินค้า การสร้างแบรนด์ (ด้านขวาของภาพ)

“ถ้าเราทำถูกทิศทางก็จะสามารถหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ ไม่ว่าจะขยับปลายน้ำหรือต้นน้ำ เราก็จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น” ดร.สมเกียรติกล่าว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “ไอแพด” เจ้าของแบรนด์คือบริษัทแอปเปิลซึ่งอยู่อเมริกาได้กำไรถึง 30% ขณะที่ผู้ผลิตตัวจริงคือบริษัท Foxconn เป็นบริษัทไต้หวัน ก็ได้กำไร 2% และแรงงานจีนซึ่งรับจ้างผลิตก็ได้กำไรเพียง 2% เท่านั้น ขณะที่ผู้กระจายสินค้าและร้านค้าปลีกได้กำไร 15%

ดร.เสาวรัจกล่าวว่า แม้ว่าการทำวิจัยและพัฒนาจะมีความจำเป็นต่อการยกระดับการผลิต แต่ในปี 2551 บริษัทไทยมีสัดส่วนการทำวิจัยและการพัฒนาเพียง 12% โดยจากข้อมูลพบว่า บริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์ หรือ OBM (Original Brand Manufacturer) ที่ลงทุนทำ R&D มีสัดส่วน 22% ขณะที่คนรับจ้างผลิตและออกแบบ หรือ ODM (Original Design Manufacturer) มีสัดส่วนอยู่ที่ 16% ส่วนคนที่เป็นผู้รับจ้างผลิตอย่างเดียวตามคำสั่งของลูกค้า หรือ OEM (Original Equipment Manufacturer) มีสัดส่วนนิดเดียวเพียง 5% เท่านั้น

นอกจากนี้ วิธีการกระจายตัวของการทำวิจัยและพัฒนาก็ไม่เหมือนกัน โดยกลุ่มที่เป็น OBM และ ODM จะใช้เงินในการวิจัยและพัฒนาลงไปกับเรื่องของผลิตภัณฑ์ อาทิ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น ขณะที่คนที่เป็น OEM เงินที่ลงไปส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกระบวนการผลิตซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะเขาถูกกดราคาถูกปีๆ เขาก็ต้องลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด

ภาพ R&D

R&D สัดส่วน

“เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะสร้างแบรนด์ หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ สุดท้ายก็ไม่พ้นการวิจัยพัฒนา” ดร.สมเกียรติกล่าว

แจงอุปสรรค R&D พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบาย

แม้การวิจัยและพัฒนาจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ แต่ทำไมทุกบริษัทถึงไม่ทำให้เหมือนกันๆ โจทย์นี้ ดร.สมเกียรติกล่าวว่า เป็นผลจากการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์มีการทำไม่มากเนื่องจากมีอุปสรรค ซึ่งทีดีอาร์ไอมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแต่ละปัญหาดังนี้

1. บุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา พบว่า มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านวิจัยพัฒนา เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในภาครัฐและอุดมศึกษามาก มีเพียง 6% เท่านั้นที่อยู่ในภาคเอกชน อีกปัญหาคือ วิศวกรด้านวิจัยพัฒนาในภาคเอกชนของไทยถูกดึงตัวไปอยู่ภาคการเงิน เพราะให้เงินเดือนดีกว่า เช่น นักวิเคราะห์การเงินระดับผู้จัดการทำงาน 5 ปีขึ้นไปได้เงินเดือน 180,000 บาท แต่หัวหน้าฝ่ายวิจัยพัฒนาได้เงินเดือนเฉลี่ยเพียง 100,000 บาท

“จึงไม่แปลกใจว่าทำไมขาดแคลนนักวิจัยและพัฒนา” ดร.สมเกียรติกล่าว

อีกปัญหาหนึ่งคือ พอขาดแคลนนักวิจัยและพัฒนา เราแก้ปัญหาโดยให้มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่กฎหมายแรงงานกำหนดว่า ถ้าจะจ้างแรงงานต่างด้าว 1 คนจะต้องจ้างคนไทย 4 คน และกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองยังกำหนดว่า ถ้าต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต้องมีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาทต่อทุกคนหรือต่อหนึ่งคน จึงเป็นอุปสรรค ปฏิบัติได้ยาก สุดท้ายปัญหาขาดช่างเทคนิคทักษะสูงเป็นปัญหาสำคัญ เพราะช่างเทคนิคเป็นตัวช่วยให้เกิดการยกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต

ดร.สมเกียรติเสนอว่า การแก้ไขปัญหาบุคลากรนั้น ข้อแรก คือ ต้องเปิดให้มีการยืมตัวจากภาครัฐไปยังภาคเอกชนให้ง่ายที่สุด โดยเริ่มจากนักเรียนทุนรัฐบาล ให้เขาไปอยู่ภาคเอกชน 1-2 ปี จะเกิดผลดี คือ ทำให้ภาคเอกชนมีนักวิจัยเพิ่มขึ้น และในระยะยาวภาครัฐและเอกชนจะเข้าใจกัน มีการเชื่อมการทำงาน ทำให้เข้าใจกันและทำงานร่วมกันง่ายขึ้น ข้อสอง ควรผ่อนปรนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการจ้างงานนักวิจัยต่างประเทศ

ข้อสาม ควรจะเปิดเสรีภาคบริการ เพื่อให้กำไรภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมการผลิตลดความแตกต่างกัน ทำให้ภาคการผลิตซึ่งใช้ภาคบริการมีต้นทุนที่สู้ได้ และทำให้ภาคบริการไม่สามารถให้เงินเดือนมากเกินไปแล้วแย่งบุคลากรมาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต และ ข้อสี่ การปฏิรูปอาชีวศึกษา เพื่อให้สามารถผลิตช่างเทคนิคคุณภาพสูงและได้รับการยอมรับจากสังคม เข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตได้อย่างเพียงพอ

2. เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี ปัญหาที่พบคือ แม้ภาครัฐพยายามหามาตรการจูงใจโดยให้นำค่าใช้จ่ายเพื่อวิจัยและพัฒนาไปลดหย่อนภาษีได้ 200% แต่จากการศึกษาพบว่า แม้มาตรการนี้จะทำมา 11 ปี แต่ยังมีผลในระดับที่จำกัดอยู่ เพราะมีปัญหาที่สำคัญคือ

หนึ่ง การจะพิจารณาตีความว่าโครงการนี้จะลดหย่อนภาษีได้ไม่มีความแน่นอน สอง ไม่สามารถใช้ได้กับการออกแบบและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพราะรัฐบาลเน้นเรื่องการวิจัยพัฒนาเชิงพื้นฐาน ซึ่งอาจจะขัดกับความรู้สึก คือ อยากให้ประเทศไทยมีการยกระดับพัฒนาสินค้า มีการวิจัยให้มากๆ ในขณะที่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ต้องการผลิตของที่ออกมาขายได้ แต่มาตรการภาษีไม่เอื้อ สาม การวิจัยพบว่า เมื่อไปหักลดหย่อนจริงๆ บางครั้งได้น้อย บางครั้งลดหย่อนไม่ได้ทุกรายการ เช่น เรื่องค่าบริหารจัดการวิจัยพัฒนา หรือบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นำเสนอบทความที่ 2 :  การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในงานสัมมนาประจำปี 2556 ของทีดีอาร์ไอ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นำเสนอบทความที่ 2: การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในงานสัมมนาประจำปี 2556 ของทีดีอาร์ไอ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556

“ไม่แปลกใจว่ามาตรากรนี้ทำให้รัฐเสียรายได้เพียง 440 ล้านบาท ในปี 2555 ขณะที่เทียบกับมาตรการที่เราสงสัยว่าทำไปทำไม เช่น โครงการรถคันแรก แต่รัฐต้องเสียเงินไป 92,000 ล้านบาท และมาตรการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทำให้รัฐเสียเงินไป 280,000 ล้านบาทในปี 2555 แต่ช่วยสร้างงานได้ประมาณ 60,000 ตำแหน่ง ส่วนนี้ก็ควรจะปรับเปลี่ยน” ดร.สมเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอเสนอว่า บีโอไอควรปรับเปลี่ยนมาตรการส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่เน้นปริมาณและบอกว่าจะให้ลงสาขาไหน มาเป็นเน้นคุณภาพมากขึ้น และเน้นดูที่กิจกรรม ประเด็นคือ ส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างงานวิจัยและพัฒนา เช่น ต้องเป็นการวิจัยที่รับจ้างวิจัยเท่านั้น ถึงจะได้ลดหย่อนภาษี เป็นต้น

3. ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม พบว่า ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่มีค่อยมีประสิทธิผล เพราะอาจารย์ไม่มีแรงจูงใจ เนื่องจากอาจารย์ก็ต้องการมีผลงานวิชาการ และสหกิจศึกษาก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากต้องใช้เวลานาน แต่ได้หน่วยกิตน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับรายวิชาปกติ

แนวทางแก้ไขคือ ควรปรับ KPI ให้รวมถึงผลงานจากการทำวิจัยและพัฒนากับภาคเอกชนในเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น และควรมีหน่วยงานประสานระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน เพื่อให้มีความเข้าใจร่วมงานกัน และควรปรับหน่วยกิตของสหกิจศึกษาให้สมดุลกับวิชาปกติ

“ถ้าเราต้องการเพิ่มผลลัพธ์ในงานวิจัยในประเทศไทยให้สูงขึ้น เช่น สูงขึ้นสัก 40% เท่ากับสิงคโปร์ เรามีทางเลือก 3 ทาง คือ หนึ่ง เพิ่มงบประมาณ 140,000 ล้านบาท สอง เพิ่มบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาอีกสัก 60,000 คน ซึ่ง 2 เรื่องแรกยากมาก เพราะฉะนั้น ทางเลือกที่สาม ซึ่งเป็นทางเลือกที่สำคัญ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบวิจัยพัฒนา โดยเฉพาะภาครัฐ ต้องทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นสัก 40%” ดร.สมเกียรติกล่าว

4. เรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พบว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมบางอย่างทำให้การยกระดับเทคโนโลยีทำไม่ได้ เช่น มาตรฐานประหยัดพลังงานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีแค่ “เบอร์ 5” ต่อให้ผู้ผลิตสามารถผลิตพลังงานได้มากแค่ไหนก็ได้แค่มาตรฐานประหยัดพลังงานเบอร์ 5 ทำให้ประชาชนไม่สามารถแยกแยะได้ และไม่มีกลไกป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนในการรับรองมาตรฐาน

เพราะฉะนั้น ต้องปรับมาตรฐานประหยัดพลังงานให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามเวลา ต้องมีเบอร์ 6 เบอร์ 7 ให้ผู้บริโภคแยกออก และควรมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำตามมาตรฐาน

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า โดยสรุป สิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาคือมาตรการด้านอุปทาน เช่น การเพิ่มเงิน เพิ่มคนด้านวิจัยและพัฒนา รวมทั้งต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการวิจัยและพัฒนาในภาครัฐ ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องจูงใจให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนด้วย

“นอกจากนี้ รัฐบาลควรใช้มาตรการที่ไม่เคยใช้มาก่อนด้วย คือ มาตรการด้านอุปสงค์ จูงใจให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เช่น มาตรฐานขยับสูงขึ้นตามเวลา หรือการใช้โครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เราอยากเห็นว่าเมื่อโครงการนี้ลงไปแล้ว นอกจากได้รถไฟแล้วยังได้เทคโนโลยีมาด้วย” ดร.สมเกียรติกล่าว

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี

เสนอ 3 แนวทางเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี เห็นด้วยกับที่ทีดีอาร์ไอนำเสนอ เพราะงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาของไทยต่ำมากอยู่ที่ 0.2% ของจีดีพีมานานแล้ว ทำให้การพัฒนาของไทยติดกับดับประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง

“ที่ผ่านมามีหลายนโยบายที่ดีแต่จุดไม่ติด เช่น นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นโยบายสนับสนุนเรื่องการจดสิทธิบัตร จึงเสนอว่าควรนำทั้งสองเรื่องนี้มาจุดต่อหรือนำมาทำต่อ เพราะเป็นประโยชน์ ช่วยสร้างขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ” ดร.ณรงค์ชัยกล่าว

ทั้งนี้ ในกรณีส่งเสริมการจดสิทธิบัตร หากจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดร.ณรงค์ชัยเสนอว่า ต้องแยกกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกจากกระทรวงพาณิชย์ แล้วตั้งเป็นองค์กรแยกต่างหาก แต่อาจให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งพยายามผลักดันมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ฉบับที่ 6

นอกจากนี้ ดร.ณรงค์ชัยเสนอว่า เศรษฐกิจไทยควรดำเนินนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพใน 3 แนวทาง คือ 1. สนับสนุนให้แข่งขันกันมากขึ้น และต้องเป็นการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่เข้าไปควบคุมกลไกราคา เพราะการคุมราคาจะทำให้คุณภาพสินค้าลดลง 2. สนับสนุนการลงทุน เพื่อให้สังคมเก่งขึ้น มีความรู้ในการค้าขายมากขึ้น ที่ผ่านมาแม้เราจะลงทุนไปพอสมควรแต่เมื่อวัดคุณภาพการผลิตแล้วกลับดีขึ้นแค่เล็กน้อย จึงยังเรียกว่าไม่ประสบความสำเร็จ และ 3. เรื่องนวัตกรรม ควรมีทฤษฎีธุรกิจสมัยใหม่ เน้นดีไซน์และการตลาด ซึ่งพวกนี้ภาคเอกชนควรเป็นผู้ทำ ขณะที่ภาครัฐอาจสนับสนุนได้โดยการมีระบบจดควบคุมทรัพย์สินทางปัญญา