ThaiPublica > คอลัมน์ > กรรมตามทัน กฎหมายตามไม่ทัน

กรรมตามทัน กฎหมายตามไม่ทัน

5 พฤศจิกายน 2013


หางกระดิกหมา

ในระหว่างที่เรากำลังมะรุมมะตุ้มกันเรื่องนิรโทษกรรมนี้ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเปรยขึ้นมาว่า “ไม่รู้จะเหนื่อยนิรโทษกันทำไม เมืองไทยนี้ หลบๆ ไปสักพักเดี๋ยวก็หมดอายุความแล้ว”

ฟังแล้วก็ใจหายวาบทีเดียว และยิ่งวาบขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยิ่งนึกออกว่ามีคดีโกงมืดฟ้ามัวดินอะไรบ้าง (ตั้งแต่คดีคอร์รัปชันไปจนกระทั่งคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ) ที่เรานึกว่าตำรวจหรือทางการคงจัดการเอาคนผิดเข้าคุกไปเรียบร้อยแล้วเรื่องมันจึงเงียบไป แต่ความจริงกลับกลายเป็นว่า ในความเงียบนั้น คดีต่างๆ พากันหมดอายุความหรือจวนจะหมด กว่าจะรู้ตัวอีกทีจำเลยก็คงเดินใช้เงินที่ (อาจจะ) โกงกันไปเฉิบเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคดี ปรส. (องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) เอย หรือคดีหุ้นชินฯ เอย ฯลฯ

ต้องเรียกว่าการปล่อยให้หมดอายุความนี่ “เซ็ท ซีโร่” ได้ขลังเสียยิ่งกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีก เพราะล้างผิดให้กับคนทุกสีทุกพรรค อีกทั้งได้ผลมานาน และก็ทำท่าจะได้ผลต่อไป โดยคนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่จะมาคัดค้านอะไร

ความจริงเรื่องนี้หากจะโทษเจ้าหน้าที่ไม่ว่าตำรวจ ป.ป.ช. หรืออัยการ ว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพหรือแกล้งเตะถ่วง ก็คงไม่ผิด แต่โทษไปแล้วก็ไม่รู้จะช่วยให้อะไรดีขึ้นบ้าง เพราะคนก็ยังเป็นคนอยู่วันยังค่ำ ต่อให้เปลี่ยนดีขึ้นได้ เดี๋ยวก็เปลี่ยนแปรไปได้อีก อย่างไรก็ตาม อีกเรื่องหนึ่งที่เราโทษได้ และก็น่าจะทำให้ดีขึ้นได้โดยถาวรก็คือ เรื่องอายุความคดีทุจริตคอร์รัปชัน

ในเมืองไทยทุกวันนี้ คดีคอร์รัปชันถือเป็นความผิดอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอายุความมากน้อยตามระวางโทษของฐานความผิด โดยฐานความผิดไหนมีโทษจำคุกนานก็ยิ่งมีอายุความยาว แต่เอาเป็นว่าสูงสุดก็คืออายุความยี่สิบปี นับแต่วันกระทำความผิด ดังนั้น ถ้าระหว่างนี้จำเลยรักษาตัวอย่าให้โดนจับเสียได้ เช่น หลบไปใช้เงินที่โกงมาอยู่เมืองนอกสักสิบยี่สิบปี ก็เป็นอันว่าพ้นผิด กลับมาเดินถนนได้อย่างสง่าผ่าเผย เผลอๆ ตำรวจตะเบ๊ะให้อีกต่างหาก

ถามว่าทำไมกฎหมายจึงเปิดช่องให้จำเลยใช้กระบวนการยุติธรรมฟอกตัวเองให้พ้นผิดอย่างนี้ได้ ก็ตอบได้ว่า ในทางทฤษฎีกฎหมาย เขากำหนดให้มีอายุความก็เพื่อรักษาความเป็นธรรม เพราะเห็นว่าหากเวลาผ่านไปเป็นสิบๆ ปีกว่าจะมีการฟ้อง จำเลยคงสู้คดีได้ยาก เพราะไม่รู้จะไปตามหาพยานหลักฐานหรือความจำมาจากไหน พอดีพอร้ายทำถูกแต่ตอบผิด จำเลยก็จะติดคุกฟรีเอาได้ง่ายๆ อย่าว่าแต่เวลาผ่านไปนานขนาดนั้น ความเสียหายอะไรที่จำเลยทำไว้ก็คงจะละลายไปกับกาลเวลาบ้างแล้ว จึงป่วยการที่จะมาฟื้นฝอยหาตะเข็บ

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การมีอายุความถือเป็นมาตรการประหยัดทรัพยากรของรัฐ โดยโละเรื่องที่เก่าแก่นานนมจนไม่น่ามีโอกาสชนะคดีออกไปจากสารบบ เจ้าหน้าที่ ไม่ว่าตำรวจ อัยการ หรือศาล จะได้มาทุ่มเทกับคดีที่ “กลิ่นยังใหม่” พอที่จะตามเรื่องได้สำเร็จมากกว่า กล่าวคือ คดีที่ยังไม่หมดอายุความนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ไม่เหมาะกับคดีคอร์รัปชัน เพราะโดยธรรมชาติ คอร์รัปชันเป็นคดีที่ประเทศเสีย ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเสีย ดังนั้นจึงมักไม่มีเจ้าทุกข์ที่จะเอาธุระติดตามเรื่อง คนที่สมรู้ร่วมคิดกันคอร์รัปชันส่วนใหญ่ก็มักจะไม่แตกคอกันอีก จึงเป็นการยากที่เรื่องคอร์รัปชันจะแดงขึ้นมา เว้นแต่จะรู้ไปถึงบุคคลที่สาม ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้น อายุความก็อาจหมดหรือจวนจะหมดเต็มทีแล้ว

ยิ่งกว่านั้น ธรรมชาติอีกอย่างของคอร์รัปชันก็คือเป็นเรื่องล่องหน ไม่มีคราบเลือด ไม่มีเขม่าดินปืน และที่แน่ๆ ก็คือไม่มีใบเสร็จ ดังนั้น ตำรวจต้องใช้เวลาตะลุยระเบียบพิธีการและเอกสารต่างๆ กว่าจะตามเรื่องได้แต่ละเปลาะๆ ไหนยังอาจจะมีปัญหาขาดงบ ขาดคนอีก ความล่าช้าของคดีคอร์รัปชัน บางครั้งจึงเป็นไปโดยสภาพของมันที่เร็วกว่านั้นไม่ได้อยู่เอง ยิ่งคดีไหนที่ต้องมีเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ อย่างส่งผู้ร้ายข้ามแดน ยิ่งเป็นเรื่องที่หมดทางจะเร่งอะไรได้

แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คือคดีคอร์รัปชันส่วนใหญ่นั้น มักทำลายความเจริญของประเทศได้ยาวนานเป็นชั่วอายุคน ไม่ใช่ความเสียหายที่เวลาสิบปียี่สิบปีจะล้างให้หมดไปได้อย่างคดีลักเล็กขโมยน้อยอื่นๆ การกำหนดให้คดีคอร์รัปชันมีอายุความ จึงเป็นเรื่องที่ทั้งไม่เอื้อต่อการปราบปรามคอร์รัปชันและไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

องค์การ Transparency International เคยทำการศึกษาถึงผลกระทบของอายุความต่อการปราบปรามคอร์รัปชันแล้วได้ข้อเสนอสำหรับการปรับปรุงเรื่องนี้หลายประการ เช่น ถ้ายังต้องการให้มีอายุความคดีคอร์รัปชันอยู่ ก็ควรกำหนดให้อายุความสะดุดหยุดอยู่เวลามีเหตุที่ทำให้การดำเนินคดีต้องล่าช้าทั้งหลาย (เช่น รอการส่งผู้ร้ายข้ามแดน) หรือไม่เช่นนั้นก็ออกกฎหมายให้การคอร์รัปชันมีอายุความยาว หรือแม้กระทั่งไม่มีอายุความไปเลย อย่างที่เมืองไทยก็เคยมีการเสนอมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่บัดนี้ก็เงียบไปแล้ว

อีกมาตรการหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ การให้มีการบันทึกและเปิดเผยข้อมูลว่ามีคดีคอร์รัปชันที่หลุดรอดไปได้เพราะหมดอายุความกี่คดี ในขั้นตอนไหน ด้วยเหตุอะไร เพราะสิ่งนี้จะทำให้เห็นเลยว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลในระบบ โดยจะบอกว่าเป็นเรื่องหยุมหยิมไม่ได้ เพราะในรายงานได้ยกกรณีศึกษาของโปรตุเกสมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้ในช่วงระหว่างปี 2004-2008 โปรตุเกสจะมีคดีขาดอายุความแค่ไม่ถึงร้อยละ 0.5 แต่ปรากฏว่าคดีที่หมดอายุความเหล่านั้้น ล้วนแต่เป็นคดีคอร์รัปชันมโหฬารทั้งสิ้น ดังนั้น หากไม่มีการเก็บข้อมูลเหล่านี้ เรื่องลักไก่หมดอายุความ ก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยสังคมไม่มีโอกาสตรวจสอบเลย

ในทางตรงกันข้าม ถ้ามาตรการทั้งหลายที่กล่าวมาถูกนำไปใช้จริง จำนวนคดีที่หลุดรอดเพราะอายุความก็จะน่าจะลดน้อยลงจนถึงกับหมดไปได้

เมืองไทยเราได้แต่หวังให้กรรมตามทันคนโกงอย่างเดียวมานานแล้ว ต่อไปนี้ ก็จะได้พอมีหวังให้กฎหมายตามทันบ้างเสียที

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “โกงกินสิ้นชาติ” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556